Skip to main content
sharethis

 

25 ก.ย.56 คณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อศึกษาโครงการ Thailand 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก การลงทุนของประชาชนเพื่อประชาชน สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “Thailand 2020 ก้าวใหม่เชื่อมไทยสู่โลก การลงทุนของประชาชนเพื่อประชาชน” เพื่อระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมต่อแนวทางการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ.2556-2563

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เป็นเรื่องที่ดีและทำให้เกิดความยั่งยืน มากกว่าโครงการประชานิยมที่ทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงระยะสั้นแต่อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ยังเป็นปัญหาและควรต้องคำนึงถึงในการบริหารจัดการในครั้งนี้ โดยขอตั้งเป็นข้อสังเกต 7 ประการ คือ

-           ความคุ้มค่าในการลงทุน ในแง่ความคุ้มค่าจะมองในด้านตัวเลขเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเน้นความคุ้มค่าทางสังคมด้วย เช่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวก่อสร้างรถไฟฟ้า มีการจ้างงานที่มากขึ้น สิ่งที่ต้องการเน้นย้ำคือ โครงการนั้นๆ จะต้องเน้นความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นกับประเทศโดยรวม มิใช่เฉพาะกลุ่มธุรกิจ และก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

-           การจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น เพราะการคอร์รัปชั่นทำให้ประเทศได้รับประโยชน์จากการใช้งบประมาณแผ่นดินไม่คุ้มค่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อให้เกิดความโปร่งใสคือ การเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ราคากลางก่อนการประมูล การเปิดเผยรายชื่อผู้ยื่นซองประมูล ผู้ชนะประมูล จำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ควรเผยแพร่ให้สามารถสืบค้นที่หน้าเว็บไซต์ด้วย

-           การจัดลำดับความสำคัญของโครงการต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

-           การกำกับดูแลโดยภาคการเมือง ต่อการใช้เงินแผ่นดิน โดยมีการตรวจสอบถ่วงดุลในสภา แต่การเสนอกฎหมายต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานครั้งนี้ มีเอกสารประกอบโครงการน้อยมาก อาจทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลไม่ถี่ถ้วนเท่าที่ควร

-           ภาระหนี้สาธารณะ จะต้องแจ้งให้ประชาชนทราบ เป็นประจำทุกสามเดือน

-           ใครควรเป็นผู้ลงทุน เนื่องจากโครงการฯ ที่จะทำเป็นโครงการใหญ่ขั้นตอนต่างๆ ใช้เวลานานมาก อาจทำให้มีความเสี่ยงในหลายๆด้าน รัฐควรให้เอกชนเข้ามาร่วมในการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของรัฐบาล และจะต้องไม่มีการผูกขาดทางธุรกิจเพราะจะทำให้การแข่งขันของประเทศไม่เกิดการพัฒนา

-           การพัฒนาด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัตถุ ต้องพัฒนาให้เดินหน้าไปพร้อมๆกันด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาคนและการศึกษา

ด้าน ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้วทุกประเภท แต่การลงทุนในประเทศยังมิได้มองเรื่องการพัฒนาคุณภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานเมื่อเทียบกับต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญคือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า อีกทั้งอำนวยความสะดวกในการขนส่ง สามารถรองรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เพื่อเสริมสร้างศักยภาพให้สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รองรับการเปิดเสรีอาเซียนและเชื่อมต่อกับภูมิภาคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงโครงข่ายระหว่างเมืองในภูมิภาคและประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงการลดระยะเวลาและเพิ่มความคล่องตัวในการเดินทาง

ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงภาพรวมแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ประเด็นปัญหาคือ ความพร้อมของโครงการ ซึ่งบางโครงการ ยังไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ การออกแบบรายละเอียด และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ พบว่ายังไม่ได้มีการดำเนินการในแผนดังกล่าวเลย อาจทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

สิ่งที่ยังต้องจับตาดู คือแนวทางการปรับปรุงประสิทธิภาพของการบริหารจัดการระบบราง ความพร้อมในการลงทุนของโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ยังไม่แล้วเสร็จ และวิเคราะห์ความคุ้มค่าของโครงการ

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ขาดการบริหารจัดการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้นโยบายต่างๆ หยุดชะงักลง จึงทำให้เสียเปรียบประเทศอื่นๆ

ส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ทุกฝ่ายมีความเห็นด้วย แต่ห่วงเรื่องความโปร่งใส และการทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้น รัฐบาลควรสร้างความเชื่อมั่น ในการแก้ไขกระบวนการทุจริต และเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ต่อสาธารณชน เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากการลงทุนในโครงการนี้ จะทำให้ประเทศมีการเจริญเติบโตมากขึ้นแล้ว ต้องทำให้เกิดการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม ใช้วัสดุอุปกรณ์ในประเทศ การวางแผนการลงทุนต่างๆ สร้างงาน สร้างอาชีพ และลดต้นทุนในการทำธุรกิจด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net