Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้เศรษฐกิจยังไม่มีวิกฤต ฟื้นตัวต่อเนื่องในรูปตัว K บางกลุ่มจึงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจเหมือนมีวิกฤต แต่เศรษฐกิจไทยค่อย ๆ ซึมลงได้จากความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การกระตุ้นด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการเงินการคลังจำเป็น พร้อมเดินหน้าการลงทุนสร้างนวัตกรรม 

21 ม.ค. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจยังไม่มีวิกฤต เศรษฐกิจโดยภาพรวมฟื้นตัวต่อเนื่องในรูปตัว K บางกลุ่มจึงประสบความยากลำบากทางเศรษฐกิจเหมือนมีวิกฤต กลุ่มแรงงานอิสระนอกระบบที่เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคมและมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มนี้ต้องอาศัยมาตรการมุ่งเป้าระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาทางการเงินของครัวเรือนเหล่านี้ไม่ให้ถูกผลักให้เข้าสู่ กับดักแห่งการเป็นหนี้นอกระบบ 

ยังไม่เห็นวิกฤตเศรษฐกิจฉับพลันรุนแรงในอนาคตอันใกล้ และยังมีความเสี่ยงต่ำมากที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Economic Recession) คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่องสองไตรมาส ขณะนี้ มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำมากยกเว้นเกิดแรงกระทบอย่างรุนแรงจากภายนอกโดยเฉพาะจากปัญหาสงครามในตะวันออกกลาง ส่วนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจเหมือนปี พ.ศ. 2563 หรือ ปี พ.ศ. 2540-41 นั้นยังไม่เห็นสัญญาณใดๆในขณะนี้ หากมีวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจต้องติดลบและหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลัน มีการล้มละลายของธุรกิจอุตสาหกรรม ปิดโรงงาน สถาบันการเงินล้มและมีคนตกงานจำนวนมาก ซึ่งตอนนี้เศรษฐกิจไม่ได้เป็นแบบนั้น แล้วในอนาคตอันใกล้ยังไม่มีปัจจัยใดๆบ่งชี้จะเป็นเช่นนั้น ภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศฟื้นตัวแรง คาดการลงทุนจากต่างประเทศปี พ.ศ. 2567 ขยายตัวเพิ่มขึ้นชัดเจน ส่งออกขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่อง อัตราการขยายของเศรษฐกิจโลกในปี พ.ศ. 2567 ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะสี่ปีข้างหน้าจะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอัตราการขยายทางเศรษฐกิจก่อนยุควิกฤตการณ์เศรษฐกิจโควิด พ.ศ. 2563 เศรษฐกิจโลกได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการขยายวงของความขัดแย้งทางการทหารในตะวันออกกลาง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์สร้างความไม่แน่นอนต่อปัญหาสงครามทางการค้า การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทั้งสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซียและหลายประเทศในตะวันออกกลางจะใช้นโยบายกีดกันการค้า (Trade Protectionism) มากขึ้น อาจเกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานการผลิต (Supply Chain Disruption) ในบางอุตสาหกรรมและสินค้าบางประเภท ประเทศสำคัญๆทางเศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันทางการคลัง รายจ่ายสวัสดิการดูแลผู้สูงวัย หลายประเทศได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนและความแปรปรวนของภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน ผลของดำเนินนโยบายเข้มงวดทางการเงินช่วงที่ผ่านมาสามารถควบคุมแรงกดดันเงินเฟ้อได้ดี โดยมีผลข้างเคียงทำให้เศรษฐกิจชะลอลง 

ทุกสังคม ทุกระบบเศรษฐกิจย่อมเผชิญการเปลี่ยนแปลงหรือพลวัตความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจตลอดเวลา ทุกประเทศล้วนต้องการความมีเสถียรภาพทาวเศรษฐกิจ มีการเติบโตยั่งยืน ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจนั้นล้วนเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงขึ้นๆลงๆตลอดเวลา แต่คุณภาพชีวิตของประชาชนต้องมีหลักประกันไม่ถูกเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาจากความผันผวนขึ้นๆลงๆของภาวะเศรษฐกิจมากเกินไป รัฐบาลที่ดีจึงต้องสร้างหลักประกันให้ประชาชนผ่านระบบประกันสังคมและเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) การให้เป็นเบี้ยยังชีพเป็นครั้งคราว การแจกเงิน จะไม่ได้สร้างระบบเหล่านี้ขึ้น ต้องทำแบบระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคหรือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ ระบบประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จึงเป็น เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ไว้รองรับเวลาเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ การวิเคราะห์เศรษฐกิจ การกำหนดนโยบายสาธารณะและนโยบายของภาคธุรกิจ การวางแผนการผลิต การลงทุนต่างๆ จำเป็นต้อง มีความเข้าใจ วัฏจักรธุรกิจ (Business Cycle) หรือ วงจรเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึง ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาใดระยะหนึ่ง ปรากฎการณ์นี้เป็นเรื่องปรกติในระบบทุนนิยม เศรษฐกิจนั้นมันมีวงจรของมันอยู่ Business Cycle หรือ วัฏจักรธุรกิจ ในวัฎจักรหนึ่งๆอาจกินเวลาตั้งแต่ 1 ปีจนถึง 20 ปี โดยวัฎจักรธุรกิจหรือวงจรเศรษฐกิจสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ช่วงระยะเวลา คือ (1) ระยะเศรษฐกิจรุ่งเรืองหรือเฟื่องฟู (Economic Expansion) การลงทุน การผลิต การจ้างงานขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนเข้าสู่ ระยะสูงสุด (Peak) ในระยะนี้จะมีขยายตัวและเติบโตต่อเนื่อง โดยผลผลิตของประเทศได้ขยายตัวขึ้นสูงสุด ทำให้การว่างงานจะมีจำนวนน้อยมากหรือไม่มีเลย อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นตามอุปสงค์มวลรวม ระบบเศรษฐกิจจะมีภาวะการจ้างงานเต็มที่ (Full Employment) อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ปัญหาเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นได้โดยง่ายเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์มวลรวม (2) ระยะเศรษฐกิจถดถอยหรือช่วงหดตัว (Economic Recession or Economic Contraction) เป็นระยะที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวหลังจากที่เศรษฐกิจเข้าสู่จุดสูงสุด โดยผลผลิต การลงทุน การจ้างงานของประเทศจะเริ่มลดลงเรื่อยๆ ระยะนี้การว่างงานจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นขึ้นอยู่กับการตกต่ำของเศรษฐกิจนั้นๆว่าก่อให้เกิดปัญหามากน้อยเพียงใด อัตราเงินเฟ้อลดลงจนถึงขั้นติดลบจากอุปสงค์มวลรวมปรับลดลงหรือหดตัว (3) ระยะเศรษฐกิจฟื้นตัว (Economic Recovery) ระยะฟื้นตัวหรือเริ่มขยายตัวเป็นระยะที่ต่อเนื่องจากระยะต่ำสุด เป็นระยะที่ผลผลิตของประเทศเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การว่างงานที่สืบเนื่องมาจากวัฏจักรธุรกิจลดน้อยลงตามลำดับ กิจกรรมการผลิต การลงทุนเริ่มขยายตัวเป็นบวกเพิ่มมากขึ้น (4) ระยะถดถอยจนเข้าสู่ระยะต่ำสุด (Trough) เป็นระยะต่อเนื่องจากระยะถดถอยโดยผลผลิตของประเทศจะลดลงจนต่ำที่สุด ระยะนี้จะพบการว่างงานเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากและมากที่สุดเมื่อเทียบกับระยะอื่นๆ เศรษฐกิจ การผลิต การจ้างงาน การลงทุนทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุด ในระยะนี้ เศรษฐกิจอาจเจอภาวะวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ (Economic Crisis) ได้หากเจอกับปัจจัยลบกระทบรุนแรง

ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ใช้อธิบายภาวะเศรษฐกิจแบ่งออกเป็นสองทฤษฎีหลัก คือ ทฤษฎีคลาสสิกและทฤษฎีของเคนส์ ความแตกต่างที่สำคัญของทั้งสองสำนักคิด คือ สมมติฐานพฤติกรรมของราคา สำนักคิดคลาสสิกตั้งสมมติฐานว่า ราคาสามารถปรับตัวได้โดยสมบูรณ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สำนักคิดเคนส์เชื่อว่าในระยะสั้นราคาปรับตัวได้ยากหรือช้ามากโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน ทฤษฎีของสำนักคลาสสิกเน้นการอธิบายระบบเศรษฐกิจโดยใช้อุปทานหรือความสามารถในการผลิต ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะอธิบายเศรษฐกิจได้ดีในระยะยาว ขณะที่ทฤษฎีของเคนส์ใช้อุปสงค์ซึ่งรวมไปถึงนโยบายด้านการเงินและการคลังอธิบายเศรษฐกิจทำให้สามารถอธิบายและเข้าใจกลไกการแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะสั้นได้ดีกว่า เพื่ออธิบายความผันผวนของตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาค แบบจำลองวัฏจักรธุรกิจแท้จริงได้ปรับปรุงแบบจำลองการเติบโตของสำนักคลาสสิกโดยมีตัวรบกวนทางเทคโนโลยีเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ประชากรในแบบจำลองตัดสินใจอย่างมีเหตุผลในการเลือกระดับการบริโภคที่เหมาะสมและตัดสินใจในการให้อุปทานแรงงานเพื่อตอบสนองต่อพลวัตทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แบบจำลองมองว่าตัวแปรทางเศรษฐศาสตร์มหภาคเป็นผลมาจากการตัดสินใจของผู้บริโภคซึ่งต้องการได้อรรถประโยชน์สูงสุดโดยมีเงื่อนไข คือ ความเป็นไปได้ในการผลิตและข้อจำกัดของทรัพยากรในเศรษฐกิจ ผู้บริโภคมีทุนและให้เช่าทุนแก่บริษัท โดยบริษัทซื้อทุนและแรงงานจากผู้บริโภค และบริษัทใช้ทุนผลิตสินค้า ซึ่งจะถูกนำไปบริโภคหรือลงทุน ความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจมาจากตัวรบกวนสุ่ม (Stochastic Shock) ต่อเทคโนโลยีการผลิตของเศรษฐกิจ แบบจำลองวัฏจักรธุรกิจแท้จริงดังกล่าวสามารถหาผลลัพธ์ได้โดยใช้สองวิธีที่แตกต่างกัน คือ วิธีดุลยภาพการแข่งขัน (Competitive Equilibrium Approach) และ วิธีปัญหาของผู้วางแผนสังคม (Social Planner Problem Approach) 

การเกิดวัฏจักรธุรกิจเป็นธรรมชาติของระบบเศรษฐกิจ มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการบริโภคสินค้าและบริการ มีการเปลี่ยนแปลงในการลงทุน มีการค้นพบสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีใหม่ มีการการขยายตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการผลิตและการจ้างงาน เศรษฐกิจไตรมาสแรกปีนี้ได้รับแรงส่งจากการบริโภคภาคเอกชนจากมาตรการลดค่าครองชีพและโครงการ Easy e-receipt กระตุ้นการใช้จ่าย เงินอาจหมุนเวียนเฉพาะในบริษัทที่สามารถออก e-Tax Invoice ได้ การลงทุนภาครัฐเริ่มขยับจากงบประมาณปี 2567 ผ่านรัฐสภาและต้องเร่งใช้จ่าย แต่ในระยะยยาวและระยะปานกลาง เศรษฐกิจไทยจะค่อยๆซึมลงได้จากความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน เติบโตไม่เต็มศักยภาพ การกระตุ้นด้วยมาตรการผ่อนคลายทางการเงินการคลังมีจำเป็นต่อการรักษาระดับการขยายตัวไม่ให้ลดต่ำลงมาก ส่วนการเติบโตในระยะยาวต้องเกิดจากการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้สูงขึ้น สร้างนวัตกรรมจากการวิจัยเพื่อต่อยอดและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ เราสามารถสำรวจบทเรียนจากวิกฤตในอดีตเพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศไทยเผชิญภาวะเศรษฐกิจแบบ “กบต้ม” ได้ ความสอดประสานของนโยบายการเงินการคลังมีความสำคัญ 

บทเรียนวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 บอกเราว่า ปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในช่วงปี พ.ศ. 2539-2540 มีความสัมพันธ์อย่างมากกับความผิดผลาดในการดำเนินนโยบายทางด้านเศรษฐกิจมหภาค นอกเหนือจากนโยบายการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนและนโยบายการการกำกับดูแลสถาบันการเงินแล้ว ยังเกี่ยวพันกับโครงสร้างระบบการเงินและโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ความมีเสถียรภาพของระบบการเมืองและความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีภาวะฟองสบู่เงินเฟ้อสูง แต่มีภาวะอัตราเงินเฟ้อติดลบ อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพมาก ภาวะฟองสบู่ก่อนเกิดวิกฤตปี 40 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าประเทศจำนวนมาก (ส่วนหนึ่งเป็นการก่อหนี้ระยะสั้นเพื่อเก็งกำไร) หลังการเปิดเสรีทางการเงินผ่านกิจการวิเทศธนกิจ มีผลให้ปริมาณเงินและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้น มีการลงทุนและการบริโภคเกินตัวจนเป็นผลให้เกิดปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง สูงกว่าร้อยละ 7-8 ของจีดีพี ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ขณะนี้เศรษฐกิจไทยไม่ได้มีสถานการณ์เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยสูงในขณะนั้นไม่สามารถชะลอความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ กลับยิ่งทำให้กระแสเงินเก็งกำไรไหลเข้ามากขึ้นจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศกับอัตราดอกเบี้ยต่างประเทศ ทำให้เกิดภาวะฟองสบู่และอัตราเงินเฟ้อสูงในระบบเศรษฐกิจ 

ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าการเดินหน้าของรัฐบาลเศรษฐาในการชักชวนบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนในไทยและผลักดันโครงการขนาดใหญ่จะช่วยทำให้ไทยบรรลุเป้าหมาย “หลุดพ้นประเทศรายได้ระดับปานกลาง สู่ ประเทศรายได้สูง” ได้ และ รัฐบาลควรตั้งเป้าหมายให้เกิดขึ้นภายในปี พ.ศ. 2575 หรือในอีก 9 ปีนับจากนี้ การจะทำให้ “ไทย” ก้าวสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วในอนาคต เป็นเป้าหมายที่ท้าทาย พื้นฐานสุดที่จะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยมี “คนไทย” เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เปล่าประโยชน์ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว แล้วคนไทยไม่มีความสันติสุข ไม่มีคุณภาพชีวิต มีงานวิชาการและงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์มากมายศึกษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของประเทศต่างๆในโลกเพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อการยกระดับประเทศ สู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้วและประเทศรายได้สูง และได้ข้อสรุปสอดคล้องกันว่า ปัจจัยเรื่อง “นวัตกรรม ของประเทศ” เป็นสิ่งสำคัญต่อการก้าวข้ามพ้นกับดักของประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง เป็น Breakthrough Growth with country innovation ต้องมีสัดส่วนการลงทุนต่อจีดีพีสูง โดยเฉพาะต้องลงทุนในการศึกษาและวิจัยยกระดับผลิตภาพของทุนและแรงงาน นวัตกรรมของประเทศ จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 

ขณะที่เราไม่สามารถเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ภายใต้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมที่สูงยิ่ง การปฏิรูปให้เกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายความมั่งคั่งจึงมีความสำคัญเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ ควรมุ่งมั่นสู่การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเต็มรูปแบบ (Full Economic Liberalization) จะทำให้ระดับการเปิดประเทศของไทยปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เดินหน้าเปิดกว้างทางสังคมให้ค่านิยม วิถีชีวิตและวัฒนธรรมประชาธิปไตยหยั่งรากลึกในสังคมไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยเสริมให้การขยายตัวของตัวแปรด้านเศรษฐกิจมหภาคของไทย (Macroeconomic Variables) จะมีค่าเป็นบวก และตัวแปรทางด้านสวัสดิการสังคมโดยรวม ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นตามลำดับ ยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศที่ไม่สมดุล (Unbalanced Development) ของไทยในช่วงสี่ห้าทศวรรษที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดทวิลักษณะของสังคม ความเหลื่อมล้ำของเมืองขนาดใหญ่และชนบทอย่างชัดเจน การเน้นส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศทำให้เกิดการกระจุกตัวของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในกลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เศรษฐกิจฐานรากและบรรดาธุรกิจขนาดเล็กขนาดกลางขนาดย่อมไม่ได้รับผลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก ไทยไม่สามารถแข่งขันในเรื่องแรงงานราคาถูก ทรัพยากรธรรมชาติและวัตถุดิบที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือยอีกต่อไป ขณะเดียวกัน ไทยเองก็ยังไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีหรือเครื่องหมายทางการค้าของตัวเองเพื่อแข่งขันในตลาดโลกกับประเทศพัฒนาแล้วได้ การปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายเศรษฐกิจจึงมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจภายในกับเศรษฐกิจภาคต่างประเทศในระยะยาว ในระยะสั้น กระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้พ้นภาวะซบเซา และ อัตราการการใช้กำลังผลิตต่ำ (Underutilization) ขณะเดียวกันก็มุ่งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคการผลิตและแหล่งแห่งการเติบโตใหม่ (New Sources of Growth) และ สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net