Skip to main content
sharethis
6 ก.ย.56 - คณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดการสัมมนาเรื่อง "ผลกระทบและมาตรการการป้องกันหมอกควันของประเทศไทย และกลุ่มประเทศอาเซียน" เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การเกิดหมอกควัน ตลอดทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาของประเทศและกลุ่มอาเซียน ตลอดจนหากแนวทางการป้องกันและมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต โดยมีผู้เข้าร่วมใหัความเห็นจากกลุ่มประเทศอาเซียน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมสัมมนา ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
         
ดร.นิวัตร ตันตยานุสรณ์ ประธานคณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวแสดงความยินดีที่ประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ความสำคัญกับการเข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นทิศทางที่ดีที่เราจะได้หาทางออกและมาตรการในการป้องกันปัญหาร่วมกัน เนื่องจากปัญหาหมอกควันสร้างผลกระทบต่อประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้ง ไทย อินโดนิเซีย พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และบรูไน ส่วนประเทศฟิลิปปินส์ ไม่ได้รับผลกระทบเพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหมู่เกาะ
 
ในวันนี้การประชุมกลุ่มอาเซียนมีประเทศที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น 4 ประเทศ คือ ประเทศอินโดนิเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศพม่า และประเทศไทย สรุปประเด็นการหารือแนวนโยบายด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน ได้ดังนี้
 
1. การดำเนินงานโดยการกำหนดเป็นนโยบายเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควัน นโยบายโดยรวม มีความคล้ายคลึงกันทั้ง 4 ประเทศ
 
2. มาตรการในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ คือ แนวทางการบริหารจัดการเพื่อป้องกันและลดปัญหา โดยเน้นการทำงานเชิงพื้นที่ ซึ่งก็มีแนวทางการทำงานที่คล้ายคลึงกันทั้ง 4 ประเทศ โดยใช้มาตรการทางกฎหมายเข้ามาจัดการ ,การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่นในการจัดการแก้ปัญหาที่ต้นทาง และมีการกำกับติดตามโดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม และส่งข้อมูลข่าวสารไปยังประชาชนกลุ่มเป้าหมาย โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้จัดทำแอพลิเคชั่นเพื่อใช้ตรวจสอบค่ามลพิษทางอากาศ คือ air4thai  และได้มีการแนะนำไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อใช้งานอีกด้วย
 
3. การกำหนดปฏิบัติการเชิงรุก โดยประเทศไทยจะรวบรวมประเทศอาเซียนตอนบนในเขตลุ่มแม่น้ำโขงและประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร ทั้ง 2 กลุ่ม เข้ามาเป็นภาคีร่วม โดยมีประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยีการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร รวมถึงแนวทางปฏิบัติตัวอย่าง คือ โครงการฮักเมืองน่าน และการแก้ไขหมอกควัน ตามแนวโครงการปิดทองหลังพระ ซึ่งในที่ประชุมก็ได้เห็นด้วย ที่จะนำโครงการ
 
ทั้งสอง มาเป็นต้นแบบในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหาต่อไปในอนาคต และเห็นว่าประเทศไทยน่าจะเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยน นำโครงการต้นแบบนี้ ไปปรับใช้ในประเทศในกลุ่มอาเซียนต่อไป
ปัญหาหมอกควัน ซึ่งทั้ง 4 ประเทศประสบเหมือนกัน คือ ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าในช่วงฤดูร้อน มาจากกรบุกรุกพื้นที่ป่าบนพื้นที่สูง ป่าพรุ เพื่อทำเกษตรเชิงเดี่ยว โดยการสนับสนุนจากตลาดทุนการเกษตร ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย เนื่องจากทุกประเทศมีกฎหมายบังคับใช้ มิให้มีการบุกรุกพื้นที่ป่า 
 
ปัญหาถัดมาคือ ปัญหาเรื่องสุขภาพและสุขอนามัยเกี่ยวกับทางเดินหายใจและปอด ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงมิได้ แม้ว่าสถานการณ์ที่เกินขึ้นเกิดในเวลาอันสั้นก็ตาม แต่มีความรุนแรงและเกินจากเส้นมาตรฐานไปมาก
ข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมการสัมมนา มีประเด็นหลักดังนี้
 
- ขอให้มีการลดปริมาณการให้สัมปทานหรือการไม่อนุญาตให้เข้าไปทำการเกษตรในพื้นที่สงวนหรือพื้นที่อนุรักษ์โดยเด็ดขาด เพื่อเป็นการยุติไม่ให้เกิดการเข้าไปทำลายป่าและเผาป่า
- ให้นำบทเรียนของกลุ่มฮักเมืองน่าน และโครงการปิดทองหลังพระของจังหวัดน่าน นำไปเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาหมอกควันได้อย่างยั่งยืน 
- ขอให้สถาบันการศึกษาและภาควิชาการเข้ามามีส่วนร่วมในการทำวิจัยในแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ความไว้เนื้อเชื่อระหว่างรัฐกับท้องถิ่นนั้น ยังมีช่องว่าง การที่สถาบันการศึกษาเข้าไปศึกษาปัญหาในท้องที่จะสามารถเข้าถึงปัญหาและนำประเด็นปัญหาไปสู่ภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
 
ทั้งนี้ ประเด็นนโยบายและการจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันในประเทศไทยและประเทศกลุ่มอาเซียน ที่ได้ในครั้งนี้ คณะทำงานการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะได้นำไปวิเคราะห์และประมวลผลจัดทำเป็นความเห็นและข้อเสนอแนะเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net