Skip to main content
sharethis

อาจารย์ราชภัฏยะลา ชี้ชายแดนใต้สังคมบริโภคมากกว่าผลิต ปลูกข้าวเองแค่ 20% อาหารโปรตีนยิ่งน้อยกว่าแค่ 10% ที่เหลือต้องนำเข้า ส่งผลเด็กตัวแคระถึง 29% ชี้โอกาสจากการฟื้นนาร้างมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ใช้หลักตลาดนำการผลิต รัฐสร้างแรงจูงใจ ให้ท้องถิ่นจัดการระบบชลประทาน สถาบันการเงินอิสลามมีบทบาท ด้านที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล เตรียมดันฟื้นนาร้างเข้าแผนงบประมาณปี 2568 ชี้ใช้งบแค่ 400 ล้าน แต่ต้องให้ท้องถิ่นทำ

เครือข่ายขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารในสามจังหวัดภาคใต้ จัดเวทีเสวนา “นโยบายของรัฐว่าด้วยชาวนาและความมั่นคงทางอาหารในสามจังหวัดภาคใต้” ในงานกินข้าวใหม่สืบสานความมั่นคงทางอาหารของสามจังหวัดภาคใต้” ณ ต.บ้านกลาง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี วันที่ 29 ก.พ. 2567 พร้อมแจกผลิผลิตข้าวจากโครงการฟื้นฟูนาร้างให้เด็กกำพร้าในพื้นที่ด้วย

โดยนายอัลอามีน มะแต อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งเป็นวิทยากรได้สรุปประเด็นจากวงเสวนาซึ่งโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นเวทีแลกเปลี่ยนการพลิกฟื้นนาร้างให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ภายใต้แบรนด์ “ข้าวนาดี” (Nadi เป็นภาษามลายู หมายถึง ชีพจร) โดยกล่าวถึงโอกาสและความท้าทายของการพลิกฟื้นนาร้าง จะสามารถสร้างความมั่งคงทางอาหารอย่างไร

ชายแดนใต้สังคมบริโภคมากกว่าผลิต

นายอัลอามีน ยอมรับว่า สภาพเศรษฐกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นลักษณะที่มีการบริโภคมากกว่า ผลิตเองได้ ซึ่งพอเวลาเราไปดูข้อมูลทางวิชาการและสถิติเชิงลึก เรากลับมองเห็นข้อเท็จจริงที่ท้าทายหลายประการ เช่น 

1. ประชาชนในพื้นที่ มีรายจ่ายด้านอาหาร คิดสัดส่วนมากกว่า 85% ของรายได้ ในขณะเดียวกัน ค่าใช้จ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.5% ต่อปี ในขณะที่รายได้เฉลี่ยของแรงงาน (ครัวเรือน) เพิ่มขึ้นเพียงแค่ 1.65% ตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปี 2562 (เพราะเรานำเข้าสินค้าจากต่างถิ่น มากกว่าผลิตเองไหม อันนั้นต้องไปดูสถิติเชิงลึก) 

ผลิตข้าวเองแค่ 20% อาหารโปรตีนยิ่งน้อยกว่าแค่ 10%

2. พื้นที่การเกษตร ของจังหวัดชายแดนใต้มีประมาน 3.2 ล้านไร่ แต่เป็นพื้นที่รกร้างและนาร้าง ประมาณ 322,359 ไร่ (คิดเป็นร้อยละ 9.69) และบางรายงานที่มีการสำรวจ พบว่า นาร้างในพื้นที่ มีมากถึง 78,000 ไร่ ทีเดียว 

3. พื้นที่ 3 จังหวัดมีการบริโภคข้าวสาร เฉลี่ยประมาณ 100 กก./คน/ปี แต่เราผลิตได้เพียง 20.70 กก./คน/ปี หรือ คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 ของความต้องการบริโภคทั้งหมด ในขณะเดียวกัน การบริโภคโปรตีน เช่น ไข่/เนื้อสัตว์ เราผลิตได้เพียง ร้อยละ 10 ของความต้องการทั้งหมด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความมั่งคงทางอาหารของพื้นที่ 

ส่งผลเด็กตัวแคระ เตี้ย ผอม จำนวนสูงถึง 29%

ทั้งนี้ สถิติทางด้านโภชนาการของเด็กเล็กชี้ให้เห็นว่า เด็ก 3 จังหวัดขาดสารอาหาร ตัวแคระ เตี้ย ผอม ร้อยละ 29 ของประชากรเด็กเล็กอีก (เกือบ 1 ใน 3 ของประชากรเด็ก)

4. คนพื้นที่ทิ้งอาชีพทำนา มีปัจจัยหลายอย่าง 
ก) ไม่คุ้มทุน ผลตอบแทนต่ำ (เป็นเกือบทั้งประเทศ) 
ข) โครงการรัฐ (การสร้างถนน/ระบบชลประทาน) ที่ไม่ยึดโยงกับวิถีทำนา (ขัดขวางทางน้ำ) 
ค) น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 
ง) การเปลี่ยนอาชีพ /ขาดแรงงาน (มีแต่คนแก่ทำนา) 

ชี้โอกาสใช้ประโยชน์จากนาร้าง สร้างมูลค่าเพิ่ม

นายอัลอามีน กล่าวต่อไปว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าว ตนมองว่ามีโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากนาร้างดังกล่าวได้ในอนาคต หากกำหนดยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาดี ๆ ซึ่งตนมีเสนอใน 5 ประเด็นหลัก คือ 

1. ใช้ “ตลาดนำการผลิต” ซึ่งต้องอาศัย Data Set ที่สำคัญสำหรับพื้นที่ เป็นการสำรวจข้อมูลฝั่งเครือข่ายผู้ผลิตและฝ่ายผู้บริโภคว่า ในแต่ละพื้นที่ต้องการข้าวสารเท่าไร และในพื้นที่สามารถผลิตได้เท่าไรต่อปี แล้วต้องใช้วิธีการอย่างไรในการเพิ่มผลผลิต เช่น ใช้กลไกโรงเรียนรัฐ/เอกชน ตาดีกา ศูนย์ศึกษาก่อนวัย ภายใต้ท้องถิ่น หรือ ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในพื้นที่ ให้กลับมาเป็นคู่ค้าหลักในการซื้อข้าวสารจากนาร้าง 

ใช้ตลาดนำการผลิต-รัฐสร้างแรงจูงใจ

“โดยรัฐอาจจะต้องให้แรงจูงใจ incentive ทั้ง 2 ฝ่าย ได้รับประโยชน์ที่ควรได้ เช่น ประกันราคารับซื้อให้กับเกษตรกร และโรงเรียนอาจจะได้รับงบประมาณเพิ่ม หรือ KPI เพิ่ม เมื่อซื้อข้าวสารจากเกษตรในพื้นที่ อีกทั้ง นักเรียนจะได้กินข้าวปลอดสารพิษ ร้านอาหารสามารถโปรโมท ประเด็น SDG ให้กับลูกค้าได้ แถมยังเป็นการรักษาพันธ์ข้าวพื้นเมืองไว้ได้”

2. เมื่อเกิดตลาดนำการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลตอบแทนที่เพิ่มสูงขึ้น อาจจะส่งผลให้เกิดการสร้างห่วงโซ่คุณค่าใหม่ (Value chain) เกิดขึ้น เช่น เกิดโรงสีชุมชน การแปรรูปฝาง เป็นอาหารสัตว์ สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ สร้างเครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเพิ่มขึ้น ลดการเพิ่งพาอาหารสัตว์นอกพื้นที่ เพิ่มจำนวนคนเลี้ยงวัว สร้างหลักประกันความมั่งคงทางอาหารในพื้นที่ต่อไป

กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการระบบชลประทาน

3. การกระจายอำนาจและงบประมาณ รวมถึงปลดล็อคกฎหมาย หรือ ระเบียบ (การกิโยตินกฎหมาย) ให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการระบบชลประทานเองได้ โดยใช้กลไกการมีส่วนร่วมของชุมชน (สภาองค์กรชุมชน) เข้ามากำหนดแบบแผน เป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการดำเนินโครงการ เพื่อลดปัญหาระบบชลประทานที่ขัดขว้างทางเดินของน้ำ 

4. กำหนดให้ท้องถิ่น มีส่วนที่จะหนุนเสริม องค์ความรู้ งบลงทุน ปัจจัยทางเกษตร ให้เกษตรกร สอดคล้องบริบทเชิงพื้นที่ว่า แต่ละพื้นที่ควรปลูกข้าวพันธ์อะไร ใช้วิธีการปลูกแบบไหน ช่วงไหนที่เหมาะสม ให้ผลผลิตที่สูง ต้นทุนต่ำ ได้ราคาดี โดยในระยะยาว สามารถจูงใจให้คนกลับมาทำนามากขึ้น เมื่อผลผลิตได้ราคา และคุ้มค่า

สถาบันการเงินอิสลามต้องมีบทบาทหลัก

5. สหกรณ์อิสลามในพื้นที่ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินหลัก ควรมีบทบาทมากขึ้นในการพิจารณารูปแบบการเข้าถึงบริการทางการเงินแบบใหม่ เช่น การให้สินเชื่อ ในหลักการ Salam Financing (สัญญาซื้อขายล่วงหน้า) ให้เกษตรกลสามารถมีเงินทุนหมุนเวียน ในการใช้เป็นปัจจัยการผลิต แล้ว สหกรณ์อิสลาม สามารถเรียกเก็บเงิน จากผู้ซื้อ (คู่ค้า) (ดูข้อ 1) เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาดได้ จึงจะเป็นสถาบันการเงินอิสลาม ที่สอดคล้องตามหลักเจตนารมณ์ของระบบการเงินและเศรษฐศาสตร์อิสลาม อย่างแท้จริง

ดันฟื้น "นาร้าง” เข้าแผนงบประมาณปี 2568

ในขณะที่ เดชรัตน์ สุขกำเนิด อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์เกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวในเวที ว่าการแก้ปัญหานาที่ถูกทิ้งร้างเกือบ 8 หมื่นไร่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ตนมี 4 ข้อเสนอ ซึ่งตนในฐานะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านจะขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผลักดันให้กำหนดในแผนงบประมาณแผ่นดินปี 2568 ต่อไป 

ใช้งบแค่ 400 ล้าน แต่ต้องให้ท้องถิ่นทำ

โดยข้อเสนอทั้ง 4 ข้อดังกล่าว ได้แก่

1. จัดการทรัพยากรน้ำและดินให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งใช้งบประมาณไม่เยอะเพื่อฟื้นนาร้างประมาณ 80,000 ไร่ให้สามารถกลับมาทำนาได้ไม่เกิน 400 ล้านบาท แต่ต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการ

2. รับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศให้ดีขึ้น โดยใช้พันธุ์ข้าวพื้นเมืองเดิมที่ทนต่อสภาพอากาศในพื้นที่ ต้องรวบรวมสายพันธุ์ดั้งเดิมไม่ให้สูญหายไป ขณะเดียวกันนำสายพันธุ์จากที่อื่นที่ทนต่อสภาพอากาศมาทดลองใช้และพัฒนาให้เหมาะสม เช่น พันธุ์หอมสยาม2 ซึ่งทนน้ำท่วมได้ 15 วัน แต่ต้องทดสอบก่อนว่าถูกปากคนในพื้นที่และเหมาะกับสภาพอากาศหรือไม่

3. ใช้สายพันธุ์ที่มีอายุสั้นลงจากระยะเวลา 5 เดือนเหลือ 3 เดือน เพราะจะทำให้ลดความเสียงจากภัยธรรมชาติได้

4. บริหารจัดการฟางข้าว รวมถึงรำข้าวและปลายข้าวให้ได้เป็นรายได้ โดยเฉพาะสำหรับการใช้เลี้ยงสัตว์ เพื่อให้มีอาหารโปรตีนเพิ่มขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net