Skip to main content
sharethis

เครือข่ายที่ดิน 3 อำเภอนราธิวาส ร้องเรียนกรรมการสิทธิฯ เหตุถูกละเมิดสิทธิห้ามเข้าในที่ดินทำกิน รอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานน้ำตกซีโป เผยตั้งถิ่นฐานมานานกว่า 200 ปี แต่ไม่เคยเข้าถึงกระบวนการขอออกเอกสารสิทธิ์ ไม่มีส่วนร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นของกรมอุทยานฯ ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม ข่มขู่ ขูดรีด ตัดฟันพืชผลอาสิน สร้างอุปสรรคขัดขวางสารพัด ราวกับประกาศเป็นเขตอุทยานไปแล้ว กสม. เตรียมลงพื้นที่เก็บข้อมูล เป็นคนกลางประสานหน่วยรัฐ

22 ธ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทน “เครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป - Tanah Kita Network” ได้เข้าพบ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อร้องเรียนเรื่องปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในที่ดินทำกินของประชาชนรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ในพื้นที่ 8 ตำบล 3 อำเภอ ของ จ.นราธิวาส โดยมีนางปรีดา คงแป้น และ นายสุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มารับหนังสือร้องเรียน และร่วมหารือกับตัวแทน Tanah Kita Network เป็นเวลา 1 ชั่วโมง

ในหนังสือร้องเรียนของเครือข่ายฯ Tanah Kita Network ได้นำเสนอปัญหาใน 2 ประเด็น คือ

1) ปัญหาการไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินทำกิน ซึ่งชุมชนในพื้นที่ทั้ง 8 ตำบล มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานมายาวนาน หมู่บ้านบางแห่งมีอายุมากกว่า 200 ปี แต่ประชาชนกลับไม่เคยได้เข้าถึงกระบวนการขอออกเอกสารสิทธิ์

“เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่ผ่านมาทางการเริ่มห้ามมิให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่สวนได้ดังเดิม โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าที่ดินของชาวบ้านเป็นพื้นที่ “ป่า” ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ใช้มักใช้ข้ออ้างอย่างเหวี่ยงแหในการจับกุมหรือข่มขู่รีดไถประชาชนอยู่เสมอ”

2) ปัญหาจากการเตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สำรวจและกำหนดแนวเขตสำหรับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมเป็นเนื้อที่ 41,043 ไร่ และอ้างว่าได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว และพร้อมที่จะนำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่ปรากฏว่ายังคงมีที่ดินทำกินของประชาชนจำนวนไม่น้อยอยู่ในแนวเขตที่เตรียมประกาศ โดยการเดินแนวเขตที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วมเช่นเดียวกับการจัดรับฟังความคิดเห็นของกรมฯ 

“ตลอดระยะเวลาที่เริ่มมีการผลักดันการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป ทางเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาเฝ้าระวังตรวจตราพื้นที่อย่างเข้มงวด ราวกับว่าที่นี่ได้รับการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อสร้างอุปสรรคมิให้ประชาชนทำเข้าประโยชน์ในที่สวนของตนเองได้ดังเดิม มีการห้ามการตัดโค่นไม้ยางพาราที่หมดสภาพ มีประชาชนหลายรายที่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุม หรือไม่ก็ถูกเจ้าหน้าที่บุกรุกเข้ามาตัดฟันพืชผลอาสินในสวน”

จากการหารือดังกล่าว ทาง กสม. เสนอแนะให้เครือข่าย Tanah Kita Network จัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์จากที่ดินของชาวบ้าน เพื่อเป็นข้อมูลในนำเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขแนวเขตอุทยานฯ เพื่อจะได้ไม่กระทบต่อชาวบ้าน โดย กสม.จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น กสม.ทั้งสองเห็นว่า สิ่งที่พอจะเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาที่เป็นเรื่องเร่งด่วนก็คือ การประสานคุ้มครองสิทธิเพื่อให้เกิดการชะลอการประกาศเขตอุทยานฯ ออกไปก่อน จนกว่าปัญหาแนวเขตจะได้รับการแก้ไข

สำหรับกรณีของชาวบ้านที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิตัดฟันต้นยางที่ปลูกไว้ ทาง กสม.แนะนำให้เจ้าทุกข์ร้องเรียนมายัง กสม. ได้โดยตรง

นอกจากนั้นก็ยังมีการหารือถึงความเป็นไปได้ที่ กสม. จะลงพื้นที่ไปพูดคุยกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป รวมทั้งการหารือถึงบทบาทของ กสม. ในการช่วยเป็นคนกลาง หากต้องมีการจัดทำข้อมูลหรือเดินแนวเขตร่วมกันเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องสิทธิในที่ดินรอบพื้นที่เตรียมประกาศเขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกซีโป -Tanah Kita Network นำโดย อาหะหมัด เบนโน, กูพา รอเซ็ง และ อาลีฟ อิงดิง โดยมีศูนย์ประสานงานชั่วคราว ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 279 ม.5 ต.กาลิซา อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 96130

หนังสือที่เครือข่ายที่ดิน 3 อำเภอนราธิวาส ยื่นถึงกรรมการสิทธิฯ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net