Skip to main content
sharethis

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เมื่อสามปีที่แล้ว กองทัพพม่าทำการรัฐประหารหักเลี้ยวการพัฒนาบนลู่ทางประชาธิปไตยให้หวนสู่วังวนการปฏิวัติ และสงครามในประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ตามแรงสั่นสะเทือนทางการเมือง สาวโรงงานชาวพม่าจากย่านอุตสาหกรรมในย่างกุ้ง และกรุงเทพฯ เล่าประสบการณ์เส้นทางชีวิต…กัดฟันสู้อยู่ในบ้านเกิดหรือขายแรงงานข้ามประเทศ

พนักงานโรงงานระหว่างทางกลับบ้านหลังเลิกงานตอนเย็นที่เขตอุตสาหกรรมชเวปยีทา เมืองย่างกุ้ง (มกราคม 2567)

ชีวิตโรงงานในย่างกุ้ง

มินซู (นามสมมติ) ในวัย 24 ปี เธอเชื่อว่าตัวเองเป็นคนทำงานหนักคนหนึ่ง แต่ถึงขยันแค่ไหน ก็ไม่ถึงขั้นรับได้กับการนอนค้างโรงงานสัปดาห์ละ 3 คืน เพื่อทำโอที (ทำงานล่วงเวลา) ทว่าวันนี้ เธอไม่มีสิทธิเลือกได้ว่าอยากทำงานล่วงเวลาหรือเปล่า

1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพพม่าทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจและประกาศคว่ำบาตรผลการเลือกตั้งทั่วไป หลังจากจุดเปลี่ยนทางการเมืองนั้น สภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมก็เลวร้ายลงตามกัน การละเมิดสิทธิแรงงานต่างๆ ตามกฎหมายแรงงานไม่อาจเรียกร้องความรับผิดชอบได้ง่ายเหมือนเคย ที่เขต 'ชเวปยีทา' ย่านอุตสาหกรรมในเมืองย่างกุ้ง พนักงานโรงงานถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ไม่งั้นจะถูกหักค่าจ้าง 

ป้ายบอกพื้นที่เขตอุตสาหกรรมชเวปยีทา หนึ่งใน 3 เขตอุตสาหกรรมรอบเมืองย่างกุ้ง (มกราคม 2567)

"พอเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ โรงงานก็หยุดบังคับทำโอที แต่พอเจ้าหน้าที่กลับไป อะไรแบบนี้ก็กลับมาอีก" มินซู ย้อนความหลังด้วยเสียงดังเจืออารมณ์

ไม่กี่เดือนถัดมาหลังรัฐประหาร มีนาคม 2564 กองทัพพม่าประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ไม่ให้ประชาชนอยู่นอกเคหะสถานตั้งแต่เวลาสองทุ่มถึงตีสี่ หลายเดือนผ่านไป เคอร์ฟิวปรับเหลือเป็นเฉพาะบางพื้นที่ ที่เมืองย่างกุ้ง ซึ่งมินซูอาศัยอยู่นั้นท้องถนนเงียบกริบระหว่างเวลาตีหนึ่งถึงตี่สี่

มินซู ทำโอทีเสร็จประมาณห้าทุ่มครึ่ง หรือบางกะก็ลากยาวไปถึงตีสาม เธอไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนอนค้างที่โรงงาน หวาดกลัวที่จะเดินทางกลับบ้านช่วงดึกเพราะอาจเจอโจรหรือทหารลาดตระเวน

พนักงานโรงงานในชเวปยีทา เตรียมชุดทำงานสองชุดและปิ่นโตเพื่อค้างคืนที่โรงงานระหว่างทำโอทีต่อเนื่องสองวัน (มกราคม 2567)

โรงงานทอผ้าที่หญิงสาวทำงานอยู่ไม่ได้จัดรถรับส่งพนักงานหรือพื้นที่ให้พักค้างคืน เธอเลยฟุบหลับที่โต๊ะเย็บผ้า หรือนอนบนพื้นปูนซีเมนต์เย็นเยียบ กะเช้าเริ่มต้นอีกครั้งเวลาเจ็ดโมงครึ่ง 

"เช้าวันต่อมา ปวดทรมาณทั้งตัวเลย" มินซู กล่าวว่า เพื่อนร่วมงานเธอหลายคนป่วยจากการนอนค้างคืนที่โรงงาน ในโรงงานมีคนงานชาย บางทีพวกเธอก็กังวลว่าจะเกิดอะไรไม่ดีขึ้นตอนออกจากห้องโถงหลักที่นอนร่วมกันไปอาบน้ำ แถมยังต้องทนรำคาญเรื่องยุงกัด ซึ่งโรงงานห้ามไม่ให้กางมุ้ง

"Solidarity of Trade Union Myanmar" (STUM) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในเมียนมา เปิดเผยในรายงานประจำปี 2566 เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานว่า ปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงานกลายเป็นปัญหาละเมิดสิทธิแรงงานที่น่ากังวลมากที่สุดในปัจจุบัน คนงานหญิงต้องเผชิญกับการคุกคามทางเพศ และความกดดันในโรงงาน ซึ่งส่วนมากทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ

โรงงานทอผ้าในเมียนมาจำนวนมากผลิตสินค้าส่งให้แบรนด์เสื้อผ้าต่างประเทศ ถึงแม้ว่าหลายแบรนด์จะประกาศยกเลิกการผลิตและทำธุรกิจในเมียนมา เนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมแรงงานพม่าหลายคน มองว่า การถอนการลงทุนดังกล่าวไม่ได้ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองมากเพียงพอและแบรนด์เสื้อผ้าอาจจะกลับมาผลิตในประเทศอีกครั้งเพราะค่าแรงถูก

"ถึงแม้ว่านักลงทุนจะลำบากเรื่องไฟฟ้าไม่เสถียรและระบบขนส่งที่ไม่แน่นอน แต่ค่าแรงในเมียนมาถือว่าถูกมาก" ติ่นทุน นักสิทธิแรงงานชาวเมียนมา กล่าว

โรงงานแห่งหนึ่งในเขตอุตสาหกรรมชเวปยีทา หลังจากการรัฐประหารในเมียนมาตอนต้นปี 2564 โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องรับมือกับการตัดไฟและระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่แน่นอนเหมือนเดิม (มกราคม 2567)

มินซู ได้รับค่าจ้างตามเกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำคือ 5,800 จ๊าต (97 บาท) ต่อวัน ถึงแม้ว่าค่าแรงขั้นต่ำจะขึ้นจาก 4,600 จ๊าต (77 บาท) ตอนเดือนตุลาคม 2566 มูลค่าของเงินจำนวนนี้กลับน้อยลงกว่าครึ่ง การรัฐประหารทำให้นักลงทุนต่างประเทศขายทรัพย์สินและถอนทุนจากเมียนมาจำนวนมาก จนกระแสเงินทุนไหลออกนอกประเทศ สกุลเงินจ๊าตอ่อน ขณะที่ค่าครองชีพในประเทศพุ่งสูงลิ่ว ข้าวหนึ่งมื้อสำหรับหนึ่งคนและผ้าอนามัยหนึ่งแพ็กวันนี้ราคา 1,500 จ๊าต (25 บาท) 

เพื่อนหลายคนของมินซู ตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ แต่การจะไป "ขายแรงงาน" ต่างแดนนั้นมีหลายขั้นตอนและต้องใช้เงินก้อน…ต้นทุนที่มินซู ไม่มี

กลายเป็น 'แรงงานต่างด้าว'

ห่างออกไป 880 กิโลเมตร จากนครย่างกุ้ง สาวชาวเมียนมาวัย 24 อีกรายเลือกเส้นทางชีวิตอีกเส้นทางหนึ่ง 'คายเล่' จากบ้านเกิดที่เมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง มาหางานทำในประเทศไทย กลายเป็นแรงงานข้ามชาติ (ตามกฎหมายแรงงานไทยเรียกแรงงานต่างด้าว) เพื่อ "อนาคตที่ดีขึ้น" เหมือนกับคนพม่าอีกจำนวนมาก

คายเล่ ทำงานในโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ย่านอุตสาหกรรมทางตะวันออกของกรุงเทพฯ คายเล่ได้ค่าจ้างวันละ 395 บาท (23,431 จ๊าต) นับว่ามากกว่าค่าแรงขั้นต่ำในพม่าราว 4 เท่า เธอคิดว่าค่าแรงในไทยสมเหตุสมผลกับค่ากินอยู่ ค่าข้าวหนึ่งมื้อตกประมาณ 40 บาท (2,372 จ๊าต) และผ้าอนามัยแพกหนึ่งราคา 20 บาท (1,186 จ๊าต)

คนงานสาวจากเมียนมาเตรียมแผงขายขนมในตลาดที่อำเภอมหาชัย จ.สมุทรปราการ ประเทศไทย ปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำในไทยสูงกว่าในพม่าราว 3 เท่า (ตุลาคม 2566)

แต่ชีวิตในฐานะแรงงานต่างแดนไม่ใช่เรื่องง่าย 

พฤษภาคม 2566 คายเล่กับเพื่อนร่วมงานอีก 11 รายถูกเลิกจ้าง โรงงานทอผ้าให้เหตุผลว่า ใบอนุญาตทำงานและพาสปอร์ตของพวกเธอหมดอายุ จึงไม่อาจจ้างงานต่อได้

เอกสารของพวกเธอบางคนหมดอายุจริง ขณะที่ของบางคนยังไม่ อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างเรื่องเอกสารนั้นไม่มีน้ำหนักมากพอจะเลิกจ้าง แรงงานข้ามชาติสามารถเดินทางกลับประเทศเมียนมาเพื่อต่ออายุเอกสารหรือลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่อนผันที่คณะรัฐมนตรีไทยพิจารณาออกเป็นช่วงๆ สำหรับแรงงานข้ามชาติแล้ว เอกสารและสถานะทางกฎหมายเป็นเรื่องที่รบกวนจิตใจมากที่สุด ยังไม่นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโต 

ใบหน้าของ 'คายเล่' เธอเดินทางจากพม่ามาทำงานในไทยหลังจบชั้นมัธยมต้น ปี 2566 และถูกโรงงานทอผ้าในสมุทรปราการเลิกจ้าง โดยให้เหตุผลว่าเอกสารการทำงานของเธอหมดอายุและธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงขาลง ทำให้มียอดสั่งผลิตต่ำ (ตุลาคม 2566)

หลังจากกรมสวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานเข้าตรวจสอบกรณีดังกล่าว โรงงานทอผ้าจึงจ่ายค่าชดเชยให้กับคายเล่ และคนอื่นๆ สาเหตุที่เลิกจ้างพวกเธอนั้นไม่มีคำตอบชัดเจน ทว่าเหตุผลหนึ่งที่โรงงานอธิบายและคายเล่ สังเกตคืออุตสาหกรรมทอผ้าในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง ยอดสั่งผลิตน้อยลง สอดคล้องกับบทวิเคราะห์โดยสถาบันวิเคราะห์อุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งระบุว่า ธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยต้องแข่งขันกับค่าแรงในภูมิภาคที่ถูกกว่า 

พนักงานส่วนมากในโรงงานสิ่งทอมักเป็นผู้หญิง เนื่องจากไม่ได้ใช้แรงงานหนักและใช้วุฒิการศึกษาสูง ช่วงปีที่ผ่านมา โรงงานทอผ้าหลายแห่งในไทยปิดตัวลง ทำให้คนงานหญิงทั้งสัญชาติไทยและต่างประเทศตกงาน

คายเล่ ใช้เวลา 5 เดือนหางานใหม่ ไม่มีรายได้เท่ากับว่าต้องกินเงินเก็บ เธอสังเกตว่าพักหลังมานี้ บรรยากาศหางานดูแข่งขันกันมากขึ้น อาจเป็นเพราะมีคนพม่าหลั่งไหลเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น 

ถึงแม้ว่าจะมาไทยก่อนการรัฐประหารที่พม่าครั้งล่าสุด แต่เธอก็ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่น้อย ปลายปี 2566 สถานทูตพม่าในประเทศไทย ประกาศว่าจะต่ออายุพาสสปอร์ตให้เฉพาะคนทำงานที่จ่ายภาษีเงินได้อัตรา 2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ต่อเดือนให้กับทางการพม่า ผลจากนโยบายที่เริ่มบังคับใช้เมื่อปี 2566 ในประเทศที่แรงงานชาวพม่าไปทำงานเป็นจำนวนมาก เช่น ไทย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

เอกสารรับรองสถานะบุคคล (ซีไอ) ซึ่งกระทรวงแรงงานไทยออกให้แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเพื่อใช้แทนพาสปอร์ต ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติไร้เอกสารจำนวนมากในไทย (พฤศจิกายน 2566)

สำหรับคายเล่ หญิงสาวมีหลายเหตุผลเบื้องหลังการตัดสินใจมาทำงานต่างแดน ทั้งจากปัจจัยเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่บ้าน เธอไม่พร้อมกลับไปเผชิญค่าครองชีพสูงลิ่ว แถมยังชอบรสอิสระของการใช้ชีวิตห่างจากผู้ใหญ่ที่บ้าน แต่อีกข้างหนึ่งของใจ เธอคิดถึงลูกวัยขวบที่ตอนนี้พ่อแม่สามีช่วยเลี้ยงอยู่ที่พม่า

"ปู่ผิดหวังมากตอนที่ฉันออกจากบ้านตอนสิบห้า โทษว่าเป็นเพราะครูที่โรงเรียนใส่ความคิด แต่จริงๆ แล้วฉันตัดสินใจมานี้ด้วยตัวเอง" คายเล่ กล่าว และระบุว่า "ยังไงก็ตาม ก็อยากกลับไปอยู่พม่าสักวัน อยากให้ลูกเรียนในการศึกษาพม่า" 

'มาวินวิน' อุ้มลูกวัย 5 เดือน หญิงสาวอายุ 26 ปี มาจากเมืองผาอัน รัฐกะเหรี่ยง เธออาศัยอยู่ในห้องพักขนาดเล็กในอำเภอมหาชัย มาวินวิน ตั้งใจจะกลับไปทำงานแม่บ้านให้ครอบครัวพม่าหลังจากหาคนช่วยเลี้ยงลูกได้ สามีเธอทำงานในแคมป์ก่อสร้างและรายได้จากสามีคนเดียวไม่พอเลี้ยงครอบครัวและส่งเงินกลับไปยังครอบครัวที่พม่า (ตุลาคม 2566)

บรรยากาศการเมืองที่ไม่เอื้อ

สถานการณ์การเมืองในพม่าวันนี้ไม่เอื้อให้พนักงานโรงงานลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิตนเอง หลังรัฐประหารครั้งล่าสุด การประท้วงหรือออกมาเรียกร้องใดๆ จนถึงการทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานเป็นความเสี่ยง ตกเป็นเป้าจับกุมของรัฐบาลทหาร

ที่ย่างกุ้ง มินซู และเพื่อนร่วมงานถูกละเมิดสิทธิในโรงงานหลายรูปแบบ "บางครั้งผู้จัดการก็ตีหลังหรือมือพนักงาน บางทีก็หัว แต่พยายามไม่ทิ้งแผลให้เป็นหลักฐาน" 

โรงงานทอผ้าบริษัทอื่นๆ ก็เจอเรื่องราวคล้ายกัน 'ซานเนว่' ถูกนายจ้างบังคับให้เซ็นจดหมายลาออกเมื่อธันวาคม 2566 หลังจากทักท้วงผู้จัดการประจำสายพานการผลิตที่พูดไม่ดีกับเพื่อนพนักงาน ถึงแม้ว่าเธอจะได้รับการบรรจุกลับในตำแหน่งเดิมหลังจากที่นักสิทธิแรงงานนำเรื่องไปไกล่เกลี่ยที่สำนักงานคุ้มครองแรงงาน แต่ทว่าทางโรงงานไม่ได้ลงโทษผู้จัดการคนดังกล่าวหรือมีแนวทางช่วยคุ้มครองพนักงานมากกว่าเดิม

ที่ไทย การทักท้วงเรื่องปัญหาละเมิดสิทธิในโรงงานทำได้ง่ายมากกว่า ถึงแม้ว่าวันนี้กฎหมายไทยจะไม่เปิดให้แรงงานข้ามชาติจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนเอง แต่แรงงานสามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่นำโดยคนไทย คายเล่ได้เงินชดเชย 71,100 บาท (4,181,859 จ๊าต) จากโรงงานทอผ้าที่เลิกจ้างเธอ นอกจากนั้นแล้ว ยังได้เงินอีกก้อนจากกองทุนประกันสังคมเพื่อช่วยเหลือช่วงว่างงาน

ช่วงเย็น พนักงานโรงงานในมหาชัยกำลังกลับแฟลตใกล้เขตอุตสาหกรรม (ตุลาคม 2566)
 

องค์กรฟรีดอมฟันด์ (Freedom Fund) ประเมินสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของประเทศต่างๆ โดยในปี 2566 เมียนมาได้รับคะแนน 9 จาก 100 คะแนน ขณะที่ประเทศไทยได้รับ 30 คะแนน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีคะแนนสูงกว่า แต่ยังนับว่าทั้งสองประเทศเข้าข่าย "ไม่มีเสรีภาพ" 

ด้านนักสิทธิแรงงานมองว่า คนเมียนมาต่างหวังอยากทำงานอยู่ในประเทศถ้าเศรษฐกิจดีกว่านี้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันทำให้ทางเลือกมีไม่มาก

"หลายคนไม่สามารถจ่ายค่าต่างๆ เพื่อเป็นแรงงานข้ามชาติในประเทศที่ดีกว่านี้ได้" เมียวเอ สมาชิกสหภาพแรงงานแห่งหนึ่งกล่าว "คนที่อยู่ในเมียนมายังคงอยู่ด้วยความหวังว่าค่าจ้างจะเพิ่มและสถานการณ์ต่างๆ จะดีขึ้น" 

ครอบครัวชาวมอญเตรียมของถวายพระในงานออกพรรษา ณ วัดทองธรรมิการาม จ.สมุทรปราการ (ตุลาคม 2566)

ข่าวชิ้นนี้ได้รับการสนับสนุนจากโครงการการทำสื่อและงานภาพในประเด็นการทหาร สันติภาพและสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงโดย APWLD

หมายเหตุ อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2567

เมื่อ 3 ก.พ. 2567 เวลา 10.25 น. มีการแก้ไขเนื้อหา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net