Skip to main content
sharethis

กลุ่มตาลีบันประกาศจะรื้อฟื้นบทลงโทษผู้หญิงที่คบชู้ ทั้งโบยและปาหินใส่จนเสียชีวิตต่อหน้าสาธารณะ ที่ผ่านมาทั้งยูเอ็นและองค์กรสิทธิอย่างฮิวแมนไรท์วอทช์ต่างมีรายงานสถานการณ์สิทธิสตรีอัฟกานิสถานที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่ตาลีบันกลับเข้าปกครองประเทศ ทำให้การประกาศของผู้นำสูงสุดของตาลีบันครั้งนี้ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณต่อต้านที่ชัดเจนในการต่อต้านค่านิยมด้านสิทธิสตรี

กลุ่มตาลีบันประกาศจะรื้อฟื้นโทษประหารชีวิตผู้หญิงมีชู้ผ่านแถลงการณ์เชิงโต้ตอบกลุ่มประเทศประชาธิปไตยตะวันตก โดยที่ผู้นำสูงสุดของตาลีบัน มุลเลาะห์ ฮีบาตุลเลาะห์ อัคคุนด์ซาดา ประกาศจะรื้อฟื้นการลงโทษผู้หญิงในข้อหาคบชู้ด้วยการโบยตีและขว้างปาหินใส่พวกเธอจนเสียชีวิตต่อหน้าสาธารณะ

"พวกคุณบอกว่ามันคือการละเมิดสิทธิสตรีเมื่อพวกเราขว้างปาหินให้พวกเธอจนเสียชีวิต ...แต่อีกไม่นานพวกเรานำบทลงโทษการคบชู้มาบังคับใช้ พวกเราจะโบยผู้หญิงต่อหน้าสาธารณะ พวกเราจะขว้างปาหินใส่พวกเธอจนเสียชีวิตในที่สาธารณะ" อัคคุนด์ซาดากล่าว

ผู้นำสูงสุดของตาลีบัน อัคคุนด์ซาดา กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านข้อความเสียงที่เผยแพร่ในสื่อภาครัฐของอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยที่ อัคคุนด์ซาดา กล่าวหาว่าสิทธิสตรีที่ประชาคมโลกรณรงค์ส่งเสริมนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกับกฎหมายชะรีอะฮ์ตามการตีความในแบบของตาลีบัน

"ตาลีบันไม่ได้หยุดลงแค่การยึดอำนาจกรุงคาบูล (เมืองหลวงอัฟกานิสถาน) มันเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น" อัคคุนด์ซาดากล่าว

ผู้หญิงในอัฟกานิสถานเผชิญกับปัญหาจำนวนมากหลังจากที่ตาลีบันกลับมามีอำนาจในปี 2564 พวกเธอถูกกีดกันจากการศึกษา, การจ้างงาน และพื้นที่สาธารณะ

เพียงแค่ 1 สัปดาห์เท่านั้นหลังจากที่ตาลีบันกลับคืนสู่อำนาจ พวกเขาก็สั่งแบนไม่ให้เด็กผู้หญิงเข้าเรียนในโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษา และในเดือน ธ.ค. 2565 ก็สั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงเรียนในระดับมหาวิทยาลัย จากนั้นยังจำกัดผู้หญิงอย่างหนักมากในการรับเข้าทำงาน

การที่กลุ่มตาลีบันประกาศเช่นนี้สะท้อนให้เห็นความตั้งใจของพวกเขา ที่ต้องการจะรื้อฟื้นนโยบายสุดโต่งแบบเดียวกับในช่วงที่พวกเขาปกครองอัฟกานิสถานในยุคคริสตทศวรรษที่ 1990s ถึงแม้ว่านานาชาติจะประณามและเรียกร้องให้รักษาสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะสิทธิสตรีก็ตาม

นอกจากการลิดรอนสิทธิสตรีแล้ว ประชาคมโลกยังคงจับตามองตาลีบันด้วยความวิตกต่อเรื่องการลิดรอนสิทธิมนุษยชนด้านอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อเดือน ส.ค. 2564 ตาลีบันได้รื้อฟื้นโทษประหารชีวิตกลับมาอีกครั้งรวมถึงการประหารชีวิตในที่สาธารณะ รายงานของสหประชาชาติเมื่อเดือน พ.ค. 2566 ระบุว่า มีผู้ถูกลงโทษด้วยมาตรการโหดร้ายเช่นนี้แล้วรวม 175 ราย ในจำนวนนี้มีอยู่ 37 รายที่ถูกลงโทษโดยการขว้างปาก้อนหินใส่ ซึ่งตัวเลขในจำนวนนี้ยังไม่ชัดเจนว่ามีอยู่กี่รายที่เป็นผู้หญิง

รายงานของยูเอ็นระบุอีกว่าสภาพของผู้หญิงในอัฟกานิสถานนั้น "เลวร้ายที่สุดในระดับโลก" โดยระบุว่าการตีความคำสอนอิสลามแบบเคร่งสุดโต่งในแบบของตาลีบันนั้น อาจจะก่อให้เกิด "การแบ่งแยกกีดกันทางเพศ" ในระดับเดียวกับการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้ได้

ฮิวแมนไรท์วอทช์รายงานเมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมาว่า ชีวิตของผู้หญิงอัฟกานิสถานกำลังแขวนอยู่บนเส้นด้าย พวกเธอเผชิญกับการถูกสอดแนม, ถูกคุกคาม, ถูกทำร้าย, ถูกคุมขังโดยพลการ, ถูกทารุณกรรม และถูกเนรเทศ เพราะพวกเธอต่อต้านการละเมิดสิทธิฯ ของตาลีบัน ฮิวแมนไรท์วอทช์เรียกร้องให้ทั่วโลกยืนหยัดเคียงข้างการต่อสู้ของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน

มีนักเรียนเยาวชนรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อตะวันตกว่า ในหลายครอบครัวนั้น สิ่งเดียวที่พวกเขาทำให้ลูกสาวของตัวเองได้คือการส่งพวกเธอให้แต่งงาน "โดยไม่สนใจความยินยอมของพวกเธอ" นักเรียนเยาวชนรายนี้กล่าวอีกว่า ภาวะซึมเศร้ากำลังแพร่ระบาดในหมู่เด็กผู้หญิงและมีอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กผู้หญิงในอัฟกานิสถานเพิ่มมากขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่ผู้นำตาลีบันจงใจโต้ตอบคำวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องข้อกล่าวหากดขี่ผู้หญิงนั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าตาลีบันจะยืนกรานต่อต้านค่านิยมประชาธิปไตยและบรรทัดฐานของนานาชาติต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิสตรี

 

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net