Skip to main content
sharethis

สมชาย ระบุ สิ่งที่ ‘พิธา’ กำลังเผชิญอยู่ไม่ใช่ “นิติสงคราม” แต่เป็น “การก่อการร้ายทางกฎหมาย” ที่พร้อมจะปู้ยี่ปู้ยำระบบกฎหมายได้ทั้งหมด เพื่อเอาคนที่ไม่ชอบหน้าหรือพรรคการเมืองที่ไม่เห็นด้วยออกไปจากสังคมการเมือง โดยมีอำนาจของ “สถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตย” สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

 

14 ก.ค. 2566 จากกรณีการนำประเด็นการถือหุ้นบริษัทไอทีวีของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มาใช้เป็นเหตุในตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามของการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ตามรัฐธรรมนูญของพิธา ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของพิธา ว่ามีเหตุสิ้นสุดลงจากกรณีหุ้นไอทีวีหรือไม่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีความเห็นต่อการนำประเด็นถือหุ้นบริษัทไอทีวีมาใช้เป็นหนึ่งในเหตุผลทางการเมือง เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติการเป็น ส.ส. ของพิธา และเป็นอุปสรรคในการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของพิธา ดังนี้

“หลังจากการเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลนี้จะเป็นอย่างไร ใครจะเป็นนายกก็มีอุปสรรคปัญหามากมายเต็มไปหมด ซึ่งเป็นปัญหาที่ต่างจากสังคมการเมืองอื่น เมื่อเลือกตั้งเสร็จ ส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ใครจะเป็นนายก ผมคิดว่าปัญหาสำคัญของความยุ่งยากในเรื่องนี้เป็นเพราะมีสิ่งที่เป็นสถาบันปฎิปักษ์ประชาธิปไตยอยู่” สมชาย กล่าว

สมชายขยายความคำว่า “สถาบันปฎิปักษ์ประชาธิปไตย” หมายความถึงสถาบันที่ไม่ได้สัมพันธ์กับประชาชน และเข้ามาทำหน้าที่เป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งควรจะเดินหน้าต่อไปได้ โดยปกติเมื่อการเลือกตั้งเสร็จสิ้นลงก็จะมีการจัดตั้งรัฐบาลตามมา แต่ในประเทศไทยขณะนี้ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากมีสถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตยขัดขวางเส้นทางประชาธิปไตยอยู่

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

“สถาบันปฏิปักษ์ประชาธิปไตยเกิดขึ้นตั้งแต่ กกต. กว่าจะประกาศผลก็เนินนาน แล้วหลังจากประกาศผลก็ยังไปเจอกันปัญหาการตีความคุณสมบัติของคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก คดีจะต้องไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลยุติธรรม มีปัญหามากมายเต็มไปหมด ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นลักษณะที่สะท้อนว่าบ้านเรามีสถาบันปฎิปักษ์ประชาธิปไตย ที่ยังมีอำนาจอยู่ไม่น้อยในสังคมการเมืองไทย” สมชาย กล่าว

เมื่อถามว่าสิ่งที่พิธากำลังเผชิญอยู่ทั้งคดีหุ้นสื่อและการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นนิติสงครมอย่างหนึ่งหรือไม่ สมชาย ระบุว่า สิ่งที่เรียกว่านิติสงครามในหลายๆ ประเทศจะพูดถึงการใช้กฎหมายในการต่อสู้คดีระหว่างแต่ละฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน แต่ในกรณีของไทยนิติสงครามกลายเป็นสิ่งที่ฝ่ายหนึ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้นิติสงครามจำนวนมากไม่ได้ยืนอยู่บนหลักการทาง

“ผมคิดว่าอาจจะไม่ได้เรียกว่า “นิติสงคราม” แต่เป็น “การก่อการร้ายทางกฎหมาย” มากกว่า คุณพร้อมที่จะปู้ยี่ปู้ยำกฎหมายได้ทั้งหมด เพื่อเอาคนที่เราไม่ชอบหน้า เอาพรรคที่เราไม่เห็นด้วยออกไป ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นปัญหา ถ้าเราปู้ยี่ปู้ยำระบบกฎหมายเพื่อที่จะกำจัดบุคคลหรือฝ่ายที่เราไม่เห็นด้วย ยิ่งใช้มากเท่าไหร่ ตัวระบบกฎหมายก็จะเป็นปัญหาต่อไป อย่าคิดว่าจะใช้อำนาจกฎหมายที่บิดเบี้ยวได้ตลอดไป”

สมชายระบุว่า การปู้ยี่ปู้ยำระบบกฎหมายเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบกฎหมาย เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ความน่าเชื่อถือตกต่ำลงอย่างมาก การใช้วิธีเช่นนี้กำจัดฝ่ายตรงข้ามย่อมไม่สำเร็จ และอาจทำให้เกิดการพังทลายของระบบกฎหมายลงไปด้วย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net