Skip to main content
sharethis

ญาติคนไทยที่ติดอยู่ในสงครามเมืองเล้าก์ก่าย ร้องทูตจีนช่วยเหลือและอนุญาตให้คนไทยเดินทางผ่านทางชายแดนจีน-พม่า เพื่อลี้ภัยจากสงคราม - ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตาก เร่งประสานฝ่ายพม่าสอบถามข้อขัดข้องในการส่งตัว 41 คนไทย ลุ้นมีข่าวดีเร็วๆ นี้ - โฆษก กต. เผย 41 คนไทยอยู่ในกระบวนการคัดกรองตามกฎหมายพม่า หลังกลับไทยจะตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือไม่

17 พ.ย. 2566 ญาติคนไทยที่ติดอยู่ในสงครามเมืองเล่าก์ก่าย ประเทศพม่ายื่นหนังสือถึงเอกอัครราชทูตจีนประจําประเทศไทย ขอให้ช่วยเหลือและอนุญาตให้คนไทยเดินทางผ่านทางชายแดนจีน-พม่า เพื่อลี้ภัยจากสงครามโดยเร็วที่สุด

หนึ่งในครอบครัวคนไทย บอกว่าคนไทยกว่า 200 ชีวิต ถูกหลอกไปทำงานในเมืองเล่าก์ก่าย ถูกทำร้ายร่างกายและจิตใจอย่างเหี้ยมโหด แม้จะได้รับการช่วยเหลือจากทางการพม่า แต่ความเป็นอยู่ก็ยากลำบาก อาหารและน้ำดื่มไม่เพียงพอ ขณะที่ยังมีการสู้รบกัน ได้ยินเสียงปืนและระเบิดอย่างต่อเนื่อง

วันพรุ่งนี้ (18 พ.ย.) จะเป็นการโจมตีขั้นเด็ดขาด เพื่อกวาดล้างกลุ่มทุนจีนเทาและธุรกิจผิดกฎหมาย จึงเป็นห่วงความปลอดภัย วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเร่งช่วยเหลือ และเสริมด้วยความช่วยเหลือของจีน โดยมองว่าจะง่ายกว่าหากเดินทางเข้าชายแดนจีน ซึ่งวันนี้ทางญาติจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย

ผบ.ฉก.ทัพเจ้าตากเร่งประสานฝ่ายพม่าสอบถามข้อขัดข้องในการส่งตัว 41 คนไทย ลุ้นมีข่าวดีเร็วๆ นี้ 

ด้านพันเอกณฑี ทิมเสน ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ฝ่ายไทย เดินทางเข้าไปพบกับ พันเอก ตู๋ล่า ส่อ วิน โซ ผู้บังคับกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก เพื่อติดตามและรับทราบสถานการณ์การรับตัวคนไทยกลับประเทศไทย ที่ห้องรับรองด่านศุลกากร สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2 จังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยฝ่ายเมียนมายืนยันการส่งตัวคนไทยไม่ได้มีปัญหาข้อขัดข้องใดๆ ขั้นตอนวิธีซักถามต่างๆ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ต้องรอคำสั่งอนุมัติให้เคลื่อนย้ายจากหน่วยเหนือเพียงอย่างเดียว อาจจะได้รับอนุมัติภายใน 1-2 วันนี้ เมื่อได้รับอนุมัติจะรีบดำเนินการเคลื่อนย้ายคนไทยทั้ง 41 คน มายังกองบังคับการยุทธศาสตร์ท่าขี้เหล็ก ให้เร็วที่สุด และจะส่งมอบให้ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจทัพเจ้าตาก ประธานคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น หรือ TBC ฝ่ายไทย ทันที

โฆษก กต. ย้ำ ทุกภาคส่วนเร่งช่วยเหลือคนไทยในเล้าก์ก่ายอย่างเต็มที่ ระบุ 41 คน อยู่ในกระบวนการคัดกรองตามกฎหมายพม่าหลังกลับไทยจะตรวจสอบอีกครั้งว่าเป็นเหยื่อค้ามนุษย์หรือไม่

นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าการช่วยเหลือคนไทยจากเมืองเล่าก์ก่าย รัฐฉาน เมียนมา ว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่เริ่ม เกิดการสู้รบในพื้นที่ โดยเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนของข้อมูล เพราะเป็นสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลเมียนมาและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ บางเหตุการณ์เป็นการสู้รบกันเองของชนกลุ่มน้อย ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือคนไทยอย่างเต็มที่  แต่สถานการณ์ไม่ง่ายและไม่ สามารถออกจากพื้นที่ระหว่างทางเพื่อส่งตัวมายังชายแดนได้ทันที พบว่าบางชาติที่มาถึงชายแดนแล้ว แต่ไม่สามารถออกมาได้ ต้องกลับเข้าไปก็มี จึงขอให้วางใจว่าทางการไทยพยายามทำอย่างเต็มที่

“ส่วนกลุ่มที่หนีออกมาจากเล้าก์ก่ายตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุการณ์ต่อสู้  41 คนที่ไปยังว้าแดง ผ่านทางการเมียนมาได้ช่วยส่งมาอยู่ที่เมืองเชียงตุง ตอนแรกทางการไทยคาดหวังว่าจะสามารถเคลื่อนย้ายมายังท่าขี้เหล็กได้ เพื่อข้ามฝั่งมาประเทศไทย แต่ปรากฏว่ายังไม่สามารถกลับมาได้เนื่องจากติดขั้นตอนการคัดกรองจากฝ่ายเมียนมา อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่รัฐบาลเมียนมาปราบปรามกลุ่มนายทุน กลุ่มอาชญากรรม กลุ่มคอลเซ็นเตอร์ จึงมีกระบวนการคัดกรองตามกฎหมายที่เข้มงวด อย่างไรก็ตามคนไทยทั้ง 41 คนถูกส่งมาอยู่ในที่ปลอดภัยแล้ว ขอให้ใจเย็นและรอเวลาที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ และกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้คนไทยเดินทางกลับประเทศโดยเร็ว”โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

นางกาญจนา กล่าวว่า จากสถิติหรือกลุ่มที่เคยอยู่ในค่ายทหารและย้ายไปอยู่ที่โรงพยาบาลภายใต้ความดูแลของทางการเรียนมา 165 คน กลุ่มที่นายจ้างปล่อยมาแล้ว พำนักอยู่ในที่ปลอดภัย อยู่ระหว่างรอส่งไปรวมตัวกับคนไทยกลุ่มใหญ่ 89 คน ทั้งสองกลุ่มนี้ร่วมแล้ว 254 คน โดยทางการย่างกุ้งได้ตรวจสอบสัญชาติและออกเอกสารเดินทางฉุกเฉินให้แล้ว พร้อมเดินทางกลับประเทศไทย ส่วนกลุ่มที่กระทรวงการต่างประเทศเป็นห่วงคือกลุ่มที่นายจ้างยังไม่ปล่อยตัวและอยู่ในพื้นที่ทำงาน คาดว่าเหลืออยู่  40 – 50 คน ซึ่งจะติดตามช่วยเหลือต่อไป ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิเอมมานูเอลในพื้นที่ พร้อมจัดงบประมาณ เรื่องอาหารให้กับคนไทยด้วย

“เข้าใจความร้อนใจของคนที่อยู่ในพื้นที่ แต่ขอให้เข้าใจว่านี่เป็นสถานการณ์สู้รบเป็นสถานการณ์พิเศษ ยืนยันว่าทำทุกวิถีทางช่วยเหลือคนไทย ขอให้รอ เมื่อเดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วทางการไทยจะคัดกรองอีกครั้งว่าเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์จริงหรือไม่ หรือเป็นกลุ่มที่เข้าไปอย่างเต็มใจ ไปอยู่ในกระบวนการคอลเซ็นเตอร์ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะตรวจสอบได้ว่าเป็นคนที่สมัครใจหรือเป็นเหยื่อที่ถูกบังคับไป” โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

ส่วนคนไทย 41 คนจะกลับได้ในวันนี้หรือไม่ นางกาญจนา กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันได้ ขึ้นอยู่กับการอนุญาตของเมียนมา ซึ่งทางการไทยเร่งรัดอย่างเต็มที่

เมื่อถามว่าการที่ทางการเมียนมาไม่ปล่อยตัวเพราะเข้าไปอย่างผิดกฎหมายหรือไม่ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่จะเข้าไปได้ง่าย เพราะไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว คนที่เข้าไปอาจจะผ่าการจัดหางานทั้ง 41 คนหรือ 254 คนหรือคนอื่น ๆ ต้องช่วยเหลือต่อไป น่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือเข้าไปโดยสมัครใจ และรู้ว่าเป็นคอลเซ็นเตอร์ หรือกลุ่มที่เข้าไปทำงานอื่น ไม่ได้เป็นคอลเซ็นเตอร์ หรือกลุ่มที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ ถูกพาไปเพื่อขายบริการ มีทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว

“แต่ที่เราพยายามคือให้ออกมาก่อน เพื่อความปลอดภัยของกลุ่มต่าง ๆ และต้องเคารพกฎหมายของแต่ละประเทศด้วย ส่วนกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวที่เมียนมา นั้น  คนไทยทั้ง 41 คนปลอดภัยดี เราเร่งให้การช่วยเหลือ ไม่มีโอกาสที่จะช้า เราเร่งอยู่ทุกวิถีทางอยู่แล้ว” นางกาญจนา กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีตัวเลขคนไทย 40-50 คน ที่ยังถูกนายจ้างบังคับให้ทำงาน อยู่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สถานทูตเคยได้รับการติดต่อแล้วแต่ขาดการติดต่อไป ไม่แน่ใจว่าตอนนี้ยังอยู่กับนายจ้างหรือหลบหนีออกมาอยู่จุดไหน ส่วนเรื่องนายจ้างเป็นการบังคับกฎหมายของเมียนมา ซึ่งในระยะหลังมีความร่วมมือของทางการจีนกับทางการเมียนมาในการปราบปรามเครือข่ายต่างๆ

“ที่ผ่านมาการถูกหลอกไปทำงานที่ต่างประเทศไม่ได้เกิดขึ้นแค่เมียนมา แต่ยังมีอีกหลายประเทศเช่นกัมพูชา ดูไบ พบว่ามีหญิงไทยถูกหลอก หรือ ไปแล้วสภาพการจ้างงานไม่เป็นไปอย่างที่ที่ อยากเตือนดูให้แน่ใจว่าเป็นพื้นที่ปกติหรือไม่ ค่าจ้างได้มาผิดปกติหรือไม่ หรืออยากให้สอบถามไปยัง แรงงานจังหวัด กระทรวงแรงงาน หรือ สอบถามไปยังกรมการกงสุล ซึ่งก็มีช่องทางออนไลน์ด้วย ” นางกาญจนา กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net