Skip to main content
sharethis

9-13 ก.พ. นี้ โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” ครั้งที่ 7 เปิดรับสมัครแล้ว มาดูข้อมูลที่แรงงานควรรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไป “เสี่ยงโชค” ที่ “อิสราเอล” แล้วจะรู้ว่าชีวิตแรงงานในต่างแดนนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด

สืบเนื่องจากกระทรวงแรงงานได้ประชาสัมพันธ์ รับสมัครคนหางานเพื่อไปทำงานประเทศอิสราเอล ตามโครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers – TIC) ครั้งที่ 7 ตำแหน่งคนงานภาคการเกษตร ระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด โดยมีคุณสมบัติคือ (1) เพศชาย สัญชาติไทย อายุระหว่าง 23-39 ปี ไม่มีประวัติอาชญากรรม และพ้นภาระทางทหาร (2) ไม่มีคู่สมรส บุตร บิดา มารดา พำนักอยู่ในประเทศอิสราเอล (3) ไม่เคยไปทำงานภาคเกษตรที่ประเทศอิสราเอลมาก่อน และ (4) สุขภาพแข็งแรง สายตาปกติ ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีนิ้วกดงอ กุดหรือด้วน มีประสบการณ์ทำงานภาคการเกษตร

ประชาไทจึงขอนำเสนอข้อมูลที่แรงงานควรรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนไป “เสี่ยงโชค” ที่ประเทศ “อิสราเอล”

 

1.

เกี่ยวกับโครงการ

โครงการ “ความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน” (Thailand-Israel Cooperation on the Placement of Workers – TIC) ภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลอิสราเอล กระทรวงแรงงานไทย และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration – IOM)

โครงการความร่วมมือไทย-อิสราเอลเพื่อการจัดหางาน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าบริการหางานและเดินทางไปทำงานในภาคการเกษตรของประเทศอิสราเอล และเป็นโครงการแรกที่สามารถลดค่าบริการดังกล่าวได้ถึง 80%เนื่องจากอัตราค่าแรงในประเทศอิสราเอลค่อนข้างสูง ประกอบกับการจ้างงานที่เป็นธรรมของนายจ้างชาวอิสราเอล และอายุวีซ่าที่ได้นานถึง 5 ปี แรงงานไทยจึงให้ความสนใจเดินทางไปทำงานในอิสราเอลเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้โครงการ TIC สามารถตัดปัญหาค่านายหน้าในการเดินทางไปทำงานในอิสราเอลจากประมาณ 300,000 บาท (USD 10,000) ลดลงเหลือประมาณ 66,000 บาท (USD 2,200) ต่อแรงงานไทย 1 คน (จากการประมาณการในปี 2557) และในปีนี้ (2558) กระทรวงแรงงานระบุว่าแรงงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมด 74,250 บาท ซึ่งมีรายละเอียดทั้งหมดดังนี้

ค่าใช้จ่ายก่อนเดินทาง

ค่าธรรมเนียมขอรับหนังสือเดินทาง ตามที่กระทรวงการต่างประเทศกำหนด (ราคา ณ ปัจจุบัน จำนวน 1,000 บาท) (สำหรับผู้ที่ยังไม่มีหนังสือเดินทาง หรือหนังสือเดินทางหมดอายุ), ค่าตรวจสุขภาพตามที่กระทรวงสาธารณะสุขกำหนด (ราคา ณ ปัจจุบันไม่เกิน 2,900 บาท), ค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวจากประเทศไทยไปอิสราเอล ยึดตามราคาต่ำที่สุด ณ วันที่ออกตั๋ว (ปัจจุบันราคา 750 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24,650 บาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาตั๋วเครื่องบินที่หาได้และอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น), ค่าสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด ณ ปัจจุบัน จำนวน 400 บาท

ค่าธรรมเนียมการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท (โครงการจะสำรองจ่ายให้ก่อน เมื่อผู้สมัครถูกเรียกสอบมาสัมภาษณ์ ผู้สมัครต้องจ่ายเงินจำนวนนี้ให้กับโครงการ) และค่าใช้จ่ายหลังจากเดินทางไปถึงประเทศอิสราเอลภายใต้โครงการ "ความร่วมมือไทย-อิสราเอล เพื่อการจัดหางาน" ได้แก่ ค่าธรรมเนียมจัดหางานที่ต้องจ่ายให้แก่บริษัทจัดหางานของประเทศอิสราเอล จำนวน 4,776 เชคเกล (ประมาณ 1,375 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 45,200 บาท) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น ตามข้อกฎหมายแห่งอิสราเอล ซึ่งต้องจ่ายเมื่อเดินทางไปถึงประเทศอิสราเอล อัตราค่าธรรมเนียมสูงสุดขึ้นอยู่กับการปรับปรุงประจำปีภายใต้กฎหมายของประเทศอิสราเอล

ค่าธรรมเนียมจัดหางานดังกล่าวต้องชำระด้วยตั๋วแลกเงินธนาคารเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจำนวน 2 ใบ ซึ่งธนาคารจะคิดค่าธรรมเนียมตั๋วแลกเงิน ประมาณ 203 บาทต่อหนึ่งใบ โดยเจ้าหน้าที่ประจำโครงการจะดำเนินการช่วยเหลือผู้ผ่านการคัดเลือกในการจัดซื้อตั๋วแลกเงินธนาคารก่อนเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล

ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่กล่าวมายังไม่รวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดซึ่งผู้สมัครต้องเป็นผู้รับปิดชอบเองคือ ค่าตั๋วเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย ซึ่งผู้สมัครต้องจ่ายโดยตรงให้กับสายการบินก่อนกลับประเทศไทย และค่าเดินทางจากภูมิลำเนาของผู้สมัครมายังกรุงเทพฯ ค่าอาหาร และค่าที่พักในกรุงเทพฯ ที่จะเกิดขึ้นระหว่างขั้นตอนการคัดเลือก

สัญญาจ้าง

ทั้งนี้ระยะเวลาการจ้างงานตามสัญญาจ้างงานคือ 2 ปี  โดยขึ้นอยู่กับการต่อใบอนุญาตการจ้างงานแรงงานต่างชาติของนายจ้างและวีซ่าการทำงานตามข้อกำหนดของกฎหมายประเทศอิสราเอล ผู้ผ่านการคัดเลือกไปทำงานในประเทศอิสราเอลจะได้รับวีซ่าการทำงานซึ่งมีอายุถึงสิ้นปีปฏิทิน นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการต่อวีซ่าทำงานให้แก่ลูกจ้าง ทั้งสัญญาจ้างงานและวีซ่าการทำงานอาจได้รับการต่ออายุได้นานถึง 5 ปี 3 เดือน กฎหมายของอิสราเอลกำหนดสิทธิและข้อบังคับของแรงงาน นวมทั้งเงื่อนไขการจ้างงานซึ่งรวมถึงชั่วโมงการทำงาน อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าเช่าบ้าน วันหยุด ประกันสุขภาพ และขั้นตอนการร้องทุกข์เกี่ยวกับการจ้างงาน

ขั้นตอนการรับสมัครโดยสังเขปของโครงการ TIC นั้น ได้แก่ การตรวจสอบใยสมัคร การลงทะเบียนและการบันทึกข้อมูล การจัดเรียงลำดับผู้สมัครในฐานข้อมูลผ่านการจัดสุ่มลำดับด้วยคอมพิวเตอร์ การยืนยันการสมัคร การคัดกรองคุณสมบัติของผู้สมัครที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้สมัคร การคัดเลือกผู้สมัครเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพร่างกายและการสัมภาษณ์ การตรวจสุขภาพ การจัดส่งข้อมูลให้นายจ้างและบริษัทจัดหารงานประเทศอิสราเอลเพื่อยืนยันการจ้างงาน การประกาศผลผู้มีสิทธิเดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอล การสำรองเที่ยวบิน การออกวีซ่า การอบรมก่อนการเดินทางและการเดินทางไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล

โดยผู้ประสงค์จะขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ได้ในระหว่างวันที่ 9 - 13 กุมภาพันธ์ 2558 ตามเวลาราชการ ได้ที่ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ชั้น 1 อาคารสำนักงานประกันสังคมพื้นที่ 3 ถนนมิตรไมตรี เขตดินแดง กรุงเทพฯ, สำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 หรือสำนักงานจัดหางานทุกจังหวัด รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่เว็บไซต์ของกรมการจัดหางาน www.doe.go.th และทางเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.overseas.doe.go.th

 

2.

มีอะไรรอที่อิสราเอล?

รายได้และรายจ่าย

เงินเดือน ลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนขั้นต่ำก่อนหักภาษีเดือนละ 4,300 เชคเกล (ณ วันที่ 21 มกราคม 2558) หรือประมาณ 35,819 บาท (ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น) ซึ่งอัตราดังกล่าวมีผลใช้กับแรงงานที่ถูกกฎหมาย รวมทั้งแรงงานต่างชาติตามกฎหมายของอิสราเอล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประกาศปรับปรุงประจำปีภายใต้กฎหมายของอิสราเอล

ในอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ 4,300 เชคเกล นั้นจะต้องถูกหักเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ต่อเดือน (ทั้งนี้การหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ขึ้นอยู่กับประกาศปรับปรุงประจำปีภายใต้กฎหมายอิสราเอล) ได้แก่ ค่าภาษีร้อยละ 10 สำหรับเงินได้ไม่เกินเดือนละ 5,280 เชคเกล และมากกว่าร้อยละ 10 สำหรับเงินได้ที่สูงกว่าเดือนละ 5,200 เชคเกล (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 แรงงานต่างชาติจะไม่ได้รับเครดิตภาษี ซึ่งนำไปหักลดจำนวนภาษีได้), ค่าประกันสังคมร้อยละ 0.04 สำหรับเงินได้ไม่เกินเดือนละ 5,297 เชคเกล และมากกว่าร้อยละ 0.87 สำหรับเงินได้ที่สูงกว่าเดือนละ 5,297 เชคเกล

ค่าประกันสุขภาพส่วนบุคคลไม่เกิน 124.73 เชคเกล, ค่าที่พักอาศัยไม่เกิน 447.99 เชคเกล (ทั้งนี้ค่าที่พัก จะหักตามอัตราที่กำหนดในแต่ละภูมิภาค ดังนี้ เยรูซาเลม (Jerusalem) 393.68 เชคเกล, เทลอาวีฟ (Tel Aviv) 447.99 เชคเกล, ไฮฟา (Haifa) และภาคกลาง 298.69 เชคเกล, เขตภาคใต้ 265.52 เชคเกล และเขตภาคเหนือ 244.31 เชคเกล และหากที่พักอาศัยเป็นของนายจ้างนายจ้างมีสิทธิหักค่าเช่าได้เพียงครึ่งหนึ่งของอัตราส่วนข้างต้น) และค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ หักค่าไฟฟ้าและน้ำประปาสูงสุดเดือนละ 92.27 เชคเกล และค่าประกันสุขภาพ คุ้มครองกรณีแรงงานเจ็บป่วยทั่วไป นายจ้างหักจากค่าจ้างไม่เกิน 124.73 เชคเกล (ส่วนค่าอาหารรวมอยู่ในค่าจ้าง)

ดังนั้นรายได้สุทธิต่อเดือนที่จะได้รับ หลังหักค่าใช้จ่ายและไม่รวมค่าล่วงเวลา อยู่ที่ประมาณ 3,040 เชคเกล แต่ทั้งนี้อาจจะมีการหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ อันสมควรแก่เหตุ โดยที่ทั้งสองฝ่ายตกลงไว้เป็นรายลักษณ์อักษรตามที่ระบุในสัญญาจ้างงาน อย่างไรก็ตามกระทรวงแรงงานระบุว่าการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดรวมแล้วจะต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของอัตราเงินเดือนขั้นต่ำ (โดยไม่รวมภาษีและประกันสังคม) ยกเว้นเดือนสุดท้ายของการว่าจ้าง นายจ้างอาจหักค่าใช้จ่ายที่เหลืออื่นๆ อันพึงจะหักได้ตามกฎหมาย ซึ่งระบุไว้ในสัญญาจ้างงานตามที่นายจ้างและลูกจ้างได้ลงนาม

อนึ่งกระทรวงการคลังอิสราเอลปรับปรุงกฎหมายการจัดเก็บภาษีรายได้ใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป โดยยกเลิกการได้รับเครดิตลดภาษีต่อเดือนสำหรับแรงงานต่างชาติ ซึ่งเดิมเครดิตภาษีดังกล่าวแรงงานนำไปหักลดภาษีรายได้ต่อเดือนที่ต้องเสียให้แก่รัฐบาลอิสราเอลได้ แต่การจัดเก็บภาษีใหม่จะทำให้แรงงานต่างชาติรวมถึงแรงงานไทยไม่ได้รับเครดิตภาษีอีกต่อไป และนายจ้างจะหักค่าจ้างคนงานเพื่อจ่ายภาษีรายได้ กล่าวคือ แรงงานต่างชาติที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเดือนละ 4,300 เชคเกล จะต้องจ่ายภาษีรายได้ประมาณร้อยละ 10 ของรายได้หรือประมาณ 430 เชคเกลต่อเดือน (ซึ่งเดิมแรงงานชายเคยได้รับยกเว้นเครดิตให้ลดภาษี 2.25 เครดิตต่อเดือนหรือประมาณ 490 เชคเกล และแรงงานหญิงเคยได้รับยกเว้นเครดิตให้ลดภาษี 2.5 ต่อเดือนหรือประมาณ 545 เชคเกล) อย่างไรก็ตาม แรงงานเกษตรที่ทำงานล่วงเวลาและได้ค่าจ้างมากกว่า 5,000 เชคเกล จะถูกหักภาษีตามอัตราที่รัฐบาลอิสราเอลกำหนด ทั้งนี้ตามกฎหมายแรงงานนายจ้างมีสิทธิ์หักค่าจ้างเป็นค่าภาษี ค่าประกัน ค่าที่พัก ค่าไฟฟ้าและค่าน้ำได้ไม่เกินร้อยละ 25 ของเงินเดือนของลูกจ้าง

งานหนักและการละเมิดสิทธิแรงงาน

สารคดีของ “ฮิวแมน ไรท์ วอทช์” เปิดเผยถึงการกดขี่แรงงานไทยในประเทศอิสราเอล

ข้อมูลจากปี 2557 พบว่ามีแรงงานไทยในอิสราเอลอยู่ประมาณ 27,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานภาคการเกษตรอยู่ในชุมชนโมชาฟและชุมชนคิบบุตส์ (หมู่บ้านหรือชุมชนที่รวมตัวกันเป็นสหกรณ์การเกษตร) และเมื่อปลายเดือนมกราคม 2558 ที่ผ่านมา ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ (Human Rights Watch) เปิดเผยรายงาน“สัญญาจ้างอยุติธรรม: การเอารัดเอาเปรียบแรงงานไทยในภาคเกษตรกรรมของอิสราเอล” (A Raw Deal: Abuses of Thai Workers in Israel's Agricultural Sector)  ระบุว่าแรงงานไทยในอิสราเอลพบกับการละเมิดสิทธิด้านแรงงานอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการได้ค่าแรงต่ำ ขณะที่ต้องทำงานนานหลายชั่วโมง และมีสภาพการทำงานที่อันตราย ส่งผลให้แรงงานไทยเสียชีวิตไปหลายราย

ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ระบุว่าอุตสาหกรรมการเกษตรของอิสราเอลต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติชาวไทยเป็นอย่างมากเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ แต่รัฐบาลอิสราเอลแทบไม่ได้ปกป้องสิทธิและคุ้มครองแรงงานไทยจากการถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างเลย

แรงงานไทยต้องทำงานยาวนานหลายชั่วโมง และเผชิญสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เสี่ยงอันตราย และมีสภาพความเป็นอยู่ไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งได้แค่แรงที่ต่ำเป็นอย่างมาก รายงานฉบับนี้ได้สัมภาษณ์แรงงานนับร้อยคนจากชุมชนเกษตร 10 แห่งทั่วอิสราเอล และแรงงานที่อาศัยในชุมชน 9 ใน 10 แห่งต้องอาศัยในที่พักที่ต่ำกว่ามาตรฐานและอยู่อย่างขัดสน นอกจากนี้การเปลี่ยนนายจ้างเพื่อหางานที่ดีกว่า ก็เป็นเรื่องที่ยากลำบากมากสำหรับแรงงานต่างชาติในอิสราเอล

อนึ่งระหว่างปี 2551-2556 แรงงานไทยจำนวน 122 คนได้เสียชีวิตในอิสราเอล โดย 65 คนตายจากโรคหัวใจ ขณะที่ 22 คนตายโดยไม่ทราบสาเหตุ

ยาบ้า

เมื่อเดือนธันวาคม 2557 กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่าขณะนี้เกิดปัญหายาเสพติดแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานไทยที่ทำงานในประเทศอิสราเอล โดยจากการลงพื้นที่แคมป์แรงงานไทยในอิสราเอล พบว่ามีแรงงานไทยที่เสพยาบ้า ซึ่งถูกลักลอบขนจากประเทศไทย ประมาณ 15,000 คน จากจำนวนแรงงานไทยในอิสราเอลทั้งหมด 27,000 คน ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบทางด้านสุขภาพของแรงงานไทยแล้ว หากแรงงานไทยมีอาการคลุ้มคลั่งแล้วก่อเหตุร้าย ก็อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิสราเอลด้วย 

นอกจากนี้ยังพบว่าการซื้อขายยาบ้าในกลุ่มแรงงานไทยที่อิสราเอลอยู่ที่ราคาเม็ดละ 1,500-2,000 บาท สูงกว่าราคาในไทยถึง 10 เท่า ผู้ค้ายาเสพติดยังมีการจ่ายเงินเพื่อให้ช่วยลักลอบขนยาเสพติดจากไปไทยไปอิสราเอลสูง ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดในอิสราเอลมีสูงมากขึ้น ขณะที่บทลงโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดของอิสราเอลมีโทษจำคุกแค่ 6 เดือนเท่านั้น

สำหรับสาเหตุส่วนใหญ่ที่แรงงานไทยเสพยาบ้าคือเพื่อผ่อนคลาย แก้เหงา และให้ทำงานได้มากขึ้น ทั้งนี้ถ้าแรงงานไทยเสพยาบ้าคนละ 2 ต่อวัน โดยมีการประเมินว่าอาจจะทำให้สูญรายได้เข้าประเทศไทย ประมาณปีละ 40,000 - 50,000 ล้านบาท ซึ่งสวนทางกับรายได้ที่แรงงานไทยส่งกลับบ้าน รวมปีละ 10,000 ล้านบาทเท่านั้น 

ชุมชนโซเชียลมีเดียของแรงงานไทยในอิสราเอล ‘กดไลค์’ ก่อนไปทำงานอิสราเอล

แรงงานไทยในประเทศอิสราเอล

แรงงานไทย ในอิสราเอล

องค์กร คาฟลาโอเวด - Kavlaoved

คนไทยในอิสราเอล

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net