Skip to main content
sharethis
  • ‘พริษฐ์’ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบ’ 67 ชำแหละ 3 วิกฤตการศึษาไทยจากผลการประเมิน PISA แนะแก้วิธีจัดสรรทรัพยากรผ่านการผ่าตัดหัวใจงบ 4 ห้อง หวังเห็นการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ กังวลการปรับลด ‘งบลงทุน’ ในการก่อสร้างอาคารที่กระทบกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการ เสนอเพิ่ม ‘งบอุดหนุนการศึกษา’ พร้อมให้อำนาจโรงเรียนและนักเรียนตัดสินใจบริหารงบและนโยบาย

5 ม.ค. 2566 TP Channel ถ่ายทอดสดออนไลน์ การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เป็นพิเศษ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายภาพรวมงบประมาณด้านการศึกษา ในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วันสุดท้าย

พริษฐ์ตั้งคำถามถึงประเด็นที่รัฐบาลบอกว่าประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤติ แต่ทำไมการจัดสรรงบประมาณที่เกิดขึ้นกลับไม่สอดคล้องกับวิกฤติ  เสมือนไม่มีอยู่จริง แม้แต่ละพรรคจะมีมุมมองต่อวิกฤติมากมายที่ต่างกัน บางวิกฤติอาจเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับบางคน แต่พริษฐ์เชื่อว่า ‘วิกฤติการศึกษา’ เป็นวิกฤติเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันมากที่สุด

3 วิกฤติการศึกษาไทย: ทักษะถดถอย ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอยู่ของเด็ก

1

จากผลการประเมิน PISA ซึ่งวัดคุณภาพของระบบการศึกษาแต่ละประเทศทั่วโลก ถูกเผยแพร่ล่าสุดเมื่อปลายปี 2566 ได้ตอกย้ำ 3 วิกฤตการศึกษาไทยที่เรื้อรังมานาน ได้แก่ สมรรถนะ ความเหลื่อมล้ำ และความเป็นอยู่

  • ‘สมรรถนะ’ ที่เด็กมีทักษะสู้ต่างชาติไม่ได้ ผ่านการถดถอยทางทักษะอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน
  • ‘ความเหลื่อมล้ำ’ จากโอกาสทางการศึกษาที่ไม่เท่ากัน คือ เด็กที่ผู้ปกครองมีกำลังส่งเข้าโรงเรียนชั้นนำมักมีทักษะเทียบเคียงกับเด็กต่างประเทศ แต่จากผลการประเมินพบว่าเด็กส่วนใหญ่ของประเทศยังขาดทักษะในการนำความรู้มาใช้งานได้จริง 
  • ‘ความเป็นอยู่’ ที่ทำให้เด็กไทยไม่มีความสุขในโรงเรียนทั้งสุขภาพกายและใจ คือ เด็กไทยต้องอดอาหารเป็นอันดับ 4 ของโลก เกือบ 3 ใน 10 ต้องอดอาหารอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์เพราะไม่มีเงินซื้ออาหาร นอกจากนั้น เด็กไทยยังรู้สึกไม่ปลอดภัยในโรงเรียนสูงเป็นอันดับ 4 ของโลกเช่นกัน ทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลให้เด็กไทยต้องเข้าเรียนท่ามกลางความรู้สึกหวาดกลัวและหิวโหย ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของนักเรียน

พริษฐ์ตั้งคำถามว่าทำไมปัญหาเหล่านี้ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ถึงยังไม่ถูกแก้ไข และชวน สส. ร่วมคิดหาทางออกของวิกฤติที่เกิดขึ้นจนเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบการศึกษาไทย เนื่องจากตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นักเรียนไทยได้ขึ้นชื่อว่า ‘เรียนหนัก’ และมีชั่วโมงเรียนเยอะเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ด้านครูก็มีภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนในห้องเรียน เช่น เป็นภารโรง นักบัญชี พ่อครัว-แม่ครัว เป็นต้น นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีการลงทุนด้านงบประมาณการศึกษาไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่น

“ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่า ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยนั้นไม่ใช่เรื่องปริมาณของทรัพยากร แต่ปัญหาหลักของระบบการศึกษาไทยนั้นอยู่ที่ประสิทธิภาพของการจัดสรรทรัพยากรต่างหาก” พริษฐ์กล่าว

เร่งแก้วิธีจัดสรรทรัพยากรผ่านการผ่าตัดหัวใจงบ 4 ห้อง

พริษฐ์เน้นย้ำว่า ตนเองไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มงบประมาณด้านการศึกษา แต่อยากให้เร่งแก้วิธีการจัดสรรทรัพยากรหรืองบประมาณด้านการศึกษามากกว่า เพราะถ้าต้นเหตุไม่ถูกแก้ไขไม่ว่าจะเพิ่มงบประมาณไปอีกกี่ล้านบาทก็ไม่สามารถแก้ปัญหาระบบการศึกษาไทยได้

“เหมือนกับคนไข้ที่มีปัญหาที่หัวใจ จะให้เลือดเขาเพิ่มแค่ไหน ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตเขาได้ หากเราไม่ผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจเขา… ดังนั้น วันนี้จึงอยากเชิญชวนประธานและเพื่อนสมาชิกทุกคน มาร่วมกันผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจที่ชื่อว่า งบประมาณด้านการศึกษา”

4

พริษฐ์เปรียบงบประมาณด้านการศึกษาเป็นหัวใจที่มี 4 ห้อง ตามภารกิจหรือประเภทการใช้จ่าย ได้แก่ ‘งบบุคลากร’ ที่ครอบคลุมค่าตอบแทนของครูและบุคลากรในโรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงผู้ทำงานในหน่วยงานส่วนกลางทั้งระดับเขต จังหวัด และพื้นที่  ‘เงินอุดหนุนนักเรียน’ ครอบคลุมเงินอุดหนุนโรงเรียนผ่านโครงการเรียนฟรี 15 ปี และการอุดหนุนให้กับนักเรียน-ผู้ปกครองโดยตรงผ่าน กสศ. ‘งบลงทุน’ ในโครงสร้างพื้นฐาน  เช่น อุปกรณ์ทางการศึกษา รถโรงเรียน อาคารเรียน สนามกีฬา เป็นต้น และสุดท้ายห้องที่ 4 ‘งบนโยบาย’ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในโครงการที่รัฐบาล ณ เวลานั้น เห็นว่าสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา

เมื่อแบ่งงบประมาณเป็น 4 ส่วน ทำให้เห็นภาพรวมของงบประมาณการศึกษาที่ค่อนข้างคงที่ คือ เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ยังเห็นความพยายามของรัฐบาลในการปรับลดงบลงทุนลง 23% หรือกว่า 3,600 ล้านบาท เพื่อเอามาเพิ่มในส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะเงินอุดหนุนนักเรียน

‘งบนโยบาย’ ขึ้นกับอำนาจของรัฐบาล หวังเห็นการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่

พริษฐ์เริ่มขยายการอภิปรายงบประมาณจากห้องที่ 4 คือ ‘งบนโยบาย’ เป็นห้องที่รัฐบาลมีอำนาจในการปรับและจัดสรรได้ทันที แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่ได้คว้าโอกาสนี้ไว้ได้มากเท่าที่ควร เนื่องจากโครงสร้างของงบประมาณส่วนนี้ไม่ต่างกับงบประมาณของปีที่ผ่านมามากนัก  เกินครึ่งหนึ่งของงบถูกใช้ไปกับโครงการขนาดเล็ก ส่วนโครงการใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นงบที่เกี่ยวกับการพัฒนาการเรียนรู้ควบคู่กับแพลตฟอร์มดิจิทัลรวมกว่า 600 ล้านบาท  

ทั้งนี้ พริษฐ์ยังเรียกร้องการรับประกันจากรัฐบาลในการใช้งบประมาณเพื่อสร้างแพลตฟอร์มส่งเสริมการเรียนรู้ว่า ขอให้แพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาไม่มีความซ้ำซ้อนกันเองระหว่างแต่ละหน่วยงานและทรัพยากรเดิม และขอให้กระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำแพลตฟอร์มนั้นเป็นไปอย่างโปร่งใส ทั้งการคัดเลือกบริษัทพัฒนาแพลตฟอร์มจากผลงานและความคุ้มค่าในการลงทุน

พริษฐ์ได้แบ่งประเภทของโครงการในส่วนของงบประมาณการศึกษาเป็น 2 ประเภท ดังนี้

ประเภทแรก ‘โครงการที่ไม่ควรมีแต่ยังมีต่อ’ ได้แก่ การเขียนรายงานโครงการที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงฯ ที่กลายเป็นภาระงานของครูและกระทบกับการสอน โครงการรวมมิตรความดีกับการปลูกฝัง ‘ไม่เลว ไม่โกง ไม่เสพยา’ ที่ใช้งบประมาณกว่า 160 ล้านบาทในการปลูกฝังจริยธรรมและต้านการทุจริต ขณะที่อีก 115 ล้านบาท เป็นโครงการต่อต้านยาเสพติด ซึ่งเป็นจำนวนที่มากขึ้นจากปีที่ผ่านมา นอกจากนั้น ยังมีโครงการใหม่ที่ใช้เงินอุดหนุนกว่า 273 ล้านบาท คือ ‘โครงการส่งเสริมการสร้างคนดีตามหลักการทางศาสนาที่ถูกต้อง เพื่อสืบสาน และรักษาสังคมพหุวัฒนธรรมที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้’

ทั้งนี้ พริษฐ์มองว่าการลงทุนงบประมาณไปกับโครงการด้านคุณธรรมและจริยธรรมนั้นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด พร้อมเสนอให้ครูแทรกซึมประเด็นเหล่านี้เข้าไปในการเรียนการสอนมากกว่าการสร้างโครงการโดยกระทรวงฯ ทั้งอยากให้ผู้ใหญ่หันกลับมาทบทวนพฤติกรรมของตนเองว่า สามารถปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างเด็กได้หรือไม่

“มันอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องหันมาทบทวนพฤติกรรมของผู้ใหญ่อย่างพวกเรากันเอง เราจะคาดหวังให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการต่อต้านการทุจริตได้อย่างไร หากเรายังมีโรงเรียนที่เรียกเงินแป๊ะเจี๊ยะหรือรับเงินใต้โต๊ะจากผู้รับเหมา เราจะคาดหวังให้นักเรียนหยุด บูลลี่ (Bully) หรือกลั่นแกล้งกันได้อย่างไร หากเรายังไม่กล้าลงโทษครูที่กลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกาย และละเมิดสิทธินักเรียน และเราจะคาดหวังให้นักเรียนไม่ลอกการเพื่อน ลอกการบ้านกันและกันได้อย่างไร  หากเรายังมีคนออกข้อสอบการเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทย ที่ลอกข้อสอบจากต่างประเทศ” พริษฐ์

ความคืบหน้าที่ทำให้เห็นว่ารัฐบาลได้เห็นถึงปัญหาการอบรมครูโดยส่วนกลางผ่านการพยายามปรับลดงบประมาณส่วนนี้ลง 20-30% พริษฐ์เสนอให้รัฐบาลกระจายงบอบรมครูจากส่วนกลางไปให้แต่ละโรงเรียนโดยลง เพื่อให้ตอบวัตถุประสงค์ของแต่ละพื้นที่มากที่สุด

5

ประเภทที่ 2 ‘โครงการที่ควรมีแต่กลับยังไม่มี’ คือ การจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฉบับใหม่ที่เน้นการเสริมสร้างสมรรถนะ ซึ่งหลักสูตรการศึกษาเดิมของประเทศไทยนั้นมีการปรับแก้ครั้งล่าสุด คือ พ.ศ. 2551 หากเปรียบเทียบกับการปรับหลักสูตรในต่างประเทศที่มีการปรับหลักสูตรครั้งใหญ่ต่อเนื่อง 5-10 ปี พริษฐ์มองว่าการปรับหลักสูตรสามารถทำได้ง่ายเนื่องจากมีสารตั้งต้นหลักสูตรใหม่ทั้งจากฝ่ายวิชาการหรือภาคประชาสังคมที่มีการนำไปปรับใช้ในโรงเรียนบางแห่ง 

ปรับลด ‘งบลงทุน’ เพิ่ม ‘เงินอุดหนุนนักเรียน’ 

6

การปรับลดงบลงทุนลง 23% ในหัวใจห้องที่ 3 เพื่อนำไปใช้เป็นงบอุดหนุนนักเรียนนั้น พริษฐ์ได้ตั้งคำถามถึงเกณฑ์พิจารณางบประมาณ เพราะกลุ่มงบลงทุนในการก่อสร้างอาคารนั้นได้กระทบต่อกลุ่มเด็กด้อยโอกาสและเด็กพิการมากที่สุด ซึ่งการลดงบส่วนนี้อาจเพิ่มความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กไทยมากกว่าเดิม นอกจากนั้น งบลงทุนด้านอาชีวศึกษายังมีลักษณะการกระจายตัวที่น่าสงสัย คือ  7 ใน 8 จังหวัดแรกที่ได้งบลงทุนเยอะที่สุด (ไม่นับ กทม.) เป็นจังหวัดที่มี สส. เขต พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นพรรคเดียวกับ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

ห้องที่ 2 ‘เงินอุดหนุนนักเรียน’ ที่มีการจัดสรรงบเพิ่มขึ้นถึง 5.2% แม้จะเป็นเรื่องน่ายินดีแต่ยังมีข้อกังวลต่อผู้ปกครองที่ต้องควักเงินหลายพันบาทต่อปีมาใช้ในการศึกษาของลูก โดยเฉพาะในกลุ่มครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ พริษฐ์ได้เสนอให้มีการเพิ่มเงินอุดหนุนต่อนักเรียนยากจนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมปลาย การเพิ่มเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวัน การตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อลดภาระของผู้ปกครอง เช่น การบังคับใส่ชุดลูกเสือเป็นการให้ใส่ชุดพละหรือชุดลำลองแทน พร้อมเสนอให้มีการปรับวิธีการอุดหนุนเงินโรงเรียนเป็นแบบไม่กำหนดวัตถุประสงค์

งบบุคลากรในห้องที่ 1 ได้เสนอให้มีการปรับแก้ ‘ครูกระจุก โรงเรียนกระจาย’ และ ‘อำนาจกระจุก การทำงานกระจัดกระจาย’  โดยการปฏิรูปโครงสร้างกระทรวง ให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันน้อยลงและมีการกระจายอำนาจสู่สถานศึกษามากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 

พริษฐ์เชื่อว่าข้อเสนอเหล่านี้สามารถพิจารณาให้มีการปรับแก้ได้เลยทั้งในชั้นกรรมาธิการหรือการพิจารณางบประมาณในวาระที่ 2 หรือ 3 ของงบประมาณ พ.ศ. 2567 การผ่าตัดหัวใจทั้ง 4 ห้องนี้ นอกจากทำให้เกิดความแข็งแรงในโครงสร้างการศึกษาแล้วยังช่วยส่งเสริมความสมดุลในแต่ละห้อง เพราะทุกงบที่มีการปรับลดนั้นสามารถปรับย้ายมาเป็นงบอุดหนุนการศึกษา นอกจากนั้น ยังเป็นการให้อำนาจกับโรงเรียนและนักเรียนในการตัดสินใจว่าจะใช้งบแต่ละส่วนไปกับอะไร 

cover

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอที่ผมและพรรคก้าวไกลได้อภิปราย จะไม่เป็นข้อเสนอ ที่ต้องรอพรรคก้าวไกลมาเป็นรัฐบาลถึงจะได้เริ่มทำ แต่เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลชุดนี้ จะเห็นด้วยและรับไปพิจารณาดำเนินการ เพื่อร่วมกันผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ที่มีชื่อว่างบประมาณการศึกษาและสร้างอนาคตการศึกษาไทยที่ดีขึ้น สำหรับลูกหลานเราทุกคน” พริษฐ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net