Skip to main content
sharethis

กมธ.สันติภาพ เสนอ 7 เรื่องด่วนชายแดนใต้ต่อนายกรัฐมนตรี ญัตติสภาที่ปรึกษาเป็นวาระด่วน ดำเนินคดีนักกิจกรรมอย่างรอบคอบและได้สัดส่วนพฤติการณ์ จัดงบบูธณาการฯให้เกิดเอกภาพ วางกระบวนการสันติภาพเป็นแกนหลักในการแก้ปัญหา เยียวยาบุคคลที่ 3 ฝ่ายไม่รับรอง ยุติบังคับตรวจ DNA ในเด็ก ผ่อนผันคืนเงินกู้ดอกต่ำ วางระบบบูธณาการให้มีเอกภาพในเชิงนโยบาย

นางสาวรุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปิดเผยเอกสารฉบับเต็มข้อเสนอถึงฝ่ายบริหารของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งเป็นข้อมูลจากเวทีรับฟังความคิดเห็นตัวแทนทุกภาคส่วน จ.ปัตตานี ระหว่างวันที่ 19-20 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา

โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ฯ สภาผู้แทนราษฎร ได้นำเสนอเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยข้อเสนอ 7 เรื่องเร่งด่วนสร้างสันติภาพชายแดนใต้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ได้แก่ 

1. เลื่อนญัตติเพื่อนำสภาที่ปรึกษาฯ กลับมาให้เป็นวาระเร่งด่วน
2. นโยบายการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม ดำเนินการอย่างรอบคอบและได้สัตส่วนกับพฤติการณ์
3. จัดสรรงบประมาณในแผนงานบูธณาการฯ เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ
4. เยียวยาบุคคลที่สามฝ่ายไม่รับรอง ให้การดูแสและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิต
5. ยุติบังคับตรวจสารพันธุกรรม DNA ในเด็ก
6. ขอผ่อนผันการคืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ประคับประคองให้ผู้ประกอบการสามารดดำเนินกิจการต่อไปได้
7. วางระบบบูธณาการของหน่วยงานเพื่อให้มีเอกภาพในเชิงนโยบาย

โดยแต่ละข้อเสนอมีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้ 

1. ขอให้เร่งรัดนำญัตติร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายน พุทธศักราช 2559 พ.ศ. .... มาเป็นวาระเร่งด่วน 

โดย พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 กำหนดให้มี "สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งมาจากการเลือกตัวแทนของประชาชนแต่ละกลุ่ม มีบทบาทสำคัญคือ ให้คำปรึกษาโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงตรวจสอบและประเมินการทำงานของหน่วยงานรัฐ และมีอำนาจในการหาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยขจัดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนได้ในหลายเหตุการณ์ 

แต่คำสั่ง คสช.ที่ 14/2559 ได้ให้ "คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ" มาทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาฯ แต่มีบทบาทเพียงให้คำปรึกษาเมื่อนายกรัฐมนตรีต้องการเท่านั้น คำสั่งนี้จึงเป็นการตัดทอนกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และลดบทบาทหน่วยงานพลเรือนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญ 

2. การพิจารณากำหนดนโยบายการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคมจะต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ การดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองในภาคใต้หลายคดี ส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยของผู้คนในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ โดยการ"พูดคุยสันติสุข" ภายใต้กรอบ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ที่นำเสนอโดยรัฐบาลไทยนั้น มีองค์ประกอบสำคัญคือการปรึกษาหารือสาธารณะที่คาดว่าจะเริ่มในช่วงกลางปีนี้ 

ดังนั้น หน่วยงานรัฐควรจะส่งสัญญาณที่เป็นเอกภาพในการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสดงความเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างเสรีและสันติ เพราะจำเป็นอย่างยิ่งต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติร่วมกัน

คณะกรรมาธิการฯ มุ่งหวังว่า การดำเนินคดีนักกิจกรรมฯจะต้องดำเนินการอย่างรัดกุมและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ เพื่อจำกัดขอบเขตของผลกระทบต่อบรรยากาศการสร้างความร่วมมือของภาคประชาชน และไม่ส่งผลเสียต่อความพยายามในการร่วมสร้างสันติภาพ รวมถึงการขับเคลื่อนของรัฐบาลและรัฐสภา

3. การพิจารณาจัดสรรงบประมาณใน "แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในเชิงนโยบายโดยมีภารกิจสร้างสันติภาพสันติสุขเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา

กระบวนการสันติภาพมีความหมายกว้างกว่าการพูดคุยระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มติดอาวุธ แต่รวมถึงการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างเสริมสันติภาพ แต่การจัดสรรงบประมาณในแผนงานบูรณาการฯ ที่ผ่านมายังมิได้วางกระบวนการสันติภาพเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา 

โดยในปี 2566 แผนงานบูรณาการฯ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 6208.9 ล้านบาท แต่จัดสรรให้กับการแก้ไขความขัดแย้งผ่านการพูดคุยเพียง 14.73 ล้าน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก หากเทียบกับงบพัฒนาพื้นที่ 2,561.05 ล้านบาท งบการรักษาความปลอดภัย 2,037.22 ล้านบาทและงบข่าวกรอง 738.98 ล้านบาท 

เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง เพื่อหนุนเสริมการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยผ่านกระบวนการสันติภาพและสร้างเอกภาพในเชิงนโยบายผ่านการวางกรอบงบประมาณเสียใหม่

4. การเยียวยาบุคคลที่สามฝ่ายไม่รับรองให้ได้รับการดูแลและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยหลักการการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมีเงื่อนไขที่ต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ 3 ฝ่าย คือ กระทรวงมหาดไทย (นายอำเภอ) กอ.รมน. (ผบ.ฉก. ในระดับอำเภอ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้กำกับการ) แต่ยังมีคนกลุ่มที่ไม่ได้การรับรองจาก 3 ฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งจะมองว่ารัฐไม่ควรไปช่วยก็ได้ แต่อีกนัยหนึ่ง พวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบหรือเป็นเหยื่อจากความขัดแย้งทางสังคม ที่จะส่งผลไปถึงลูกหลานของคนที่บิดาหรือคนในครอบครัวเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐยิ่งทวีความโกรธแค้น และจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ถูกชักจูงเข้าสู่ขบวนการต่อต้านรัฐได้ง่ายขึ้น 

ดังนั้น รัฐจึงควรเยียวยาบุคคลที่ไม่ได้เข้าข่ายการรับรองจาก 3 ฝ่าย หรือได้รับการรับรองไม่ครบทั้ง 3 ฝ่าย เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือครอบครัวสามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้ รวมถึงเด็กและเยาวชนให้มีความมั่นคงในชีวิต ไม่ต้องหลุดจากระบบการศึกษา

5. ขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการบังคับตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ในเด็ก โดยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ตลอด 20 ปีของเหตุไม่สงบมีเด็กถูกบังคับให้ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) กว่า 28 ราย และพบการตรวจในเด็กที่อายุต่ำที่สุดเพียง 10 เดือน ซึ่งการตรวจสารพันธุกรรมมักเกิดขึ้นกับเด็กที่บิดาตกเป็นผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงและอยู่ระหว่างการหลบหนี 

แม้จะได้รับยินยอมจากผู้ปกครอง แต่ก็ยินยอมเพราะเจ้าหน้าที่รัฐอ้างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ หรือผู้ปกครองไม่สามารถอ่านเอกสารหรือไม่ทราบสิทธิของตนเองในการปฏิเสธการเก็บสารพันธุกรรมเด็ก ซึ่งมีความเปราะบาง กำลังถูกตีตรา สร้างบาดแผลในใจเพราะถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติและพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2548 

การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้ อาจบั่นทอนความไว้วางใจของประชาชนและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งทวีความตึงเครียดมากขึ้นอีกด้วย

6. การขอผ่อนผันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของภาคธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ความไม่สงบไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังได้รับผลจากวิกฤตโควิด-19 รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เมื่อรัฐบาลปรับนโยบายให้ผู้ประกอบการชำระคืนเงินกู้โดยเร็ว อาจส่งผลให้ธุรกิจในพื้นที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

การปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลันอาจจะส่งผลเสียต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมในสภาวะที่ความขัดแย้งรุนแรงยังไม่จบ รัฐจึงควรพิจารณาผ่อนผันการคืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยให้มีระยะเวลาคืนเงินยาวขึ้น และกำหนดแนวทางการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ประกอบการ เพื่อให้นักธุรกิจในพื้นที่สามารถปรับตัวและยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้

ส่วนปัญหาการใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในกิจกรรมที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์นั้น รัฐควรพิจารณายับยั้งเป็นกรณีๆ ไป แต่ไม่ควรเอามาเป็นเงื่อนไขในการวางกฎเกณฑ์ที่จะส่งผลกระทบในภาพรวม

7. ขอให้วางระบบเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและการบูรณาการของหน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสอดคล้องประสานกันและมีฝ่ายบริหารที่กำกับดูแลอย่างชัดเจนเพื่อให้มีเอกภาพในเชิงนโยบาย

ปัจจุบัน หน่วยงานสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.), กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่ทั้ง 3 หน่วยงานนี้ยังไม่มีกลไกประสานงานที่เป็นระบบ และทำให้การบูรณาการร่วมกัน ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง 

ในปัจจุบันนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล กอ.รมน. และสมช. ส่วน ศอ.บต. อยู่ภายใต้การกำกับของรองนายกรัฐมนตรี การไม่มีผู้รับผิดชอบหลักคนใดคนหนึ่งและภารกิจสำคัญยังคงอยู่ในการดูแลของนายกรัฐมนตรีซึ่งมีภารกิจหลายด้าน ทำให้งานด้านการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีเจ้าภาพหลัก และทำให้การสร้างเอกภาพในการทำงานของรัฐเกิดขึ้นได้ยาก

.............

ข้อเสนอเร่งด่วนถึงฝ่ายบริหารของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชานแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎรคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ได้ดำเนินการศึกษาและพิจารณามาตรการในการสร้างสันติภาพและขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อทำข้อเสนอที่สามารถแก้ปัญหาทั้งระบบต่อสภาผู้แทนราษฎรและเสนอไปยังรัฐบาล ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการได้เชิญผู้เกี่ยวข้อง ผู้เชี่ยวชาญและภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีความรู้และประสบการณ์มาให้ข้อมูล รวมถึงการลงพื้นที่เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งและกระบวนการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนทั้งเด็กและเยาวชน ชาวไทยพุทธ ภาคประชาสังคม นักกิจกรรรม หน่วยงานราชการไปจนถึงภาคเอกชน มาร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะจากการรับฟังข้างต้นทำให้คณะกรรมาธิการได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์มากที่จะนำไปสานต่อภารกิจในการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งระบบ อย่างไรก็ดี ยังพบว่ามีปัญหาเร่งด่วนที่คณะกรรมาธิการเห็นว่ารัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาที่กำลังก่อตัวและอาจส่งผลในการสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างยิ่งต่อบรรยากาศที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดสันติภาขึ้นในภาคใต้ โดยคณะกรรมาธิการมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. ขอให้เร่งรัดนำญัตติร่างพระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 14/2559 เรื่อง คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 4 เมษายนพุทธศักราช 2559 พ.ศ. .... มาเป็นวาระเร่งด่วน พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 กำหนดให้มี "สภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" ซึ่งมาจากการเลือกตัวแทนของประชาชนแต่ละกลุ่ม โดยสภาที่ปรึกษาฯ มีบทบาทสำคัญคือการให้คำปรึกษาโดยตรงต่อนายกรัฐมนตรีในการแก้ไขและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงตรวจสอบและประเมินการทำงานของหน่วยงานรัฐเพื่อรายงานต่อนายกรัฐมนตรีได้ พร้อมทั้งมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อช่วยขจัดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนได้ในหลายเหตุการณ์เมื่อมีคำสั่ง คสช. ที่ 14/2559 ซึ่งได้กำหนดให้  "คณะกรรมการที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้" มาทำหน้าที่แทนสภาที่ปรึกษาฯ พบว่าตลอด 9 ปีที่ผ่านมากลไกนี้ถูกลดบทบาทเป็นเพียงการให้คำปรึกษาเมื่อนายกรัฐมนตรีต้องการความคิดเห็นเท่านั้น คำสั่งนี้จึงเป็นการตัดทอนกลไกการมีส่วนร่วมของ

ประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และลดบทบาทของหน่วยงานพลเรือนในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในปี 2566 ส่งผลให้คำสั่งที่เป็นการใช้อำนาจฝ่ายบริหารสิ้นสุดลงไปด้วย สถานะของศอ.บต. จึงกลับไปเป็นหน่วยงานที่มีความเป็นเอกเทศตาม พ.ร.บ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้พ.ศ. 2553 แต่สถานะของสภาที่ปรึกษาฯ จะกลับคืนมาได้จำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเพื่อยกเลิกคำสั่งคสช. ที่ 14/2559 กลไกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะสามารถทำหน้าที่เป็นเวทีช่วยให้การสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนไปยังภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หนักที่สุดในรอบ 70 ปีที่ผ่านมาไม่นานนี้ เสียงสะท้อนของประชาชนผ่านสื่อมวลชนพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้ครอบคลุมตรงจุด การเกิดเหตุการณ์ปิดล้อมและปะทะจนนำมาสู่การวิสามัญฆาตกรรมหลายครั้งมิได้มีตัวแทนของประชาชนเข้าไปร่วมพิสูจน์ข้อเท็จจริง ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการขาดตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนจะยิ่งสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำกลไกของสภาที่ปรึกษาฯ กลับคืนมาอีกครั้ง

2. การพิจารณากำหนดนโยบายการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทางการเมืองและสังคมจะต้องมีการดำเนินการอย่างรอบคอบและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์การดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองในภาคใต้หลายคดีที่ผ่านมาส่งผลต่อความรู้สึกปลอดภัยของผู้คนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างเสรี ความรู้สึกปลอดภัยนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการสันติภาพ รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสินกำลังเริ่มดำเนินการเรื่องการ "พูดคุยสันติสุข " โดยองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการพูดคุยสันติสุขภายใต้กรอบ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) ที่นำเสนอโดยรัฐบาลไทยคือการปรึกษาหารือสาธารณะที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นได้ในช่วงกลางปีนี้ ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ของหน่วยงานรัฐควรจะส่งสัญญาณที่เป็นเอกภาพซึ่งแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงออกและสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการแสดงความเห็นทางการเมืองของประชาชนอย่างเสรีและสันติ บรรยากาศที่เปิดกว้างต่อการแสดงความคิดเห็นจำเป็นอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติร่วมกัน

คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มุ่งหวังว่าการบังคับใช้กฎหมายจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง รอบคอบและเป็นธรรม การดำเนินคดีนักกิจกรรมทางการเมืองจะต้องดำเนินการอย่างรัดกุมและได้สัดส่วนกับพฤติการณ์ เพื่อจำกัดขอบเขตของผลกระทบที่จะเกิดต่อบรรยากาศการสร้างความร่วมมือของภาคประชาชน และไม่ส่งผลเสียต่อความพยายามของทุกภาคส่วนในการร่วมกันสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืนให้เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนใต้ รวมไปถึงการขับเคลื่อนของรัฐบาลและรัฐสภา

3. การพิจารณาจัดสรรงบประมาณใน "แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในเชิงนยบายโดยมีภารกิจสร้างสันติภาพสันติสุขเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหากระบวนการสันติภาพมีความหมายที่กว้างไปกว่าการพูดคุยระหว่างรัฐบาล กับกลุ่มติดอาวุธเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการดำเนินการของภาคส่วนต่างๆ ในการสร้างเสริมสันติภาพให้เกิดขึ้นในสังคม กระบวนการสันติภาพจะต้องเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ เพื่อหนุนเสริมการแสวงหาทางออกทางการเมืองและแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน การจัดสรรงบประมาณในแผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมายังมีได้สร้างให้เกิดการบูรณาการและเอกภาพทางนโยบายอย่างแท้จริง รวมถึงยังมิได้วางกระบวนการสันติภาพเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา ในปี 2566 แผนงานบูรณาการฯ ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 6208.9 ล้านบาท หากดูการจัดสรรงบประมาณจะเห็นว่าเรื่องการแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีผ่านการพูดคุยได้รับงบประมาณ 14.73 ล้าน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากหากเทียบกับงบพัฒนาพื้นที่ 2561.05 ล้านบาท งบการรักษาความปลอดภัย 2037.22 ล้านบาทและงบข่าวกรองจำนวน 738.98 ล้านบาท ซึ่งอาจจะมิใช่งานเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้องเพื่อจัดสรรทรัพยากรเพื่อหนุนเสริมการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยผ่านกระบวนการสันติภาพและสร้างเอกภาพในเชิงนโยบายผ่านการวางกรอบงบประมาณเสียใหม่

4. การเยียวยาบุคคลที่สามฝ้ายไม่รับรองให้ได้รับการดูแลและมีความมั่นคงในการดำรงชีวิตที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้งบประมาณการเยียวยาสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีส่วนช่วยลดผลกระทบกับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงได้ระดับหนึ่ง โดยหลักการแล้ว ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงมีเงื่อนไขว่าจะต้องได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่สามฝ่ายคือกระทรวงมหาดไทย (นายอำเภอ) กอ.รมน. (ผบ.ฉก. ในระดับอำเภอ) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผู้กำกับการ)

แต่ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเยียวยาของรัฐเพราะไม่ได้การรับรองจากสามฝ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ หากมองว่ารัฐไม่ควรจะใช้งบประมาณไปช่วยผู้ที่ต่อต้านรัฐก็สามารถจะมองได้ แต่อีกนัยหนึ่งพวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบหรือเป็นเหยื่อจากความขัดแย้งทางสังคมที่รัฐเองยังไม่สามารถแก้ไขให้คลี่คลายลง ซึ่งจะส่งผลไปถึงลูกหลานของคนเหล่านี้ที่บิดาหรือคนในครอบครัวเสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐจะยิ่งทวีความโกรธแค้นขุ่นเคือง และจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เด็กๆ เหล่านี้ถูกชักจูงเข้าสู่ขบวนการต่อต้านรัฐได้ง่ายขึ้น รัฐจึงควรเยียวยาบุคคลที่เดิมมิได้เข้าข่ายการรับรองจากสามฝ่ายเหล่านี้

นอกจากนี้ รัฐยังควรแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับการรับรองไม่ครบทั้งสามฝ่าย ซึ่งส่งผลให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาจากภาครัฐได้ ซึ่งรวมถึงเด็กและเยาวชน ส่งผลให้พวกเขาขาดความมั่นคงในการดำรงชีวิต บางคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา รัฐจึงควรต้องปรับปรุงระบบการเยียวยาเพื่อให้มีความครอบคลุมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

5. ขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการบังคับตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ในเด็ก โดยการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ต้องทำเพื่อประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติ และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก

ตลอด 20 ปีของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเด็กถูกบังคับให้ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) กว่า 28 ราย และพบการตรวจในเด็กที่อายุต่ำที่สุดเพียง 10 เดือนเท่านั้น ซึ่งการตรวจสารพันธุกรรมมักเกิดขึ้นกับเด็กที่บิดาตกเป็นผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาในคดีความมั่นคงและอยู่ระหว่างการหลบหนี แม้การกระทำดังกล่าวจะได้รับยินยอมจากผู้ปกครองแต่ก็เป็นการยินยอมด้วยเพราะเจ้าหน้าที่รัฐอ้างการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ หรือบางครั้งผู้ปกครองไม่สามารถอ่านเอกสารหรือไม่ทราบสิทธิของตนเองในการปฏิเสธการเก็บสารพันธุกรรม

เด็กซึ่งมีความเปราะบางกำลังถูกตีตรา สร้างบาดแผลในใจเพราะถูกโยงให้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง รวมถึงเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กของสหประชาชาติและพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2548 การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นนี้อาจบั่นทอนความไว้วางใจของประชาชนและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ความขัดแย้งทวีความตึงเครียดมากขึ้นอีกด้วย

6. การขอผ่อนผันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของภาคธุรกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีมาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในพื้นที่ในสภาวะที่เกิดความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้  การเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการประกอบธุรกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ ในหลายปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการยังได้รับผลจากวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เมื่อรัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบายโดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่รับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปแล้วชำระคืนเงินกู้โดยเร็วอาจส่งผลให้ธุรกิจในพื้นที่ไม่สามาถปรับตัวได้ทัน

การปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างฉับพลันอาจจะส่งผลเสียต่อสถานการณ์เศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยรวมในสภาวะที่ความขัดแย้งรุนแรงยังไม่จบ รัฐจำเป็นจะต้องประคับประคองให้ผู้ประกอบการในพื้นที่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ รัฐจึงควรพิจารณาผ่อนผันการคืนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำโดยให้มีระยะเวลาการคืนเงินยาวขึ้นและกำหนดแนวทางการชำระเงินกู้ให้สอดคล้องกับความสามารถของผู้ประกอบการเพื่อให้นักธุรกิจในพื้นที่สามารถปรับตัวและยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ส่วนปัญหาการใช้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไปลงทุนในกิจกรรมที่ไม่ตรงวัตถุประสงค์นั้น รัฐควรพิจารณายับยั้งเป็นกรณีๆ ไป แต่ไม่ควรนำเอาประเด็นนี้เป็นเงื่อนไขในการวางกฎเกณฑ์ที่จะส่งผลกระทบในภาพรวม

7. ขอให้วางระบบเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพและการบูรณาการของหน่วยงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสอดคล้องประสานกันและมีฝ่ายบริหารที่กำกับดูแลอย่างชัดเจนเพื่อให้มีเอกภาพในเชิงนโยบาย

ในปัจจุบันหน่วยงานสำคัญในการกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้คือ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.,กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) แต่ทั้งสามหน่วยงานนี้ยังไม่มีกลไกประสานงานที่เป็นระบบและทำให้การบูรณาการร่วมกันยังมิสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริง ในปัจจุบันนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับดูแล กอ.รมน. และสมช. ส่วนศอ.บต.อยู่ภายใต้การกำกับของรองนายกรัฐมนตรี การไม่มีผู้รับผิดชอบหลักคนใดคนหนึ่งและภารกิจสำคัญยังคงอยู่ในการดูแลของนายกรัฐมนตรีซึ่งมีภารกิจหลายด้านทำให้งานด้านการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีเจ้าภาพหลักและทำให้การสร้างเอกภาพในการทำงานของรัฐเกิดขึ้นได้ยาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net