Skip to main content
sharethis

ที่ประชุม ครม. ให้ ก.ยุติธรรม-ดีเอสไอ นำร่างกฎกระทรวงซึ่งจะเพิ่มอำนาจดีเอสไอเทียบเท่าตำรวจ สอบได้อีก 24 ความผิด กลับไปทบทวน-สอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนกลับมาเสนอใหม่

เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 มี.ค.54 กรณีที่นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาร่างกฏกระทรวงว่าด้วยการกำหนดคดีพิเศษเพิ่ม เติมตามกฏหมาย ว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยที่ประชุมได้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรมนำร่างดังกล่าวที่มี การเพิ่มฐานความผิดอีก 24 คดีกลับไปทบทวนและสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสร็จแล้วค่อยนำกลับมาเสนอใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่า ร่างกฏกระทรวงดังกล่าวเสนอโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ซึ่งได้นำนายธาริต เพ็งดิษฐ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอมาคอยชี้แจงด้วย โดยกระทรวงยุติธรรม ให้เหตุผลการขอเพิ่มอำนาจของดีเอสไอในเอกสารที่เสนอต่อที่ประชุม ครม.ว่า เนื่องจากคดีความ ผิดอาญาบางประเภทมีความซับซ้อนมีความเสียหายต่อประเทศ มีลักษณะการทำความผิดข้ามชาติ จึงเห็นควรให้แก้กฏกระทรวง เพื่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะกรรมการคดีพิเศษ มีอำนาจสอบสวนคดีความผิดเพิ่ม อีก 24 ความผิด เช่น ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ความผิดเรื่องการค้าประเวณี ความผิดตามประมวลกฏหมายที่ดิน ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายเป็นต้น

รายงานข่าวแจ้งว่า เรื่องดังกล่าวได้มีความคิดเห็นจากหน่วยงานราชการหลายแห่งมีทั้งคัดค้านและ เห็นด้วย แต่ที่สำคัญคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือ สตช.ได้ให้ความเห็นประกอบว่า การแก้กฏกระทรวงเพิ่มอำนาจดีเอสไอจะทำให้ดีเอสไอมีการทำงานซับซ้อนกับหน่วย งานในสังกัด สตช. เช่น ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจปราบปรามยาเสพติด โดยที่ตำรวจนั้นมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว อีกทั้งแย้งว่า เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเองก็มีเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ และได้ขอกำลังตำรวจไปช่วยงาน ดังนั้นถ้ามีการกำหนดเพิ่มคดีพิเศษมากขึ้นเช่นนี้ จะทำให้เกิดความล่าช้า และเสียหายได้ อีกทั้งหากออกกฏที่ให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่คดีพิเศษมากเกินไปจะกระทบกัน เสรีภาพของประชาชน

นอกจากนั้น สำนักอัยการสูงสุดมีความเห็นว่า การออกกฏดังกล่าวเพื่อเพิ่มคดีพิเศษขึ้นต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ ในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งแตกต่างจากอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนทั่วไป ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา

รายงานข่าวจากที่ประชุมรายงานว่า รัฐมนตรีหลายคนนั้นไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจให้ดีเอสไอ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ระบุในกรณีนี้ว่า ขอมามากขนาดนี้ตนก็ตายแล้ว หลายคดีที่ขอมา สตช.ก็รับผิดชอบอยู่ หากดีเอสไอไปทำงานซับซ้อนกัน จะเกิดปัญหาได้ ดังนั้นควรต้องยึดหลักตั้งแต่ต้นในการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ให้ทำคดีที่แตกต่างจากตำรวจ ไม่ใช่ไปทำซ้ำซ้อน

นอกจากนี้ยังมีรัฐมนตรีบางคน เช่น นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว อีกทั้งรัฐมนตรีหลายคนบอกว่าก่อนหน้านี้หลายสัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรีก็ได้ตีกลับกรณีที่ดีเอสไอขอเพิ่ม 11 คดี มาคราวนี้ขอถึง 24 คดีเลย

รายงานแจ้งว่า นายพีระพันธุ์ได้พยายามชี้แจงว่า การเข้าทำคดีของดีเอสไอ มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนไม่ได้ซ้ำซ้อนอะไรกับตำรวจ แต่นายธาริตก็ไม่ได้ชี้แจงใดๆ ต่อข้อท้วงติงหลายๆ คน จนสุดท้ายนายพีระพันธุ์ จึงถอนเรื่องดังกล่าวออกจากที่ประชุม โดยบอกว่าจะไปหารือกันอีกครั้งกับคณะกรรมการคดีพิเศษ

อนึ่ง คดีพิเศษเพิ่มเติม จำนวน 24 คดี ประกอบด้วย 1.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้า 3.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว 4.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต 5.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย 6.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 7.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 8.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 9.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ 10.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ

11.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ 12.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน 13.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่ 14.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน 15.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ 16.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 17.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยว กับยาเสพติด 18.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท 19.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 20.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง 21.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย 22.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยา 23.คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร 24.คดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา เฉพาะความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร คดีความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายและคดีความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net