กฎหมายคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานบ้านมีผลบังคับใช้แล้ว

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

กระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างที่ทำงานบ้าน ส่งผลให้นายจ้างต้องดูแลลูกจ้างที่ทำงานบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างชาวไทยหรือแรงงานข้ามชาติที่มีการทำงานจริง

ลูกจ้างที่ทำงานบ้าน ซึ่งกฏกระทรวงเดิมที่ออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ยกเว้นไว้ ไม่ได้รับการคุ้มครอง มาบัดนี้ได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น หลังจากราชกิจจานุเบกษาลงประกาศกฏกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555

เนื้อหาสำคัญที่กฎกระทรวงให้สิทธิแก่แรงงานลูกจ้างที่ทำงานบ้านตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และกำหนดหน้าที่ของนายจ้างต้องปฏิบัติ คือ

1. ให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยมีระยะเวลาห่างกันไม่เกิน 6 วัน

2. นายจ้างต้องประกาศวันหยุดตามประเพณีใหลูกจ้างทราบล่วงหน้า โดยมีวันหยุดไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี รวมทั้งวันแรงงานแห่งชาติ  กรณีวันหยุดตามประเพณีตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์  ให้ลูกจ้างหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีในวันทำงานถัดไป

3. ลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ไม่เกินปีละ 6 วันทำงาน

4. ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง  กรณีการลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป  นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์ก็ได้

5. กรณีลูกจ้างเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างโดยตรง ห้ามจ่ายให้แก่ผู้อื่น

6. ลูกจ้างต้องได้ค่าจ้างในการทำงานวันหยุด  ไม่ว่าจะเป็นวันหยุดประจำสัปดาห์  วันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดพักผ่อนประจำปี

7. ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในวันลาป่วยเท่ากับค่าจ้างในวันทำงาน แต่ปีละไม่เกิน 30 วันทำงาน

แม้กฎกระทรวงจะออกมาคุ้มครองการทำงานของลูกจ้างที่ทำงานบ้าน แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่กฎกระทรวงจำกัดสิทธิลูกจ้างทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครอง  ทำให้ลูกจ้างที่ทำงานบ้านไม่ได้รับสิทธิในการคุ้มครองแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อาทิ

การคุ้มครองให้ได้รับค่าแรงตามค่าแรงขั้นต่ำ  การคุ้มครองให้ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง สิทธิในการลากิจ และการลาเพื่อฝึกอบรมหรือพัฒนาความรู้ความสามารถ  การคุ้มครองการใช้แรงงานเด็ก  การคุ้มครองการใช้แรงงานหญิง เช่น สิทธิการลาคลอดของลูกจ้างหญิงมีครรภ์  สิทธิที่จะไม่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุมีครรภ์

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างรับทราบหน้าที่ และลูกจ้างทราบสิทธิตามกฎหมายนี้แต่อย่างใด 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท