Skip to main content
sharethis

7 เม.ย.53 - ที่สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ สภาที่ปรึกษาฯ ได้จัดให้มีการสัมมนา เรื่อง “ทางออกประเทศไทยจากภาวะวิกฤต” โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและสังคม ร่วมเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา นายโอกาส เตพละกุล ประธานสภาที่ปรึกษาฯ นายสมควร รวิรัช รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่ 1 รองประธานสภาที่ปรึกษาฯ คนที่ 2 ได้ร่วมกันแถลงข่าว สรุปการสัมมนาและการแสดงความเห็นของผู้เข้าร่วมการสัมมนา สรุปได้ดังนี้

นายสถาพร ชินะจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กล่าวว่า ปัญหาขณะนี้เป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ที่วุฒิภาวะทางการเมืองในปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ และไม่มีกลไกในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน โดยที่กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มองว่าปัญหาที่กำลังประสบมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาปากท้องของตนเอง และไม่เห็นแนวทางที่ใครจะแก้ปัญหาได้ เกิดปมขัดแย้งขึ้นในใจและตัองการให้ผู้นำที่ตนเองชื่นชอบกลับมาแก้ไขปัญหา  แนวทางในการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจนั้น จะต้องแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวไปพร้อมๆ กัน ต้องมีจุดหมายที่ชัดเจนและมีการนำเทคโนโลยีใช้ให้มากขึ้น รวมถึงการเข้าสู่ระบบ Knowledge Economy ซึ่งจะต้องยกระดับการศึกษาและการเรียนรู้ ไม่ให้เกิดช่องว่างทางการศึกษา เร่งแก้ปัญหาการว่างงาน และช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนจนกับคนรวย จึงควรมีการยกระดับความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ให้มีรายได้ และมีการศึกษาที่ดีขึ้น นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างการคมนาคม การสื่อสาร หรือด้านไอซีที ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยผลการศึกษาของ World Bank พบว่า การพัฒนาด้านไอซีที มีผลกระทบต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และทำให้ค่าจีดีพีในประเทศมีการเจริญเติบโตสูงขึ้นด้วย

ด้าน ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม. หอการค้าไทย กล่าวว่า ทางออกจากวิกฤตการเมือง ภาวะความเหลื่อมล้ำทางสังคมยังเป็นปัญหา ภาคธุรกิจยังมีความกังวลในเรื่องการเมือง ตราบที่ยังไม่มีการปิดสนามบินหรือเส้นทางคมนาคมขนส่ง ย่อมไม่ส่งผลกระทบต่อยอดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่นั้นมาจากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ แต่หากการชุมนุมยืดเยื้อต่อไป ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสในด้านการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล และส่งผลกระทบต่อรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 50,000 ล้านบาท ที่ผ่านมาแม้ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น แต่การบริโภคน้อยลง ซึ่งเชื่อว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ จะมีการอัดฉีดเงินงบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งนี้ ในภาคเศรษฐกิจมีความเห็นว่า การจะยุบสภาหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ที่เสียดาย คือ หากมีการยุบสภา จะเกิดความล่าช้าในการใช้งบประมาณ โอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นในการลงทุน ทำให้ภาวะเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางสูง ถือเป็นการเสียโอกาสสุดท้าย ทางออกในการแก้ไขปัญหา ดร.ธนวรรธน์ฯ มองว่า การเจรจาให้เกิดความเข้าใจและนำไปสู่การยุบสภาในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

นายเสงี่ยม เอกโชติ อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวไทย ได้เสนอให้หลายภาคส่วนของสังคมได้เข้ามาร่วมมือกัน ตั้งแต่บุคลากรฝ่ายการเมือง ฝ่ายปกครองหรือเหล่าข้าราชการ และประชาชนปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากความเข้าใจในหลักของประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ คำว่าเสรีภาพ ที่ดูเหมือนว่าจะถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย เกินขอบเขต เห็นได้จากการปล่อยให้มีสื่อเสรีต่างๆ วิทยุชุมชน หรือทีวีเสรีเข้ามามีบทบาทต่อค่านิยมทางประชาธิปไตยที่บิดเบือนไป ดังนั้น การจะเชื่อสิ่งใดจะต้องเชื่อโดยใช้วิจารณญาณ อย่าเชื่อในสิ่งที่คนอื่นพูดมา ยิ่งกว่านั้นเราไม่ควรมองประชาธิปไตยในมุมแคบๆ เพียงแค่การเลือกตั้ง หรือการแสดงออกในรูปแบบที่ใครเสียงดังมากกว่าถึงจะเป็นประชาธิปไตย เพราะสิ่งนี้ไม่ใช่การแสดงออกถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นอกจากนั้น การทำให้ประเทศน่าอยู่ ทุกฝ่ายควรลดทิฐิมานะของตนเองลง แล้วหาจุดลงตัวของกติการ่วมกัน พร้อมทั้งให้ความเคารพและให้ความสำคัญกับคณะอนุญาโตตุลาการที่จะก้าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสังคมต่อไป

Mr. Geoffrey Longfellow ที่ปรึกษาการลงทุน ได้ให้ความเห็นว่า วิกฤตการเมืองในปัจจุบันนั้นมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เกิดจากชนชั้นกลาง (คนรวย) ไม่มีความรับผิดชอบเท่าที่ควร มีจริยธรรมและทัศนคติที่รับผิดชอบต่อสังคมต่ำ เช่น การสนับสนุนบุตรหลานในทางที่ผิด หรือการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ทำให้การทำหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีบกพร่อง ดังนั้น ควรมีการปฏิรูปสังคม เพื่อลดช่องว่างของรายได้นอกจากนั้นแล้วการศึกษาของไทยที่ไม่เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้คิดเป็นแก้ปัญหาเป็น ส่งผลให้เด็กไทยในปัจจุบันมีปัญหาทั้งด้านการใช้ภาษา และการใช้หลักของการใช้วิจารณญาณที่ดี

พระธรรมคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กล่าวว่า ความขัดแย้งภายในประเทศ ณ ขณะนี้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. เป็นวิกฤตทางความคิดที่มีผลกระทบที่ก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง ฝ่ายการเมืองในปัจจุบันยังมีวุฒิภาวะทางการเมืองไม่เพียงพอ กลไกตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ นักปกครองต้องเลือกทางใดทางหนึ่งในการปฏิบัติ ยอมเสียสละในวันนี้เพื่อประโยชน์ในวันหน้า จะเลือกประโยชน์ส่วนตัวหรือประโยชน์ของประเทศชาติ นักปกครองต้องใจกว้าง ทำหน้าที่เป็นกลาง ด้วยความเที่ยงธรรม ไม่เข้าข้างใดข้างหนึ่ง ต้องคุยกันหาทางออก ใช้หลักทางสายกลางใช้เหตุและผล นำปัญหามาตั้ง แล้วช่วยกันแก้ให้พบจุดร่วม เพื่อผ่านวิกฤต คนไทยก็ต้องรู้จักคำว่าเสียสละและรู้จักให้อภัย หรือถอยคนละก้าวเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง. 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net