Skip to main content
sharethis

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา 'ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล' สส.เชียงใหม่ เรียกร้องรัฐบังคับใช้กฎหมายเข้มงวด หยุดการเผาต้นตอปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 พร้อมจัดช่องทางการแจ้งเบาะแส จี้ท้องถิ่นต้องกล้าร้องทุกข์กล่าวโทษ - ข้อมูลเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ พบจุดความร้อนเพิ่มขึ้น 78.07% พื้นที่เผาไหม้เพิ่มขึ้น 67.42% เมื่อเทียบปี 2565 ประเมินสถานการณ์ในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น

17 ธ.ค. 2566 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล หารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร กรณีการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ว่า การเผาเป็นต้นตอของฝุ่นละออง PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นจากการเผาเศษขยะ ใบไม้ กิ่งไม้ ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านหรือในจังหวัดเชียงใหม่ โดยเชื่อว่าในพื้นที่กึ่งเมืองกึ่งชนบทมีการเผาเกิดขึ้น ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญ ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สาธารณสุข พ.ศ. 2535 แต่ในความจริงไม่มีใครแจ้งดำเนินคดีตามกฎหมายนี้ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ใช้การออกคำสั่งห้ามเผาอย่างเด็ดขาดในช่วงทุกต้นปี แท้ที่จริงแล้ว ไม่ควรมีการเผาเกิดขึ้นเลย ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องไปยังรัฐบาลบังคับใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข ในมาตรา 25 มาตรา 26 และมาตรา 28 อย่างจริงจัง โดยจะต้องไม่ได้รับการยกเว้น จัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแส หากประชาชนพบว่ามีการเผาเกิดขึ้น และรัฐจะต้องประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงช่องทางดังกล่าว ตลอดจนพนักงานฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น เทศบาล อบต. อบจ. ที่อยู่ใกล้กับจุดที่มีการเผาจะต้องดำเนินการตรวจตราและร้องทุกข์กล่าวโทษ

นอกจากนี้ นายณัฐพล ยังหารือปัญหาถนนทางหลวงท้องถิ่นหมายเลข 138-08 ซึ่งอยู่ในความดูแลของ อบต.บ้านสหกรณ์ อำเภอแม่ออน ที่ได้รับการถ่ายโอนมาจากทางหลวงชนบท โดยพบว่ามีความชำรุดทรุดโทรม แต่ อบต. ไม่มีงบประมาณเพียงพอในการสร้างถนนใหม่ ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามของบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการจัดสรร โดยเห็นว่าถนนใหม่มีมูลค่าเพียง 3.5 ล้านบาท แต่มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 1.5 พันคน ดังนั้น จึงฝากไปยังกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสรรงบประมาณเพื่อก่อสร้างถนนดังกล่าว

กอ.รมน.เด้งรับนโยบายรัฐ เร่งแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน ฝุ่น 17 จังหวัดภาคเหนือ

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ว่าพ.อ.หญิงนุชระวี แจ่มจำรัส รองโฆษกกอ.รมน. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะเรื่องไฟป่า หมอกควัน รวมทั้งฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีความรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน

รวมทั้งระบบนิเวศ เศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง นายกรัฐมนตรี/ผอ.รมน. มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว โดยเน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนบูรณาการร่วมกันรับมือ และแก้ไขปัญหาสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละออง มุ่งให้ความสำคัญกับอากาศสะอาด เพื่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่ดีของคนไทย

พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.ในฐานะ รอง ผอ.รมน. สั่งการให้ กอ.รมน.ภาค 3 และ กอ.รมน.จังหวัด 17 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด เร่งขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันฝุ่นละออง ควันพิษ PM 2.5 อย่างเป็นระบบ ด้วยการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งระดับภูมิภาคและระดับจังหวัด ใช้กลไกความมั่นคงและกำลังทหารในการปฏิบัติเพื่อให้สอดรับกับมาตรการ 3 ระยะ คือ ระยะเตรียมการ ปฏิบัติการ และหลังการปฏิบัติการ

โดยเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. ผบ.ทบ./รอง ผอ.รมน. เดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่าภาค 3 อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ในพื้นที่ 17 จังหวัดในภาคเหนือ พบจุดความร้อน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 78.07 และพื้นที่เผาไหม้ เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 67.42 ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์ในปีนี้ มีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้น

กอ.รมน. โดย กอ.รมน.ภาค 3 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่า ตามคำสั่งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 ธ.ค.66 เพื่ออำนวยการ บูรณาการ เฝ้าระวังติดตามรวมทั้งประเมินสถานการณ์ รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก

รวมทั้งบูรณาการการดับไฟป่าที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานในส่วนภูมิภาค 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยกำหนดเป้าหมายสำคัญจากข้อมูลสถิติในห้วงที่ผ่านมา รวมถึงข้อมูลจากโดรนลาดตระเวน และระบบดาวเทียม ด้วยการใช้กลไกความมั่นคงในทุกระดับ

ในขณะเดียวกันเสริมสร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมกันแก้ไขปัญหา เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปี 2567 ที่คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนได้กำหนดไว้

สำหรับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และพื้นที่อื่นๆ พิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระดับพื้นที่ ถึงการลดปริมาณฝุ่นละออง ควบคู่ลดการเผาขยะทางการเกษตรจากตอซัง ฟางข้าว ด้วยการใช้นวัตกรรมต่างๆ อาทิ ใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายตอซังฟางข้าวให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน

การใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรโปรยสารชีวภาพเร่งการย่อยสลายและบำรุงดิน และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ฟางข้าว โดยใช้เครื่องจักรผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดแบบเคลื่อนที่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีวิธีการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

งดการเผาทำลายที่ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ รวมถึงจัดชุดประชาสัมพันธ์ลงพื้นที่ สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการเผาในพื้นที่การเกษตร ปรับเปลี่ยนทัศนคติสู่การพัฒนาเป็นเกษตรสีเขียวตามแบบ BCG Model เพื่อลดมลพิษ ร่วมสร้างอากาศสะอาด และสร้างความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net