Skip to main content
sharethis

มุสลิมโรฮิงญา-ชาวพุทธยะไข่ เริ่มมีสันติภาพกันแล้ว จากพลังคนหนุ่มสาว และความเข้มแข็งของกองทัพอาระกัน (AA) จากจุดเริ่มต้นที่คนพุทธต้องการให้เด็กไปโรเรียน ทำให้มุสลิมโรฮิงญามีเสรีมากขึ้น ต่างฝ่ายอดทนอดกลั้นมากขึ้น เผยนโยบาย Arakan Dream เอกภาพในความหลากหลายที่ต้องรวมทุกกลุ่มเข้าด้วยกัน แต่โจทย์ใหญ่เรืองการรับผู้ลี้ภัยกลับมายังไม่มีใครอยากพูดถึง อนาคตโรฮิงญาหาก AA เอาชนะทหารพม่าได้ ก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจน 

ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ในพม่ากับชาวพุทธ(กลุ่มชาติพันธุ์อาระกัน) ในรัฐยะไข่ เริ่มมีสันติภาพและการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันแล้ว จากความพยายามของนักกิจกรรมสันติภาพที่มีทั้งคนพุทธและมุสลิม

ที่สำคัญคือการมีอยู่ของกองทัพอาระกัน หรือ AA (Arakan Army) ที่เอื้อต่อการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ต่างศาสนาอย่างมาก แต่แม้ขณะนี้ กองทัพอาระกันอาจจะเอาชนะรัฐบาลทหารพม่าได้ แต่โจทย์ใหญ่เรืองผู้ลี้ภัยในต่างแดน ยังไม่มีใครพูดถึง

จุดเริ่มต้นของความพยายามสร้างสันติภาพดังกล่าว มาจากกลุ่มคนหนุ่มสาวชาวพุทธที่ต้องการจะให้เด็กๆ มุสลิมโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ได้เข้าเรียนหนังสือหลังจาก 10 ปีที่ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเรียน

Anthony Ware (ขวา) Costas Laoutides (ซ้าย)

เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยจาก Anthony Ware และ Costas Laoutides นักวิชาการมหาวิทยาลัยเดกิ้น (Deakin University) ประเทศออสเตรเลีย ที่มานำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับ “Local peace-making, social cohesion and the right to self-determination for the Rohingya and the Rakhine in Myanmar” เมื่อวันศุกร์ที่ 26 มกราคม 2567 ณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ (แปลสรุปเป็นภาษาไทยโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี และ รุ่งระวี เฉลิมศรีภิญโญรัช)

สงคราม ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สู่ความพยายามสร้างสันติภาพ

เป็นที่ทราบกันดีว่า รัฐยะไข่ที่อยู่ทางตะวันตกของพม่า มีความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมโรฮิงญาที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาโดยฝีมือของทหารพม่า

จุดเริ่มต้นมีขึ้นเมื่อปี 2012 เมื่อเกิดความขัดแย้งในระดับชุมชนระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมโรฮิงญา มีการเผาบ้านชาวโรฮิงญาจนกลายเป็นคนไร้บ้านถึง 260,000 คน และต้องหนีไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย หรือไม่ก็ลงเรือหนีไปประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซียหรือไทย

จากนั้นความรุนแรงค่อย ๆ ลดลงแต่ความขัดแย้งยังอยู่ ชาวพุทธกับมุสลิมต้องแยกกันอยู่โดยมีทหารพม่าเข้ามาควบคุม มีการสร้างรั้วกั้นชุมชนและจับคนสองกลุ่มแยกกันอยู่ ความตึงเครียดระหว่างสองชุมชนมีมากขึ้นตลอดเวลา

ปี 2016 กลุ่มมุสลิมได้ตั้งกองทัพปลดปล่อยโรฮิงญา ARSA (Arakan Rohingya Salvation Army) ขึ้นมาเพื่อโจมตีทหารพม่า แต่ก็ถูกโต้กลับอย่างรุนแรงจนนำมาสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาในปี 2017 แม้ตอนแรกไม่ชัดว่าทหารพม่าต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ แต่ผลมันเป็นอย่างนั้น

หลังปี 2017 มีผู้อพยพชาวโรฮิงญากว่า 940,000 คนในค่ายผู้ลี้ภัย 34 แห่งใน Cox’s Bazar ประเทศบังคลาเทศ โดย ค่ายกูตูปาลอง (Kutupalong) เป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ลี้ภัย 635,000 คน

ประชากรหายไปเป็นล้านคน

พื้นที่ที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อยู่ในรัฐยะไข่ตอนเหนือ ปัจจุบันมีประชากรเหลืออยู่ราวๆ 600,000 คนจาก 1.6 ล้านคน? มีคนตายมากกว่า 14,000 คน และมีมากกว่า 354 หมู่บ้านที่ถูกเผา

ส่วนรัฐยะไข่ตอนกลางไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่คนโรฮิงญากว่า 120,000 คนต้องหนีไปอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศ (IDP) อีก 200,000 คนยังอยู่ในหมู่บ้าน

ส่วนคนพุทธในรัฐยะไข่ ทั้งตอนเหนือและตอนกลาง ปัจจุบันมีประมาณ 2 ล้านคน กว่า 220,000 คนก็ยังอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยหรืออาศัยอยู่กับญาติ

รวมประชากรทั้งหมดที่เหลืออยู่ในรัฐยะไข่ตอนเหนือและตอนกลางปัจจุบันราว ๆ 2.6 ล้านคน โดยตอนเหนือมีโรฮิงญาเหลืออยู่ประมาณ 300,000 คน และตอนกลางเหลืออยู่ประมาณ 300,000 คน

โดยงานวิจัยชินนี้โฟกัสไปที่มุสลิมโรฮิงญา 600,000 คนที่เหลืออยู่นั่นเอง โดยทำวิจัยมาตั้งแต่ปี 2018

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหาโรฮิงญา

Anthony Ware ระบุถึงความเข้าใจผิดที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรฮิงญาว่า เป็นปัญหาที่ชาวมุสลิมถูกกดขี่ แต่ที่จริงเป็นความขัดแย้ง 3 ฝ่าย คือ

  1. ชาวพุทธยะไข่กับมุสลิมโรฮิงญา ซึ่งมีสาเหตุมาจากประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
  2. ระหว่างมุสลิมโรฮิงญากับทหารพม่า จากกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งใหญ่ในปี 2016-2017 ซึ่งถูกพูดถึงในประชาคมระหว่างประเทศ
  3. ชาวพุทธยะไข่กับรัฐบาลทหารพม่า ที่เพิ่งมีข่าวออกมา 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งชาวพุทธยะไข่หรืออาระกันต้องการเอกราช เพราะในอดีตเป็นรัฐอิสระมากก่อน

ชาวพุทธอาระกันมีกองกำลังของตัวเองชื่อ Arakan Army หรือ AA พัฒนาขึ้นเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มีประมาณ 30,000 นาย มีการจัดตั้งที่ดีและมีอาวุธดี สามารถโจมตีทหารพม่าได้

“ความขัดแย้งในรัฐยะไข่เป็นกรณีตัวอย่างที่คลาสสิกของทฤษฎีความขัดแย้ง เพราะเป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ ซับซ้อน ต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอม ต่างก็อ้างความชอบธรรมในการต่อสู้ และหาทางออกยังไม่ได้” 

พลังคนหนุ่มสาวนักกิจกรรมสันติภาพ

Costas Laoutides อธิบายถึงโครงการวิจัยชื่อว่า การส่งเสริมการทำงานของนักกิจกรรมสันติภาพในท้องถิ่นหลังจากการกวาดล้างชาติพันธุ์: หนุนเสริมการสร้างสันติภาพระหว่างชาวมุสลิมโรฮิงญาและชาวพุทธในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมาร์

ทั้งนี้ เพื่อทำความเข้าใจว่า นักกิจกรรมสันติภาพซึ่งสวนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาวเกิดขึ้นมาอย่างไร มีบทบาทอะไร และสามารถทำงานข้ามความเชื่อทางศาสนาเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยอย่างไร และการสื่อสารระหว่างชาวโรฮิงญากับเพื่อนบ้านชาวพุทธเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการใช้สื่อโซเชียลทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์และศาสนา

“นักกิจกรรมสันติภาพพยายามสร้างกลไกกระบวนการสื่อสารขึ้นมาใหม่ เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพ”

สร้างกรอบคิดใหม่หนุนเสริมสันติภาพ

งานวิจัยชิ้นนี้ มีทั้งการสัมภาษณ์เยาวชน นักกิจกรรมสันติภาพระหว่างศาสนาและชุมชน/ภาคประชาสังคม วิเคราะห์วาทกรรมในโซเชียลมิเดีย การทำแบบสำรวจ และจัดสนทนากลุ่มร่วมกันระหว่างนักกิจกรรมสันติภาพโรฮิงญาและชาวพุทธเพื่อหาทางที่จะเดินไปข้างหน้าด้วยกัน โดยแนวคิดหลักที่ใช้ คือ

1. Social media and the reframing of micro-violence คือ การใช้สื่อโซเชียลเพื่อสร้างกรอบใหม่ (Reframing) ในเรื่องความรุนแรงระดับจุลภาค เช่น ใช้คำพูดแบบใหม่หรือตีความให้เกิดคำอธิบายหรือสนับสนุนความคิดที่จะสร้างสันติภาพ จากการที่ “นิวยอร์กไทม์ระบุว่า ทหารพม่าใช้บัญชีปลอมในการเผยแพร่ Fake News เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เอื้อต่อการโจมตีชาวโรฮิงญา”

2. Local capacities for peace (LCPs) ศักยภาพท้องถิ่นเพื่อสันติภาพ (LCP) โดยนำความเป็นจริงที่ปรากฏในความสัมพันธ์ระหว่างชุมชน (เช่น ทัศนคติ การกระทำ ค่านิยม ความสนใจ ประสบการณ์ สัญลักษณ์ โอกาสฯร่วม) มาเป็นตัวเชื่อมต่อในมิติส่วนบุคคล ความสัมพันธ์ วัฒนธรรมและโครงสร้าง

3. Capabilities for peace ความสามารถเพื่อสันติภาพ โดยนำแนวคิด LCPs มาพัฒนาความสามารถในการสร้างสันติภาพของปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มคน ซึ่งตั้งอยู่บนฐานคิดของนักวิชาการสันติภาพหลายคน

พบความสัมพันธ์พุทธกับมุสลิมดีขึ้นตั้งแต่ปี 2018

ข้อค้นพบจากงานวิจัยอันแรก คือ ความสัมพันธ์ระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมโรฮิงญาดีขึ้นตั้งแต่ปี 2018 แม้ว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในพม่า แม้มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชาวโรฮิงญา แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนพุทธกับมุสลิมดีขึ้น

โรฮิงญามีเสรีมากขึ้นในพื้นที่ปกครองของกองทัพ AA

คนโรฮิงญามีเสรีภาพในการเดินทางมากขึ้น โดยในพื้นที่ที่กองทัพอาระกัน (AA) ปกครองอยู่นั้น พวกเขาสามารถออกไปทำงานนอกเขตได้ ทำให้สามารถที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ ซึ่งเดิมไม่สามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้ที่กำหนดไว้ได้ แต่ถ้าจะออกนอกพื้นที่ก็ต้องขออนุญาต

สิทธิกำหนดชะตากรรมตนเองที่รวมคนพุทธและมุสลิม

จากการสำรวจพบว่า ปฏิบัติการของกลุ่มทหารอาระกัน (AA) มีความสำคัญต่อการพัฒนาการนี้ ทหารอาระกันมีความเข้มแข็งมากในพื้นที่ที่กองทัพอาระกันปกครอง มีการจัดตั้งโครงสร้างที่เหมือนเป็นรัฐซ้อนรัฐอยู่ในพม่า

ในพื้นที่นั้นกองทัพอาระกันมีอำนาจจัดการในเรื่องกระบวนการยุติธรรม และจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับโรฮิงญาอย่างระมัดระวังมาก “สิ่งที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียก็มีการไปสืบสวนสอบสวนว่าเป็นอย่างไร ใครเผยแพร่รูปอะไรต่างๆ”

Arakan Dream เอกภาพในความหลากหลาย

ตั้งแต่ปี 2014 ปฏิบัติการต่างๆ ของกองทัพอาระกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เวลากองทัพอาระกันออกแถลงการณ์ต่างๆ สู่สาธารณะ เวลาพูดถึงกลุ่มโรฮิงญาก็จะพูดในลักษณะที่ inclusive หรือรวมเอากลุ่มโรฮิงญาเข้ามาด้วย

“สิ่งที่กองทัพอาระกันทำ คือการพูดถึงหรือพยายามที่จะทำให้ความฝันของคนอาระกัน (Arakan Dream) เกิดขึ้น การมีสิทธิในการที่จะกำหนดชะตากรรมตนเอง หมายถึงสิทธิของคนที่อยู่ในรัฐอาระกันหรือรัฐยะไข่ทั้งหมด ทั้งชาวพุทธทั้งมุสลิม”

กองทัพอาระกันใช้นโยบาย “ต้องมีเอกภาพในความหลากหลาย”

กองทัพอาระกัน เอื้อต่อการรื้อฟืนความสัมพันธ์

การมีอยู่ของกองทัพอาระกันทำให้การรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนา คือ กลุ่มคนพุทธยะไข่และคนมุสลิมโรฮิงญาเกิดขึ้นได้

อาจารย์พูดถึง Cultural Market ตลาดทางวัฒนธรรม ศาสนาหรือเชื้อชาติ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งเพื่อทำให้เกิดความแตกแยกหรือทำให้เกิดเอกภาพระหว่างผู้คนก็ได้ แต่ข้อค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่า วัฒนธรรมสามารถนำมาใช้สร้างความเป็นเอกภาพระหว่างกลุ่มคนต่างศาสนาและเชื้อชาติได้

หาก AA ชนะทหารพม่า จะปฏิบัติต่อโรฮิงญาอย่างไร ยังไม่มีคำตอบ

นักวิจัยได้ตอบคำถามเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ไม่แน่ใจว่าความประสงค์เบื้องหลังของกองทัพอาระกันคืออะไรกันแน่ ไม่อยากจะคาดเดา แต่อาจเป็นการตัดสินใจที่คิดว่าเหมาะสมที่สุดในทางปฏิบัติที่เลือกจะไม่สู้ศึกทั้งสองด้าน คือสู้กับโรงฮิงญาและสู้กับทหารพม่าด้วย

อีกเหตุผลคือกลุ่มชาวพุทธยะไข่ก็ต้องการการยอมรับในระดับสากล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็จำเป็นต้องแสดงถึงการยอมรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย แต่หากว่ากองทัพอาระกันสู้ชนะทหารพม่าแล้วเขาจะปฏิบัติต่อกลุ่มโรฮิงญาอย่างไรนั้น ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน

“แม้กองทัพอาระกันจะมีความสำคัญมากที่จะเปลี่ยนเกมที่ดำเนินอยู่ แต่จริงๆ แล้วก็ต้องให้เครดิตกับกลุ่มอื่นๆในสังคมด้วย เช่น กลุ่มนักกิจกรรมสันติภาพก็ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน”

ผลจากความพยายามของนักกิจกรรมสันติภาพ

ส่วนบทบาทของนักกิจกรรมด้านสันติภาพหรือภาคภาคประชาคมก็มีความสำคัญ โดยได้เคลื่อนไหวทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อพยายามสร้างวาทกรรมหรือคำอธิบายที่ต่อต้านการสร้างความเกลียดชังหรือข้อความเชิงลบ

สิ่งที่เกิดขึ้น เช่น กลุ่มนักเรียนที่เป็นคนโรฮิงญาสามารถที่จะเข้าไปเรียนหนังสือในเมืองซิตเวย์ได้ ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมาพวกเขาไม่สามารถเข้าเรียนได้ เพราะกลุ่มคนพุทธในยะไข่ที่เป็นนักกิจกรรมพยายามพูดถึงสิทธิของคนโรฮิงญาในการเรียนหนังสือ 

กรณีตัวอย่างตู้รถไฟขนส่งนักเรียน

มีการพูดถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของผู้นำศาสนาในการสร้างสันติภาพ มีการร่วมงานกันระหว่าง 2 ชุมชน ในงานของชุมชนคนพุทธมีการเรี่ยไรเงินสนับสนุนให้กลุ่มโรฮิงญา หรือนักเรียนที่เป็นคนพุทธก็เข้าไปร่วมเฉลิมฉลองประเพณีในวันอีดของคนมุสลิม

กรณีที่มีการเผยแพร่ภาพนักเรียนบนรถไฟใน Facebook แล้วบอกว่า คนที่นั่งอยู่บนเก้าอี้เป็นคนพุทธยะไข่ ส่วนคนโรฮิงญายืนหรือไม่ก็นั่งกับพื้น ซึ่งเป็นข้อความที่ต้องการจะบอกว่า มีการแบ่งแยกคนมุสลิมอีกแล้ว แต่มีข้อความที่สะท้อนความเป็นจริงออกมาคือ กลุ่มนักเรียนคนพุทธนั้นขึ้นรถมาก่อนก็เลยได้นั่ง ในขณะที่พวกโรฮิงญาขึ้นมาทีหลังก็เลยต้องยืนหรือนั่งกับพื้น 

ภาพนักเรียนชาวพุทธยะไข่และมุสลิมโรฮิงญาบนรถไฟที่มีการเผยแพร่ใน Facebook ที่สะท้อนถึงการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ของคนทั้งสองชาติพันธุ์ แต่ก็ยังถูกโจมตีว่าแสดงถึงการแบ่งแยก เพราะนักเรียนชาวพุทธนั่งอยู่บนเก้าอี้ ส่วนคนโรฮิงญายืนหรือไม่ก็นั่งกับพื้น (ถ่ายเมื่อ May, 2022)

เพราะทั้ง 2 ฝ่ายรู้สึกถูกกดขี่จากทหารพม่าเหมือนกัน

กรณีนี้มีความพยายามที่จะจัดการความจริงโดยบอกว่าจริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น แต่เป็นความพยายามบิดเบือนความจริง ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมสันติภาพพยายามที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Hate Speech (ข้อความหรือการพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง)

 “เนื่องจาก ทั้ง 2 กลุ่ม คือ ชาวพุทธยะไข่มุสลิมโรฮิงญาต่างก็รู้สึกว่าตัวเองตกเป็นเหยื่อของการกดขี่จากทหารพม่าเหมือนๆ กัน เมื่อมองแบบนี้แล้วก็เลยทำงานร่วมกันได้มากขึ้น”

มีกิจกรรมหนึ่งในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย คือการใช้กีฬา ซึ่งกิจกรรมนี้แสดงให้เห็นว่าใครคือคนที่มากดขี่ชุมชนทั้ง 2 ชุมชน

วาทกรรมต่อต้านโรฮิงญาอยู่ แต่อดทนอดกลั้นมากขึ้นเยอะ

นักวิจัยตอบคำถามถึงสถานการณ์ในปัจจุบันด้วยว่า ไม่มีความรุนแรงในลักษณะที่เป็นความรุนแรงหมู่ แต่จะมีกรณีอาชญากรรมที่แต่ละคนทำ ซึ่งก็ถูกมองว่าเป็นอาชญากรรมปกติ ไม่เหมือนสถานการณ์ในช่วงปี 2017 ที่มีลักษณะฆ่าล้างเผาพันธุ์ แต่ยังมีกลุ่มคนพุทธที่ยังคงใช้วาทกรรมในลักษณะต่อต้านโรฮิงญาอยู่ แต่มีลักษณะอดทนอดกลั้นมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ

เหตุผลหนึ่งเพราะกองทัพอาระกันมีความสามารถหรืออำนาจในการควบคุมวาทกรรมในหลักในสังคมได้อยู่ในตอนนี้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่ยังคิดว่าต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 600,000 คนที่เหลือให้หมดสิ้นซากไปเลยก็มี หรือบางกลุ่มซึ่งอาจเป็นนักกิจกรรมสันติภาพก็อาจยินดีที่จะรับคนอีก 1 ล้านคนกลับมา ซึ่งยังคงมีความขัดกันในเชิงทัศนะอยู่ มันไม่ได้คิดไปทางเดียว และไม่ได้สวยงามเสมอไป 

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่ค้นพบคือ ผู้หญิงที่ยังไม่มีปากมีเสียงเท่าไหร่ มีการกีดกันในกลุ่มผู้หญิงด้วย และในกลุ่มนักกิจกรรมเองก็มักจะทำงานกับชาวบ้านที่นับถือศาสนาเดียวกับตนเองไม่ปะปนกัน ยังไม่ได้ทำงานข้ามกลุ่มกันเท่าไหร่ ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาในเรื่องนี้

สันติภาพระดับบนก็ต้องสร้าง

ข้อค้นพบนี้จะนำไปสู่แนวคิด Everyday Peace หรือสันติภาพในชีวิตประจำวัน คือปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนา ต่างชาติพันธุ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพวกเขาพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงทางตรง แล้วสร้างความสมานฉันท์ขึ้นมาในระดับเล็กๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขา (Micro Solidarity)

แต่ทว่า ความสำคัญของกระบวนการสันติภาพในระดับชนชั้นนำก็จำเป็นต้องสร้างขึ้นมาด้วยเช่นกัน เพราะแม้เราจะเห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ในระดับล่างมากแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างได้ เช่น สิทธิของการเป็นพลเมืองของคนโรฮิงญา (เพราะพม่าไม่ยอมรับเป็นพลเมือง)

ปัญหานี้จำเป็นต้องใช้กลไกในเชิงสถาบันที่มีธรรมาภิบาล คือต้องให้ระดับรัฐบาลมาแก้ไขปัญหา 

ยังไม่มีกลุ่มไหนอยากพูดเรื่องเอาผู้ลี้ภัยกลับมา

ปัญหาที่พบคือ ยังมีประเด็นเรื่องการเอาคนที่หนีไปเป็นผู้ลี้ภัยในบังคลาเทศในช่วงฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ก็ไม่มีกลุ่มไหนที่อยากจะพูดถึงว่าจะจัดการอย่างไร จะเอาคนเหล่านี้กลับมาหรือไม่

นักวิจัยได้ตอบคำถามเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า การจะดูถึงความประสงค์ของกองทัพอาระกัน ก็ดูว่าพวกเขามีท่าทีอย่างไรต่อการรับผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลับมาจากบังคลาเทศ ซึ่งที่ผ่านมากองทัพอาระกันยังไม่พูดเรื่องนี้ในที่สาธารณะ ยังไม่แสดงถึงจุดยืนว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อการรับเอาผู้ลี้ภัยกลับมา

ตอนนี้มีคนโรฮิงญาเหลืออยู่ในรัฐยะไข่ประมาณ 600,000 คน หากเอาคนที่ผู้ลี้ภัยกลับมาทั้งหมด คนโรฮิงญาก็จะกลายเป็น 1,600,000 คน ซึ่งการที่จะพูดว่าเรายินดีที่จะอยู่กับคน 600,000 คนอาจจะง่ายกว่าการที่จะอยู่ร่วมกับคน 1,600,000 คนที่เป็นคนต่างศาสนาและวัฒนธรรม

สิทธิในการกำหนดชะกรรมตนเองที่กองทัพอาระกันต้องรวมทุกกลุ่ม

นักวิจัยได้ทิ้งท้ายการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสิทธิในการกำหนดเจตจำนงหรือชะกรรมตนเอง หรือ RSD (Right to Self-determination)ว่า หลักการนี้เกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชนแบบส่วนรวม ปรากฏอยู่ในกฎบัตรของสหประชาชาติ คำถามสำคัญคือ ใครหรือกลุ่มใดที่สามารถที่จะมีสิทธิ์นี้ได้

สหประชาชาติ พูดถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสิ้นสุดของยุคอาณานิคม ที่มีหลายๆประเทศเรียกร้องสิทธิที่จะได้เอกราช ในช่วงนั้นมีการร่างเส้นเขตแดนเกิดรัฐใหม่ขึ้นมา แต่มีทั้งคนส่วนใหญ่และสร้างคนกลุ่มน้อยในประเทศขึ้นมาด้วย ตัวอย่างประเทศซูดานหลังได้รับเอกราชแล้ว ปรากฏว่ากลุ่มที่เป็นคนส่วนใหญ่ก็ไปกดขี่คนที่เป็นคนกลุ่มน้อยในประเทศ

สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองปรากฏได้ในหลายรูปแบบไม่ใช่รูปแบบเอกราชเท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบการยอมรับสิทธิของคนกลุ่มน้อยในประเทศ และรูปแบบการปกครองตนเอง

“ในกรณีของกองทัพของอาระกัน ซึ่งใช้เรื่องสิทธิมนุษยชนในการสร้างความชอบธรรมให้กับการต่อสู้ของตนเอง กองทัพอาระกันก็จำเป็นต้องเคารพสิทธิมนุษยชนของกลุ่มอื่น ๆ ด้วย

“กองทัพของอาระกัน จะต้องยืนหยัดในเรื่องหลักของความครอบคลุม โดยรวมทุกกลุ่มเข้ามาด้วย จะไม่มีกลุ่มใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือไม่มีกลุ่มที่เป็นศัตรูอยู่ภายในพื้นที่ที่กองทัพอาระกันต้องการที่จะปลดปล่อยแล้วปกครอง”

คลิกอ่านเนื้อหาบรรยายทั้งหมดได้ที่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net