Skip to main content
sharethis

ครม.รับหลักการโครงการเติมเงิน 1 หมื่นผ่าน Digital Wallet ระบุเงื่อนไขการใช้สำหรับบุคคลและการถอนเงินสำหรับร้านค้า พร้อมระบุประเภทสินค้าที่ใช้ซื้อไม่ได้

23 เม.ย. 2567 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลรายงานมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบในหลักการกรอบหลักการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของคณะกรรมการนโยบายโครงการฯ ตามการแถลงของชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรายงานถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเพิ่มเติมตามที่ พรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังออกมาเปิดเผย

ในรายงานระบุว่า ครม.มีมติรับหลักการโครงการโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่าโครงการนี้มีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ และช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม

ทั้งนี้สำหรับประเด็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับเงินจากโครงการต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  • ประชาชนที่มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  • มีสัญชาติไทย
  • ในเดือนที่มีการลงทะเบียนอายุเกิน 16 ปี
  • ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 480,000 บาทต่อปีภาษี 
  • มีเงินฝากในธนาคารและสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

กลุ่มผู้ใช้สิทธิต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อเข้าร่วมโครงการฯ และใช้แอปพลิเคชันเพื่อสแกน QR Code ณ ร้านค้าในพื้นที่ตามทะเบียนบ้าน โดยผู้ใช้จ่ายต้องพบหน้า (Face to Face) เพื่อซื้อสินค้ากับร้านค้าและร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กในพื้นที่อำเภอเท่านั้น แต่ไม่รวมถึงบริการ ไม่รวมห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่งขนาดใหญ่ระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ส่วนร้านค้าที่สามารถรับการใช้จ่ายจากร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า  

ส่วนประเภทสินค้าที่ไม่สามารถใช้เงินจากโครงการนี้ซื้อได้ในเบื้องต้น ได้แก่

  1. สลากกินแบ่งรัฐบาล
  2. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม ผลิตภัณฑ์กัญชาและกระท่อม 
  3. บัตรกำนัล บัตรเงินสด 
  4. ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี 
  5. น้ำมันเชื้อเพลิง และก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ยังมีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดประเภทสินค้าที่ซื้อด้วยเงินจากโครงการไม่ได้เพิ่มเติม

ส่วนเงื่อนไขการถอนเงินสดจากโครงการฯ ของร้านค้า ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีได้แก่

(1) ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)

(2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือ 

(3) ภาษีเงินได้นิติบุคคล 

อย่างไรก็ตาม ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป

ในรายงานระบุถึงแหล่งเงินในการดำเนินโครงการฯ จำนวน 500,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 

(1) เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 

(2) การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท และ 

(3) การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท

ในรายงานระบุว่า ระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ ต้องไม่เกินเดือนกันยายน 2569

ทั้งนี้ ยังเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและดำเนินการตรวจสอบ พิจารณา และวินิจฉัยเกี่ยวกับการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ การเรียกเงินคืน รวมถึงการดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่าง ๆ เพื่อป้องกันการทุจริตด้วย โดยจะมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการ

นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายฯ จะมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet (คณะอนุกรรมการกำกับโครงการฯ) เพื่อกำหนดรายละเอียดการดำเนินโครงการฯ ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการฯ

ส่วนการจัดทำระบบจะเป็นสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในส่วนการจัดทำเว็บไซต์ ระบบลงทะเบียนและตรวจสอบคุณสมบัติประชาชนและร้านค้า ระบบการใช้จ่าย ระบบการชำระเงิน ระบบตรวจสอบธุรกรรม โดยพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ Open Loop ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net