Skip to main content
sharethis

คณะสันติภาพภาคประชาชน เตรียมร่างกฎหมายสันติภาพ พร้อมล่า 5 หมื่นรายชื่อประชาชนเสนอรัฐสภา เผยมี 10 หมวดเพื่อกระบวนการสันติภาพเดินหน้า เปิดเนื้อหาจดหมายเปิดผนึกถึงคณะกรรมาธิการฯ ชี้ 19 ปีดับไฟใต้ยังไร้ผล ทั้งที่ใช้งบสูงเกือบ 5 แสนล้านบาท ย้ำหากปิดประตูเจรจา คนรุ่นใหม่เข้า BRN มากขึ้น ออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การเจรจา เริ่มจากคุ้มครองความปลอดภัยคณะพูดคุย-รับรององค์กรคู่ขัดแย้ง

21 ต.ค. 2566 นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานคณะสันติภาพภาคประชาชน (คสป.) เปิดเผยความคืบหน้า หลังจาก คสป.ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอให้บรรจุเรื่องการออก พ.ร.บ.การสร้างสันติภาพ เพื่อรับรองกระบวนการสันติภาพและการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมานั้น

ขณะนี้ คสป. ได้กำหนดกรอบแนวคิดหลักๆ เพื่อร่าง พ.ร.บ.สันติภาพออกมาแล้วรวมทั้งหมด 10 หมวด และอยู่ในกระบวนการทำให้เป็นภาษากฎหมายตามแบบฟอร์มของการเขียนเป็น พ.ร.บ. เพื่อเสนอออกกฎหมายต่อไป คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

พร้อมล่า 5 หมื่นรายชื่อประชาชนเสนอรัฐสภา

นายตูแวดานียา เปิดเผยด้วยว่า ส่วนขั้นตอนการล่ารายชื่อประชาชนให้ได้จำนวน 5 หมื่นรายเพื่อเสนอกฎหมายชื่อนั้น ต้องรอให้กระบวนการแปลงกรอบแนวคิด พ.ร.บ.สันติภาพฉบับประชาชนให้เป็นภาษากฎหมายตามแบบฟอร์มดังกล่าวให้เสร็จเสียก่อน จากนั้นจะนำร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไปทำความเข้าใจกับประชาชนทุกกลุ่ม ทุกภาคส่วน พร้อมทั้งขอรายชื่อสนับสนุนจากประชาชนด้วยผ่านการจัดเวทีสาธารณะ และทางออนไลน์เหมือนทางกลุ่ม ILAW เคยดำเนินการด้วย

เผย 10 หมวดเพื่อกระบวนการสันติภาพเดินหน้า

สำหรับทั้ง 10 หมวดดังกล่าว ประกอบด้วย

1. หมวดว่าด้วยที่มาและความสำคัญของ พ.ร.บ.สันติภาพฉบับประชาชน
2. หมวดว่าด้วยการเตรียมการเข้าสู่กระบวนการสันติภาพในบริบทเฉพาะเจาะจงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
3. หมวดว่าด้วยกระบวนการสันติภาพตามบริบทเฉพาะของสถานการณ์ความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
4. หมวดว่าด้วยรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายรองรับผลจากข้อตกลงที่ได้จากการเจรจาสันติภาพ
5. หมวดว่าด้วยการนิรโทษกรรมสมาชิกทุกระดับของขบวนการติดอาวุธที่ต่อสู้กับรัฐ
6. หมวดว่าด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนกับกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
7. หมวดว่าด้วยสถานะของคนกลางที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเจรจาสันติภาพ
8. หมวดว่าด้วยการเป็นผู้สังเกตการณ์การพูดคุยเจรจาสันติภาพ
9. หมวดว่าด้วยการปกป้องคุ้มครองให้ความปลอดภัยแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนกับกระบวนการสันติภาพ
10. หมวดว่าด้วยบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพอย่างบูรณาการกับฝ่ายรัฐบาล

ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง กรรมาธิการสันติภาพ

สำหรับเนื้อหาโดยสรุปของจดหมายเปิดผนึกที่คณะสันติภาพภาคประชาชนยื่นให้ประธานกรรมาธิการวิสามัญชุดดังกล่าว ซึ่งลงนามโดยนายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้ประสานงานคณะสันติภาพภาคประชาชน มีดังนี้ 

ชี้ 19 ปีดับไฟใต้ยังไร้ผล ทั้งที่ใช้งบสูงเกือบ 5 แสนล้านบาท

19 ปี ของความขัดแย้งในชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 มีคนเสียชีวิตแล้ว 7,520 คน บาดเจ็บเรือนหมื่น ผ่านนายกรัฐมนตรีมา 7 คน ใช้งบประมาณในการแก้ไขปัญหาไปทั้งสิ้น 492,451.43 ล้านบาท และมีการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457, พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แต่ผลลัพธ์สุดท้ายก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ 

ในทางกลับกันส่งผลให้สถานการณ์ภาพรวมแย่งลงไปเรื่อยๆ เห็นได้จากปฏิบัติการทางอาวุธของ BRN (Barisan Rivolusi Nasional Melayu Patani - แนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี) ที่มีเยาวชนคนรุ่นใหม่เข้าร่วมอย่างฮึกเหิม สะท้อนผ่านปรากฏการณ์แห่ศพนักรบ BRN ที่เสียชีวิตจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ การสั่งเสียทางออนไลน์ของนักรบ BRN ที่เรียกว่า ชาฮีดออนไลน์ เป็นต้น

ย้ำหากปิดประตูเจรจา คนรุ่นใหม่เข้า BRN มากขึ้น 

จดหมายยังระบุว่า ปฏิบัติการของ BRN ล้วนต้องการสื่อสารว่า หากรัฐไทยปิดประตูการเจรจาสันติภาพโดยการไม่ยอมรับในสถานะการเป็นคู่ขัดแย้งและคู่เจรจาของ BRN อย่างเป็นทางการ ทาง BRN ก็พร้อมจะเดินหน้ายกระดับตัวเองโดยใช้กองกำลังเยาวชนดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปฏิวัติให้อยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า สงครามประชาชนสากล แล้วทอดสะพานให้มหาอำนาจโลกเสรีเข้ามาแทรกแซง 

หากฉากทัศน์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ถึงรัฐไทยก็อาจต้องจำยอมยอมรับสถานะของ BRN อย่างเป็นทางการโดยปริยาย และผลลัพธ์สุดท้ายอาจบานปลายถึงขั้นลงเอยด้วยการทำประชามติเอกราชโดยมีมหาอำนาจเป็นผู้ไกล่เกลี่ยก็ได้ ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยอาจตกเป็นจำเลยของประชาคมโลก ในฐานะที่มีประชาชนที่เป็นเยาวชนเชื้อชาติมลายูปาตานีสังเวยชีวิตมากที่สุดในอันดับต้น ๆ ของโลกเลยก็ว่าได้

ออกกฎหมายเพื่อเปลี่ยนการต่อสู้ด้วยอาวุธสู่การเจรจา

ฉะนั้น ทางที่ดีทีสุดสำหรับป้องกันและยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายตามฉากทัศน์ข้างต้น คณะสันติภาพภาคประชาชน (คสป.) ประกอบด้วยองค์กรร่วมภาคประชาสังคมและภาคประชาชนที่อยากเห็นสันติภาพเกิดขึ้นในเร็ววัน ขอเสนอให้รัฐบาลและรัฐสภาไทยรีบให้การยอมรับสภาพปัญหาที่เป็นอยู่ คือ ยอมรับว่า ปัญหาชายแดนใต้เป็นวาระแห่งชาติ 

โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องออกพระราชบัญญัติกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ เพื่อจะเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งด้วยกำลังอาวุธมาเป็นความขัดแย้งที่สามารถเปิดเผยการเผชิญหน้าพูดคุยเจรจากันในแนวทางสันติวิธี ตามครรลองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

โดยกำหนดให้มีกระบวนการสันติภาพที่ให้ผู้นำ BRN มีความไว้เนื้อเชื่อใจในการเข้าร่วมกระบวนการที่รัฐได้รับรองไว้อย่างให้เกียรติ ซึ่งต่างจากบริบทความขัดแย้งในต่างประเทศ และไม่เหมือนกระบวนการที่เคยดำเนินการโดยรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา 

เริ่มจากคุ้มครองความปลอดภัยคณะพูดคุย-รับรององค์กรคู่ขัดแย้ง

โดยขั้นตอนแรก เริ่มดำเนินการด้านความยุติธรรมแก่ผู้นำโดยตรงของ BRN ที่อยู่ในทางลับให้มีสถานะได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยในทางกฎหมายและเป็นที่ยอมรับจากภาครัฐ จากนั้นดำเนินการตามขั้นตอนถัดไปตามมาตรฐานสากลของกระบวนการสันติภาพ นี่คือกระบวนการสันติภาพแบบพิเศษที่สอดคล้องกับบริบทเฉพาะของคู่กรณีที่มีสถานะความเป็นองค์กรลับ

สุดท้าย หากรัฐสภาและรัฐบาลเห็นชอบให้มีพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว ปีหน้าในหลวงรัชกาลที่ 10 จะมีพระชนมายุครบ 6 รอบ ปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่าอาจถือโอกาสเป็นฤกษ์งามยามดีที่ประเทศไทยจะได้ประกาศถึงเจตจำนงสันติภาพชายแดนภาคใต้ให้ประชาคมโลกได้รู้อย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นย่างก้าวแรกของเส้นทางสู่สันติภาพชายแดนภาคใต้ที่ยั่งยืน มั่นคง มั่งคั่ง คู่พระบารมีของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตลอดไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net