Skip to main content
sharethis

แม้ว่าฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยม สร้างความบันเทิงให้ผู้คน แต่เบื้องหลังก็มีเหล่าผู้จัดที่เอาแต่กอบโกยโดยไม่สนใจใยดีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ทั้งแรงงานเด็กเย็บฟุตบอล คนงานสร้างสนามกีฬา คนที่ถูกไล่ที่เพื่อสร้างภาพในการจัดฟุตบอลโลก ผู้ประท้วง และแม้กระทั่งกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศต่างก็ถูกละเมิดสิทธิ


ภาพจาก guts.com


4 มิ.ย. 2558 ในขณะที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ 'ฟีฟ่า' กำลังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการทุจริตจนกระทั่งประธานฟีฟ่า เซปป์ แบล็ตเตอร์ ประกาศลาออกเมื่อไม่นานมานี้ แต่อีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามเกี่ยวกับการจัดแข่งขันฟุตบอลซึ่งฟีฟ่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยคือประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของการแสวงหากำไรจากอุตสาหกรรมลูกหนังโดยไม่สนใจใยดีชีวิตของผู้คน

สำนักข่าวโกลบอลโพสต์นำเสนอการรวบรวมและจัดอันดับเรื่องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมลูกหนัง 6 เรื่อง รวมถึงประเด็นอื้อฉาวล่าสุดเกี่ยวกับการกดขี่แรงงานข้ามชาติในกาตาร์

การละเมิดสิทธิมนุษยชนเรื่องที่ 1 คือ เรื่องการใช้แรงงานเด็กในการเย็บลูกฟุตบอล เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1990 ลูกฟุตบอลส่วนใหญ่มาจากการเย็บด้วยมือและมาจากประเทศปากีสถาน จากการสืบสวนพบว่ามีการใช้เด็กอายุ 5-14 ปีทำงานเย็บลูกหนังแบบเต็มเวลา และบางคนทำงานมากถึง 11 ชั่วโมงต่อวัน แต่ได้ค่าแรงเพียง 50 เซนต์ในหน่วยเงินสหรัฐฯ ต่อลูกบอล 1 ลูกที่ใช้เวลาทำถึงครึ่งวัน

หลังจากองค์กรด้านแรงงานและสิทธิเด็กเริ่มขยับทำให้ฟีฟ่ายอมรับให้มีกฎสั่งห้ามใช้แรงงานเด็กตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา แต่ก็ยังมีการละเมิดสิทธิแรงงานอยู่ในเอเชียเช่นค่าแรงต่ำ ชั่วโมงทำงานสูง สภาพการทำงานไม่ปลอดภัย และมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง และเรื่องเหล่านี้ก็เป็นเพียงเรื่องที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมลูกฟุตบอลเท่านั้น ยังไม่ได้กล่าวถึงสินค้าชนิดอื่น

เรื่องที่ 2 คือ การที่ฟีฟ่ามีศาลเป็นของตัวเอง โกลบอลโพสต์ระบุว่าฟีฟ่าเป็นกลุ่มที่คนไม่ค่อยให้ความเชื่อมั่นเรื่องวิธีการตัดสินคดี ในปี 2553 ที่ฟุตบอลโลกแอฟริกาใต้ ฟีฟ่าจัดตั้ง "ศาลฟุตบอลโลก" ขึ้นเพื่อจัดการกับคดีที่ก่อขึ้นในการแข่งขัน มีบางคนบอกว่ามีการลงโทษที่หนักเกินไปเช่นการสั่งจำคุก 5 ปีต่อกรณีลักขโมยโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งฟีฟ่ายังตัดสินคดีเร็วจนน่าเป็นห่วง เช่นกรณีที่ผู้สื่อข่าวถูกชาวซิมบับเวปล้นพวกเขาใช้เวลาตัดสินคดีเพียงวันเดียว

ทั้งนี้ดุลพินิจของฟีฟ่ายังมีปัญหาในการกล่าวหาว่าใครเป็น "อาชญากร" เคยมีผู้หญิงชาวเนเธอร์แลนด์ 2 คนถูกจับกุมเพียงเพราะสวมชุดสีส้มเข้าไปดูฟุตบอล พวกเธอถูกกล่าวหาว่า "โฆษณาแอบแฝง" ให้กับเบียร์ยี่ห้อหนึ่งซึ่งไม่ได้จ่ายเงินค่าสปอนเซอร์ให้ฟีฟ่า พวกเขาอ้างกฎหมาย "มาตรการพิเศษของฟีฟ่าในฟุตบอลโลก 2553" ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่เขียนขึ้นมาเองเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎหมายแอฟริกาใต้ตามใจชอบในช่วงที่มีการแข่งขันและบางส่วนขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ

เรื่องที่ 3 คือ การรื้อไล่ที่คนจน ในฟุตบอลโลกปี 2553 ที่แอฟริกาใต้กลุ่มผู้จัดถูกกล่าวหาว่าทำการบังคับไล่ที่ชาวสลัมและคนไร้บ้านเพื่อสร้างสิ่งดึงดูดเอาใจนักท่องเที่ยวหรือเพื่อสร้างภาพให้ดูไม่มีคนจน มีคนในเมืองเคปทาวน์หลายพันคนถูกต้อนไปอยู่ในค่ายกักกัน นอกจากนี้คนหาบเร่หรือขายอาหารริมทางที่ไม่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมราคาแพงก็จะถูกขับไล่ออกจาก "เขตยกเว้น" ที่ฟีฟ่าสั่งจัดตั้งไว้เป็นพิเศษ มีบางกรณีบอกว่าพวกเขาถูกตำรวจจับกุมและใช้กำลังปราบปรามจนข้าวของเสียหายทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาด้วย

ในกรณีฟุตบอลโลกบราซิล 2557 มีผู้ถูกไล่ที่หรือถูกข่มขู่ไล่ที่ 250,000 รายทั่วประเทศ รวมถึงแหล่งสลัมในบางเมืองซึ่งทางการอ้างว่าจะจัดหาที่อยู่ใหม่ที่มีสภาพดีเทียบเท่าที่อยู่เดิมเป็นอย่างน้อยให้ แต่จากรายงานของสหประชาชาติระบุว่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ๆ มีสภาพแย่กว่าเดิม

เรื่องที่ 4 คือการที่ตำรวจใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านฟุตบอลโลก โกลบอลโพสต์ระบุถึงการประท้วงฟุตบอลโลกโดยชาวบราซิลในช่วงปี 2556-2557 ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประท้วงมากกว่า 1 ล้านคนจากทั่วโลก แต่เจ้าหน้าที่ก็ทำการปราบปรามผู้ชุมนุมในแบบที่องค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลระบุว่าเป็นการปราบปรามที่ "ใช้กำลังรุนแรง" ทั้งการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง ทุบตีผู้คนด้วยกระบอง มีคนถูกจับและได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนโดยที่ไม่มีหลักฐานว่าผู้ประท้วงก่อเหตุอย่างอื่นนอกจากการประท้วงอย่างสงบตามสิทธิที่พวกเขามีเลย

เรื่องที่ 5 การละเลยสิทธิคนรักเพศเดียวกัน ถึงแม้ว่าฟีฟ่าจะสามารถใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมายประเทศอื่นตามใจชอบตามที่พวกเขาตกลงกันไว้กับสปอนเซอร์ของพวกเขา แต่พวกเขากลับไม่สนใจเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่ต่อต้านความหลากหลายทางเพศ ในฟุตบอลโลกที่กาตาร์ซึ่งจะมีขึ้นในปี 2565 พวกเขาถึงขั้นแนะนำให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกันงดมีเพศสัมพันธ์กันเนื่องจากกาตาร์เป็นประเทศไม่อนุญาตเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงประเทศที่ไม่ต้อนรับคนรักเพศเดียวกันอย่างรัสเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพปี 2561 ซึ่งทางอัยการของสวิตเซอร์แลนด์กำลังสืบสวนกระบวนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2561 และปี 2565 ที่ไม่ชอบมาพากล

เรื่องที่ 6 จำนวนคนงานก่อสร้างที่เสียชีวิตจากการสร้างสนามกีฬา เมื่อไม่นานมานี้วอชิงตันโพสต์ได้เผยแพร่อินโฟกราฟิกเกี่ยวกับจำนวนคนงานที่เสียชีวิตจากการสร้างสนามกีฬาเพื่อเตรียมรับมหกรรมโอลิมปิกและฟุตบอลโลก พบว่ามีจำนวนคนงานผู้เสียชีวิตในกาตาร์จำนวนมาก แรงงานส่วนใหญ่ที่สร้างสนามกีฬาและโครงสร้างพื้นฐานในกาตาร์เป็นแรงงานข้ามชาติจากเนปาล อินเดีย ศรีลังกา และที่อื่นๆ พวกเขาอยู่ในสภาพการจ้างงานที่ใกล้เคียงกับแรงงานทาส พวกเขาถูกระงับค่าจ้าง ถูกยึดหนังสือเดินทาง ทำงานภายใต้อากาศร้อน 120 องศาฟาห์เรนไฮต์ (ราว 48-49 องศาเซลเซียส)

สมาพันธ์แรงงานโลกเตือนว่าแรงงานข้ามชาติในกาตาร์มีโอกาสเสียชีวิตรวม 4,000 คน ก่อนฟุตบอลโลกปี 2565 ถ้าหากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ สภาพของประเทศกาตาร์ที่ไม่อนุญาตให้มีพรรคการเมืองและการจัดตั้งสหภาพแรงงานคงหวังการเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ฟีฟ่าเองก็ยังมีท่าทีรู้เห็นเป็นใจกับการลิดรอนสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ดังที่เลขาธิการของฟีฟ่าชื่อเจอโฮม วัลเค เคยประกาศว่า "บางครั้งการมีประชาธิปไตยน้อยก็ดีกว่าในการจัดฟุตบอลโลก" ซึ่งคนงานที่ถูกกดขี่จำนวนมากคงไม่เห็นด้วยแน่ๆ


เรียบเรียงจาก

6 times human rights were violated in the name of soccer, Jessica Phelan, Globalpost, 29-05-2015
http://www.globalpost.com/article/6563663/2015/05/28/6-times-human-rights-were-violated-name-soccer

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net