Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือและองค์กรอื่นๆ ร่วมกันจัดงาน “วันงานที่มีคุณค่า” เนื่องในวัน Decent Work Day ชูชีวิตคนทำงาน 99 % ที่ทำงานให้คนเพียง 1 % รวยขึ้น แต่คนทำงานกลับไม่มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ย้ำกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต้องยืนยันสถานะของ “ผู้ใช้แรงงาน” ไม่จำแนกประเภทแรงงานให้เป็นกลุ่มย่อยๆ ชี้ เป็นการจำกัดสิทธิให้ลดต่ำลง

 

9 ต.ค. 2566 เมื่อวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation), มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ (Empower Foundation), มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF), ตี่ตาง, สหภาพแรงงานบาริสต้า และมูลนิธิการศึกษาประกายแสง (BEAM Education) จัดงาน “วันงานที่มีคุณค่า” ขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื่องในวันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ Decent Work Day ซึ่งตรงกับวันที่ 7 ต.ค. ของทุกปี

ภายในงานมีกิจกรรมการแสดงละครจากตัวแทนแรงงานแม่บ้าน, แรงงานภาคเกษตร, แรงงานภาคบริการ และไรเดอร์ เพื่อส่งเสริมให้ตระหนักถึงชีวิตแรงงาน 99 % ที่ทำงานให้คน 1 % รวยขึ้น โดยที่แรงงาน 99 % ไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่มีสามารถมีที่ดินที่อยู่อาศัย และทรัพยสินที่มั่นคงถาวรให้ชีวิตตัวเองได้

ก่อนที่จะมีการบรรยายพิเศษเรื่อง “งานที่มีคุณค่า ผู้ใช้แรงงานมีความหมาย” จาก สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เสนอว่าในปัจจุบันแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ฟรีแลนซ์ ไรเดอร์ และแรงงานในอีกหลายภาคส่วนที่ยังเผชิญกับปัญหาและสภาพการจ้างงานที่แตกต่างกัน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปสู่รัฐบาลเพื่อไทยโดยการนำของเศรษฐา ทวีสิน แต่ปัญหาในชีวิตของแรงงานยังคงอยู่เช่นเดิม

โดยสมชายเสนอแนวทางแก้ไข 3 ข้อ

1. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานต้องยืนยันสถานะของ “ผู้ใช้แรงงาน” ผู้ใช้แรงงานคือผู้ใช้แรงงาน ไม่จำแนกแยกแยะ จัดประเภทแรงงานให้เป็นกลุ่มย่อยๆ ดังที่ปรากฏในสังคมไทย แรงงานนอกระบบ, แรงงานต่างด้าว, แรงงานอิสระ, แรงงานกึ่งอิสระ เป็นต้น

2. ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ผู้ใช้แรงงานควรต้องได้รับการคุ้มครองมาตรฐานในการทำงาน ความมั่นคงและความปลอดภัย และในฐานะของแรงงานกฎหมายคุ้มครองแรงงาน, ประกันสังคม, กองทุนเงินทดแทน, การจัดตั้งสหภาพ ต้องครอบคลุมแรงงานทุกประเภท

3. กฎหมายต้องขยายรวมผนวกรวมแรงงานทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน ไม่ใช่การจำแนกและกีดกัน กฎหมายหลักที่เป็นมาตรฐานให้กับผู้ใช้แรงงาน ไม่จำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายใหม่ตลอดเวลา การออกกฎหมายที่แยกย่อย จัดประเภท คือการมุ่งจำกัดสิทธิให้ลดต่ำลง

หลังจากนั้นมีการจัดโต้วาทีประเด็น “งานดีมีคุณค่า VS. ค่าแรงดี” จากตัวแทนแรงงาน และเวทีเสวนา “คุณค่าของคนทำงาน : คุณค่าของงาน” จากก้องกังวาน ตัวแทนไรเดอร์ ,ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา และศุภลักษณ์ บํารุงกิจ นักวิชาการอิสระ ที่สะท้อนปัญหาของแรงงานไรเดอร์ แรงงานลูกจ้างในเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ที่แม้การท่องเที่ยวจะทำรายได้ให้แก่เมืองเพิ่มมากขึ้น แต่แรงงานกลายมิได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ปิดท้ายด้วยการแสดงจากลูกหลานแรงงานข้ามชาติ

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net