Skip to main content
sharethis

จาก “วาดะห์” สู่ “ประชาชาติ” “ดวงยิหวา อุตรสินธุ์” วิเคราะห์เจตนายังเหมือนเดิมคือเป็นรัฐบาลเพื่อคนชายแดนใต้ แต่ต้องเลือกเมื่อรู้สึก “วางตัวลำบาก” ระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการ ชาวมลายูรู้สึกแย่กับ 2 ลุงจริงๆ หรือ แล้วกลุ่มไหนที่ผิดหวัง “ประชาชาติ” และการเมืองเชิงอัตลักษณ์เริ่มสั่นคลอน ชี้บทเรียนในอดีต ประชาธิปไตยต่างหากที่จะช่วย 3 จังหวัดได้ “ก้าวไกล” คือโจทย์ใหม่ในชายแดนใต้ ประชาชาติจะไปทางไหน

“ไม่มีแล้วพรรคมลายูอิสลาม”

“อมสุเหร่ามาพูดก็ไม่เชื่อว่าเป็นกลาง”

“พรรคสาขาย่อยเตรียมเชือดวัวฉลองนายกใหม่”

ข้อความแซะพวกนี้ แว้บแรกที่อ่าน ก็คงพอจะเดาได้ว่า ผู้เขียนหมายถึง “พรรคประชาชาติ” พรรคการเมืองที่มีฐานเสียงอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิมเชื้อสายมลายู (ข้อความนี้มาจากเพจ มลายู ปาริทัศน์)

แต่ด้วยปรากฏการณ์หลายอย่างในห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเข้าร่วมเป็นฝ่ายรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยที่มีพรรคสองลุงส์ (พรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐ) มรดกเผด็จการทหารมารวมอยู่ด้วย ได้สร้างความผิดหวังให้ผู้สนับสนุนพรรคประชาชาติพอสมควร

วันมูหะมัดนอร์ มะทา

รวมถึงบทบาทของ “อาจารย์วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตหัวหน้าพรรค ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาที่ชวนสงสัยถึงความเป็นกลาง ทำให้แฟนคลับบางส่วนถึงกับแสดงข้อความเชิงผิดหวังผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งสะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนชายแดนใต้ส่วนหนึ่งตอนนี้

กระทั่งล่าสุด พรรคประชาชาติได้เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ครั้งที่ 2 เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากอาจารย์วันนอร์ลาออกไปรับตำแหน่งประธานสภาฯ ซึ่งแฟนคลับบางส่วนก็ยังแซะไม่เลิก

ยังไม่นับรวมข้อความที่ชวนรำลึก “เหตุการณ์ตากใบ” ที่เกิดขึ้นในยุคทักษิณครองอำนาจ อาจารย์วันนอร์เป็นรัฐมนตรีเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วให้ได้จดจำกันซะงั้น

ทำไม พรรคประชาชาติ จึงตัดสินใจเช่นนั้น

ทำไมพรรคประชาชาติจึงตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลในสถานการณ์เช่นนี้ พรรคประชาชาติเปลี่ยนใจทิ้งหลักประชาธิปไตยแล้วไปร่วมมือกับฝ่ายเผด็จการแล้วกระนั้นหรือ

คำตอบอาจอยู่ในคำกล่าวปาฐกถาพิเศษ ของอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา เองในช่วงก่อนการประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ในวันเดียวกัน ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

“… เราได้พูดหาเสียงว่า เราต้องได้เป็นรัฐบาล เรามี ส.ส. 9 คน ทันทีที่มีการจัดตั้งรัฐบาล เราเป็นพรรคแรกๆ ที่มีการเชิญจากแกนนำจัดตั้งรัฐบาลให้เข้าร่วมรัฐบาล...”

“...บางอย่างฝ่ายตรงข้ามอาจจะไม่ชอบ ทำไมต้องไปร่วมรัฐบาลกับพรรคนู้นพรรคนี้ ขอเรียนว่า การทำงานนั้นต้องรู้จักถอยไปคนละก้าว ถึงจะก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง จะชอบหรือไม่ชอบ แต่ต้องมีรัฐบาลและต้องเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ถ้าเรายืนหยัดไม่ถอยเลย โอกาสที่จะมาแก้ไขปัญหาประชาชนก็ไม่มีเหมือนเดิม”

จาก “วาดะห์” สู่ “ประชาชาติ”

นักวิชาการที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองในพรรคประชาชาติอย่างอาจารย์หงส์ "ดวงยิหวา อุตรสินธุ์” จาก NYU Abu Dhabi (มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก แห่งอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) กลับมองว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่น่าจะแปลกใจ เพราะเป็นชุดความคิดและอุดมการณ์เดิมในทางการเมืองของ “กลุ่มวาดะห์” (Wahdah) ที่เคยเป็นกลุ่มนักการเมืองมุสลิมที่ทรงอิทธิพลมากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ดวงยิหวา อุตรสินธุ์

กลุ่มวาดะห์ก่อตั้งโดย เสนีย์ มะดากะกุล และเด่น โต๊ะมีนา เมื่อครั้งสังกัดพรรคกิจสังคม จากนั้นเข้าร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ก่อนจะลาออก แล้วไปร่วมก่อตั้งพรรคความหวังใหม่ตามคำเชิญของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งต่อมาก็ได้ยุบรวมเข้ากับพรรคไทยรักไทยเมื่อปี 2545 กระทั้งกลุ่มวาดะห์แพ้การเลือกตั้งย่อยยับเมื่อปี 2548 หลัง “เหตุการณ์ตากใบ”

เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกฟ้องยุบพรรคในช่วงหลังรัฐประหารในปี 2549 สมาชิกกลุ่มวาดะห์ก็ย้ายไปสังกัดพรรคต่างๆ อีกหลายพรรค จนในที่สุดเมื่อปี 2561 ได้กลับมาร่วมกันจัดตั้งพรรคประชาชาติขึ้นมา ยกเว้นเด่น และนัจมุดดีน อูมา ที่ไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยในปัจจุบัน และมีสมาชิกบางคนได้เสียชีวิตไปแล้ว

เจตนายังเหมือนเดิม

ดวงยิหวา เล่าถึงลักษณะพิเศษของนักการเมืองกลุ่มนี้จากการเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2555 ที่แม้ว่า พรรคประชาชาติปัจจุบันจะมีคนจากกลุ่มวาดะห์ไม่กี่คน (คืออาจารย์วันนอร์, อารีเพ็ญ อุตรสินธุ์, มุข สุไลมาน, ซูการ์โน มะทา, มูฮำมัดอารีฟีน จะปะกิยา) ร่วมกับคนรุ่นใหม่ แต่การวางแนวคิดและวิถีทางการเมืองไม่เปลี่ยนไปจากเดิม เพียงแต่อาจจะมีตัวละครใหม่ๆเข้ามา แต่การทำงานการเมืองยังเป็นแบบเดิมไม่เปลี่ยน

“เคยสัมภาษณ์นักการเมืองในกลุ่มวาดะห์เมื่อปี 2555 และมีการเขียนไว้ในหนังสือกลุ่มสลาตันด้วยว่า ถึงอย่างไรก็ขอให้ได้เป็นฝ่ายรัฐบาล นี่คือสิ่งที่พวกเขาพูดมาตลอด เพราะการเป็นฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสที่จะทำงานเพื่อคนในพื้นที่มากกว่าฝ่ายค้าน ซึ่งที่ผ่านมา ดิฉันก็เห็นเป็นแบบนั้นจริง ฝ่ายค้านจะทำอะไรได้ไม่มาก”

แน่นอนว่า การเป็นรัฐบาลมีทั้งอำนาจและงบประมาณ และการมีตำแหน่งให้คนในพรรคจะเอื้อต่อการทำงานในพื้นที่มาก เช่น หาก พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมจริง ก็จะเอื้อต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้หลายด้าน ทั้งงานยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

ดวงยิหวา กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลจะเป็นฝ่ายประชาธิปไตยหรือฝ่ายเผด็จการ พรรคประชาชาติก็ยังอยากเป็นฝ่ายรัฐบาล เพราะอยากช่วยคน 3 จังหวัด เพราะอย่างไรเสีย ความเป็นประชาธิปไตยในการเมืองส่วนกลางก็ไม่น่าจะทำอะไรให้คน 3 จังหวัดได้มากนัก

“ดิฉันเป็นคนที่เชียร์พรรคก้าวไกลในสายประชาธิปไตย ฟังแล้วก็รู้สึกอึกเหมือนกัน” สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้คนหลายคนในพรรคประชาชาติรู้สึกอกหักว่า ทำไมคุณยอมที่จะไปร่วมมือกับฝ่ายทหาร ทั้งๆที่ทหารก็ทำร้ายคนใน 3 จังหวัดมากพอสมควรไม่ใช่หรือ ทำไมจึงกล้าไปร่วมมือ”

ต้องเลือก เมื่อ “วางตัวลำบาก”

ทีนี้ อาจารย์หงส์ได้ชวนมองอีกแง่หนึ่งว่า ในความเห็นและความรู้สึกของกลุ่มกลุ่มวาดะห์เดิมหรือกลุ่มพรรคประชาชาติในตอนนี้ ต่างก็มองตัวเองเป็นพรรคการเมืองในระดับภูมิภาคและเป็นชนกลุ่มน้อย จึงทำให้“วางตัวลำบาก”

เพราะในการเมืองระดับชาติ พรรคประชาชาติอาจถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่สนับสนุนผู้ก่อการร้ายหรือกลุ่มหัวรุนแรง มุมมองแบบนี้ที่ทำให้ฝ่ายความมั่นคงเพ่งเล็งพวกเขาอยู่ตลอดเวลา พวกเขาจึงวางตัวลำบาก

ยิ่งในสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน พวกเขาก็ยิ่งต้องวางตัวให้ชัดเจนใน 2 ด้าน ก็คือ ต้องวางตัวไม่ให้ถูกมองอย่างเข้าใจผิดว่าเป็นผู้สนับสนุนขบวนการ BRN หรือผู้สนับสนุนขบวนการแบ่งแยกดินแดน อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ต้องแสดงตัวอย่างชัดเจนว่า เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย 

แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกจะอยู่ฝ่ายไหน “สำหรับดิฉันแล้ว มันง่ายกว่าที่พวกเขาจะเลือกตัดความเป็นประชาธิปไตยทิ้งไป ดีกว่าถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่สนับสนุน BRN ซึ่งการวางตัวแบบนี้ในการเมืองระดับชาติจะทำให้พวกเขาอยู่ได้”

ชาวมลายูรู้สึกแย่กับ 2 ลุงจริงๆ หรือ

ประเด็นต่อมา ดวงยิหวา บอกว่า ถ้าชาวบ้านรู้สึกแย่กับ 2 ลุงจริงๆ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา และ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ เหตุใดเขตเลือกตั้งที่ 2 และ 3 จ.นราธิวาส และเขต  2 จ.ปัตตานี พรรคพลังประชารัฐจึงได้รับเลือกตั้ง รวมทั้งเขต 1 จ.นราธิวาส ที่ได้พรรครวมไทยสร้างชาติ

และถ้าไปดูคะแนนระบบปาร์ตี้ลิสต์ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จะพบว่า พรรคเพื่อไทยได้น้อยแค่ 1% เท่านั้นเองและอยู่อันดับ 5-6 ส่วนพรรคประชาชาติได้ถึง 41% ตามมาด้วยก้าวไกล 22% อันดับ 3 คือรวมไทยสร้างชาติ

“ถ้าคนไม่เอาลุงจริงๆ ทำไมถึงได้รับเลือกตั้ง แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยชาวบ้านก็จะรู้ว่าเป็นแบรนด์ของทักษิณ ชินวัตร หากมองในภาพใหญ่แสดงว่าคนใน 3 จังหวัดไม่เอาทักษิณมากกว่าลุงทั้งสองคน เพราะฉะนั้นจากผลการเลือกตั้งตรงนี้ก็แสดงว่า การที่พรรคประชาชาติจะร่วมกับลุงก็ไม่ได้มีผลอะไรกับคนในพื้นที่”

ดวงยิหวา ยังชวนคิดในเรื่องการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำไมคนในพื้นที่เลือกพรรคประชาชาติมากกว่าพรรคก้าวไกล ทั้งๆ ที่นโยบายของพรรคก้าวไกลน่าจะช่วยแก้ปัญหาให้คนในพื้นที่ได้มากกว่า มองเห็นภาพชัดเจนกว่า เช่น การยุบ กอ.รมน. ยุบ ศอ.บต. ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร แต่คนก็ยังเลือกพรรคประชาชาติทั้งๆ ที่นโยบายของพรรคประชาชาติเบลอมาก 

อาจารย์หงส์มั่นใจว่า การแก้กฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก พรรคประชาชาติไม่แตะ ส่วนนโยบายอื่นๆ ก็เป็นนโยบายกว้างๆ ส่วนเรื่องกระบวนการสันติภาพก็ไม่น่าจะมีอะไรแตกต่าง เพราะยังได้รัฐบาลกลุ่มเดิมอยู่ แต่อาจจะมีคนของพรรคประชาชาติเข้าไปร่วมด้วย ก็อาจจะพอเห็นอะไรได้บ้าง 

“เพราะฉะนั้นการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังแข็งอยู่ น่าเศร้านะ”

กลุ่มไหนที่ผิดหวัง “ประชาชาติ”

คำถามคือ เมื่อพรรคประชาชาติไม่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยแล้ว มวลชนคน 3 จังหวัดจะยอมรับได้หรือไม่ ก่อนจะตอบคำถามนั้น ดวงยิหวาชวนมาดูก่อนว่า กลุ่มคนที่เลือกพรรคประชาชาติในการเลือกตั้งที่ผ่านมา มีกลุ่มไหน แบบไหนบ้าง

ดวงยิหวา บอกว่า มวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาชาติมี 2 ระดับ ระดับแรก เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการเมือง มีการติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา และเชื่อมั่นว่า พรรคประชาชาติเป็นพรรคในฝ่ายประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็เป็นพรรคที่มีความเป็นมลายูมุสลิม คือเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยอันมีอัตลักษณ์เชื่อมโยงกับคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ “ก็คือพวกเราที่อยู่ในโลกออกไลน์นี่ล่ะ”

ระดับที่สอง คือคนที่เลือกพรรคประชาชาติเพราะมีความรู้สึกว่า “พรรคประชาชาติเป็นคนของเรา เป็นญาติ เป็นญาติของญาติ เป็นพี่น้องที่มีเชื้อสายเดียวกัน ก็คือมีความเป็นมลายู เป็นพรรคการเมืองอิสลาม ถ้าไม่เลือกพรรคอิสลามแล้วจะเลือกพรรคไหน จะไปตอบพระเจ้าอย่างไร”

คนในกลุ่มที่สองนี้จะมองว่า “ไม่ว่าพรรคประชาชาติจะเข้าข้างใครก็ไม่เป็นไร เพราะถึงอย่างไร ถ้าเข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วก็จะช่วยเหลือพวกเราได้” กลุ่มนี้มีความไว้วางใจต่อพรรคอย่างสนิทใจ ซึ่งต่างจากกลุ่มแรกที่ต้องการให้พรรคประชาชาติเป็นฝ่ายประชาธิปไตย คือจับมือกับพรรคก้าวไกล

ส่วนคนกลุ่มแรกมองว่า ยังไงพรรคประชาชาติก็ต้องเข้าข้างฝ่ายประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น “กลุ่มนี้ล่ะที่ผิดหวังกับการที่พรรคประชาชาติยอมข้ามขั้วไปร่วมมือกับทหาร”

อาจารย์หงส์คิดว่า กลุ่มที่ผิดหวังนี้มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่ 2 มากๆ เพราะคนในกลุ่มที่ 2 เป็นคนที่อยู่ตามหมู่บ้านจริงๆ ไม่ได้ติดตามโซเชียลมีเดียตลอดเหมือนพวกเรา เพราะฉะนั้น “คิดว่าการที่พรรคประชาชาติจะตัดสินใจอย่างไรคงคิดคำนวณแล้วว่า ไม่น่าจะเสียคะแนนนิยมไปมากเท่าไหร่”

เธอจึง สรุปได้ว่า การต่อสู้ทางการเมืองเชิงอัตลักษณ์นั้นยังมีความเข้มแข็งอยู่มากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก?

ตรงนี้ ดวงยิหวา อธิบายว่า คะแนนเสียงที่พรรคประชาชาติได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ก็ไม่ได้มากไปกว่าที่เคยได้มากที่สุดเมื่อครั้งยังเป็นกลุ่มวาดะห์ คือ 7 ที่นั่ง(ในระบบแบ่งเขต) ไม่เคยเกินกว่านี้ แต่สมัยนั้น 11 เขตเลือกตั้ง แต่การเลือกตั้งครั้งนี้เพิ่มเป็น 13 เขต แต่พรรคประชาชาติก็ได้ 7 ที่นั่ง ถ้าเทียบอัตราส่วนก็ถือว่าน้อยลงกว่าเมื่อก่อนด้วยซ้ำ

การเมืองเชิงอัตลักษณ์เริ่มสั่นคลอน

“การเมืองเชิงอัตลักษณ์มลายูยังแกร่งอยู่ก็จริง แต่ก็ถูกพรรคก้าวไกลเข้ามาแทรกแล้ว” เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคก้าวไกลจะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากกลุ่มที่ผิดหวังพรรคประชาชาติทั้งหลายนั่นล่ะ

ทว่า คงยังไม่ถึงขั้นจะถูกประชาชนลงโทษเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2548 เพราะไม่ได้ร้ายแรงเหมือนเหตุการณ์ตากใบหรือการประท้วงครั้งใหญ่ที่ปัตตานีเมื่อปี 2518

“อันนั้นใหญ่จริง เพราะเป็นเหตุการณ์ที่สามารถรวมความเป็นหนึ่งให้คนใน 3 จังหวัดได้ลงโทษในทางการเมืองในครั้งเดียว” แต่แค่ไม่เลือกฝ่ายประชาธิปไตยอย่างเดียว คนใน 3 จังหวัดคงไม่ได้คิดว่า เขาจะมีส่วนได้เสียอะไร

บทเรียนประชาธิปไตยในอดีต

อาจารย์หงส์ ยังเล่าถึงแง่คิดที่ได้จากการเขียนวิทยานิพนธ์ ชื่อ Voices and Votes Amid Violence: Power and Electoral Accountability in Thailand’s Deep South (เสียงและการลงคะแนนเสียงท่ามกลางความรุนแรง: อำนาจและความรับผิดชอบในการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย) ด้วยว่า

ตนเองได้เขียนถึงการต่อสู้ทางการเมืองของหะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ที่ได้จะทำข้อเสนอ 7 ข้อเสนอต่อรัฐบาลเมื่อปี 2490 แต่โชคร้ายก็คือ มีการทำรัฐประหารขึ้นมา 7 ข้อเสนอดังกล่าวถูกรัฐบาลใหม่ปฏิเสธและยังกล่าวหาหะยีสุหลงว่าเป็นกบฏ “ถ้าไม่มีรัฐประหารตอนนั้น เชื่อว่า 3 จังหวัดก็จะไม่เป็นแบบนี้”

นี่ไม่ใช่กรณีเดียว แต่มีหลายครั้งที่พอการแก้ปัญหา 3 จังหวัดจะดีหน่อยก็เกิดรัฐประหาร เช่น กระบวนการพูดคุยสันติภาพในสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เธอมองว่า ทำไมวาดะห์(หรือพรรคประชาชาติ) ไม่เห็นว่า ความเป็นประชาธิปไตยต่างหากที่จะช่วยให้ 3 จังหวัดหลุดจากภาวะความขัดแย้งรุนแรงได้ ทั้งที่เหตุการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นว่าเป็นแบบนี้จริงๆ

“พอจะแก้ปัญหาได้ก็มีรัฐประหาร พอพังแล้วก็มานับศูนย์กันใหม่ทุกครั้ง”

“ก้าวไกล” โจทย์ใหม่ชายแดนใต้

สำหรับพรรคก้าวไกล แน่นอนว่าฐานเสียงส่วนใหญ่คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่สิ่งที่อาจารย์ดวงยิหวาระบุว่าน่าสนใจมาก คือ กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม กลุ่มนี้ไม่เลือกพรรคประชาชาติ แต่เลือกพรรคก้าวไกล

“กลุ่มนี้ไม่ชอบพรรคประชาชาติ เพราะมองว่ายังเล่นการเมืองแบบเก่า โดยเฉพาะวิธีการหาเสียงที่นำศาสนามาใช้ตัดสินคนอื่นว่า ถ้าไม่เลือกฉันแล้วจะตกนรก ซึ่งมองว่าการหาเสียงแบบนั้นมันไม่ถูกต้อง”

ส่วนบางนโยบาย เช่น สมรสเท่าเทียมหรือสุราเสรี เขามองว่า แม้ผิดหลักศาสนาแต่สามารถคุยกันได้ แต่ตัวก้อนแก่นหลักๆ ของพรรคก้าวไกล คือการเปลี่ยนแปลง เด็กกลุ่มเชื่อในความเป็นประชาธิปไตยว่าจะสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมได้

เจาะกลุ่มผู้นำศาสนาได้ไหม

อาจารย์หงส์ แนะนำว่า พรรคก้าวไกลยังต้องทำงานมวลชนต่อไปให้หนักกว่าเดิม ต้องพยายามเดินเข้าหากลุ่มผู้นำศาสนาอิสลาม เพราะพรรคประชาชาติได้คะแนนเสียงจากกลุ่มนี้เยอะมาก 

“ตอนนี้ผู้นำศาสนาทั้งสายเก่าและสายใหม่ต่างก็ร่วมกันมาช่วยพรรคประชาชาติ ซึ่งต่างจากเมื่อก่อนที่วาดะห์ได้รับการสนับสนุนจากผู้นำศาสนาสายเก่าอย่างเดียว”

พรรคก้าวไกลจะเจาะฐานเสียงกลุ่มศาสนาของพรรคประชาชาติอย่างไร จะเข้าไปคุยอย่างไรในลักษณะที่ไม่แข็งกร้าว พรรคประชาชาติก็นำนโยบายพรรคก้าวไกลมาพูดให้คนเข้าใจง่าย ๆ ในการหาเสียง เช่น สมรสเท่าเทียมขัดหลักศาสนา เพราะฉะนั้นพรรคก้าวไกลจะอธิบายอย่างไรว่า ส.ส.มุสลิมก็ไม่ได้สนับสนุน ซึ่งทำได้

เธอทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าพรรคก้าวไกลจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากขึ้น แต่ในระบบเขตเลือกตั้งยังไม่แน่ใจ และยังต้องเผชิญกับการใช้เงินซื้อเสียงอยู่ เพราะกลายเป็นวัฒนธรรมการเลือกตั้งที่ฝังลึกไปแล้ว แต่พรรคก้าวไกลก็ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการเลือกตั้งที่ไม่ต้องซื้อเสียง

ถึงวันนี้ พรรคก้าวไกลอาจเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัว และอนาคตการเมืองแห่งอัตลักษณ์ของพรรคประชาชาติ อาจไม่สำคัญเท่าจะเลือกเป็นประชาธิปไตยหรือฝักใฝ่เผด็จการที่อาจจะขับเคี่ยวกันไปอีกนาน ส่วนพวกชอบแซะผ่านสื่อออนไลน์ ก็คงจะไม่เลิกเช่นกัน

ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติคนใหม่ แทน 'วันนอร์'

อนึ่ง ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 ครั้งที่ 2 ของพรรคประชาชาติ เมื่อวันเสาร์ที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีวาระเลือกหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ หลังจาก วันมูหะมัดนอร์ ลาออกจากหัวหน้าพรรค เพื่อรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา

ภาพจากเฟซบุ๊ก อับดุลอายี สาแม็ง - Abdulayee Samang

โดยที่ประชุมมีมติด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น เลือก พ.ต.อ.ทวี เลขาธิการพรรคขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ โดย พ.ต.อ.ทวี ยังมีชื่อเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี

ส่วนรองหัวหน้าพรรค 12 คน ประกอบด้วย 1.วรวีร์ มะกูดี 2.นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ 3.สมมุติ เบ็ญจลักษณ์ 4.วิทยา พานิชพงษ์ 5.อับดุลอายี สาแม็ง 6.ดร.วรวิทย์ บารู 7.กูเฮง ยาวอหะซัน 8.พล.ต.ท.อนุรุต กฤษณะการะเกตุ 9.ปราโมทย์ แหล่ทองคำ 10.ฐาคณิษฐ์ พรทองประเสริฐ 11.ยู่สิน จินตภากร และ 12.สุธีรพันธ์ สุขวุฒิชัย

ขณะที่ ซูการ์โน มะทา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค พิสุทธิ์ อังจันทร์เพ็ญ ธนาวิทย์ ไชยานุพงษ์ มังโสด หมะเต๊ะ และมูหะมัด ยูโซ๊ะ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค มนตรี มนจรัส ดำรงตำแหน่งเหรัญญิก ณีรานุช วัฒนาทร ดำรงตำแหน่งนายทะเบียนพรรค กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ โฆษกพรรค สุไลมาน บือแนปีแน ต่วนอิสกันดาร์ ดาโต๊ะมูลียอ รอมือละห์ แซเยะ รองโฆษกพรรค และสาเหะมูหามัด อัลอิดรุส กรรมการยุทธศาสตร์

พ.ต.อ.ทวี ให้สัมภาษณ์ก่อนเริ่มประชุมกรณีที่ตนอาจได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่า โผ ครม.ที่ออกมายังเป็นเพียงข่าว ขณะนี้ต้องรอความชัดเจน ยังไม่ทราบเลยว่าจะได้ตำแหน่งอะไร แต่ในมิติความยุติธรรมเป็นมิติใหญ่ ถือเป็นปัจจัยที่ 5 ไม่ว่าคนจะยากดีมีจน ความยุติธรรมถือเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งหลังจากนี้พรรคประชาชาติจะต้องทำงานให้หนักขึ้น เพื่อเข้ามาแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net