Skip to main content
sharethis

'บางกลอยคืนถิ่น-พีมูฟ' จี้ 'พัชรวาท' เดินหน้าพาชาวบ้านกลับถิ่นดั้งเดิม หลังมีแนว คกก. อิสระฯ แต่กระทรวงทรัพยากรฯ เตะถ่วง จนชาวบ้านถูกรื้อบ้านเพิ่ม 2 หลัง ยันปักหลักชุมนุมจนกว่าจะเห็นความคืบหน้ารูปธรรม

วานนี้ (23 ก.พ. 2567) เวลา 13.30 น. กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ เคลื่อนขบวนรถยนต์ออกจากอาคารสำนักงาน ก.พ.ร. มุ่งหน้ามายังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เวลา 14.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เดินทางถึงบริเวณถนนทางเข้ากระทรวงฯ และถือป้ายผ้าแสดงข้อความสะท้อนข้อเรียกร้องในการกลับขึ้นไปดำรงชีวิตที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน และป้ายไวนิลแสดงคำสั่งลงนามเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ในการแก้ไขปัญหาชุมชนบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2566 เพื่อย้ำว่ามีคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี แล้วเพราะเหตุใดจึงไม่สามารถดำเนินการได้ จากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยนำโซ่มัดตรึงข้อมือและข้อเท้า และเดินเท้ามายังด้านหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก่อนจะโรยแป้งลงบนพื้นถนนว่า ‘บางกลอย อยากกลับบ้าน’

เวลา 14.20 น. ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาพบผู้ชุมนุม และพยายามเจรจาให้เข้าไปพูดคุยหารือกันภายในห้องแถลงข่าวของกระทรวงฯ ทางผู้ชุมนุมจึงยื่นหนังสือผ่านร้อยเอก รชฏ ไปยัง พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สองฉบับ คือเรื่อง ขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย หมู่ที่ 1 ตําบลห้วยแม่เพรียง อําเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และขอให้ยุติและถอนหลักหมุดแนวเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยออกจากแนวเขตชุมชนในบริเวณพื้นที่ ตําบลแหลม อําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช

เวลา 14.30 น. ตัวแทนผู้ชุมนุม โดย พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และ พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และตัวแทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ และกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงฯ ได้หารือพูดคุยร่วมกันเกี่ยวกับความล่าช้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหากรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย

กุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่า กระบวนการในการดำเนินการเกี่ยวข้องกับสามส่วนใหญ่ ๆ คือ กฎหมาย วิชาการ และสังคม ในด้านกฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติปี 2562 ซึ่งหากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ดำเนินการตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ก็จะถือว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนด้านวิชาการ ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในพื้นที่ และด้านสังคมในพื้นที่ ที่มีความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกัน ทั้งกลุ่มที่พึงพอใจกับการจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน และกลุ่มที่ต้องการกลับขึ้นไปดำรงวิถีชีวิตที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน คือ กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ทำให้กรณีแก้ปัญหาของบางกลอยนี้ไม่สามารถดำเนินการได้เร็วนัก อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นในการดำเนินการโดยเฉพาะทางกรรมการอิสระที่มีความยึดโยงกับกรณีนี้มานาน คาดว่าจะสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่

“จากข้อมูลที่ผมศึกษามาก่อนหน้านี้ ขอยืนยันว่ากรณีบางกลอยไม่ง่าย แต่กลไกคณะทำงานสามฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการอิสระ จะช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเชี่ยวชาญอยู่แล้ว น่าจะเอื้อต่อดำเนินการต่อ แต่ว่าในส่วนของเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังจำเป็นต้องมีอยู่ในคณะทำงาน เพราะเรื่องพ.ร.บ.อุทยานฯ ค่อนข้างซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีผู้รู้อยู่ ใจจริงอยากให้กรณีนี้สำเร็จโดยเร็ว และจะทำในส่วนของตนเองให้เต็มที่” กุศลกล่าว

ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การดำเนินการที่ผ่านมาไม่ค่อยได้มีการสื่อสารร่วมกันว่าแต่ละส่วนมีความคืบหน้าอย่างไร หลังจากนี้คิดว่า ควรต้องมีการสื่อสารกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อว่ามีปัญหาติดขัดตรงไหนจะได้แก้ไขปัญหาได้โดยเร็ว ซึ่งทางพลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีฯ ก็ได้มีแนวนโยบายในการดำเนินการแล้ว อยากให้การดำเนินการในพื้นที่เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ตรงกับความต้องการของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น

“กรณีชุมชนบางกลอย ทางกระทรวงฯ มีแผนจะลงไปดูพื้นที่จริง เพราะที่ผ่านมาเราได้รับข้อมูลจากหลายกลุ่มหลายมุมมองที่ไม่สอดคล้องกัน ทั้งกลุ่มคนที่พึงพอใจในการจัดสรรที่ดินของรัฐ กลุ่มชาวบ้านที่ต้องการกลับขึ้นไป และกลุ่มอุทยานฯ ดังนั้น ถ้าทางเราลงไปในพื้นที่เพื่อหาข้อเท็จจริง จะได้เข้าใจถูกต้องและตรงกันมากขึ้น ” ร้อยเอกรชฏกล่าว

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กรณีชาวบ้านที่ถูกไล่รื้อที่อยู่อาศัย เป็นกลุ่มชาวบ้านที่ถูกอพยพลงมาจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน โดยที่รัฐบอกว่าจะจัดสรรที่อยู่อาศัยและที่ทำกินให้ แต่เมื่ออพยพลงมายังบางกลอยล่าง กลับได้รับการจัดสรรที่ดินไม่ครบถ้วนตามจำนวนคน หนำซ้ำสภาพพื้นที่ก็ไม่เหมาะสมต่อการดำรงวิถีชีวิตเดิม ที่ผ่านมาจำเป็นต้องอาศัยอยู่ร่วมกับคนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปพลาง โดยที่ไม่รู้ว่าจะถูกไล่เมื่อไร กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นยืนยันว่าจะกลับไปยังบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ที่เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเดิม พร้อมขอปฏิเสธการจัดสรรที่ใหม่จากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่จะกลับขึ้นไปใช้ชีวิตตามวิถีเดิม

“ที่ผ่านมาคนที่ไม่ได้รับการจัดสรรที่ก็จำเป็นต้องอาศัยอยู่กับญาติ แต่เมื่อพอญาติเขาเริ่มมีลูกมีหลาน ครอบครัวเริ่มขยาย เขาก็ต้องให้ลูกหลานเขาก่อน เลยต้องไล่เราออกจากที่ตรงนั้น อย่างเมื่อวานเราก็ได้พูดคุยกันว่า ตอนนี้มีคนถูกไล่ที่แล้วสามครอบครัว เราจะทำอย่างไรกันต่อ ซึ่งได้ข้อตกลงร่วมกันว่า หนทางเดียวคือ ต้องกลับไปบางกลอยบน-ใจแผ่นดินให้ได้ และขอปฏิเสธการเยียวยาใด ๆ จากหน่วยงาน การเยียวยาที่ดีที่สุดสำหรับเราคือการได้กลับบ้าน” พงษ์ศักดิ์กล่าว

พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ในตอนนี้มีกลไกในการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว คือ คณะทำงานสามฝ่าย ซึ่งการกลับขึ้นไปบางกลอยบน-ใจแผ่นดินของชาวบ้านบางกลอยกลุ่มนี้มีขอบเขตระยะเวลา และแนวทางที่ชัดเจน คือ เป็นการทดลองอยู่ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยมีขอบเขตตามกรอบ พ.ร.บ.อุทยานฯ ซึ่งตามจริงแล้วทางอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสามารถดำเนินการสำรวจได้แต่ไม่ยอมลงมือทำ

“การศึกษาวิจัยเรื่องวิถีไร่หมุนเวียน ก็เป็นไปตามกฎหมาย แต่หน่วยงานไม่วางใจ และบอกว่าไม่สามารถทำได้ จึงอยากให้ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ลงพื้นที่เพื่อไปพบชาวบ้านกลุ่มนี้โดยตรง และเราขอเรียกร้องให้ปรับสัดส่วนคณะทำงานสามฝ่าย เมื่อคณะกรรมการอิสระส่งเรื่องมาที่กระทรวงฯ ก็อยากให้เร่งลงนามรับรอง เพื่อให้สามารถดำเนินการต่อได้ และเรายืนยันว่าจะไม่ยุติการชุมนุมจนกว่าจะเห็นหนังสือแต่งตั้งคณะทำงานสามฝ่าย” พชรกล่าว

ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาการเดินทางเข้า-ออกของชุมชนบ้านบางกลอยเป็นไปอย่างลำบาก และขัดกับปกติวิถีของชาวบ้านในพื้นที่ โดนต้องทำเรื่องขออนุญาตไปยังอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติจึงจะสามารถเข้าออกในพื้นที่ได้ จึงอยากเสนอให้มีการพิจารณาความเข้มงวดในการเข้า-ออกในพื้นที่นี้ว่า มีความจำเป็นต้องเข้มงวดถึงระดับนี้หรือไม่

นอกจากกรณีขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย  ทางศิรวีย์  ทิพยวงศ์ กรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้ยื่นหนังสือถึงรมว.ทรัพยากรฯ เพื่อขอให้ยุติและถอนหลักหมุดแนวเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยออกจากแนวเขตชุมชนในบริเวณพื้นที่ ต.แหลม อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ที่มีเจ้าหน้าที่เขตห้ามล่านำเอกสารมาให้ชาวบ้านในพื้นที่ลงชื่อยินยอมว่า ที่อยู่อาศัยและที่ทำกินตั้งอยู่ในเขตห้ามล่า โดยที่ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่ได้รับรู้มาก่อน

“ตอนนี้ขอให้เพิกถอน ย้ายหลักหมุดออกจากพื้นที่ และตั้งคณะทำงานมาแก้ไขข้อพิพาทนี้ ซึ่งทางชุมชนยืนยันว่าจะคัดค้านเพื่อให้ยุติและถอนหลักหมุดออก บางหลักหมุดตั้งแต่ใต้หลังคาบ้านชาวบ้านด้วยซ้ำ เดินลงบันไดบ้านมาก็เจอหลักหมุด จะให้ชาวบ้านสบายใจได้อย่างไร” ศิรวีย์กล่าว

ในช่วงสรุปการพูดคุยหารือ พชร คำชำนาญ กล่าวว่า ขณะนี้กรณีปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมทั้ง 170 กรณี ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งขณะนี้มีแนวทางให้ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการ 4 ภูมิภาค ซึ่งระหว่างการดำเนินการนี้ ทางประชาชนในพื้นที่ต้องการให้ชะลอการดำเนินคดี และยุติการคุกคามในพื้นที่ก่อน

เปิดผลประชุม คกก. อิสระแก้บางกลอยนัดแรกในรัฐบาล 'เศรษฐา' หวังพากลับถิ่นเดิม-ทำไร่หมุนเวียน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2567 คณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีนัดหมายประชุมครั้งที่ 1/2567 เวลา 10.00 น. ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นเข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุม ขณะที่ขบวนการประชาชนเพื่ออสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาลเป็นวันที่ 5

จตุพร เทียรมา กรรมการอิสระ เผยว่า บรรยากาศการประชุมเป็นไปได้ด้วยดี โดยมีวาระว่าด้วยการหาแนวทางแก้ไขปัญหาคดีความของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย 28 คน และความคืบหน้าตามมติคณะกรรมการอิสระฯ ชุดเดิม ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้ลงนามรับรองมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย ประกอบด้วย 1. ผู้แทนชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ประสงค์จะกลับขึ้นไปดำรงชีวิตด้วยการทำไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบน 2. กรรมการอิสระ และ 3. ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นคณะทำงานที่หาแนวทางให้กลุ่มบางกลอยคืนถิ่นสามารถกลับขึ้นไปทดลองทำกินในรูปแบบไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบนได้เบื้องต้น 5 ปี พร้อมกับการศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในด้านคดีความ ร้อยเอกธรรมนัสได้มอบหมาย ชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม รองประธานคณะกรรมการอิสระฯ ประสานข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่ออำนายความเป็นธรรมแก่ชาวบางกลอยในลำดับต่อไป

ส่วนประเด็นการตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย พบปัญหาว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานแล้ว แต่สัดส่วนของคณะทำงานไม่เป็นไปตามมติคณะกรรมการอิสระฯ ชุดก่อนที่พลเอกประยุทธ์ลงนามรับรอง โดยพบว่ามีสัดส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากกว่าครึ่ง มีผู้แทนกรรมการอิสระฯ 5 คน ส่วนตัวแทนชาวบ้านถูกบิดพลิ้วกลายเป็นเพียง ‘ผู้แทนชาวกะเหรี่ยง‘ ที่ประกอบด้วยชาวบางกลอยเพียง 1 คน นอกจากนั้นเป็นชาวบ้านโป่งลึกและผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ซึ่งมิได้ประสงค์จะกลับขึ้นไปทำไร่หมุนเวียนที่บ้านบางกลอยบน

ร้อยเอกธรรมนัสได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการยกร่างคำสั่งคณะทำงาน 3 ฝ่ายขึ้นใหม่ โดยผู้แทนชุมชนต้องเป็นชาวบ้านที่ประสงค์จะกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนเท่านั้น สัดส่วนให้มีภาคส่วนละ 5 คน และให้อำนาจหน้าที่เป็นไปตามบทสรุปของคณะกรรมการอิสระฯ ชุดเดิม อย่างไรก็ตามจตุพรมองว่ายังมีข้อท้าทายคือเงื่อนเวลาของการทำไร่หมุนเวียนที่อาจไม่ทันฤดูกาลเพาะปลูกในปีนี้

“ข้อกังขาคือจะไปต่อแบบไหน เพราะหากกระทรวงทรัพยากรฯ จริงใจ ก็ควรรีบให้ชาวบ้านไปทำไร่หมุนเวียนได้แล้ว ตามปรกติของปฏิทินไร่หมุนเวียนคือต้องเริ่มฟันไร่ตั้วแต่วันนี้แล้ว นี่กลางเดือน ก.พ. แล้ว เดี๋ยวฝนจะตกแล้ว สำหรับผมคือมันจะต่อหลังจากนี้ ในเมื่อชาวบ้านก็จะยังทำไร่หมุนเวียนไม่ทันในปีนี้” จตุพรกล่าว

ด้าน พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า เรื่องคณะทำงาน 3 ฝ่าย ถ้าเป็นไปได้ตามที่ร้อยเอกธรรมนัสเสนอก็ดี คือให้ฝ่ายเลขานุการไปยกร่างคำสั่งใหม่ ปรับสัดส่วนให้สมดุล และตัวแทนชาวบ้านให้เป็นชาวกะเหรี่ยงบางกลอยที่ประสงค์จะกลับไปทำไร่หมุนเวียนที่บางกลอยบนเท่านั้น ซึ่งจะเป็นไปตามมติคณะกรรมการอิสระฯ ชุดเก่าที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นรับรองแล้ว

อย่างไรก็ตามเมื่อตั้งคณะทำงานได้แล้วอยากให้เร่งรัดการประชุมอย่างรวดเร็ว อยากให้ท่านรัฐมนตรีพัชรวาท วงษ์สุวรรณ เร่งลงนาม แล้วเปิดประชุมให้เร็วที่สุด

“ปีนี้น่าจะกลับไปทำไร่ไม่ทันแล้วเนื่องจากเลยฤดูกาลเพาะปลูก จึงควรดำเนินการสพรวจพื้นที่และหาแนวทางให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปให้แล้วเสร็จภายในปีนี้” พงษ์ศักดิ์กล่าว

นอกจากนั้นบางกลอยคืนถิ่นยังกังวลว่า ในการประชุมคณะทำงาน 3 ฝ่าย ยังต้องคอยหวาดระแวงกรมอุทยานฯ อยู่ดี เนื่องจากกรมอาจจะเล่นแง่ ไม่ทำตามที่มีมติที่ประชุมเหมือนเดิมอีก ซึ่งต้องจับตาดูต่อไปอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ ได้ปักหลักชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร มาตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเดินหน้าแก้ไขปัญหารายกรณีเร่งด่วน ตลอดจนเดินหน้าข้อเสนอเชิงนโยบายที่สืบเนื่องจากกาชุมนุมของพีมูฟเมื่อเดือน ต.ค. 2566 โดยเฉพาะให้เร่งเดินหน้า 'โฉนดชุมชน' หรือสิทธิชุมนุมในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติให้ชัดเจน โดยเรียกร้องขอพบ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลแนวนโยบายด้านการจัดการที่ดินอีกครั้งภายในสัปดาห์หน้านี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net