Skip to main content
sharethis

'พิธา' ส่งท้ายอภิปราย มอง รบ.วิสัยทัศน์มืด 8 ด้าน มองแต่มุมบวก แต่ไม่รอบด้านและไม่เห็นปัญหาของประชาชน ชงปรับ ครม.เลือกคนให้ถูกกับงาน สร้างแผนงานโรดแมป และ 'ฟัง' ให้มากขึ้น

 

5 เม.ย. 2567 ยูทูบ 'The reporters' ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (5 เม.ย.) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกผู้แทนราษฎร (สส.) และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เป็นผู้อภิปรายปิดคนสุดท้าย เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 152 โดยได้สรุปถึงภาพรวมการอภิปรายที่เกิดขึ้นตลอด 2 วันที่ผ่านมา

เริ่มต้นถึงความในใจสักเล็กน้อย เขาไม่เคยเสียใจเลยสักครั้งที่ไม่ได้เป็นฝ่ายบริหาร ไม่เคยเสียใจที่ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน เพราะเขาเชื่อว่าเป็นฝ่ายค้านก็มีความสำคัญในระบอบประชาธิปไตย สุขภาพของประชาธิปไตยไม่ได้วัดที่รัฐบาลมีอำนาจเบ็ดเสร็จแค่ไหน แต่วัดกันที่ฝ่ายค้านกระตือรือร้นแค่ไหน ทำงานให้กับประชาชนมากน้อยเพียงใด 

"ไม่เคยเสียใจด้วย ว่าการอภิปรายในครั้งนี้อาจจะเป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตการเมืองผม ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีความลับอะไร ทุกคนก็ทราบดีว่าชีวิตการเมืองผมแขวนอยู่บนเส้นด้าย แต่ผมพร้อมที่จะเดินจากไปอย่างผู้ชนะ ยิ่งได้เห็นเพื่อน สส.ที่อยู่ล้อมรอบผม ไม่ว่าจะเป็นรุ่นหนึ่ง หรือรุ่นสอง ในการอภิปราย 2 วันที่ผ่านมา ผมรู้สึกเบาใจไม่มีอะไรที่จะต้องค้างคาอีกต่อไป และมั่นใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคของผม ไม่ว่าจะเป็นการยุบพรรคไม่ว่าจะเป็นการทำลายพรรคก้าวไกล ไม่ได้ทำให้การเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยของเรานั้นหายลงไป เผลอๆ ยิ่งยุบพรรคจะนำไปสู่เส้นชัยของเราเร็วขึ้นด้วยซ้ำไป" พิธา กล่าว

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า ถึงเขาจะไม่เสียใจ แต่เสียดายเมื่อได้ฟังการชี้แจงของ ครม.  รู้สึกว่าเสียดายโอกาสของประเทศไทย เสียเวลาที่ประเทศไทยที่ต้องเสียไป เขาเสียดายศรัทธาของประชาชน ที่หาเสียงไว้ก็ไม่ได้ทำ ไอ้ที่ทำไว้ก็ไม่ได้หาเสียง จนทำให้รู้สึกว่า รัฐบาลชุดนี้ไร้วาระ ไม่มีวาระของตัวเอง ไร้วิสัยทัศน์ก็ไร้ผลงาน นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตลอด จนรู้สึกเสียดายเวลาช่วงที่ผ่านมา

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (ที่มา: Voice TV)

พิธา ขอแบ่งโครงสร้างออกเป็น 3 อย่างความไร้วาระของรัฐบาล ภาพรวมของการอภิปรายของพรรคฝ่ายค้าน 2 วันที่ผ่านมา ช่วงที่สองขอสะสางข้อเท็จจริงเก็บตกจากการตอบโต้กลับไปกลับมาของรัฐบาลและฝั่งผม เพื่อชี้ให้เห็นว่าข้อมูลที่ท่านใช้มีปัญหาอย่างไร และสุดท้าย ขอใช้เวลาสั้นๆ เสนอแนะ 3 ข้อไปยังรัฐบาลหรือ ครม. เพื่อกอบกู้รัฐบาล และทุเลาปัญหาที่เกิดจากความไร้วาระของรัฐบาล

สรุปอภิปราย 2 วัน รัฐบาลวิสัยทัศน์มืด 8 ด้าน

พิธา กังวลว่า ความไร้วาระของรัฐบาล จะทำให้วิสัยทัศน์ '8 ฮับ' ของรัฐบาลคือความ “มืด 8 ด้าน” ของประชาชน โดยสิ่งที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง คือ 1. มืดเรื่องปากท้อง 2. มืดแก้ส่วย 3. มืดผูกขาด 4. มืดกระตุ้นเศรษฐกิจ 5. มืดแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6. มืดปฏิรูปกองทัพ 7. มืดมนคุณภาพชีวิต และ 8. มืดกระบวนการยุติธรรม ซึ่งหลายเรื่องที่ว่ามาข้างต้นได้มีการตอบคำถาม ถกเถียง และรับปากจะไปดำเนินการบ้างแล้ว

พิธา ระบุว่า เรื่องเดียวที่ถกกันไม่ตกผลึกและยังไม่หาข้อสรุปยังไม่ได้ คือเรื่อง “การปฏิรูปกองทัพ” จุดยืนของพรรคก้าวไกลเรื่องการปฏิรูปกองทัพคืออะไร คือการทำให้กองทัพไม่แทรกแซงทางการเมือง และการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความเป็นทหารอาชีพ เสนอกฎหมายป้องกันและต่อต้านการทำรัฐประหาร และแก้ไขกฎหมายการเกณฑ์ทหาร เป็นการสมัครใจ แต่อันนี้เขากำลังอ่านนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ยื่นกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เลยรู้สึกว่าฝ่ายค้านยังงง เพราะว่าสัญญากับประชาชนเหมือนกับพรรคก้าวไกล แต่มาพูดอีกครั้งไม่เหมือนเดิม ส่วนทางพรรคก้าวไกลพูดเหมือนเดิม เพราะว่าก่อนเลือกตั้ง และหลังเลือกตั้ง เรายังคิดเหมือนเดิมว่ามันเป็นความจำเป็นของประเทศนี้ 

จากกรณีที่รัฐบาลได้ตอบโต้พรรคก้าวไกลว่าให้รอดูอีก 4 ปี ว่าใครกันแน่ที่ตั้งกลุ่ม IO (Information Operation) โดยพิธา ได้ตอบกรณีนี้ พร้อมเสนอเอกสาร และรายงานเรื่องปฏิบัติการทางข้อมูลของกองทัพไทย ให้รัฐบาลลองไปอ่านต่อ เพื่อหาคำตอบได้เร็ว และแก้ไขปัญหา IO

หนุนซื้อฟริเกต ทำเรื่องความมั่นคงทางทหาร เป็นเรื่องเศรษฐกิจ

พิธา กล่าวว่า เขาขอชี้แจงในกรณีการซื้ออาวุธของกองทัพไทยว่า พรรคก้าวไกลมีจุดยืนปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย และมีความเป็นมืออาชีพ ต้องมีอาวุธที่เหมาะสม หมายความว่าการมีอาวุธที่สร้างอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้กับเราได้ และไม่ได้เบียดเบียนภาษีของประชาชนมากจนเกินไปอย่างในช่วงโควิด-19 ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องการทำกองทัพให้ทันสมัย และไม่ได้ต้องการให้ซื้ออาวุธอะไรเลย

อย่างในกรณีที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อธิบายว่า เรือฟริเกตเหมาะสมอย่างไร มันสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ทำให้เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางทหารกลายเป็นเรื่องเศรษฐกิจได้ด้วย และมี know-how มากขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อมันเข้าเกณฑ์แบบนี้ ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้ต่อต้านอะไร

รัฐบาลต้องเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตเกษตรกรมากขึ้น ต้องดูรอบด้าน

พิธา กล่าวว่า เวลาเศรษฐา อภิปรายมักจะใช้ตัวเลขเน้นโฟกัสในเรื่องบวกๆ อย่างเดียว แต่ท่านจะเกาไม่ถูกที่คัน ไม่มีบริบท และเป็นเหรียญเพียงด้านเดียวที่ไม่สามารถที่จะภาพของปัญหาของประชาชน โอกาสของประเทศไทย และภาพความท้าทายทำให้ไม่มียุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ เน้นพึ่งพิงจากต่างประเทศ มากกว่าจะใช้พลังจากภายใน 

พิธา ยกตัวอย่าง การอภิปรายของเศรษฐา ที่ระบุว่า สินค้าการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา ราคาดีที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งพิธา ระบุว่านายกฯ กล่าวถูกต้อง แต่เขาอยากให้นายกรัฐมนตรีเน้นเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนมากขึ้น เพราะขณะเดียวกัน รายได้ของเกษตรกรลดลง 8 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งพิธา อยากชี้ว่า มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้ายางพาราราคาสูง แต่ว่าคุณภาพชีวิตของเกษตรกรลดลง หนี้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3 เปอร์เซ็นต์ อย่าไปเน้นที่มันเป็นบวก แต่ต้องดูให้รอบด้าน แต่ดูแต่ราคา แต่ละเลยคุณภาพชีวิตประชาชน 

(ที่มา: Voice TV)

พิธา กล่าวถึงภาคการผลิต นายกรัฐมนตรีมีการยกคำว่า "สึนามิแห่งการลงทุน" ขึ้นมา ซึ่งตนมีความกังวลว่ามันจะกลายเป็นสึนามิขึ้นมาจริงๆ เพราะแม้ในไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า แต่นี่คือตัวอย่างของการยกตัวเลขขึ้นมาแบบไม่ดูบริบท เช่น ในเรื่องของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ที่อาจจะได้รับผลกระทบอย่างสูง โดยเฉพาะการเข้ามาของอุตสาหกรรมรถยนต์อีวีจากประเทศจีน ซึ่งตรงนี้มีข้อน่าสงสัยอยู่ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปที่อยู่ในประเทศไทยจะมีการบริหารจัดการอย่างไร

พิธา ระบุว่าเขาเข้าใจดีถึงเกณฑ์ที่ระบุให้การลงทุนรถยนต์อีวีจากต่างประเทศต้องมีสัดส่วนของวัตถุดิบที่มาจากภายในประเทศ (local content) 30-40 เปอร์เซ็นต์ แต่รถยนต์อีวีต้องใช้แบตเตอรี่สำหรับรถยนต์อีวี ซึ่งในประเทศไทยคนที่ผลิตแบตเตอรี่นี้น่าจะไปอยู่ไม่กี่เจ้าเท่านั้น คำถามคือคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปกว่า 12-13 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และคนเป็นล้านๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ที่กำลังจะโดนสึนามิจากการลงทุนถล่มจะต้องทำอย่างไรต่อไป การเพิ่มมูลค่าที่อยู่ภายในประเทศของรถยนต์อีวีก็ยังน้อยกว่ารถยนต์สันดาปมาก การลงทุนในจีนที่ผ่านมาแม้จะเพิ่งส่งออกได้แค่ 2 ปี แต่ตอนนี้กลายเป็นเบอร์หนึ่งของโลกไปแล้ว นอกจากนี้ 8 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกรถปิกอัปของประเทศไทยก็ยังถูกขโมยไปโดยจีน

ขณะเดียวกัน ภาษีนำเข้ารถยนต์อีวีที่มีการลดหย่อนให้ไปถึง 0 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่เหมือนกับที่เกาหลี ญี่ปุ่น และยุโรป ได้รับ ถ้าต้องการจะสร้างอุตสาหกรรมอีวีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์จริงๆ ก็ไม่ควรที่จะเป็นแบบนี้

ลงทุน FDI ในไทยเพิ่ม แต่ยังเป็นที่ 6 ของอาเซียน

พิธาได้กล่าวถึงการอภิปรายเรื่องการลงทุน และการพัฒนาเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา โดยสหประชาชาติจัดทำรายงานเมื่อปี 2024 อย่าเพิ่งดีใจ และอย่าเพิ่งประมาท เพราะว่าไตรมาสที่ 4 การลงทุนของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมา 2.5 เท่า แต่ทุกประเทศเพิ่มขึ้นมาหมด และรายงานจากต่างประเทศ ไทยอยู่ในอันดับที่ 6 ของอาเซียนเท่านั้น (ส่วนอันดับ 1 ของอาเซียนคือ อินโดนีเซีย) พิธา อยากเสนอให้รัฐบาลวางแผนในการมีโรดแมปว่า จะทำยังไงให้การลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มีประโยชน์กับภาคธุรกิจของเรา 

ด้านภาคบริการ พิธา มองว่า รัฐบาลยังคงพึ่งพิงต่างประเทศมาก แต่ไม่ค่อยผลักดันสิ่งที่อยู่ภายในประเทศ เพื่อรองรับเม็ดเงินจากต่างประเทศ มันจะมีประโยชน์อะไรที่การท่องเที่ยวกลับมาเติบโต แต่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อยู่แค่ 5 จังหวัด ชลบุรี กรุงเทพฯ เชียงใหม่ กระบี่ และภูเก็ต ไม่มีการสร้างสาธารณูปโภคที่ทำให้คนอยากจะไปให้มากกว่าแค่ 5 จังหวัด แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรถ้าการท่องเที่ยวมาใน 5 จังหวัด แต่คนที่อยู่ในจังหวัดเหล่านั้นต้องอยู่ท่ามกลางปัญหาขยะ มลพิษ มาเฟีย ยาเสพติด ส่วย และค่าครองชีพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

(ที่มา: Voice TV)

"ท่านอย่ามองแต่เรื่องที่ต้องการจะให้เป็นบวก ท่านต้องมองให้ครบรอบด้าน ท่านอย่าไปมองแค่ราคา ไปดูคุณภาพชีวิตประชาชนด้วย อย่าไปมองแค่ปริมาณ แต่ต้องมองเรื่องเกี่ยวกับการเพิ่มมูลค่า ถ้าท่านมองแบบนี้ได้ผมก็คิดว่าปัญหามันจะทุเลาลง" พิธา กล่าว

โต้นายกฯ จุดความร้อนยังไม่ลดลง ผู้ป่วยทางเดินหายใจเพิ่มต่อเนื่อง

พิธา อภิปรายต่อไปถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อม ที่แม้นายกรัฐมนตรีจะยอมรับว่ามีปัญหาฝุ่น PM2.5 อยู่จริง แต่จุดความร้อนลดลงจากปีที่แล้ว นี่ก็เป็นข้อมูลที่เป็นบวกแต่ไม่รอบด้านอีกเช่นเคย เพราะในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมา จุดความร้อนในภาคเหนือเพิ่มขึ้นทุกเดือน มี.ค.จนถึง เม.ย. 2567 และในปีนี้ก็เช่นกันที่จุดความร้อนต่อวันในภาคเหนือเพิ่มขึ้นในเดือน มี.ค. 2567 จึงไม่แน่ใจว่านายกรัฐมนตรีไปดูข้อมูลเดือน ม.ค. หรือ ก.พ.มาหรือไม่ แล้วรู้สึกว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว ถ้าท่านดูให้ถูกจุดแล้วยอมรับข้อเท็จจริงนี้ ท่านจะเห็นได้ว่าจุดความร้อนต่อวันไม่ได้ลดลง 

พิธา ระบุต่อว่า สิ่งสำคัญและเป็นตัวเลขที่นายกรัฐมนตรียิ่งควรจะต้องดู ก็คือตัวเลขของคนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นผู้ป่วยนั้นมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตัวเลขในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ.ที่ผ่านมามีจำนวนถึง 2 ล้านกรณีแล้ว ถ้าท่านเห็นข้อมูลที่ถูกต้อง ฟังเพื่อตอบสนองไม่ใช่เพื่อตอบโต้ ท่านจะรู้แล้วว่าเดือน มี.ค.-เม.ย.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ในเดือนหน้าหรือในช่วงหนึ่งปีที่จะถึงท่านจะต้องทำอย่างไรบ้าง

(ที่มา: Voice TV)

เสนอตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องสถานการณ์เมียนมาโดยเฉพาะ

พิธา มองว่า การแก้ไขปัญหาในประเทศ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ เรื่องการเผาข้าวโพด เรื่องแรงงานข้ามชาติ และอื่นๆ จะทำไม่ได้เลยถ้าการต่างประเทศยังไม่รอบด้าน เขาอยากเสนอแนะว่าวิกฤตเมียนมา รัฐบาลควรเข้าหาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งหรือไม่ เพื่อให้รับฟังข้อมูลที่ครบถ้วน ในการแก้ไขปัญหา พิธา ตั้งคำถามว่า เรื่องออนไลน์สแกมเมอร์ เรื่องแรงงานข้ามชาติ-ผู้หนีภัยสงคราม ผู้อพยพ สงครามกลางเมือง ถ้าไม่เข้าหากองกำลังชาติพันธุ์ เรื่องอย่างที่ สส.รังสิมันต์ โรม เคยถามไว้ อย่างเมืองเลาก์ก่าย รัฐฉานเหนือ เมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง พื้นที่ติดชายแดน 2,000 กว่ากิโลเมตร (กม.) มันจะแก้ไขได้จริงหรือ

พิธา มีข้อสงสัยว่า กรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ที่ตอบรับการจัดการใช้ไฟฟ้า และการใช้อินเทอร์เน็ตของไทยไปยังฝั่งเมียนมา รัฐมนตรีดีอีไม่สามารถไปสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือกระทรวงต่างประเทศได้ ดังนั้น พิธา เสนอว่าต้องมีคณะทำงานขับเคลื่อนเฉพาะด้าน (inter agency task force) ที่ดูแลทั้งหมด ทั้งเรื่องเกี่ยวกับการเข้าหากองกำลังชาติพันธุ์ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกองคาพยพ พิธาเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาในต่างประเทศนี้ดีขึ้น และกลับมาแก้ไขปัญหาภายในประเทศไทยที่ไม่มีทางแก้ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน

สส.พรรคก้าวไกล มีขอข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เพื่อกอบกู้รัฐบาล ถึงเวลาต้องปรับ ครม.ได้แล้ว ถึงเวลาที่จะใช้คนให้ถูกกับงาน คนที่เขาเชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องเข้ามาทำงาน นี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

2. ถึงเวลาที่นายกรัฐมนตรีจะมีแผนงาน (roadmap) ได้แล้ว มันไม่สำคัญว่าทำอะไร แต่มันสำคัญที่ทำไม และอย่างไร อย่างวิสัยทัศน์พูดอีกก็ถูกอีก 8 ฮับ แต่ปัญหาคือมันพูดว่าจะทำอะไร แต่ไม่ได้บอกว่าจะทำอย่างไร และทำไม มันไม่ได้บอกว่าจะทำเมื่อไร ถ้าแนะนำให้มีโรดแมปไตรมาสนี้ปีนี้จะทำอะไร สมัยนี้จะทำอะไร มันสามารถทำให้คนที่อยากจะช่วย มันเกิดภาพร่วมกัน การขับเคลื่อนในการเกิดผลลัพธ์ได้จริง มันจะมีคนกลับมาช่วยท่าน แต่ถ้าพูดลอยๆ ไปเรื่อยๆ มันก็ยากจะเปลี่ยนจาก 'อะไร' เป็น 'อย่างไร' หรือสามารถที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้จริงๆ อะไรที่ไม่มีวาระอยู่แล้ว มันไม่มีผลลัพธ์อยู่แล้วจะยิ่งไปกันใหญ่ และ 3. สิ่งสำคัญคือการฟัง เพื่อตอบสนอง ไม่ใช่ฟังเพื่อที่จะตอบโต้ เพราะเสียงไม่น่าฟังที่สุด อาจเป็นเสียงที่ประเสริฐที่สุด ตามที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net