Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน จี้สังคยานาตำรวจ-แก้ กม.กลาโหมปฏิรูปกองทัพ แนะ กกต.ปรับระเบียบเลือก สว. ใหม่ "สมชัย" ชี้คำถามประชามติไม่ต้องประชามติเพราะไม่ได้แก้ทั้งฉบับ


เวที "ภาคประชาชนแถลงท่าทีและข้อเสนอต่อรัฐบาล และการปรับ ครม." ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา | ที่มาภาพ: คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

28 เม.ย. 2567 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าในเวที "ภาคประชาชนแถลงท่าทีและข้อเสนอต่อรัฐบาล และการปรับ ครม." ที่ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา (สี่แยกคอกวัว) ถ.ราชดำเนิน น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า การออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะตอกย้ำว่ารัฐธรรมนูญ 60 มีปัญหาและพรรคการเมืองเห็นพ้องว่าต้องแก้ไขและยกร่างใหม่ ปัญหาสำคัญคือกระบวนการเข้าสู่อำนาจที่สร้างปัญหาและไม่เอื้อต่อเจตนารมณ์ของประชาชน รวมถึงบทบาทของสมาชิกวุฒิสภาต้องมีการทบทวนและที่มาควรยึดโยงกับประชาชน ที่ผ่านมาถือว่าเป็นบทเรียนสำคัญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องมีการกระจายอำนาจเพราะถือเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ รวมถึงวิกฤตศรัทธาในองค์กรอิสระทั้งหลายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อไม่ให้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือของใครไม่กี่คน ดังนั้น การออกเสียงประชามติจะเป็นการยืนยันว่าประชาชนต้องการอะไร และสามารถทำบ่อยๆ ได้เป็นวิถีประชาธิปไตย แต่ควรใช้ในรูปแบบใหม่ที่ทันสมัยโดยใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ไม่ใช่ทำแบบเก่าและสิ้นเปลืองงบประมาณ

"ปัญหาสำคัญคือการไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเหมือนการประชามติรัฐธรรมนูญ 60 ที่ผ่านมา ดังนั้นขอเรียกร้องให้มีการเปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นก่อนการประชามติ" น.ส.ลัดดาวัลย์กล่าว

สำหรับระเบียบ กกต.ให้มีการเลือก สว. มีปัญหา  สร้างขอบเขตที่จำกัดเกินไปแม้แต่การแนะนำตัว เป็นการปิดกั้นทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม และการแนะนำตัว 5 บรรทัดไม่สะท้อนประสบการณ์ต่อการตัดสินใจเลือกใครได้ สะท้อนระบบการเลือกสว.ที่ไม่ชัดเจนและมีข้อจำกัด ทำให้ขาดการตรวจสอบการเลือก สว.ที่สุจริตเที่ยงธรรม

สำหรับการปรับครม.ชุดใหม่ เป็นการเมืองแบบเก่า น่าเสียดายที่ผลงานของกระทรวงการต่างประเทศถือว่าดีมากในเรื่องพม่าและไปลดตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีทำให้อาจจะทำให้กระทรวงไม่สามารถทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นได้มากพอ ถือว่ารัฐบาลลดความสำคัญในเรื่องนี้ลงไปอย่างน่าเสียดาย ประเทศไทยแควรมีบทบาทนำในอาเซียนในการสร้างสันติภาพในพม่า

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร  อดีต กกต. กล่าวว่า การประชามติตามความเห็นศาลรัฐธรรมนูญมีแค่ 2 ครั้ง แต่มีการแก้วิธีการแก้ตามมาตรา 256 ด้วยจึงมีประชามติ 3 ครั้ง  แต่การตั้งคำถามประชามติของรัฐบาลไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับเพราะมีการยกเว้นหมวด 1 และหมวด 2 ดังนั้นไม่จำเป็นต้องประชามติ 3 ครั้ง และการตั้งคำถามประชามติไม่เกี่ยวกับหมวด 15/1 ที่จะให้ สสร.มาจากการเลือกตั้งมาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะมีการประชามติครั้งที่ 1 ให้เสียเงิน 3,200 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้ผูกพันว่าจะมี สสร.หรือไม่

หากจะทำประชามติ 3 ครั้ง ควรตั้งคำถามใหม่ว่า "ท่านเห็นด้วยหรือว่าประเทศไทยควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยให้มี สสร.มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาดำเนินการ" ถึงจะสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะคำถามที่รัฐบาลตั้งเป็นการแยกคนไปโหวตออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ไม่ออกมาใช้สิทธิ์, ไม่เห็นชอบ, เห็นชอบให้จัดทำใหม่แต่ไม่เห็นชอบให้ละเว้นหมวด 1-2 และ เห็นชอบตามคำถามประชามติ โดยทั้ง 3 กลุ่มแรกจะไปโหวตไม่เห็นชอบ และอาจทำให้การประชามติครั้งนี้ไม่ผ่านได้

สำหรับการเลือก สว. มีคำถามกวนใจคือ ทำไมต้องจ่ายเงิน 2,500 บาท แบ่งกลุ่มอาชีพมากมาย และเลือก 3 ระดับเลือกตรงแล้วมาเลือกไขว้ถึง 6 ขั้น 3 ระดับ ประชาชนได้ประโยชน์อะไร จะถือเป็นตัวแทนสาขาอาชีพนั้นได้อย่างไร และจะมีการได้เปรียบระดับจังหวัดใหญ่และจังหวัดเล็ก  และระเบียบการแนะนำตัวมีปัญหาซึ่งรอมานานมาก กกต.มีเวลาเตรียมการนานมาก 5-6 ปี แต่กว่าจะออกมาแค่ 3 หน้า ซึ่งบอกว่าไม่สามารถหาเสียงหรือแนะนำตัวกับประชาชนได้เพราะไม่ใช่ผู้สมัครด้วยกัน ถือเป็นระเบียบที่สามารถเอาผิดผู้สมัครที่ทำผิดกติกาได้ เพราะแม้แต่โพสต์ลง Social Network ก็ไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะเป็นพับลิค ถือเป็นปัญหาของระเบียบนี้ และจำนวนผู้ช่วยผู้สมัครไม่ได้จำกัดว่ามีได้กี่คน ถือว่าหละหลวมมากๆ

ท้ายสุด โอกาสที่ผู้สมัครแต่ละคนจะรู้จักกันแทบไม่มีเลย ในขณะที่ ilaw และภาคประชาชนพยายามจะทำข้อมูลผู้สมัคร สว. ก็ยังทำไม่ได้เพราะความไม่ชัดเจนของ กกต.  ตนจึงขอเรียกร้องให้ กกต.ตั้งโต๊ะชี้แจงระเบียบการแนะนำตัวของ สว.โดยให้ประชาชนซักถาม เพื่อปรับระเบียบใหม่ยังทัน นายสมชัยกล่าว

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร  เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ตนสนับสนุนให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดยให้มีการเลือก สสร.มาร่าง เพราะกระบวนการปัจจุบันนั้นเป็นการออกแบบของปีศาจ อย่าไปเสียเวลากับกระบวนการที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นอุบายและลากเวลายาวออกไป

การปฏิรูปตำรวจเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนนั้น ปัจจุบันประชาชนที่เดือดร้อนยังเดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจไม่ได้เลย เพราะตำรวจมักจะลงบันทึกประจำวันเท่านั้นโดยไม่รับแจ้งความ จึงไม่ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ประชาชนร้องทุกข์มา อาชญากรรมจึงเกิดขึ้นเป็นร้อยเท่าจากรายงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จนประชาชนต้องไปพึ่งสื่อมวลชน ไปพึ่งบุคคลที่สามเช่น คุณกัน จอมพลัง ไปออกรายการร้องห่มร้องไห้ ถือเป็นความบิดเบี้ยวของกระบวนการยุติธรรมไทย

อาชีพตำรวจวันนี้ไม่ได้คิดหารายได้แค่สิบล้านร้อยล้านแล้ว ยังสามารถหาเงินกันได้เป็นพันล้านบาทและมีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้ว นี่คือการใช้อำนาจหาเงินโดยมิชอบ ถือเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของตำรวจไทย แต่กระบวนการปฏิรูปตำรวจที่ผ่านมาพยายามหลอกลวงประชาชน ไม่ได้มีนัยปฏิรูปที่แท้จริง

ปัจจุบันมีนายพลอยู่มากถึง 530 คน ปัญหาตำรวจจึงไม่ใช่เรื่องขาดงบประมาณ แต่โครงสร้างเทอะทะ บางหน่วยงานแทบไม่มีงานทำเช่น กองบัญชาการภาค ไม่จำเป็น เป็นอุปสรรคการบริหารราชการในจังหวัด ผู้ว่าฯ ก็สั่งการตำรวจไปแก้ไขปัญหาประชาชนไม่ได้ แม้จะมีการปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านมายังไม่ยอมแก้ไขปัญหาตำรวจ การวิ่งเต้นยังเกิดขึ้นเหมือนเดิมไม่เลี่ยนแปลง แม้จะมีการเขียนยุทธศาสตร์ชาติ และรัฐธรรมนูญไว้ก็ตาม จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา เร่งปฏิรูปตำรวจให้เป็นรูปธรรมในรัฐบาลนี้ จัดรูปใหม่ อย่าทำแบบทหารแต่ทำหน่วยแบบพลเรือน เพื่อรองรับการแก้ปัญหาความเดือดร้อนประชาชน

นายจำนงค์ หนูพันธ์  ประธานที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ตนเรียกร้องให้มีการเลือก สสร. 100 เปอร์เซ็นต์มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้มีการเลือกตั้ง สว.จากประชาชน แต่รัฐธรรมนูญ 60 สร้างปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการออกแบบเพื่อคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น การตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจึงตั้งไม่ได้เพราะเหตุนี้ และกระบวนการเลือก สว.รอบนี้มีปัญหา เพราะเป็นการกีดกันคนยากคนจนด้วยค่าสมัคร 2,500 บาท จึงไม่ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพอย่างแท้จรง

ผลงานของรัฐบาลนี้ 7 เดือนมีแค่อดีตนายกรัฐมนตรีคนเดียวที่ได้ประโยชน์ แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้ประชาชนเดือดร้อนที่รอไม่ได้เลย ค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันแพงเหมือนเดิม ประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิ์ได้รับคดีเป็นการตอบแทนเหมือนที่เกิดกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม การปรับ ครม.ใหม่ ไม่ได้มีผลอะไรต่อประชาชนเลย

ตนอยากเห็นความจริงใจของรัฐบาล โดยให้สิทธิเสรีภาพประชาชนในการสะท้อนความจริงต่อรัฐบาลได้ ไม่ใช่ชุมนุมเรียกร้องแล้วมาจับกุมดำเนินคดีแล้วจะสะท้อนปัญหาได้อย่างไร ทั้งเรื่องที่ดินทำกิน กระบวนการยุติธรรมจากระบบกล่าวหา นโยบายด้านการเกษตรกรรมติดขัดกับข้อกฎหมายหลายข้อ เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศและเป็นความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลต้องให้ประชาชนมีส่วนในการใช้ทรัพยากรของประเทศ ใช้ที่ดิน อากาศ น้ำ ร่วมกันได้ ไม่ใช่กีดกันประชาชน แต่ไปเอื้อกลุ่มทุนอย่างเดียว ทั้งที่ก่อนหน้านี้บอกว่า ประชาชนเดือดร้อนรอไม่ได้

"สิทธิที่อยู่อาศัยและสวัสดิการ น้ำ ไฟฟ้า ประชาชนบนพื้นที่สูงยังไม่ได้รับเลย แต่รัฐบาลมองข้ามไป ประชาชนหลายกลุ่มเข้าไม่ถึงสาธารณูประโภคขั้นพื้นฐาน   สิทธิประชาชนยังไม่ครอบคลุมทุกชาติพันธ์ในประเทศไทย ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงสวัสดิการรัฐ จำกัดกรอบประชาชน ไม่ได้เห็นหัวประชาชน ประชาชนจึงต้องออกมาเรียกร้องให้ท่านรับทราบและได้ยิน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมขอเรียกร้องให้รัฐบาลสร้างรัฐสวัสดิการแก่ประชาชนทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม" นายจำนงค์กล่าว

นายเมธา มาสขาว  เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และที่ปรึกษา ครป. กล่าวว่า 32 ปีเหตุการณ์พฤษภา 2535 ปีนี้ในวันที่ 17 พ.ค. 2567 ขอเชิญชวนรัฐบาลและพรรคการเมืองทุกพรรคเข้าร่วมสืบสานเจตนารมณ์วีรชนเดือนพฤษภาเพื่อปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ร่วมกัน โดยเฉพาะการปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน ตนเห็นด้วยให้มีการแก้ไข พรบ.สภากลาโหม เพื่อให้รัฐบาลสามารถเข้าไปกำกับดูแลกองทัพได้ เพื่อยับยั้งกระแสการรัฐประหาร ซึ่งการแก้ปัญหากระแสการรัฐประหารนอกจากการเรียกร้องกองทัพแล้ว รัฐบาลต้องมีธรรมาภิบาล อย่าฉ้อฉลจนสร้างเงื่อนไขให้เขาอ้างได้ ประชาชนถึงจะเป็นพลังหนุนได้

สำหรับการปรับ ครม. รอบใหม่นี้ น่ายินดีที่มีการให้คนรุ่นใหม่และคนที่มีความสามารถเข้ามามีส่วนในการบริหารประเทศส่วนหนึ่ง แต่ภาพรวมยังเป็นการเมืองเก่าตามโควต้ามุ้งการเมืองเหมือนเดิม บางคนเป็นรัฐมนตรีจนรากงอก เป็นรัฐมนตรีทุกรัฐบาล แต่ประเทศไม่เปลี่ยนแปลงไม่พัฒนาดีขึ้น เป็นรัฐมนตรีเต้าหุ้ยี้มาหลายสมัยแล้วแต่ก็ยังเลือกมา สะท้อนว่าคนหน้าเดิมสัมปทานการเมืองไทย และที่น่าผิดหวังมากคือ การปรับ ครม.ครั้งนี้ มีรัฐมนตรีสีเทาเข้ามาเป็นรัฐมนตรีใหม่ด้วย คนหนึ่งถูกกล่าวหาเคยเอาเงินใส่ถุงกระดาษหลายล้านให้เจ้าหน้าที่ศาล อีกคนเคยกลาวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ในการส่งแรงงานไปเก็บเบอรี่ที่ประเทศฟินแลนด์ ถือว่าเป็นการตบหน้าประชาชน

ปัญหาสำคัญที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขทุนผูกขาดครอบงำองค์กรภาครัฐ และองค์กรอิสระต่างๆ โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นกับการฟ้องปิดปาก กสทช. บางคนถูกครหาว่าเกี่ยวทุนผูกขาดที่พยายามแทรกแซง ทำให้รัฐราชการไทยขึ้นกับการครอบงำของกลุ่มทุนใหญ่ ทั้งยังครอบงำรัฐบาล พรรคการเมือง และกระทรวงต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบแก้ปัญหาให้ประชาชน กลายเป็นอำนาจความสะดวกและความมั่นคงให้กลุ่มทุนใหญ่ทั้งหลายแทน

สถานการณ์ปัจจุบันเป็นโอกาสของรัฐบาลในการปฏิรูปตำรวจ เพราะปัญหาคดีนายพลในปัจจุบันสะท้อนปัญหาเรื้อรังทางโครงสร้างของตำรวจที่มีมลทินมาอย่างยาวนาน ถึงเวลาสังคยานาตำรวจทั้งระบบ และยกเลิกระบบส่วย

สุดท้าย ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังสำหรับการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเเฉพาะกรณีสงครามในพม่า รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศถูกลดบทบาทจากรองนายกรัฐมนตรี ดังนั้น นายกเศรษฐาควรตั้งคณะทำงานพิเศษที่ตนเองเป็นประธานหรือรองนายกฯ ที่ดูแลด้านความมั่นคงมาทำงานเต็มที่เพื่อส่งเสริมบทบาทประเทศไทยเป็นผู้นำในอาเซียนในการสร้างสันติภาพเพื่อนบ้าน ซึ่งสามารถจัดการเจรจาและกระบวนการสันติภาพขึ้นในประเทศไทยในฐานะประเทศที่เป็นกลางได้ รวมถึงระหว่างประเทศที่มีความขัดแย้งทางสงครามเพื่อสร้างสันติภาพโลก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net