Skip to main content
sharethis

“ศิริกัญญา” อัดมาตรการเศรษฐกิจรัฐบาลระยะสั้นทยอยหมดอายุ-ระยะยาวยังไม่มีแผน เทียบแถลงผลงาน 3 เดือนกับ 6 เดือนแทบไม่มีอะไรใหม่ เดาทาง “ดิจิทัลวอลเล็ต” เปลี่ยนแนวทางรอบที่ 5 น่าจะใช้งบจาก 3 แหล่ง แต่สุดท้ายก็ยังต้องกู้ เรียกร้องรัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน แต่ทำไปได้แค่ไม่กี่นโยบาย งบกลางไม่มีออก งบกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มี ต้องให้ประชาชนรอไปถึงไตรมาส 4 ของปี 2567 โดยไม่รู้ว่า “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

 

3 เม.ย. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกลรายงานต่อสื่อมวลชน ในการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้เป็นผู้อภิปรายถึงภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล พร้อมกับให้ข้อเสนอแนะ ศิริกัญญาเริ่มต้นอภิปรายว่า ในการแถลงผลงาน 3 เดือนของรัฐบาล หลายเรื่องรัฐบาลทำได้อย่างรวดเร็ว หลายเรื่องทำไปแล้วตั้งแต่เดือนแรกที่จัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะการลดรายจ่าย แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายโครงการที่ยังอยู่ในระดับการ “ขับเคลื่อน” “ผลักดัน” “ส่งเสริม” “เร่งรัด” ยังไม่ได้มีผลอะไรเป็นรูปธรรม แต่รัฐบาลก็เอามาบรรจุไว้เป็นผลงานแล้ว หลายเรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อยจนไม่ควรจะอ้างถึงได้ ก็มีการเอามาบรรจุไว้เช่นกัน เช่น การขยายเวลาเปิดทำการท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นตลอด 24 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการแถลงผลงานรอบ 6 เดือน ก็จะพบว่ารัฐบาลได้ผลิตซ้ำผลงานเมื่อ 3 เดือนก่อนมาเป็นผลงาน 6 เดือน โดยไม่มีอะไรใหม่ในเรื่องการลดรายจ่าย มีเพิ่มมาแค่ไม่กี่เรื่องคือการปรับลดภาษีสรรพสามิตไวน์และสุราแช่ ราคายางพาราทะลุ 80 บาท และการปราบปรามสินค้าเถื่อน ดึงดูดนักลงทุนเชิงรุก ขณะที่บางอย่างไม่ควรนำมาอ้างเป็นผลงานด้วยซ้ำ เช่นการ “วางเป้า” ให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติดอันดับ 1 ใน 50 ภายในหนึ่งปี เป็นต้น

ศิริกัญญาตั้งคำถามว่า ผลงานที่เพิ่มขึ้นมามีน้อยเหลือเกิน เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทำงานเป็นนายกฯ แบบนอกเวลา (พาร์ทไทม์) หรือไม่ ส่วนหนึ่งของเวลานี้เอาไปใช้ในการเป็น “เซลส์แมน” เดินทางไปต่างประเทศหรือไม่ ทำให้ไม่มีเวลามาบริหารราชการแผ่นดินแบบเต็มเวลา ผลงานรอบ 6 เดือนจึงมีสิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาน้อยมากเหลือเกิน และสิ่งที่เราเฝ้ารอคือเรื่องของการกระตุ้น ฟื้นฟู และพยุงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกลับไม่พบเห็นเลย

อย่างไรก็ตาม เมื่อลงไปดูในรายละเอียด ตนก็พบว่ามีบางโครงการที่ควรค่าแก่การตั้งคำถามและให้ข้อเสนอแนะ ได้แก่ มาตรการลดรายจ่าย พบว่าหลายมาตรการของรัฐบาลกำลังทยอยหมดอายุ เช่น การลดค่าไฟเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยที่หมดไปตั้งแต่ 3 เดือนที่แล้ว จะใส่มาในผลงาน 6 เดือนทำไม ทุกวันนี้ค่าไฟ 4.18 บาทต่อหน่วย โดยที่ในเดือนพฤษภาคมจะต้องมีการจ่ายคืนหนี้ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจริง ๆ แล้วต้นทุนค่าไฟวันนี้ลดลงมาเหลือ 3 บาทกว่าแล้ว แต่หนี้ กฟผ.ที่ยังไม่ได้รับการสะสางเสียทีก็ได้กลายมาเป็นภาระที่รัฐต้องจ่ายเพิ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป

นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเบนซิน 1 บาท ซึ่งหมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 31 มกราคมปีนี้ ส่วนมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลก็กำลังจะสิ้นสุดมาตรการหลังสงกรานต์นี้ และน่าจะมีการปรับเพิ่มราว 4 บาท แม้รัฐบาลจะยังคงใช้กองทุนน้ำมันในการอุดหนุนน้ำมันดีเซลอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะอุดหนุนไปได้อีกนานแค่ไหน ขณะที่มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้มก็หมดอายุไปตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมแล้ว คำถามคือ รัฐบาลจะมีแนวทางต่ออย่างไรกับมาตรการลดค่าครองชีพ หรือว่าจะเป็นเพียงแค่การลดค่าครองชีพแบบชั่วคราวโดยที่ยังไม่มีมาตรการแก้ไขปัญหาในระยะยาวตามมา

ทั้งนี้ เพราะมาตรการลดรายจ่ายเหล่านี้ล้วนแต่มีต้นทุนที่เกิดขึ้น เช่น กองทุนน้ำมันที่จะต้องแบกรับภาระในการอุดหนุนน้ำมันดีเซล ส่วนมาตรการลดภาษีดูทรงแล้วน่าจะไม่ได้ไปต่อ เพราะขณะนี้กรมสรรพสามิตเองก็เก็บภาษีหลุดเป้าไปไกล โดย 5 เดือนแรกเก็บต่ำกว่าเป้าไปแล้วกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากการที่เก็บภาษีน้ำมันไม่ได้ งานหนักก็เลยมาตกอยู่ที่กองทุนน้ำมันที่สถานะกองทุนเองเคยอยู่ในแดนบวก แต่ทุกวันนี้ติดลบไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท และถ้าดูยอดเงินกู้ก็จะพบว่ามีการกู้ไปแล้วกว่า 1 แสนล้านบาทจนใกล้จะเต็มเพดานที่เคยมีการออกกฎหมายอนุญาตให้กู้ไปแล้ว คำถามคือ รัฐบาลจะมีแผนจัดการอย่างไรกับสถานะของกองทุนน้ำมัน จะมีการออก พ.ร.บ.ขยายวงเงินกู้ยืมให้กับกองทุนน้ำมันอีกหรือไม่ และจะยังมีพื้นที่ทางการคลังเหลือเพียงพอหรือไม่

ประการต่อมา ในเรื่องของการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ถึงแม้รัฐบาลจะอ้างว่าราคาบางผลผลิตทางเกษตรเพิ่มขึ้นมา เช่น ราคายางพารา แต่เมื่อไปดูข้อเท็จจริงแล้วก็พบว่าเป็นการเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก ซึ่งปัญหาคือผลผลิตยางพาราในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาออกน้อย ทำให้สุดท้ายแม้ราคาผลผลิตจะขึ้น แต่กลายเป็นว่ารายได้เกษตรกรติดลบ และติดลบต่อเนื่องมาเป็นเดือนที่ 4 แล้ว นี่เป็นสัญญาณอันตรายว่ากำลังซื้อของเกษตรกรกำลังตกลง และอาจจำเป็นที่จะต้องมีการช่วยเหลือเพื่อพยุงกำลังซื้อของประชาชนในระดับรากฐาน เพราะไม่ใช่แค่รายได้เกษตรกรเท่านั้นที่ติดลบ แต่ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น ยอดการซื้อรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ของปี 2567 โดยเฉพาะเดือนกุมภาพันธ์ ลดลงไปร้อยละ 10 ยอดรถกระบะจดทะเบียนใหม่หดตัวลงร้อยละ 36 ในเดือนมีนาคม เป็นต้น

ศิริกัญญาอภิปรายว่า การพยุงกำลังซื้อเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะต้องทำตั้งแต่สองเดือนก่อนหน้านี้ ไม่ใช่เพิ่งมาทำหรือทำในอีก 6 เดือนข้างหน้า คำถามคือภายในไตรมาสสองของปีนี้ เราจะได้เห็นมาตรการอะไรที่จะออกมาช่วยพยุงกำลังซื้อในระยะสั้นของประชาชนและเศรษฐกิจฐานรากหรือไม่

ในเรื่องของการท่องเที่ยว แม้รัฐบาลจะออกมาตรการวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยวประเทศต่าง ๆ รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีน แต่ก็อาจจะช่วยภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ได้มากนัก เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปแล้ว หากดูจำนวนที่นั่งในเที่ยวบินจากจีนไปประเทศต่าง ๆ จะพบว่าก่อนหน้านี้ประเทศไทยนำมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ แต่ในช่วงหลังโควิด-19 ญี่ปุ่นได้แซงประเทศไทยไปแล้ว รวมถึงเกาหลีใต้ที่กำลังหายใจรดต้นคอจะแซงไทยเช่นกัน คำถามคือนโยบาย Tourism Hub ของรัฐบาลจะช่วยแก้ปัญหาโครงสร้างแบบนี้ได้อย่างไร จะช่วยให้ประเทศไทยกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนมากเกินไปได้อย่างไร

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปถึงมาตรการด้านการขยายโอกาส โดยเฉพาะการเร่งเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) โดยระบุว่า การเร่งเจรจา FTA แม้จะเป็นสิ่งที่ดี แต่การที่ประเทศไทยยิ่งเร่งเจรจาเอฟทีเอโดยไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้ส่งออกไปใช้สิทธิ์ สุดท้ายเงินและเวลาที่ใช้ไปในการเจรจาต่าง ๆ ก็จะสูญเปล่า ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่าง 4 FTA ที่น่าผิดหวังในการใช้สิทธิ์ ได้แก่

1) เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่มีมากว่า 20 แล้ว ทุกวันนี้ยังมีผู้ใช้สิทธิ์ไม่ถึงร้อยละ 75

2) ความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ที่ใช้ไปได้แค่ประมาณร้อยละ 60 เท่านั้น และยังลดลงจากปีก่อนหน้าด้วย

3) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (AKFTA) ที่ใช้ยังไม่ถึงร้อยละ 50 และลดลงมาจากปีก่อนหน้าเป็นอย่างมาก

4) ที่เป็นความสูญเปล่ามากที่สุดก็คือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่ไม่มีใครใช้เลย ทั้งที่มีจุดเด่นในการที่ประเทศไทยสามารถทำห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนร่วมกันได้ แต่ประเทศไทยยังไม่คงไม่ได้ใช้จุดแข็งนี้เลย ตนจึงขอให้ข้อเสนอแนะกับรัฐบาลว่า การเจรจาที่เร่งไปย่อมสูญเปล่า ถ้าไม่ได้ให้ผู้ส่งออกได้มาใช้สิทธิ์กันอย่างเต็มที่

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปถึงด้านการส่งออกว่า นี่เป็นช่วงที่การส่งออกย่ำแย่ แต่ถ้าดูในรายละเอียดกลับพบว่าประเทศอื่น ๆ ที่มีระดับเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยและพบปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวเช่นเดียวกัน กลับมีการส่งออกที่ลดลงน้อยกว่าไทยมาก ดังนั้น ตนจึงขอให้รัฐบาลเริ่มคิดว่านี่คือปัญหาของเรื่องความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะในยามที่จีนเริ่มรุกคืบดำเนินนโยบายเพิ่มการผลิตภายในประเทศให้มากขึ้น และส่งออกสินค้ามายังประเทศใกล้เคียง ประเทศไทยมีการนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 20 มาเป็นร้อยละ 41 โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม จีนก็ส่งเข้ามาตีตลาดจนขณะนี้ไทยขาดดุลทางการค้าต่อจีนหนัก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เหล็ก และเหล็กกล้า เป็นสองปีติดแล้วที่ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับประเทศจีน โดยในปี 2566 ขาดดุลไปแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท

สินค้าจีนที่ไหลทะลักเข้ามาแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ต้องทวงถามไปยังรัฐบาลว่าจะมีมาตรการรับมืออย่างไร แน่นอนว่าประเทศไทยไม่จำเป็นต้องปกป้องทุกกลุ่มทุกอุตสาหกรรม การค้าเสรีมีประโยชน์และผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่นอน แต่ถ้าจะเปิดกว้างแบบไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ควรเช่นกัน เพราะปัญหาเริ่มลุกลามไปทั้งห่วงโซ่อุปทานแล้ว ตั้งแต่รายใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอีที่ต้องทยอยปิดกิจการลง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า ไปจนถึงสินค้าอุตสาหกรรมเหล็ก ที่ถูกถล่มราคาอย่างหนัก คำถามคือเรื่องของความสามารถในการแข่งขันกับประเทศจีน รัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของมาตรการการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ เช่น การเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมรถยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ทุกวันนี้มีแรงงานที่จะได้รับผลกระทบอยู่ประมาณ 8.9 แสนคนที่อาจจะตกงานหรือไม่มีงานทำหากรัฐบาลไม่มีแผนการเปลี่ยนผ่านที่ชัดเจน ประเทศไทยยังคงวนเวียนอยู่กับสินค้าที่กำลังจะตกยุค ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์สันดาป ฮาร์ดดิสก์ หรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีต่าง ๆ ที่กำลังจะถูกลดความสำคัญลงไปจากกระแสเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังรุนแรงมากขึ้น ตนจึงอยากสอบถามว่า รัฐบาลนี้มีนโยบายรับมือการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตอย่างไร หรือจะยังจมปลักอยู่กับอุตสาหกรรมที่กำลังจะตกยุคแบบนี้

สุดท้าย ศิริกัญญาได้อภิปรายตั้งคำถามถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต โดยระบุว่า ครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในรายละเอียดเป็นรอบที่ 5 แล้ว และโครงการนี้ก็มีปัญหาในเรื่องรายละเอียดและสร้างความสับสนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องแหล่งที่มาของเงิน จากช่วงก่อนเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยประกาศจะใช้งบประมาณปี 2567 พอเป็นรัฐบาลก็เปลี่ยนจะไปกู้ธนาคารออมสินแต่กฤษฎีกาได้ห้ามไว้ก่อน ต่อมามีแนวคิดว่าจะใช้งบผูกพันปี 2567-2568 แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็บอกว่าผิด พ.ร.บ.เงินตรา ต่อมาบอกว่าจะใช้ทั้งงบประมาณและ พ.ร.บ.เงินกู้ แต่เมื่อไปดูในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 ก็ปรากฏว่าไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ก็เลยมีการเปลี่ยนรอบที่ 4 จะเป็นการกู้ทั้งหมด แต่ก็โดนสกัดตัดขาโดย ป.ป.ช. จึงต้องมีการเปลี่ยนอีกเป็นรอบที่ 5 ซึ่งตนขอเดาว่าน่าจะมีการใช้แหล่งเงินจาก 3 แหล่งด้วยกัน คือ

1) งบประมาณปี 2568 ที่เมื่อวานคณะรัฐมนตรีได้มีการทบทวนกรอบการคลังระยะปานกลาง โดยให้เพิ่มงบประมาณปี 2568 เป็น 3.75 ล้านล้านบาท และจะกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มอีก 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งก็ตรงกับสมมติฐานที่ตนตั้งไว้ตั้งแต่ต้นว่าน่าจะมีการแบ่งงบปี 2568 เพื่อนำมาใช้ในการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

2) งบประมาณกลางปี 2567 ซึ่งรัฐบาลสามารถออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี หรือ “งบกลางปี” ขึ้นมาได้ ซึ่งในขณะนี้ก็จะสามารถกู้จนเต็มเพดานได้อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่วิธีการนี้ก็ทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าออกงบกลางปี 2567 แล้วจะไปใช้ปี 2568 ได้อย่างไร ซึ่งก็พบว่ามีช่องทางอยู่ คือน่าจะเป็นเอาไปใส่ไว้ในกองทุน

เพราะบรรดากองทุนหรือเงินทุนหมุนเวียนของรัฐบาลสามารถใส่เงินเข้าไปได้ และจะนำมาใช้เมื่อใดก็ได้ ใช้กับอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องส่งคืนคลัง ซึ่งตนเข้าใจว่าน่าจะเป็นกองทุนประชารัฐเพื่อสวัสดิการ ที่มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าจะต้องให้กับเฉพาะผู้ที่มีสถานะยากจน มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่ง ณ วันนี้มีคนที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ที่ประมาณ 14 ล้านคน ดังนั้น ตนจึงมีสมมติฐานว่าอาจจะต้องนำกลางปี 2567 มาใช้เพิ่มอีก 4 หมื่นล้านบาทหรือไม่ แต่ปัญหาก็คือมีแค่ 14 ล้านคนที่จะสามารถใช้งบตรงนี้ได้ จำนวนรวม 1.4 แสนล้านบาท และยังมีส่วนที่ขาดอยู่ค่อนข้างมาก จึงนำมาสู่แหล่งที่ 3 คือ

3) การสั่งให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ดำเนินนโยบายแทนรัฐบาล ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง คือการกู้เงินของ ธกส.มาใช้ก่อนแล้วค่อยใช้คืนทีหลัง แต่วัตถุประสงค์ของการดำเนินธุรกิจของ ธกส.เองก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าให้เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท จึงต้องมีการตีความอย่างตีลังกาว่า ธกส.จะสามารถแจกเงินดิจิทัลให้เกษตรกรได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นไปในลักษณะของครัวเรือน มากกว่าตามข้อมูลของทะเบียนเกษตรกรซึ่งมีอยู่ประมาณแค่ 8 ล้านคน

ทั้งหมดนี้ ศิริกัญญายังคงรอคำตอบจากรัฐบาลว่าตนจะคาดการณ์ผิดไปหรือไม่ ซึ่งหากเดาไม่ผิด นี่เป็นความพยายามที่เรียกได้ว่าเลือดเข้าตาแล้ว จากเดิมที่เคยพายเรือในอ่างกลับไปเริ่มที่ศูนย์ใหม่เรื่อย ๆ วันนี้เรากำลังออกทะเลกันไปไกลแล้ว เพราะมูลค่า 5 แสนล้านบาทที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้สุดท้ายก็ต้องมาจากการกู้ เพียงแต่ว่าเป็นการกู้ที่อาจจะสามารถทำให้ถูกกฎหมายได้

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า ที่ยังน่ากังวลอยู่ก็คือตัวระบบการโอนเงินไปยังประชาชน แต่ยังพอมีเวลาที่รัฐบาลจะไปสะสางปัญหาปัญหานี้ เพราะบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็ต้องใช้เฉพาะผ่านบัตรประชาชน จะมาโอนต่างธนาคารต่างธุรกรรมไม่ได้ ต้องมีเครื่องอ่านสำหรับบัตรประชาชนโดยเฉพาะ เรื่องพวกนี้รัฐบาลน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ในท้ายที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าทั้งหมดนี้ทำให้นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตค่อนข้างเละเทะ จากการที่จะต้องเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินไปมาประมาณ 5 ครั้ง โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะมีรอบที่ 6 หรือไม่ มีการเลื่อนการแจกมาอย่างน้อย 4 ครั้ง มีการเปลี่ยนเทคโนโลยีแอปพลิเคชันที่ใช้ มีการเปลี่ยนจำนวนคนที่จะได้รับตลอดเวลา

“ทำให้ชวนคิดว่า สรุปแล้วรัฐบาลนี้มีประสบการณ์ในการบริหารประเทศมาก่อนจริงหรือไม่ ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการคลังของรัฐบาลทำให้ดิฉันตกใจว่าทำไมถึงกล้าออกนโยบายในลักษณะแบบนี้ มีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเยอะขนาดนี้ ยิ่งแสดงว่าไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมใด ๆ เลยมาตั้งแต่เริ่มต้น จึงต้องขายผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ แก้ทีละวันแบบนี้” ศิริกัญญา กล่าว

ศิริกัญญาอภิปรายต่อไปว่า การเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเช่นนี้จะทำให้เกิดความเสียหายมาก เพราะโมเมนตัมทางเศรษฐกิจหรือพายุหมุนจะเกิดขึ้นได้ต้องมีความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้บริโภคที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอย แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินบ่อยครั้งขนาดนี้ ขณะที่เทคโนโลยีก็ยังไม่เสถียร ก็มีโอกาสที่เงินจะตกหล่น และทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น

สุดท้าย ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในระบบเศรษฐกิจได้แล้ว ในฐานะที่รัฐบาลเองก็ได้อาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชน แต่ทำไปได้แค่ไม่กี่นโยบาย ตอนนี้ก็นิ่งสนิท งบกลางก็ไม่มีออก งบกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่มี แล้วยังจะต้องให้ประชาชนรอไปอีกจนถึงไตรมาส 4 ของปี 2567 โดยที่ยังไม่รู้ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net