Skip to main content
sharethis

‘บางกลอยคืนถิ่น’ ยื่น รมว. ยุติธรรมฯ-อัยการสูงสุด ขอความเป็นธรรมในคดีชาวบ้านบางกลอย 28 คน ถูกอุทยานฯ ฟ้องข้อหารุกป่า เหตุกลับไปทำกินบนพื้นที่ดั้งเดิม ชาวบ้านเผยเดือดร้อนหนัก ขาดอาหาร-รายได้-ที่ทำกิน ถูก จนท. คุกคาม ด้าน รมว. รับช่วย เห็นพ้องควรชะลอคดี เปิดทางฝ่ายนโยบายแก้ปัญหา

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2567 ตัวแทนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในนามกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น เข้ายื่นหนังสือถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอให้ชะลอหรือยุติคดีชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย 28 คน ที่ถูกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานแจ้งความดำเนินคดีเมื่อเดือน มี.ค. 2564 จากการที่ชาวบ้าน 37 ครอบครัวลุกขึ้นต่อสู้เพื่อกลับขึ้นไปทำกินที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมก่อนการถูกอพยพ โดยขณะนี้คดีความอยู่ในชั้นพนักงานอัยการ และชาวบ้านเกรงว่าพนักงานอัยการจะเร่งส่งฟ้องต่อศาล หลังอัยการสูงสุดยุติเรื่องร้องขอความเป็นธรรมของชาวบ้านเมื่อปลายปี 2566

ย้ำรัฐบาลมีนโยบายแก้บางกลอย เหตุสมควรชะลอ-ยุติคดี

หนังสือระบุว่า ภายหลังการมีรัฐบาลใหม่ ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) โดยคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามอำนาจและหน้าที่ต่อไป ซึ่งรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายว่าด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินการออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. .... จนในวันที่ 16 ต.ค. 2566 ได้มีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งรวมถึงเห็นชอบในหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาของพีมูฟว่าควรยุติการคุกคามพื้นที่สมาชิกของพีมูฟ ด้วยการยุติการแจ้งความดำเนินคดีในทุกพื้นที่ คดีใหม่ต้องไม่มี หรือให้ยุติทุกกรณี คดีเก่าที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมให้มีมาตรการจำหน่ายหรือชะลอการดำเนินคดีและนำเข้าสู่การนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐ รวมถึงรับทราบผลการศึกษาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ โดยมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมรับไปดำเนินการนําเสนอร่างกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป 

หลังจากนั้นได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ครั้งที่ 1/2566 วันที่ 2 พ.ย. พ.ศ. 2566 กรณีการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ มีแนวทางที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง) สั่งการผลักดันเป็นพระราชบัญญัติ และมอบหมายให้รองปลัดกระทรวงยุติธรรม (พันตำรวจโท ประวุธ วงศ์สีนิล) นำประเด็นเหล่านี้ไปปรับปรุงให้มีความสมดุล จนมีการประชุมคณะทำงานพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 และได้มีหนังสือเวียนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับฟังความเห็น เมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2567 โดยกรณีบางกลอยเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเรื่องนิรโทษกรรมด้วย 

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2566 นายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ยังได้แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า) เป็นประธาน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา รวบรวมปัญหา และตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย เสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องกับคดีทางการปกครอง คดีแพ่ง และคดีอาญา เร่งรัด ติดตามผลการดำเนินงานของส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการ ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี 

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลนี้มีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคดีความที่รัฐบาลได้ร่วมกับภาคประชาชนผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ พ.ศ. ... และมีกลไกคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นอกจากนั้นรัฐบาลยังได้แต่งตั้งกลไกคณะกรรมการอิสระฯ ขึ้น ซึ่งมีกำหนดจะประชุมครั้งที่ 1/2567 ในเดือน ก.พ. 2567 นี้ เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลใหม่ในการคืนความเป็นธรรมแก่ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย เราจึงขอกราบเรียนมายังท่านให้หาแนวทางชะลอหรือยุติการสั่งฟ้องคดีชาวกะเหรี่ยงบางกลอยทั้ง 28 รายเอาไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามกลไกการแก้ไขปัญหาและการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ราษฎรฯ ของรัฐบาลจะแล้วเสร็จ

โดยหลังการยื่นหนังสือและพูดคุยกับพันตำรวจเอกทวี เห็นพ้องกันว่าควรเร่งหาแนวทางชะลอหรือยุติคดีความของชาวบางกลอยทั้ง 28 คน โดยขณะนี้ต้องรอท่าทีทางฝ่ายนโยบายซึ่งมีคณะกรรมการอิสระฯ เกิดขึ้นแล้ว หากมีการประชุมให้ทำความเห็นจากกรรมการอิสระฯ ส่งไปที่อัยการสูงสุดอีกครั้ง นอกจากนั้นพันตำรวจเอกทวีรับปากว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเพื่อหาหลักฐานยืนยันว่าชุมชนอยู่มาก่อน แต่เบื้องต้นจะทำความเห็นจากตนในฐานะประธานอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของพีมูฟส่งไปก่อน

ชาวบางกลอยเผย เดือดร้อนหนัก ขาดอาหาร-รายได้-ที่ทำกิน ถูก จนท. คุกคาม

พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น เผยว่า สถานการณ์ในพื้นที่บ้านบางกลอนขณะนี้มีการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนเรื่องคุณภาพชีวิตชาวบ้านก็ยังไม่ดีขึ้น ชาวบ้านบางคนไม่มีแม้แต่ข้าวสารจะกิน ข้าวของก็แพงขึ้นเรื่อยๆ ข้าวสารก็แพงขึ้น ส่วนการหางานข้างนอกตอนนี้ก็หาไม่ได้ การจ้างงานมีน้อยลง 

“ทำนองว่าเรายิ่งเรียกร้อง เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ยิ่งไม่สนใจชาวบ้าน เช่น เอากำลังเจ้าหน้าที่ไปลาดตระเวนกดดันชาวบ้านเยอะขึ้น บินโดรน ส่งเจ้าหน้าที่ขึ้นไปหาว่ามีชาวบ้านอยู่ที่บางกลอยบน-ใจแผ่นดินหรือไม่ มีการตรวจตราเข้มข้นขึ้น ทั้งที่ด่านแม่มะเร็วและในพื้นที่ด้วย เจ้าหน้าที่ไปเฝ้าตามจุดลาดตระเวนจำนวนมาก ชาวบ้านก็รู้สึกกดดัน ชีวิตปรกติก็ลำบากมากอยู่แล้ว เหมือนเขาทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวแล้วไม่ออกไปต่อสู้อีก ยิ่งเรียกร้อง เขายิ่งสร้างแรงกดดันในพื้นที่ ไม่ได้สนใจสิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องเลย” พงษ์ศักดิ์กล่าว

นอกจากนั้นชาวบางกลอยยังกังวลเรื่องคดีความ ที่ผ่านมาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุด หลังจากนั้นก็ได้รับข่าวมาว่าอัยการจะเร่งสั่งฟ้อง ซึ่งพงษ์ศักดิ์มองว่าการต่อสู้คดีเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ของชาวบ้านมาก 

“ในความเป็นจริงแล้วการกลับไปที่บางกลอยบนเราก็ไม่ได้ไปท้าทายอำนาจใคร เราไม่ได้อยากโดนคดี เราแค่อยากจะบอกว่าที่นั่นเป็นพื้นที่ดั้งเดิมของเรา แต่สิ่งที่เราได้รับคือเรื่องคดีความ ซึ่งเรากังวลมาก ชาวบ้านบางส่วนก็ต้องออกไปรับจ้างข้างนอก ไปงานไกลๆ ต้องลางาน ขาดรายได้เพื่อมาสู้คดี ครอบครัวก็จะลำบากขึ้นอีก หากเราต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจริงๆ เราจะลำบาก เพราะกระบวนการยุติธรรมในประเทศเราก็ไม่ค่อยยุติธรรมด้วย มันเป็นระบบกล่าวหา ไม่ใช่ระบบไต่สวน ถ้าชาวบ้านโดนแจ้งข้อหาเราก็ไม่มีทางชนะเจ้าหน้าที่รัฐได้เลย” ตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นกล่าว

พงษ์ศักดิ์ยังย้ำว่า ส่วนตัวไม่อยากใช้วิธีทางคดีความในการต่อสู้กับรัฐ ไม่อยากไปเสี่ยงในกระบวนการยุติธรรม ทางออกที่ดีที่สุดคือตามแนวทางของคณะกรรมการอิสระฯ ที่ให้ชะลอหรือยุติการสั่งฟ้อง ส่วนชาวบ้านที่จะกลับขึ้นไปที่บางกลอยบนก็ควรให้ชาวบ้านทดลองไปอยู่ได้ ใครที่อยากอยู่บางกลอยล่างก็ให้พัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งเมื่อเสนอไปทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ท่านจึงอยากไปพิสูจน์หาหลักฐานว่าชาวบ้านอยู่ในพื้นที่มาก่อนจริง ไปดูพืชพรรณที่ชาวบ้านปลูกในพื้นที่เดิม เช่น หมาก ทุเรียน หรือหลุมฝังศพ 

ทั้งนี้ตนอยากให้เร่งมีการประชุมคณะกรรมการอิสระฯ ให้ได้เร็วที่สุด และอยากให้ประชุมบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมารู้สึกว่าการดำเนินการล่าช้า ปัญหาของพี่น้องก็บานปลายทั้งเรื่องคดีความและปากท้องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข 

“ผู้แทนอัยการเขาก็บอกว่าเขารอหนังสือจากฝ่ายนโยบายด้วย อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ นอกจากนั้นคณะกรรมการอิสระฯ เป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรี มีความเห็นแล้ว แต่ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็ไม่ยอมทำตาม ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว นี่มันสูงที่สุดแล้วที่เราเรียกร้องได้ นายกรัฐมนตรีก็ใช้อำนาจบริหาร แต่ในความเป็นจริงไม่มีใครทำตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี แล้วจะให้ชาวบ้านทำอย่างไร” พงษ์ศักดิ์ย้ำ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net