Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สังคมในยามสงบ และมีความเข้มแข็ง เมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติสักครั้ง การจัดการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือก็กระทำได้อย่างทุกลักทุเลและยากลำบาก

การจัดการฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือจะยิ่งยากขึ้นหลายเท่าเมื่อเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นในสังคมที่มีความขัดแย้งอยู่เดิม

ความขัดแย้งอย่างกรณีในอะเจห์[1] ประเทศอินโดนีเซีย เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้นักสิทธิมนุษยชน องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรให้ความช่วยเหลืออย่างกาชาดสากล ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าและไม่รู้จะจัดการอย่างไร เมื่อทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์อย่าง ‘ความขัดแย้ง’ เกิดขึ้นบนพื้นที่เดียวกัน

Zeccola (2011) พบว่า ในอะเจห์องค์กรให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุยชน มีความยากลำบากในการจำแนกระหว่างผู้ที่ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่าง ‘สึนามิ’ กับ เหตุการณ์ ‘ความขัดแย้ง’ที่เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปี

ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามิ ถือเป็น ‘ความบริสุทธิ์’ ที่ผู้ประสบเคราะห์ต้องได้รับความช่วยเหลือตามหลักสิทธิมนุษยชน แต่ผู้ประสบภัยพิบัติจำนวนหนึ่ง (มาก) ถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งด้านการเมือง ซึ่งอย่างหลังกลายเป็นกุญแจสำคัญ ทำให้ความช่วยเหลือนั้นดำเนินไปด้วยความทุลักทุเล โดยเฉพาะความช่วยเหลือจากรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชนจากต่างประเทศ ที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เป็นผู้ปฏิบัติการ จะตกอยู่ท่ามกลางการถูกจับจ้องว่า ความช่วยเหลือนั้นจะถูกแปลความหมายอย่างไร  ถ้าหากการปฏิบัติการถูกมองว่าไม่เหมาะสมและถูกเกี่ยวโยงเข้ากับความขัดแย้งด้านการเมือง อาจทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับรัฐบาลอินโดนีเซีย

แต่ประเด็นสำคัญคือในสภาวะการณ์เช่นนี้ คือ การจะแยกให้ความช่วยเหลือทำได้ยาก เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างความขัดแย้งด้านการเมืองและพื้นที่ภัยพิบัติทางธรรมชาติ

สิ่งที่เกิดขึ้นในอะเจห์คือ องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ให้ความสำคัญน้อยมากกับประเด็นด้านการเมือง และไม่ได้แยกระหว่างผู้ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติกับผู้ที่ประสบภัยทางการเมืองออกจากกัน จึงทำให้มีปัญหากับแหล่งทุนซึ่งส่วนมากเป็นรัฐบาลจากต่างประเทศ

ในขณะที่รัฐบาลจากต่างประเทศซึ่งเป็นผู้บริจาคด้านการเงินและสิ่งของต่างๆ (โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่เป็นผู้ปฏิบัติ) เกรงว่าจะเกิดปัญหากับรัฐบาลอินโดนีเซีย จึงปฏิเสธอย่างแข็งขันว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งอย่างเด็ดขาด

ผลที่ตามมาคือ การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติจึงเป็นไปด้วยความยากลำบากและขาดประสิทธิภาพ

Zeccola ยังพบว่า เว้นแต่องค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่บางองค์กร ที่ยอมลดจุดยืนบางอย่าง ทำงานร่วมกับองค์กรของรัฐบาลในพื้นที่ จึงทำให้การช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประสบภัยพิบัติสามารถดำเนินการได้บ้าง พร้อมกับเสนอว่า ผู้บริจาคควรยึดจุดยืนในการให้เน้นให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน โดยที่ทั้งผู้บริจาคและองค์กรพัฒนาเอกชนน่าจะยืดหยุ่นและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมด้านการเมือง ซึ่งจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือได้เป็นอย่างดี

โดยสรุปผู้เขียนพบว่า หากเปรียบเทียบการฟื้นฟูภัยพิบัติสึนามิระหว่างอะเจห์ในประเทศอินโดนีเซียและภาคใต้ของประเทศไทย ด้วยประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น ความขัดแย้งด้านการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อะเจห์ฟื้นฟูได้ช้าและยากกว่าเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

ภัยพิบัติทางธรรมชาติเริ่มเกิดบ่อยครั้งขึ้นในหลายพื้นที่ในแต่ละประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยก็ยังคงมีอยู่ เช่น กรณีความขัดแย้งระหว่างเสื้อเหลือง-เสื้อแดง และความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเป็นที่น่าสนใจว่า ในอนาคตข้างหน้า หากเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้น สังคมไทยจะรับมืออย่างไรกับสถานการณ์เช่นนี้




[1] อะเจห์เกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และมีความขัดแย้งก่อนหน้านั้นเกือบ 30 ปี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net