Skip to main content
sharethis

ในการอภิปรายและนำเสนองานวิจัย “ถอดรหัสความรุนแรงในสังคมไทย: รัฐ สื่อ สังคม และระบบกฎหมาย” เมื่อ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงหนึ่งมีวงพูดคุยเรื่อง "วิสามัญมรณะ: ปฏิบัติการของระบบบกฎหมายและการต่อสู้ของผู้ตกเป็นเหยื่อ" โดย รศ.ดร.สมชาย ปรีชาศิลปกุล แสดงความเห็นโดย รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์

นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำเสนอเรื่องความตายของสามัญชนที่เกี่ยวพันกับรัฐ เป็นความตายที่เกิดขึ้นในสภาวะปกติ ไม่เกี่ยวพันกับนโยบายของรัฐโดยตรง หรือความขัดแย้งทางการเมืองใดๆ เลยโดยขอเรียกว่า ‘วิสามัญมรณะ’ เป็นความตายในสังคมไม่ปกติที่ถูกทำให้เป็นปกติภายใต้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐ นอกเหนือไปจากความตายชัดแจ้งในพื้นที่การชุมนุม โดยสมชายยกกรณี 'โจ ด่านช้าง' ภายใต้การปฏิบัติงานของตำรวจ รวมถึงกรณีวิสามัญฯ 'ชัยภูมิ ป่าแส' และการซ้อมทรมาน 'พลทหารวิเชียร เผือกสม' และการซ้อมทรมานจนถึงแก่ชีวิตอื่น ๆ ภายใต้การปฏิบัติงานของทหาร มาเป็นตัวอย่างสำคัญในการนำเสนอ

โดยสมชายอธิบายแนวคิดวิสามัญมรณะด้วยการพูดถึงความตาย 2 รูปแบบคือ (1) ความตายที่ส่งเสียงได้ และ (2) ความตายที่เงียบงัน  โดย ‘ความตายที่ส่งเสียงได้’ หมายถึง เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่ไม่สู้จะปกติ จนนำมาสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมากจากความขัดแย้งทางการเมือง มีกฎหมายเฉพาะ มีการบันทึกเรื่องราว มีการรำลึกถึงครบรอบแต่ละช่วงจังหวะเวลา มีสถานะทางประวัติศาสตร์ เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์สลายการชุมนุม 2553 เป็นต้น 

ส่วนความตายที่เงีบบงัน หรือ ‘วิสามัญมรณะ’ หมายถึง ความตายในชีวิตประจำวันของสามัญชน ดูเหมือนเหตุการณ์ทั่วไป โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง อยู่ในสถานการณ์ปกติ มีการใช้กฎหมายปกติทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือนโยบายทางการเมืองโดยตรง ไม่มีการสูญเสียขนานใหญ่ เช่น การเสียชีวิตของผู้ต้องหาระหว่างการจับกุม การเสียชีวิตจากการถูกซ้อมทรมานของทหารเกณฑ์ เป็นต้น และไม่มีหน่วยงานไหนที่เก็บข้อมูลไว้ชัดเจน อย่างในช่วงปี พ.ศ. 2550-2561 พบว่ามีข้อมูลจากสื่อรายงานการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ถูกซ้อมทรมานในค่ายทหารจำนวน 14 ราย โดย 8 ราย มีพยานหลักฐานชัดเจนว่าถูกซ้อมทรมาน

ด้วยเหตุนี้เขาและผู้ช่วยวิจัยคือภาสกร ยี่นาง จึงรวบรวมข้อมูลจากสื่อมวลชนเพิ่มเติมเองและพบว่าในช่วงปี 2561 มีกรณีที่นิยามว่าเป็น ‘วิสามัญมรณะ’ หรือความตายที่มีเจ้าหน้าที่รัฐและอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มากกว่า 30 กรณี มีผู้เสียชีวิต 35 ราย และในปี 2562 มีจำนวน 35 กรณี มีผู้เสียชีวิต 47 ราย

เรื่องราวเช่นนี้มีลักษณะ ‘การตายที่เงียบงัน’ เพราะไม่มีการรวบรวม จำแนกแยกแยะ ไม่มีการรำลึก และไม่ถูกมองว่าเป็นปัญหา และการเลือกศึกษาในช่วงเวลาปี 2561-2562 เพราะ รศ.สมชาย เห็นว่า ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ดูราวกับว่า ‘เป็นปกติ’ เนื่องจากพ้นจากการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาพอสมควรแล้ว มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เรียบร้อยแล้ว และจากกรณีข้างต้นทั้งหมด ความตายเหล่านี้ล้วนเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ
ด้าน ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ผู้วิจารณ์งานกล่าวว่างานของสมชายได้ชวนให้คิดต่อถึง ‘อำนาจของความคิดเรื่องอำนาจ’ ที่คลุมครอบ กำหนด สั่งการ ความเป็นไปของสังคมไทยอย่างมหาศาล คือการปฏิบัติการของอำนาจที่ฝังลึกเข้าไปในหัวของคนไทยและเจ้าหน้าที่อย่างมีลำดับชั้นของอำนาจ อำนาจนี้ยังสัมพันธ์กับโครงสร้างสังคมชนชั้นและระบบราชการลดหลั่นลงมา

อำนาจที่ลงมาสู่ ‘ปฏิบัติการอำนาจ’ ก็คือ ‘อำนาจหน้าที่’ ที่จรรโลงโครงสร้างทางชนชั้นมาเนิ่นนาน และปรากฏอยู่ในระบบราชการหรือศาล และด้วยวิสามัญมรณะเช่นนี้ เราจะเห็นว่ามี ‘การต่อสู้’ กับอำนาจอยู่ในนั้น แต่การคลุมครอบของอำนาจ ทำให้เราไม่สามารถเห็นปรากฏการณ์การต่อสู้มานานมาก โดยงานนำเสนอของสมชายดังกล่าว พาไปดูการต่อสู้ภายใต้โครงสร้างใหญ่ และการต่อสู้สุดชีวิตของผู้สูญเสียได้แสดงแรงปรารถนาที่ต้องการความเป็นธรรม และความเป็นธรรม ‘ที่เป็นธรรม’ จะช่วยเยียวยาความรู้สึกปวดร้าวจากความไม่เป็นธรรมได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net