Skip to main content
sharethis

เมื่อสถานเสริมความงามของผู้หญิงในอัฟกานิสถาน เป็นมากกว่าแค่เรื่องความสวย แต่ยังถือเป็นวิถีชีวิตของผู้หญิงในอัฟกานิสถานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้ผู้หญิงพบปะกันได้ และรู้สึกเป็นอิสระพ้นจากกฎเกณฑ์แบบชายเป็นใหญ่ของตาลีบันได้ชั่วคราว อีกทั้งยังเป็นวิชาชีพของผู้หญิงในอัฟกานิสถานด้วย

หลังจากกลุ่มกองกำลังตาลีบันเข้ายึดอำนาจอัฟกานิสถานเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ล่าสุดประกาศสั่งแบนสถานเสริมความงามหรือ "ร้านเสริมสวย" ในประเทศเมื่อเดือน มิ.ย. ก็ทำให้มีผู้หยิงอัฟกานิสถานจำนวนมากออกมาประท้วงต่อต้านคำสั่งของตาลีบันตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566

กองกำลังของตาลีบันก็โต้ตอบผู้หญิงที่ประท้วงบนท้องถนนของกรุงคาบูลด้วยการยิงปืนน้ำ, ใช้ที่ช็อตไฟฟ้า และยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อพยายามสลายการชุมนุม

การประท้วงในอัฟกานิสถานถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ซึ่งในครั้งนี้เป็นการประท้วงของผู้หญิงอย่างน้อย 60 คน ที่แสดงการต่อต้านคำสั่งของตาลีบันที่ออกมาในเดือน มิ.ย. 2566 คำสั่งดังกล่าวระบุแบนสถานเสริมความงามทั่วประเทศที่มีผู้ประกอบการเป็นผู้หญิง โดยสั่งให้มีการปิดสถานเสริมความงามเหล่านี้ภายในเวลา 1 เดือน โดยอ้างว่าเป็นกิจการที่มีต้องห้ามตามหลักศาสนาอิสลาม

คณะทำงานสหประชาชาติเผย การใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมในอัฟกานิสถานน่าเป็นห่วง

คณะทำงานภารกิจอัฟกานิสถานขององค์การสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมโดยกลุ่มตาลีบันว่า "จากรายงานเรื่องการใช้กำลังปราบปรามการประท้วงอย่างสันติโดยกลุ่มผู้หญิงที่ต่อต้านการแบนสถานเสริมความงามซึ่งนับเป็นการกระทำที่ลิดรอนสิทธิสตรีครั้งล่าสุดในอัฟกานิสถานนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง"

จากภาพถ่ายและวิดีโอของการประท้วงแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงชาวอัฟกันจำนวนมากถือป้ายระบุว่า "อาหาร" "ความยุติธรรม" และ "วิชาชีพ" มีผู้ประท้วงรายหนึ่งที่ประท้วงบนถนนบุชเชอร์สตรีท ถนนสายที่ผู้คนรู้จักในฐานะเป็นถนนสายที่มีสถานเสริมความงามจำนวนมาก ถือป้ายระบุว่า "อย่าแย่งขนมปังและน้ำไปจากฉัน" (เทียบกับสำนวนไทย "อย่าทุบหม้อข้าวหม้อแกงฉัน")

ป้ายประท้วงเหล่านี้ดูเหมือนจะสะท้อนให้เห็นถึงว่า การสั่งปิดร้านเสริมสวยจะส่งผลต่อสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ด้วย มีการประเมินว่าการสั่งปิดร้านเสริมสวยจะทำให้คนสูญเสียงานของตัวเองถึง 60,000 ตำแหน่ง

มีวิดีโอชุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นผู้หญิงคนหนึ่งเผชิญหน้ากับทหารตาลีบันที่ใช้ปืนน้ำฉีดสลายการชุมนุม ในขณะที่มีเสียงปืนดังอยู่เป็นฉากหลัง

ช่างเสริมสวยรายหนึ่งบอกว่า "พวกเราต้องการสิทธิในการที่พวกเราจะได้ทำงานและอยากให้ยกเลิกคำสั่ง(แบนร้านเสริมสวย) แต่พวกตาลีบันก็โต้ตอบด้วยปืนน้ำและยิงปืนขึ้นฟ้า แล้วก็จับกุมตัวผู้หญิงไปสองสามคน"

วิชาชีพของสตรีและพื้นที่ของผู้หญิง

นับตั้งแต่ที่กลุ่มติดอาวุธตาลีบันยึดอำนาจอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564 ร้านเสริมสวยยังสามารถเปิดกิจการได้จนกระทั่งถูกห้ามเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งกลายเป็นการปิดกั้นพื้นที่ของผู้หญิงมากยิ่งขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ผู้หญิงในอัฟกานิสถานก็ถูกปิดกั้นจากพื้นที่ต่างๆ อยู่แล้ว อย่างเช่นห้องเรียน, ยิม และสวนสาธารณะ

หญิงอายุ 23 ปี ชื่อ ซาร์มีนา บอกว่าเธอกำลังทำการย้อมผมเป็นสีน้ำตาลเข้มอยู่ในร้านเสริมสวยอยู่พอดีในช่วงที่มีข่าวว่าจะมีการสั่งห้ามสถานเสริมความงาม เธอบอกว่าเจ้าของร้านรู้สึกสะเทือนใจอย่างมากแล้วก็เริ่มร้องไห้ เจ้าของร้านผู้หญิงคนนี้เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว และลูกค้าในร้านทุกคนก็พากันร้องไห้ตามเช่นกัน ทุกคนต่างตกอยู่ในความเงียบ

ซาร์มีนาอาศัยอยู่ที่เมืองกันดาฮาร์ ที่เป็นฐานที่มั่นของกลุ่มตาลีบันและมีผู้นำสูงสุดอาศัยอยู่ เธอบอกว่าผู้ชายมักจะห้ามไม่ให้ลูกสาวของตัวเองแต่งหน้าหรือไปเสริมสวย ผู้หญิงส่วนใหญ่สวมบุรกาและฮิญาบโดยยอมรับว่า "มันเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม" ของพวกเขา

แต่สำหรับซาร์มีนาแล้ว ถึงแม้ว่าเธอจะเป็นหนึ่งในคนที่ถูกบังคับควบคุมให้อยู่ภายใต้ระบบชายเป็นใหญ่ของอัฟกานิสถานโดยถูกห้ามไม่ให้ออกจากบ้านโดยไม่มีผู้ชายไปด้วยและต้องแต่งงานตั้งแต่อายุ 16 ปี แต่เธอก็สามารถเจรจากับสามีเพื่อขอให้ไปที่ร้านเสริมสวยได้ 2-3 ครั้งต่อปี ซาร์มีนาบอกว่า สำหรับเธอแล้ว การได้พูดคุยกับช่างเสริมสวยก็ทำให้เธอรู้สึกถึงเสรีภาพที่นานๆ ทีเธอจะได้รับ

นอกจากนี้แล้ว การได้ไปร้านเสริมสวยยังทำให้ซาร์มีนามีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิงในย่านเดียวกับเธอ ทำให้เธอได้ผูกมิตรกับคนทำงานคนหนึ่งที่ร้านจนทำให้เกิดเป็นมิตรภาพที่แน่นแฟ้น รวมถึงมีการพูดคุยถึงความทุกข์ยากที่พวกเธอต้องเผชิญหลังยุคที่ตาลีบันครอบงำประเทศทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและเสรีภาพของผู้หญิงที่ลดน้อยถอยลง

"ทุกวันนี้ผู้หญิงพูดกันแค่เรื่องการว่างงาน, การถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ และความยากจน" ซาร์มีนากล่าว

กรณีของ มาดินา หญิงอายุ 22 ปีที่อาศัยในกรุงคาบูล เธอต้องสวมผ้าคลุมศีรษะอยู่ตลอดเวลาตอนที่เธอออกจากบ้าน ทำให้มีแต่สามีของเธอและสมาชิกครอบครัวผู้หญิงของเธอเท่านั้นที่จะได้เห็นผมทำสีของเธอ

มาดินาบอกว่า "ผู้หญิงทุกคนที่เธอรู้จักชอบที่จะพัฒนาสไตล์ของตัวเอง ฉันชอบแฟชั่นล่าสุดและชอบแต่งหน้า" และบอกว่าที่เธอไปร้านเสริมสวยเพราะต้องการทำให้การแต่งงานของเธอยังดูสดใหม่เหมือนตอนเพิ่งคบกับสามี และสามีของเธอก็ชอบสไตล์ทรงผมกับสีผมที่เธอทำ มาดินาเล่าอย่างภาคภูมิใจถึงการที่สามีของเธอพาเธอไปร้านเสริมสวยและยืนรอเธออยู่ข้างนอก แล้วก็ชื่นชมเธอหลังจากที่เธอเดินออกมาจากร้าน

มาดินาเคยมีความฝันอยากเป็นทนายความแต่พวกตาลีบันก็ห้ามไม่ให้ผู้หญิงเรียนมหาวิทยาลัย เธอหางานทำไม่ได้เพราะตาลีบันสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงมีบทบาทในหลายเรื่อง มาดินายังเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอีกว่าหลังจากตาลีบันเข้ามาแม้กระทั่งบรรยากาศของร้านเสริมสวยก็เปลี่ยนไป

ตอนที่มาดินาเป็นเด็ก เธอมักจะติดตามแม่ของเธอไปที่ร้านเสริมสวยด้วย เธอมักจะได้เห็นผู้หญิงพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตของตัวเอง แต่ในยุคตาลีบันความกลัวแผ่ขยายไปทั่วทุกที่ พนักงานร้านเสริมสวยไม่สวมยีนหรือกระโปรงอีกต่อไป พวกเธอต้องหันมาสวมฮิญาบกันหมด นอกจากนี้ทุกคนกลัวว่าจะเจอกับคนสนับสนุนตาลีบันจนไม่มีใครกล้าพูดอะไรเกี่ยวกับการเมือง

แม้กระทั่งในงานแต่งงาน ซึ่งควรจะเป็นงานพิธีที่เจ้าสาวได้แต่งตัวแต่งหน้าสวยงาม เจ้าบ่าวก็ไม่สามารถถ่ายภาพเจ้าสาวของเธอตอนอยู่ในร้านเสริมสวยเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำได้อีกต่อไปเพราะข้อห้ามของเผด็จการตาลีบัน มาดินาบอกว่า การที่เธอได้นึกไปถึงรูปของตัวเองในกระจกตอนที่เธอแต่งตัวงดงามแล้วมันเป็น "ความสุขในแบบที่หาคำอธิบายไม่ได้"

ไม่เพียงแค่ความงามเท่านั้น สำหรับบางคนร้านเสริมสวยอาจจะถือว่าเป็นการบำบัดเลยก็ได้ เช่น โซมายา อายุ 27 ปี เธอเคยประสบอุบัติเหตุฮีตเตอร์ระเบิดจนทำให้หน้าเธอไหม้ เสียโฉม ขนตากับขนคิ้วถูกเผา เธอรู้สึกแย่จนไม่อยากมองหน้าตัวเอง กลัวว่าคนอื่นจะเห็นหน้าเธอแล้วก็หัวเราะ การรักษาพยาบาลช่วยให้แผลเธอหาย แต่ร้านเสริมสวยช่วยให้เธอกลับมามั่นใจในตัวเองได้อีกครั้ง

โซมายาบอกว่า หลังจากที่ร้านเสริมสวยช่วยสักขนคิ้วให้เธอใหม่ มันก็ทำให้เธอร้องไห้ออกมาด้วยความปลิ้มปิติเมื่อได้เห็นตัวเอง สำหรับโซมายา ที่เรียนจบปริญญาโทสาขาจิตวิทยาและทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแล้ว เธอก็มองว่าร้านเสริมสวยเป็นเสมือนสถานที่ "บำบัด" เยียวยาจิตใจของผู้หญิงได้ด้วย

"สำหรับพวกเราแล้วมันเป็นมากกว่าแค่ที่ๆ เราไปแต่งหน้า มันช่วยให้พวกเราซ่อนความเศร้า ให้พลังและความหวังกับพวกเราได้" โซมายากล่าว


เรียบเรียงจาก

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net