Skip to main content
sharethis

‘พริษฐ์ ก้าวไกล’ ย้อน ‘เศรษฐา’ จุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ เปลี่ยนไปหลังเป็นนายกฯ เตือนอาจถูกจดจำเป็น ‘รัฐบาลเศษส่วน’ ทำได้แค่เสี้ยวเดียวจากคำสัญญา ไม่ยอมให้รัฐเปลี่ยนแปลงตามที่ประชาชนคาดหวัง 

 

12 ก.ย.2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา โดยเฉพาะต่อนโยบายทางการเมือง และการแก้รัฐธรรมนูญ โดยระบุว่าตลอดเวลา 120 วัน ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันเลือกตั้ง ตนเชื่อว่าคำถามหนึ่งในใจของประชาชนหลายคน คือคำถามที่ว่าอำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของใคร ซึ่งจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ที่นำมาสู่การจัดตั้งรัฐบาลพิเศษครั้งนี้ ตนขอทำนายว่าแม้เราจะมีรัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้นำโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารแล้ว แต่รัฐบาลใหม่นี้จะยังคงไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดในประเทศเป็นของประชาชน

เพราะเมื่อเปิดอ่านคำแถลงนโยบายของรัฐบาลและวิเคราะห์ทั้งคำพูดที่อยู่ในเอกสารและที่ตกหล่นขาดหายไป จะเห็นได้ชัดถึงอาการที่ตนขอเรียกว่า “รัฐที่ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง” ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดูแล้วรัฐบาลคงจะไม่ยอมให้ประชาชนทั่วประเทศมีอำนาจขีดเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ หรือรัฐราชการที่คงไม่ยอมให้เกิดการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่

พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าสำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญ พรรคก้าวไกลยืนยันมาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีปัญหาทั้งที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่ขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย โดยความจริงทุกฝ่ายเคยได้ข้อสรุปร่วมกันมาแล้วว่าประเทศนี้ควรต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ - หากย้อนไปเมื่อเดือน พ.ย. 2563 พวกเราทุกฝ่ายในรัฐสภาแห่งนี้ได้ร่วมกันลงมติกันอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเห็นชอบถึง 88% ของสมาชิกรัฐสภา เพื่อรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น เป้าหมายของรัฐบาลนี้ จึงไม่ควรเป็นอะไรที่ซับซ้อนไปกว่าการเดินหน้าสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่มีที่มา กระบวนการ และเนื้อหา ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย

แต่หากนำเอานโยบายแก้รัฐธรรมนูญที่นายเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยได้เคยหาเสียงไว้ อ้างอิงจากเอกสารที่พรรคเพื่อไทยส่งให้ กกต. ก่อนเลือกตั้ง มาเทียบกับนโยบายแก้รัฐธรรมนูญของรัฐบาล ที่ปรากฎอยู่ทั้งหมด 7 บรรทัด 94 คำ ในเอกสารคำแถลงนโยบาย จะเห็นได้ว่าจุดยืนและนโยบายของนายเศรษฐาและนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ต่างกันราวฟ้ากับเหวในอย่างน้อยใน 4 คำถาม คือ

1) รัฐบาลจะสนับสนุนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะเมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐาแล้ว ท่านบอกแต่เพียงว่าจะ “หารือแนวทาง” ในการจัดทำรัฐธรรมนูญเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงต้องทวงถามนายกรัฐมนตรีตรงๆ ว่าจะยังสนับสนุนให้มีการจัดทำรัฐธณรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือเมื่อท่านได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ทำให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จุดยืนของท่านเลยเปลี่ยนแปลงไป?

2) รัฐบาลจะให้ใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัยเป็นนายเศรษฐาท่านยืนยันชัดเจนว่าจะให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาจัดทำ แต่พอมาช่วงหลังๆ ท่านกลับเริ่มเงียบต่อคำถามที่สังคมมีต่อรูปแบบของ สสร. ทำให้ตนเริ่มกังวลว่าท่านจะกลับลำจากรูปแบบ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน มาเป็นรูปแบบ สสร. ที่มีส่วนผสมของการแต่งตั้ง เพื่อเปิดช่องให้เครือข่ายอำนาจเดิมที่สนับสนุนรัฐบาลนี้และรัฐบาลก่อนหน้า เข้ามาแทรกแซง ควบคุม และล็อกสเปก สสร. หรือไม่ ซึ่งก็จะนำไปสู่การล็อกสเปกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้ไม่มีอะไรที่ก้าวหน้ากว่าหรือแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันด้วย

และเมื่อมาถึงวันนี้ ตนก็เริ่มกังวลมากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว เพราะในคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ไม่มีการเขียนคำว่า “สสร.” ให้ปรากฎแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้น ตนจึงต้องทวงถามว่าตกลงนายกรัฐมนตรีจะยังให้มี สสร. มาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่หรือไม่ หรือจะปล่อยให้อำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตกเป็นของรัฐสภาแห่งนี้ ที่หนึ่งในสามประกอบไปด้วย สว. จากการแต่งตั้ง ที่มีผลงานในการขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทบทุกครั้งตลอด 4 ปีที่ผ่านมา?

3) รัฐบาลจะล็อกเนื้อหาอะไรบ้างในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สมัยเป็นนายเศรษฐา ท่านพร้อมจะให้เกียรติประชาชนและเปิดกว้างต่อทุกความฝัน ด้วยการให้อำนาจ สสร. ไปถกเถียงและพิจารณาเนื้อหาใหม่ทั้งฉบับ โดยมีเงื่อนไขข้อเดียวที่ล็อกไว้ คือรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งแม้ท่านไม่เขียนไว้ ก็จะเป็นเช่นนั้นอยู่แล้วตามมาตรา 255 ของรัฐธรรมนูญ 2560

แต่พอมาเป็นนายกฯ เศรษฐา ท่านกลับไปเพิ่มเงื่อนไข จากเดิมที่ท่านล็อกแค่เรื่องรูปแบบการปกครอง  ตอนนี้ท่านล็อกให้ไม่มีการแก้อะไรสักคำในหมวด 1 (บททั่วไป) และหมวด 2 (พระมหากษัตริย์)

วันนี้เราคงไม่มีเวลาถกกันในรายละเอียดว่า 19 มาตราในหมวดพระมหากษัตริย์ มีส่วนไหนบ้างที่อาจปรับปรุงให้ดีขึ้นได้โดยไม่กระทบรูปแบบการปกครอง แต่ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีกำลังกังวลเกินเหตุ เพราะการแก้ไขข้อความในหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ได้เท่ากับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง และทุกครั้งที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งในปี 2540, 2550 และ 2560 เนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ก็ถูกปรับปรุงแก้ไขมาโดยตลอด

แต่สิ่งที่อันตรายกว่านั้น คือความกังวลเกินเหตุของนายกรัฐมนตรี อาจหวนกลับมามากระทบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเสียเอง เพราะหากมีประชาชนอยากปรับปรุงเนื้อหาบางส่วนในหมวดพระมหากษัตริย์ โดยที่ไม่กระทบรูปแบบการปกครอง การล็อกไม่ให้แม้แต่จะพูดถึงได้ด้วยเหตุและผล ในพื้นที่ที่ควรปลอดภัยอย่าง สสร. อาจจะยิ่งทำให้คำถามในใจของเขาดังขึ้น ว่าตกลงอำนาจสูงสุดในประเทศนี้เป็นของใคร 

หรือหากวันหนึ่งในระหว่างที่  สสร. กำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คนที่อยากแก้ไขเนื้อหาในหมวด 1 และ 2 กลับไม่ใช่ประชาชนทั่วไป นายกรัฐมนตรีจะทำอย่างไร จะยืนยันอย่างแข็งขันกลับไปกับบุคคลท่านนั้นว่าแก้ไขไม่ได้ หรือจะยอมทำตามความประสงค์ของบุคคลดังกล่าว โดยอาศัยกระบวนการนอกรัฐธรรมนูญ เหมือนกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจากผ่านประชามติปี 2559 ไปแล้ว จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ที่กระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาจนถึงทุกวันนี้

4) รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างไร สมัยเป็นนายเศรษฐา พรรคเพื่อไทยเคยแถลงไว้อย่างชัดเจน ว่าในการประชุม ครม. นัดแรก จะมีการออกมติให้มีการเดินหน้าจัดทำประชามติ เพื่อนับหนึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่พอมาเป็นนายกรัฐมนตรีเศรษฐา แม้จะบอกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ในเอกสารกลับไม่มีความชัดเจนว่าท่านจะดำเนินการอย่างไร นอกจากข้อความว่าท่านจะ “หารือแนวทางในการทำประชามติ”

“ท่านยืนยันได้ไหมครับ ในการประชุม ครม. นัดแรกที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันพรุ่งนี้ พวกท่านจะมีมติออกมาเพื่อให้เดินหน้าในการจัดทำประชามติ และนับหนึ่งสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และท่านยืนยันได้ไหมว่าคำถามที่ท่านจะใช้ในประชามติ จะเป็นคำถามที่ยืนยันหลักการเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์ยังกล่าวต่อไป ว่าหากกล่าวโดยสรุปเรื่องนโยบายรัฐธรรมนูญ ในขณะที่นโยบายของนายเศรษฐา ทั้งชัดเจนและตรงจุด แต่นโยบายของนายกรัฐมนตรีเศรษฐากลับหาความชัดเจนไม่ได้แม้แต่เรื่องเดียว แต่ในเมื่อท่านไม่ลุกขึ้นมายืนยันจุดยืนเดิมที่นายเศรษฐาเคยประกาศไว้ ตนก็ขออนุญาตไม่เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเศรษฐาจะนำพาเราไปสู่เป้าหมายของการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยได้

ไม่น่าเชื่อว่าการเติม “ก.ไก่” แค่ตัวเดียวจาก “นายเศรษฐา” เป็น “นายกฯเศรษฐา” จะทำให้จุดยืนท่านเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ ซึ่งสำหรับตนแล้ว “ก.” ที่เพิ่มขึ้นมานี้ ย่อมาจากคำว่า “กลัว” และ คำว่า “เกรงใจ” ที่อธิบายถึงความรู้สึกที่ท่านมีต่อพรรคร่วมและเครือข่ายที่ทำให้ท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ จนไม่กล้าผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชนตามที่เคยได้ให้สัจจะไว้

พริษฐ์อภิปรายต่อไป ในประเด็นเรื่องรัฐราชการรวมศูนย์และการกระจายอำนาจ โดยระบุว่าหากไปดูเอกสารนโยบายรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจ จะเห็นว่านอกจากคำพูดกว้างๆ ที่ไม่สัญญาอะไรที่เป็นรูปธรรมหรือเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว สิ่งเดียวที่ดูจะจับต้องได้คือคำยืนยันว่าท่านจะเดินหน้านโยบายที่เรียกว่า “ผู้ว่า CEO”

หาก “ผู้ว่า CEO” นี้คือการรื้อฟื้นแนวคิดจากสมัยรัฐบาลเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตนก็ต้องตั้งคำถามว่ารัฐบาลนี้จะจริงจังและจริงใจแค่ไหนในการผลักดันวาระการกระจายอำนาจ เพราะในมุมหนึ่งผู้ว่า CEO เป็นแนวคิดที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกระจายอำนาจหรือการทำให้ประชาชนอยู่ในสมการของการคัดเลือกหรือตรวจสอบผู้ว่าราชการจังหวัดได้เลย และหากมองโลกในแง่ร้าย นโยบายผู้ว่า CEO นี้ กลับถูกหยิบยกมาเป็นเหตุผลและข้ออ้างในการเพิ่มความชอบธรรมให้มีการรวมศูนย์อำนาจที่ส่วนกลางมากกว่าเดิม

หัวใจของการกระจายอำนาจคือการทำให้ประชาชนในทุกพื้นที่มีอำนาจและทรัพยากรเพียงพอในการกำหนดอนาคตตนเอง ที่อาจแบ่งออกได้เป็น 3 องค์ประกอบหลักๆ ซึ่งนโยบายผู้ว่า CEO ไม่ได้ตอบโจทย์สักข้อ อันได้แก่

1) หลักการที่ว่าผู้บริหารสูงสุดในแต่ละพื้นที่ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในพื้นที่ เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้บริหารสูงสุดของแต่ละจังหวัดในประเทศไทยยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพราะแม้ประชาชนจะมีสิทธิในการเลือกตั้งนายก อบจ. แต่ผู้บริหารสูงสุดในแต่ละจังหวัด กลับยังเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการแต่งตั้งจากส่วนกลาง การที่รัฐบาลเลือกจะทำนโยบาย ผู้ว่า CEO จึงเป็นการยืนยันว่าท่านไม่ได้เชื่อว่าผู้บริหารสูงสุดในแต่ละจังหวัด ควรมาจากการเลือกตั้ง

เพราะแนวคิดเดิมเรื่อง ผู้ว่า CEO ไม่ได้เป็นแนวคิด ที่จะทำให้ผู้บริหารต้องยึดโยงหรือรับผิดรับชอบกับประชาชนในพื้นที่ผ่านคูหาเลือกตั้ง แต่เป็นเพียงแนวคิดที่จะกระชับอำนาจและปรับรูปแบบการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ยังคงมาจากการแต่งตั้งเหมือนเดิม

พริษฐ์ยังกล่าวต่อไป ว่านอกจากนโยบายผู้ว่า CEO จะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่องการกระจายอำนาจแล้ว ตนต้องถามต่อว่า นโยบายผู้ว่า CEO นี้ได้มาแทนที่นโยบาย “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดที่พร้อม” ที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้แล้วหรือไม่ ถ้าท่านบอกว่าจะไม่ทำแล้วเพราะจังหวัดไม่พร้อม ตนว่าฟังไม่ขึ้น เพราะความเป็นจริงวันนี้ประชาชนพร้อมมากแล้วที่จะให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่นายกรัฐมนตรีเองต่างหากที่ไม่พร้อมจะสู้กับพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อปกป้องนโยบายของพรรคตนเอง

2) การเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ แม้ท่านยังคงจะยืนยันให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการแต่งตั้ง แต่ท่านพร้อมแค่ไหนที่จะโอนถ่ายอำนาจจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

นายกรัฐมนตรีพร้อมหรือไม่ ที่จะลงนามรับรองร่างแก้ไข พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ ที่พรรคก้าวไกลเสนอและตอนนี้รอเพียงแค่การลงนามของท่าน ให้ร่างนั้นได้กลับเข้ามาสู่สภาแห่งนี้ เพื่อมาถกกันถึงเรื่องการเพิ่มอำนาจท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่ และพร้อมหรือไม่ที่จะประกาศเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าจะเร่งถ่ายโอนภารกิจที่ยังติดค้างกับท้องถิ่น เช่น รพ.สต. ให้สำเร็จหมดภายในเมื่อไหร่

“แต่ถ้าท่านยังไม่พร้อมที่จะยืนยันในรัฐสภาแห่งนี้ว่าท่านจะเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่น อย่างน้อยท่านยืนยันได้ไหม ว่าการที่ท่านไปเจิมผู้ว่าฯ ทั่วประเทศด้วยตำแหน่งเท่ๆ อย่างผู้ว่า CEO จะเป็นเพียงการจัดสรรอำนาจภายในราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยไม่มาลดทอนกระทบความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน” พริษฐ์กล่าว

3) การเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่นในการแก้ไขปัญหาประชาชนในพื้นที่ แม้รัฐบาลเคยตั้งเป้าหมายตั้งแต่ปี 2542 ว่าจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลให้เป็น 35% ภายในปี 2549 แต่ตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา เป้าหมายนี้ก็ถูกลดทอนลงมาอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขยังค้างอยู่แค่เพียง 29% 

ดังนั้น ท่านพร้อมแค่ไหนที่จะโอนถ่ายงบประมาณจากส่วนกลางมาให้ท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน รายได้ที่ท้องถิ่นต้องสูญเสียกว่า 7 หมื่นล้านบาทจากมาตรการลดภาษีที่ดินของรัฐบาลช่วงโควิดจะจ่ายคืนให้ทั้งหมดเมื่อไหร่ นโยบายภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ที่เคยประกาศช่วงเลือกตั้งว่าจะให้ประชาชนมีสิทธิเลือกส่ง 30% ของภาษีที่ต้องจ่ายกลับไปที่ท้องถิ่นตนเองจะเริ่มทำเมื่อไหร่ และท่านจะป้องกันความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นอย่างไร เป้าหมายสัดส่วนรายได้ท้องถิ่น 35% ที่เคยถูกตั้งไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ท่านจะทำให้สำเร็จภายใต้รัฐบาลชุดนี้หรือไม่

“แม้ท่านยังไม่พร้อมจะยืนยันในรัฐสภาแห่งนี้ว่าจะเพิ่มงบประมาณให้ท้องถิ่น อย่างน้อยท่านช่วยยืนยันได้ไหมว่างบประมาณที่จะประเคนให้ผู้ว่า CEO ไม่ว่าจะโดยตรงหรือผ่านการเพิ่มงบจังหวัดหรืองบกลุ่มจังหวัด ท่านจะไม่ไปดึงมาจากกระเป๋าของท้องถิ่นที่ก็มีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว จนเป็นการลดงบประมาณที่ท้องถิ่นมีในการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่” พริษฐ์กล่าว

พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าตนยังจำได้ว่านายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ว่าท่านต้องการเป็น “นายกรัฐมนตรีแห่งการเปลี่ยนแปลง” แต่จากนโยบายเรื่องรัฐธรรมนูญและการกระจายอำนาจ ตนคิดว่าวันนี้ท่านเป็นได้แค่ “นายกรัฐมนตรีแห่งจุดยืนที่เปลี่ยนแปลงไป” ทั้งจากคำสัญญาว่าจะ “จัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” ตอนนี้ก็เหลือเพียงแค่การ “หารือแนวทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญ” จากคำสัญญว่าจะ “เลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดนำร่อง” ตอนก็นี้เหลือเพียงแค่การ “ฟื้นคืนชีพผู้ว่าฯ CEO”

มาถึงวันนี้ ตนยังเชื่อว่าลึกๆ ท่านก็ยังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงตามที่ท่านเคยสัญญาไว้กับประชาชน แต่ ณ วินาทีที่ท่านเลือก “เทหมดหน้าตัก” แลกทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สิ่งที่ท่านได้แถมกลับมาด้วยคือกรงขังและโซ่ตรวนที่มาล้อมตัวท่าน และที่ไม่อนุญาตให้ท่านเปลี่ยนโครงสร้างการเมืองให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน

“ดังนั้น หากท่านยังอยากเป็น ‘นายกฯแห่งการเปลี่ยนแปลง’ ตามที่ท่านใฝ่ฝัน ผมคิดว่าท่านต้องแสดงความกล้าหาญกว่านี้ในการผลักดันวาระทางการเมืองและประชาธิปไตย แม้วาระเหล่านั้นอาจจะขัดกับผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลหรือเครือข่ายอำนาจเดิม ที่อยู่เบื้องหลังการเข้าสู่อำนาจของท่าน แต่หากหลังจากวันนี้ ท่านยังเลือกที่จะนิ่งเฉย และเดินตามเพียงแค่ถ้อยคำในคำแถลงนโยบายฉบับนี้ ผมเกรงว่าประชาชนจะไม่จดจำรัฐบาลนี้ว่าเป็น ‘รัฐบาลเศรษฐา’ แต่เขาจะจดจำว่ารัฐบาลนี้เป็น ‘รัฐบาลเศษส่วน’ ที่ทำได้เพียงแค่เสี้ยวเดียวจากสิ่งที่ท่านนายกฯ เคยสัญญากับประชาชน และที่ไม่ยอมให้รัฐมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ตามที่ประชาชนต้องการและถวิลหา” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net