Skip to main content
sharethis

Summary

  • “อำเภอสันกำแพง” เป็นหนึ่งอำเภอที่มีชื่อเสียงและความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ จุดเด่นด้านการเป็นเมืองแห่งศิลปะหัตถกรรมโดยเฉพาะการทอผ้า ทำให้นักลงทุนนอกพื้นที่เข้ามาตั้งธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้าผุดขึ้นมามากมาย
  • ปี 2566 นี้ครบรอบ 10 ปี ที่คนทำงานภาคสิ่งทอของบริษัทแห่งหนึ่งในอำเภอสันกำแพง ออกมาต่อสู้เรียกร้องสิทธิกับนายจ้างที่เป็นทุนข้ามชาติ ที่อ้างต่อลูกค้าและสาธารณะมาโดยตลอดว่าทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรมแต่กลับปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม โดยเรื่องราวของพวกเขายังไม่จบ นายจ้างทุนข้ามชาติยังคงไม่ได้จ่ายเงินชดเชยให้พวกเขา 10,194,309.52 บาท
  • สส.สันกำแพง พรรคก้าวไกล ชี้ภาพรวมเชียงใหม่ 'ขาดตำแหน่งงานที่มั่นคง' หวังมีการพิจารณาแนวทาง ‘ชดเชยให้ก่อน แล้วรัฐบาลค่อยไปไล่บี้เอาจากผู้กระทำผิด’ โดยพรรคก้าวไกลจะหยิบยกเรื่องนี้ผลักดันเป็นวาระใน กมธ.แรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

 "สันกำแพง" เมืองแห่งงานศิลปะหัตถกรรม โดยเฉพาะการ “ทอผ้า”

“อำเภอสันกำแพง” เป็นหนึ่งอำเภอที่มีชื่อเสียงและความสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวและงานศิลปะหัตถกรรม ที่คนในท้องถิ่นมีฝีมือในด้านการทำร่ม เครื่องเขิน ไม้แกะสลัก เครื่องเงิน และการทอผ้า 

โดยเฉพาะการทอผ้า สันกำแพงเป็นแหล่งทอผ้าที่มีชื่อเสียงมาแต่ครั้งอดีตมากกว่า 100 กว่าปี และได้รับการปักหมุดในระดับประเทศในการประกวดนางสาวไทย พ.ศ.2481 ผู้ชนะการประกวดในปีนั้น ได้สวมชุดที่ตกแต่งและเล่นเชิงผ้าไหมของสันกำแพงขึ้นไปประกวดบนเวที ส่งผลให้รัฐบาลในขณะนั้น ได้เชิญร้านค้าผ้าไหมจากสันกำแพงไปออกร้านขายของในงานวันรัฐธรรมนูญที่สวนอำพร ซึ่งขายดีและมีชื่อเสียงโด่งดังมาก นอกจากขายผ้าไหมปลีกหน้าร้านแล้วยังมีการส่งผ้าไหมไปขายตามร้านต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง กรุงเทพ แพร่ ลำพูน ลำปาง เป็นต้น

จุดเด่นด้านการเป็นเมืองแห่งศิลปะหัตถกรรมโดยเฉพาะการทอผ้านี้ ทำให้นักลงทุนนอกพื้นที่เข้ามาตั้งธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตเสื้อผ้าผุดขึ้นมามากมาย

10 ปี การต่อสู้ของ ‘แรงงานสันกำแพง’ หลังถูก ‘ทุนข้ามชาติ’ ละเมิดสิทธิพวกเขา


แฟ้มภาพที่กลุ่มอดีตพนักงานบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม

บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2549 มีเจ้าของเป็นนักธุรกิจชาวแคนาดา ตั้งอยู่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงประมาณก่อนปี 2556 มีพนักงานมากกว่า 500 คน ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกต่างประเทศ ซึ่งมีตลาดหลักอยู่ที่ประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา โดยเริ่มต้นมาจากแนวความคิดในการผลิตคอลเลกชั่นเสื้อผ้า สำหรับการเดินทาง พักผ่อนที่บ้าน สาหรับทำงานและโยคะ รวมทั้งยังผลิตให้กับบริษัท Pure & Co Ltd. ในประเทศแคนาดา เจ้าของสินค้าแฟชั่นแบรนด์ Neon Buddha และ Pure Handknit ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ต่อลูกค้าและสาธารณะมาโดยตลอดว่าทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม 

หลังจากทำธุรกิจอย่างราบรื่นมาช่วงระยะเวลาหนึ่ง บริษัทฯ เริ่มมีปัญหาทางการเงิน ในเดือนสิงหาคม 2556 บริษัทฯ ได้พยายามละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้างโดยการเปลี่ยนแปลงสัญญาจ้างงาน พนักงานในขณะนั้นจึงได้รวมตัวกันเพื่อเจรจาต่อรองและได้จัดตั้งสหภาพแรงงาน (สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์) ขึ้นในเดือนตุลาคม 2556 แต่บริษัทฯ ไม่เคารพสิทธิการร่วมกลุ่มของพนักงาน โดยได้เลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานหลังจากการยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ โดยปฏิเสธการจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม

ต่อมาในเดือนมกราคม 2557 บริษัทฯ ได้เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานและปฏิเสธรับกรรมการสหภาพแรงงานกลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม ตามคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ เลือกปฏิบัติต่อสมาชิกสหภาพแรงงานโดยไม่จ่ายโบนัสประจำปี 2556 และ ปี 2557 ให้กับสมาชิกสหภาพแรงงาน นอกจากนี้ยังจ่ายค่าจ้างให้กับพนักงานรายเดือนต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่จ่ายเงินสะสมในกองทุนชื่นชมคืนให้แก่ลูกจ้าง  ซึ่งทุกกรณีที่เกิดขึ้นสหภาพแรงงานได้ใช้สิทธิตามที่กฎหมายแรงงานไทยกำหนด โดยได้ร้องเรียนต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และศาลแรงงาน สำหรับกรณีค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการกระทำไม่เป็นธรรม เงินเดือนของพนักงานรายเดือน โบนัส และกองทุนชื่นชม บริษัทฯ ได้ยื่นอุทธรณ์ ต่อมาศาลฎีกาแรงงานมีคำพิพากษาให้บริษัทฯ จ่ายเงินให้กับพนักงานรายเดือน ซึ่งพนักงานได้รับเงินแล้วเนื่องจากทางนายจ้างได้นำเงินมาวางที่ศาลเนื่องจากเป็นผู้อุทธรณ์ สำหรับคดีอื่นสั่งไม่จ่าย สำหรับคดีโบนัสปี 2557 ศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัสให้กับพนักงาน แต่บริษัทฯ เพิกเฉยไม่ปฏิบัติตาม 

ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2558 บริษัทฯ ได้มีคำสั่งหยุดงานชั่วคราวภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 โดยให้เหตุผลว่ามีคำสั่งซื้อจากลูกค้าน้อยลง โดยคำสั่งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อคนงานทั้งหมด 78 คน และเรื่องที่เลวร้ายที่สุดคือบริษัทฯ ไม่จ่ายค่าจ้างให้กับคนงานทั้ง 78 คน นับตั้งแต่การประกาศใช้มาตรา 75 และในวันที่ 8 กันยายน 2558 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดคำสั่งหยุดงานชั่วคราวตามมาตรา 75 พนักงานได้เดินทางไปที่บริษัทฯ เพื่อกลับเข้าทำงานตามปกติ แต่กลับพบว่ามีประกาศว่า “ปัจจุบันนี้สถานประกอบการแห่งนี้ดำเนินกิจการโดย บริษัทสนุก การ์เม้นท์ จำกัด” ซึ่งประกาศดังกล่าวลงวันที่ 7 กันยายน 2558

ตัวแทนของสหภาพแรงงานระบุว่าคำอ้างของบริษัทฯ ที่แจ้งว่าไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้านั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทฯ ได้จดทะเบียนบริษัทใหม่ในนาม “บริษัท สนุกการ์เม้นท์ จำกัด” ในวันที่ 3 มิถุนายน 2558 ซึ่งโรงงานดังกล่าวตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและผลิตสินค้าให้กับ Pure & Co Ltd. เช่นเดียวกัน และหลังจากนั้นไม่กี่วันผู้จัดการทั่วไปของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้จดทะเบียนเปิดบริษัทใหม่โดยมีชื่อว่า “บริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด” ในวันที่ 5 มิถุนายน 2558 โดยบริษัทดังกล่าวใช้ที่ตั้งเดียวกับบริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด ที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ 

นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมน่าสงสัยในการยักย้ายทรัพย์สินของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลูให้กับบริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด เนื่องจากสหภาพแรงงานตรวจพบว่าบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด ได้ขายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานให้กับบริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2558 โดยทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเป็นบุคคลคนเดียวกันซึ่งเป็นทั้งตัวแทนบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทน่ารัก โฮลดิ้ง จำกัด และในวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 มีการดำเนินการขายเครื่องจักร ยานพาหนะ อุปกรณ์ และอื่นๆ ของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู ให้กับบริษัท น่ารัก โฮลดิ้ง 

ในการขายที่ดินและทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทฯ ไม่มีความโปร่งใส่แสดงเจตนาให้เห็นว่าพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่จ่ายหนี้สินให้กับอดีตพนักงาน เนื่องจากมีการดำเนินยักย้ายทรัพย์สินของบริษัทฯ ในช่วงเวลาที่บริษัทฯ ประกาศปิดงานบางส่วนโดยใช้มาตรา 75 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การกระทำดังกล่าวของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู อาจผิดต่อกฎหมายไทย สหภาพแรงงานได้นำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงาน และศาลแรงงานได้มีคำพิพากษาลงใน วันที่ 7 กรกฎาคม 2559 ให้บริษัทจอร์จี้ แอนด์ ลู จำกัด จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย, วันหยุดพักผ่อนประจำปี, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าชดเชย, ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, และเงินสะสมในกองทุนชื่นชม แต่เจ้าของบริษัทฯ ซึ่งเป็นชาวแคนาดา ยังคงเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลแรงงาน 

สหภาพแรงงานได้มีการดำเนินการยึดทรัพย์ของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู ตามคำพิพากษา แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยทางบริษัทฯ ได้จำหน่ายทรัพย์ที่ได้ดำเนินการอายัดแล้ว ไปโดยที่อดีตพนักงานไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ โดยที่บริษัทฯ เมื่อจำหน่ายทรัพย์ไปแล้วก็ไม่ได้จ่ายหนี้ให้กับอดีตพนักงาน แต่ได้โอนเงินจากการขายทรัพย์ไปให้เจ้าของบริษัทฯ ชาวแคนาดา ที่อยู่นอกประเทศไทย

บริษัท Pure & Co Ltd. ที่มีสำนักงานอยู่ที่แคนาดาและได้ประชาสัมพันธ์ต่อลูกค้าและสาธารณะมาโดยตลอดว่าทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม

เจ้าของบริษัทฯ ชาวแคนาดารายนี้ และ Pure & Co Ltd ได้ประชาสัมพันธ์ต่อลูกค้าและสาธารณะมาโดยตลอดว่าทำธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและคุณธรรม แต่ความเป็นจริงแล้วนับตั้งแต่อดีตพนักงานก่อตั้งสหภาพแรงงาน จนกระทั่งมีการปิดกิจการ พวกเขากลับได้ละเมิดสิทธิแรงงานอย่างร้ายแรง ทั้งยังเพิกเฉยต่อการปฏิบัติตามกฎหมายไทย และมาตรฐานแรงงานสากล

อดีตพนักงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่มีอายุโดยเฉลี่ย 40-45 ปี  ซึ่งถือว่าเป็นคนสูงวัย จึงทำให้หางานได้ยาก แต่ภาระความรับผิดชอบในครอบครัวยังคงเหมือนเดิม  เมื่อถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ แม้กระทั่งเงินสะสมในกองทุนชื่นชม ที่คิดว่าเป็นเงินสะสมไว้เมื่อลาออกจากงานก็จะมีเงินก้อนหนึ่ง แต่เมื่อถูกเลิกจ้างนายจ้างก็ปฏิเสธไม่จ่ายให้ จึงทำให้อดีตพนักงานนั้นตกอยู่ในสภาวะยากลำบาก

ต่อมาในช่วงปี 2562 อดีตพนักงานได้ดำเนินการร้องเพื่อบังคับคดี และได้มีการอายัดทรัพย์ได้แก่บ้านพักเจ้าของบริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู ในอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่สามารถอายัดที่ดินได้เนื่องจากมีการขายออกไปแล้ว ในช่วงดำเนินการการเพื่อการขายทอดตลาด ทางตัวแทนบริษัทฯ ได้เข้ามาเจรจากับตัวแทนอดีตพนักงาน โดยแจ้งว่าจะยอมจ่ายให้กับลูกจ้าง เมื่อสามารถขายบ้านได้

ในปี 2563 ตัวแทนคนงานและตัวแทนบริษัทฯ ยังคงเจรจากันอยู่ เพื่อหาข้อตกลงกัน แต่ในช่วงเดือนมีนาคมตัวแทนบริษัทฯ ได้ดำเนินการขายและโอนบ้านให้กับผู้ซื้อ และโอนเงินจากขายบ้านหลังดังกล่าวให้กับเจ้าของบริษัทฯ ชาวแคนาดาที่ต่างประเทศ โดยไม่ได้นำมาจ่ายให้กับอดีตพนักงานแต่อย่างใด ซึ่งผู้ซื้อบ้านหลังดังกล่าวทราบว่าบ้านหลังดังกล่าวอยู่ในคดีแรงงาน เพราะผู้ซื้อได้ให้การณ์ในชั้นศาลแรงงานจังหวัดเชียงใหม่ว่าเป็นผู้ประสงค์ที่จะซื้อบ้านหลังดังกล่าว โดยได้วางเงินมัดจำไว้ในบางส่วน 

ล่วงมาถึงปี 2566 ครบรอบ 10 ปี ของกรณีพิพาทนี้ พบว่าอดีตพนักงานส่วนใหญ่ ยังไม่ได้รับเงินชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พวกเขาสมควรได้รับแต่อย่างใด

ข้อเรียกร้องของคนงานล่าสุด (ช่วงปี 2566)

ช่วงปี 2566 สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์ ซึ่งเป็นตัวแทนของอดีตพนักงานบริษัท จอร์จี้ แอนด์ลู จำกัด ได้พยายามเรียกร้องไปยังหลายหน่วยงานให้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้บริษัท จอร์จี้ แอนด์ ลู, เจ้าของบริษัทฯ ชาวแคนาดา และ Pure & Co Ltd. ซึ่งทุนสัญชาติแคนาดาให้ปฏิบัติตามกฎหมายไทย และคำพิพากษาของศาล โดยการจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ให้กับอดีตพนักงาน:

1. ค่าชดเชยและค่าบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง 51 คน จำนวน 3,924,114.75 บาท

2. เงินจากกองทุนชื่นชมให้แก่ลูกจ้าง 59 คน จำนวน 930,955.77 บาท 

3. ค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน-7 กันยายน 2558 จำนวนให้แก่ลูกจ้าง 37 คน 1,008,973 บาท

4. ค่าจ้างค้างจ่ายของพนักงานรายเดือนที่ยังจ่ายไม่ครบตามกฎหมายกำหนด จำนวน ให้แก่ลูกจ้าง 43 คน 333,850 บาท

5. ค่าเสียหายจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมทั้งกลุ่มแกนนำ 10 คน จำนวน 460,260 บาท และกรรมการสหภาพแรงงาน 4 คน จำนวน 848,000 บาท

6. ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมให้กับกลุ่มคนลูกจ้าง 37 คนที่ ถูกลอยแพ จำนวน 2,644,700 บาท

7. วันลาพักผ่อนประจำปีที่เหลือให้แก่ลูกจ้าง 27 คน 43,456 บาท 

รวมเป็นจำนวนเงินที่เจ้าของบริษัทฯ ชาวแคนาดา และ Pure & Co Ltd. ต้องจ่ายให้กับอดีตพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 10,194,309.52 บาท

สส.สันกำแพง พรรคก้าวไกล ชี้ภาพรวมเชียงใหม่ 'ขาดตำแหน่งงานที่มั่นคง' หวังมีการพิจารณาแนวทาง ‘ชดเชยให้ก่อน แล้วรัฐบาลค่อยไปไล่บี้เอาจากผู้กระทำผิด’


ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 พรรคก้าวไกล

ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.จังหวัดเชียงใหม่ เขต 3 [อำเภอแม่ออน, อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง (ยกเว้นตำบลสันกลาง ตำบลบวกค้าง และตำบลแช่ช้าง)] พรรคก้าวไกล ได้นำเรื่องความเดือนร้อนของกลุ่มแรงงานกลุ่มนี้ หารือในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา โดยร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้หาทางประสานจับกุมเจ้าของบริษัทฯ ตามหมายจับที่มี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับจากทางตำรวจ ระบุว่าหมายจับที่ว่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในระบบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่คดีความไม่คืบหน้า ซึ่งขณะนี้ก็ยังคงรอคำตอบเพิ่มเติมจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ณัฐพล ยังให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมต่อประเด็นนี้ว่าในด้านการเยียวยาและฟื้นฟูกลุ่มแรงงานที่ประสบความเดือดร้อนนั้น ตนได้พูดคุยกับ สส. เซีย จำปาทอง บัญชีรายชื่อสัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ซึ่ง สส.เซีย ได้ให้ข้อมูลว่ากรณีความเสียหายลักษณะเดียวกันนี้มีเยอะมากในประเทศไทย โดย สส.เซีย ได้รับร้องเรียน เรื่องนายจ้างต่างชาติลอยแพคนงานเกือบทุกสัปดาห์ ข้อเสนอจาก สส. เซีย ที่ได้เรียกร้องไปยังกระทรวงแรงงานแล้ว คือ ให้กระทรวงแรงงาน หรือ รัฐบาล รวบรวมความเสียหายที่เป็นตัวเงินทั้งหมดจากทุกเคสที่เกิดขึ้น และพิจารณาแนวทาง ‘ชดเชยให้ก่อน แล้วรัฐบาลค่อยไปไล่บี้เอาจากผู้กระทำผิด’ ซึ่งข้อเสนอนี้ ทาง สส. เซีย และปีกแรงงาน พรรคก้าวไกล จะหยิบยกเรื่องนี้ ผลักดันเป็นวาระในคณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร ในเดือน ต.ค. 2566 นี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าการรวบรวมมูลค่าความเสียหายแล้วมีมูลค่าสูงมาก ด้วยสาเหตุที่บางคดีเกิดขึ้นนานแล้ว และมีการคำนวณดอกเบี้ย ก็อาจจะมีเกณฑ์ในการชดเชยบางส่วนเพิ่มเติมก่อน แล้วจึงไล่บี้ผู้กระทำความผิด

นอกจากนี้ณัฐพลยังมองถึงปัญหาการขาดตำแหน่งงานที่มั่นคงทั้งอำเภอสันกำแพงและทั้งในภาพรวมของจังหวัดเชียงใหม่

"ต้องมองในภาพรวมของเชียงใหม่ แน่นอนว่าสันกำแพงมีต้นทุนหัตถกรรม วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ซึ่งอำเภออื่นๆ ก็ล้วนมีเหมือนและต่างกัน แต่ปัญหาภาพรวมของเชียงใหม่ คือ เราขาดตำแหน่งงานที่มั่นคงไป เรามีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย จำนวนมาก ผลิตนักศึกษาออกมามาก แต่งานรองรับไม่มี เพราะ เราไม่มีบริษัทใหญ่ ไม่มีธุรกิจใหญ่ๆ แบบกรุงเทพฯ หรือ หัวเมืองอุตสาหกรรมอื่นๆ มันก็เป็นปัญหาที่มีตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่มา เราเห็นคนเชียงใหม่ส่วนมากค้าขาย พึ่งพาเศรษฐกิจตามฤดูกาล เป็นผู้ประกอบการกันเสียเยอะ ผู้สูงวัยส่วนมากของบ้านเราก็เป็นเช่นนั้น ยังคงต้องทำงานอยู่ เพราะ ขาดความมั่นคงในวัยแก่เฒ่า ลูกหลานเองในปัจจุบันก็ไม่สามารถเก็บเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ได้แบบในอดีต เพราะ ค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือน โตช้ากว่าค่าครองชีพที่สูงขึ้น" ณัฐพล กล่าว

ณัฐพล ชี้ว่าถ้าจะแก้ปัญหานั้น ก็ต้องแบ่งในส่วนของ 1. คนทำงาน 2. การสร้างงาน 3. ความมั่นคงของชีวิต

"1. คนทำงาน ง่ายสุด คือ การขึ้นค่าแรง เงินเดือน ค่าตอบแทน ให้เหมาะกับสภาพจริงในปัจจุบัน ซึ่งพรรคก้าวไกลประกาศไว้ที่ 450 บาทต่อวันเป็นฐาน และจะให้ปรับขึ้นอัตโนมัติตามเศรษฐกิจที่โตขึ้นในอนาคต ในส่วนนี้พรรคก้าวไกลยื่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เข้าสู่สภาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น และในส่วนของรัฐบาล กระทรวงแรงงานก็ประกาศแล้วว่าจะปรับค่าแรงขึ้นเป็น 400 บาท ต่อวันภายในปลายปีนี้ ส่วน พ.ร.บ. ด้านแรงงานอีกฉบับที่กำลังยื่นเข้าสภา คือ ร่าง พ.ร.บ.สหภาพแรงงาน ร่าง พ.ร.บ.นี้คือการส่งเสริมให้ทุกอาชีพสามารถรวมตัวกันเป็นสหภาพเพื่อเรียกร้องและกำหนดสิทธิต่างๆ ที่พึงมีได้ โดยที่รัฐจะต้องรับรอง"

"2. การสร้างงาน การสร้างตำแหน่งงาน อันนี้เป็นเรื่องยาก เพราะถ้าหากที่ผ่านมาทำสำเร็จ ทุกวันนี้เราคงยังไม่ต้องไปวิ่งหางาน แย่งงาน หาเงินเดือนสูงๆ ที่กรุงเทพฯ การสร้างงานก็มีหลายวิธีแบบที่ทำๆกันมา เช่น ดึงต่างชาติมาลงทุน ดึงโรงงานมาเปิด ดึงการท่องเที่ยวมา ฯลฯ ซึ่งสำหรับผมมันเป็นมุมมองที่เราต้องดึงอะไรบางอย่างเข้ามาก่อน แล้วคนไทยถึงจะไปเกาะตามนั้น แต่ผมอยากจะมองให้ต่างๆ ออกไป ว่าทำไมเราไม่สร้างอะไรจากข้างในก่อน สร้างอะไรจากที่เรามี แก้ไขอะไรที่ไม่ดี ไม่ทันยุคเสียก่อน เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ทำเพื่อคนในก่อน แล้วเดี๋ยวเม็ดเงินก็ตามมาเอง ยกตัวอย่างเช่น ในความเป็นจริงคนไทยหรือคนเชียงใหม่มีความคิดสร้างสรรค์มาก มีความครีเอทีฟสูงมาก แต่ความครีเอทีฟเหล่านี้ไม่สามารถนำไปค้ำกู้เงินได้ ความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ถูกกรอบด้วยศีลธรรมจารีตที่ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยกฎหมายเสียด้วยซ้ำ แต่ผู้มีอำนาจ ผู้อนุมัติ กลับมองว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะใช้ดุลยพินิจในการตัดสิน ผมรู้สึกว่าที่ผ่านมา เราถูกกำหนดว่า ให้เรียนอะไรเพื่อจะไปทำอะไร เพราะรัฐเตรียมการไว้ให้คุณแบบนี้ ผมคิดว่ามันถึงเวลาที่ประชาชนต้องผู้กำหนดว่าฉันอยากจะทำสิ่งนี้ แล้วรัฐมีหน้าที่ซัพพอร์ตสิ่งที่ฉันอยากจะทำให้เป็นจริง"

"และ 3. ความมั่นคงของชีวิต แน่นอนว่า พรรคก้าวไกลเชื่อในรัฐสวัสดิการ แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการสุดโต่งขนาดนั้น สิ่งที่เรานำเสนอ คือ สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่สุดที่คนไทยพึงมี เช่น เงินเด็กเล็ก ทุกวันนี้ เราก็มีเงินเด็กเล็กเดือนละ 600 บาท ซึ่งเราเสนอเพิ่มเป็น 1,200 บาท เงินผู้สูงวัย ทุกวันนี้ก็ 600, 700, 800 บาทต่อเดือน เราก็เสนอเป็นอัตราเดียวกัน 3,000 บาท ซึ่ง 3,000 บาท เกิดจากคำนวณแล้วว่าเป็นจำนวนเงินที่ต่ำที่สุดเท่าที่คนไทยหนึ่งคนจะมีชีวิตรอดได้ในแต่ละเดือน เราพยายามทลายทุนผูกขาดโดยแก้โครงสร้างราคาไฟฟ้าให้เป็นธรรม เราพยายามตัดลดงบที่ไม่จำเป็น เพื่อมาลงทุนทำให้น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ เพื่อลดต้นทุนการซื้อน้ำ การซื้อเครื่องกรองน้ำของประชาชน"

"มีอีกหลายอย่างที่เราคิดจะทำครับ เราอยากเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นตาข่ายรองรับให้กับทุกคน ไม่ใช่ทำให้ประเทศไทยให้เป็นตาข่ายที่ทุกคนต้องแย่งกันปีน" ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net