Skip to main content
sharethis

กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายจัดงานบุญน้ำซับคำป่าหลายครั้งที่ 4 พร้อมเปิดตัวงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง” กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2 ระบุ 50 ครอบครัวในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่ายังมีพลังในการสู้ต่อ แม้จะมีราคาที่ต้องจ่าย เปิดข้อมูล 6 รูปแบบปฏิบัติการของรัฐที่เข้าแย่งยึดที่ดินชาวบ้าน อาทิ บังคับให้รื้อถอน ยึดทำลายทรัพย์สิน และพืชผล ขณะที่เวทีเสวนาพลังงานสะอาดแบบไหนที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชนรุมสับพลังงานสะอาดเป็นวาทกรรมของรัฐกับทุนแต่งงานเป็นผัวเมียกันและผลิตวาทกรรมขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมให้ตนเองในการที่จะเข้าไปแย่งยึดทรัพยากรของประชาชนเพื่อพัฒนาการเติบโตของทุนพลังงาน แนะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนให้อำนาจประชาชนในการจัดการทรัพยากรของตนเองได้ 

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2566 ที่แหล่งน้ำซับคำป่าหลาย บ้านแก้ง-โนนคำ ต.คำป่าหลาย อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร นักปกป้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ได้จัดงานบุญน้ำซับคำป่าหลาย ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อ ทวงคืนที่ดินทำกิน คืนถิ่นแผ่นดินราษฎร บทเรียนการต่อสู้ ที่ทรงคุณค่าคำป่าหลาย โดยในช่วงเช้า ได้มีพิธีทำบุญตักบาตร และมีการจัดแสดงนิทรรศการเล่าเรื่องขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มฯ โดยตัวแทนของกลุ่มฯได้ร่วมกันบอกเล่าความหวังและเป้าหมายในการต่อสู้

เปิดงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง”  กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2”  

ต่อมาเป็นเวทีเปิดงานวิจัย “การแย่งยึดที่ดินจากนโยบายป่าไม้ในยุคทหารคสช. กับการผลิตซ้ำความจนเรื้อรัง”  กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงหมูแปลง 2”  ของกิติมา ขุนทอง อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร ภายใต้สนับสนุนของ Protection International มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และ Greenpeace Thailand โดยการนำเสนอในครั้งนี้ตัวแทนกลุ่มฯ ได้ร่วมบอกเล่าถึงรายละเอียดข้อมูลของตนเองที่ใช้ประกอบในงานวิจัยด้วย

พันมหา พันธโคตร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลายบอกเล่าข้อมูลว่า ตนอยู่ที่นี่ตั้งแต่เด็ก บรรพบุรุษได้มีการอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานจับจองพื้นที่ทำกินไว้ ซึ่งตนก็ได้สิทธิในที่ดินทำกินจากการจับจองของพ่อแม่ โดยมีการมาจับจองตั้งถิ่นฐานทำสวน ปลูกข้าว ล่าสัตว์ ซึ่งที่ดินแถวนี้แต่ก่อนอุดมสมบูรณ์มาก หลังจากที่พวกเราทำกินกันมานานแล้ว รัฐบาลก็เริ่มเข้ามาประกาศให้พื้นที่ที่พวกเราทำกินตั้งแต่บรรพบุรุษเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งในขณะที่รัฐประกาศเราก็ทำตามหมดทุกอย่าง ทั้งปลูกมัน ปลูกยาง แต่พอช่วงรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา เป็นรัฐมนตรี ได้มีการใช้นโยบายแย่งยึดที่ดิน ทำให้พวกเราเดือดร้อนและได้รับผลกระทบมาก

เราต้องสู้ทวงที่ดินของเรากลับคืนมาเพราะเป็นที่ดินที่เป็นมรดกของบรรพบุรุษ เราอยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ การเข้ามาของการประกาศนโยบายป่าสงวนทับพื้นที่ของเราทำให้พวกเราจึงจำเป็นที่จะต้องทวงคืนพื้นที่ของบรรพบุรุษเรากลับคืนมา เราสู้เพื่อมูลพ่อแม่ สู้เพื่อสิทธิทำกิน หากไม่สู้ก็จะไม่มีพื้นที่ทำกิน

ขณะที่จิราวรรณ  ชัยยิ่ง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า เมื่อปี 2559 เราถูกยึดที่ดินจำนวน 12 ไร่ ซึ่งที่ดินดังกล่าวได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษของสามี ตอนนั้นเราถูกข่มขู่จากผู้นำชุมชนด้วย หลังจากที่เจ้าหน้าที่รัฐได้ยึดพื้นที่ของเราไป รัฐได้นำป้ายห้ามทำกินมาปัก หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำกล้าไม้เข้ามาปลูกทับพื้นที่ ทำให้เราไม่สามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่ของเราได้ แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ ลุกขึ้นสู้โดยการรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ เพื่อยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ที่เราต้องสู้เพราะที่ดินตรงนั้นเป็นที่ดินของเรา เราต้องทวงคืน รัฐจะมาแย่งยึดไปจากเราไม่ได้

ด้านปราณี เพียงดี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า พื้นที่ที่ตนโดนยึดไปนั้นเป็นที่ที่มีเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. จากที่มี 19 ไร่ เหลือเพียง 1 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่าเป็นที่ทับป่าสงวนฯ ที่ตรงนั้นเป็นที่ที่ตนได้รับมาจากบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน “การสูญเสียที่ดินจึงหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่จะประคับประครองชีวิตได้”

ขณะที่บุญญัง ไชยบรรณ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า ที่ดินของตนที่ถูกแย่งยึดไปจำนวน 70 ไร่ ปกติที่ดินเหล่านี้จะใช้ในการทำสวนยาง สวนปาล์ม นาข้าว ตอนนี้เป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) เกือบล้านบาท การถูกแย่งยึดที่ดินก็เหมือนการถูกแย่งยึดชีวิตเหมือนกับคนอื่น เราจึงจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ เราได้ออกไปยื่นหนังสือให้กับผู้ว่า ให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งการออกไปแต่ละครั้งมีต้นทุนที่ต้องจ่าย แต่เราต้องสู้เพื่อให้เราได้สิทธิในที่ดินทำกินของเรากลับคืนมา

เปิด 6 รูปแบบปฏิบัติการแย่งยึดที่ดินของเจ้าหน้าที่ยังสร้างความสูญเสียให้กับชาวบ้าน

ด้านกิติมา ขุนทอง นักวิจัย กล่าวว่าจากการศึกษาข้อมูลในงานวิจัยพบว่าชาวบ้านที่ต่อสู้มาในรอบ 1 ปี มีการทำกิจกรรมกว่า 100 ครั้ง ถ้าเอาค่าแรงขั้นต่ำของ 300 บาทไปคูณ ปีหนึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่า 3-4 หมื่นบาท ดังนั้นนโยบายทวงคืนผืนป่าจึงเป็นกับดักความยากจนหลุมแรก และหลุมที่สองก็คือการที่ต้องต่อสู้ภายใต้นโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีราคาที่ต้องจ่าย หากนโยบายทวงคืนผืนป่าบอกว่าเป้าหมายหลักคือการทวงคืนเพื่อแก้ไขปัญหาป่าไม้และลดความยากจน แต่การศึกษาจากงานวิจัย นโยบายทวงคืนผืนป่าได้เป็นกับดักความจนของคนที่นี่ ซึ่งจากงานวิจัยคำป่าหลายจาก 50 ครัวเรือนในพื้นที่คำป่าหลายได้รับผลกระทบจากการแย่งยึดที่ดิน ผ่านนโยบายป่าไม้ในยุคทหาร คสช. โดยถูกแย่งยึดที่ดินไป 507ไร่ 26 งาน 30 ตารางวา และมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยประมาณการ คือการเสียที่ดิน เสียสิทธิในที่ดิน เสียโอกาสในการทำธุรกรรมทางการเงิน สูญเลียศักยภาพในการบริหารจัดการเงินครัวเรือนและหนี้สิน เสียโอกาสในการทำธุรกิจ สูญเสียรายได้ 7,000 - 250,000 ต่อรอบการผลิต และยังสูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย

นอกจากนี้รูปแบบปฏิบัติการแย่งยึดที่ดินของเจ้าหน้าที่ยังสร้างความสูญเสีย และความเจ็บปวดให้กับชาวบ้านคำป่าหลาย เช่น บังคับให้รื้อถอน ยึดทำลายทรัพย์สิน และพืชผล ทำลายพืชผลและติดป้ายห้ามเข้าพื้นที่ทำกิน ยึดพื้นที่หรือถูกให้ออกจากพื้นที่ และปิดป้ายปลูกป่าทับ รวมทั้งปักแนวเสา ข่มขู่ด้วยวาจา หรือกำลังอาวุธให้ออกจากพื้นที่ รวมทั้งบังคับให้ลงลายมือชื่อยินยอมออกจากพื้นที่ทำกิน ถ่ายรูปยืนแปลง จับกุมดำเนินคดีและกักขังหน่วงเหนี่ยว รวมถึงยึดสิทธิในที่ดินแต่ไม่ดำเนินคดี

เวทีเสวนาพลังงานสะอาดแบบไหนที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชน 

ต่อมาเป็นเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ พลังงานสะอาดแบบไหนที่จะไม่ซ้ำเติมประชาชน (ความยากจน) ดำเนินรายการโดย ปรานม สมวงศ์ Protection International

จิรารัตน์ ประเสริฐสังข์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย กล่าวว่า การต่อสู้ของพื้นที่เรา เป็นการต่อสู้ประเด็นเรื่องเหมือง ที่ดิน ผืนป่า โครงการกังหันลม การที่กลุ่มฯเราสามารถชนะเรื่องต่างๆเหล่านี้ได้นั้น เพราะเรามีเรื่องป่าน้ำซับ “ป่าเป็นเสมือนเนื้อหนังของเรา น้ำเปรียบเสมือนเส้นเลือดของเรา” เราจึงได้ลุกขึ้นมาปกป้อง หวงแหนพื้นที่ของเรา และสำหรับคนที่ไม่มีที่ดินก็ออกมาสู้เช่นกัน สู้เพื่อน้ำ สู้เพื่อป่าของเรา ดังนั้นเมื่อมีคนจะเข้ามาทำลายบ้านของเรา เราจึงได้ออกมารวมกลุ่มยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่เราต่อสู้เพราะเราเชื่อมั่นว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นของเราเพื่อที่จะได้มีพลังในการต่อสู้ เราจะไม่ยอมให้หน่วยงานรัฐมารังแกเราอีกต่อไป การที่เรารวมกลุ่มฯเพื่อไปยื่นหนังสือ ช่วงแรกที่เราออกมาชุมนุม เนื่องจากตอนนั้นพวกเรามีน้อย หน่วยงานรัฐก็ไม่ค่อยให้ความสนใจและผลักพวกเราออกไป โดยให้เหตุผลว่าให้รอไปก่อน พอเห็นคนจากกลุ่มของพวกเราเยอะขึ้น หน่วยงานรัฐก็เริ่มกลัว สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือเมื่อคนน้อยเรามักจะไม่ประสบความสำเร็จ ตราบใดที่มีคนเยอะเราก็จะได้ชัยชนะเร็วขึ้น ขอให้สู้ไปด้วยกัน

และอยากขอให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าจะเอาโครงการดังกล่าวหรือไม่เอา เพราะโครงการต่างๆที่จะเข้ามานั้นจะตั้งอยู่ในพื้นที่ดินของพวกเรา เรามั่นใจว่าที่ดินเป็นของเรา รัฐหรือเอกชนที่เข้ามาก็ต้องมาถามชาวบ้านก่อน รัฐยังมาอ้างเรื่องโลกร้อนอีกอยากฝากถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีให้แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

ขณะที่ปราโมทย์ ผลภิญโญ  เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) กล่าวว่า กรณีของคำป่าหลายเป็นปรากฎการณ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นความผิดพลาดในการบริหารจัดการของรัฐ ในเรื่องนโยบายทวงคืนผืนป่าของคณะรัฐประหาร ตามคำสั่งที่ 64/59 และคำสั่งที่ 66/59 เพราะเมื่อตรวจข้อเท็จจริงแล้วพบร่องรอยการทำกินก่อนปี 2542 ดังนั้นเมื่อมีการแย่งยึดที่ดินไปจากชาวบ้านความเสียหายจึงได้เกิดขึ้นใครจะเยียวยาใครจะรับผิดชอบ พื้นที่ชัยภูมิมีปัญหาเรื่องเดียวกับคำป่าหลาย ภาคเหนือ หรือภาคใต้ เองก็มีปัญหาเช่นเดียวกับพี่น้อง ถูกตัดยางพารา รัฐมักจะบอกว่าชาวบ้านเป็นนายทุนโดยบอกว่าเรามีพื้นที่ยางจำนวนมาก แต่ไม่ได้เข้าใจว่าจะเก็บหอมรอบริบให้ได้มาซึ่งผืนดิน ความถี่เกิดขึ้นในปี 2557 ต่อมาเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งการข่มขู่ คุกคาม แย่งยึด ประกอบกับช่วงนั้นไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันอีก ในช่วงที่เกิดความขัดแย้งเรื่องที่ดินมักจะเกิดในยุคเผด็จการทหาร เมื่อมาวิเคราะห์ก็จะเห็นได้ชัดว่าเกิดจากอำนาจโครงสร้างทางการเมือง รวมศูนย์อำนาจ แทนที่จะใช้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงกลับใช้หน่วยงานอื่นแทน เช่น กอ.รมน. การผูกขาดอำนาจของรัฐนำมาสู่ผลกระทบที่เกิดขึ้นของพี่น้องคำป่าหลายที่พบเห็นได้จนถึงทุกวันนี้ องค์กรเสือกระดาษอย่างองค์กรลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจที่ซื้อขายคาร์บอนเครดิตโดยตรง ล่าสุดเมื่อสองวันก่อนองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ ออป. ได้ทำสัญญากับบริษัทเอกชนเพื่อที่จะเซ็นสัญญาล่วงหน้าซื้อคาร์บอนเครดิต โดยเอาพื้นที่สวนป่าของ ออป. 80 แห่ง เนื้อที่กว่า 150,000 ไร่ เป็นพื้นที่เป้าหมาย เราจึงต้องมีกลไกติดตามเฝ้าระวังเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไปด้วย 

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาในตอนนี้คือการที่รัฐรวมศูนย์การจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ดินไปไว้ที่ตนเอง การที่ดึงอำนาจบริหารจัดการไปไว้ในมือ ทำให้เขาสามารถทำอะไรก็ได้ ตนยืนยันว่าแร่เป็นของประชาชน ที่ดินเป็นของประชาชนทุกคน ไม่ใช่เป็นของรัฐ เราเป็นคนแผ้วถางจับจองด้วยสองมือสองตีนของเรา จับจองมาตั้งแต่บรรพบุรุษของเรา แต่อยู่ ๆ ก็มีคนมาบอกว่าเป็นของรัฐ  และมีการใช้วาทกรรมเพื่อยัดเยียดและป้ายสีให้เราเป็นคนผิด เหมือนกับพี่น้องภาคเหนือถูกแปะป้ายว่าทำไร่เลื่อนลอย หรือพี่น้องที่ภาคอีสานที่ถูกแปะป้ายว่าเป็นผู้บุกรุกป่า ทั้งๆที่ที่ดินเหล่านั้นเป็นของประชาชน การแย่งยึดผ่านความคิดรวบอำนาจในการจัดการทรัพยากรของรัฐ

ตอนนี้วาทกรรมแย่งยึดถูกเปลี่ยนแปลงเป็นซอฟพาวเวอร์ด้วยการอ้างถึงพลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องมือในการที่รัฐนำมาใช้แย่งยึดทรัพยากรของเรา และในอนาคตข้างหน้าก็จะทำให้ประชาชนมาปะทะทางความคิดกันเอง เราจะเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดแบบไหนที่เป็นธรรมและไม่ทำให้อำนาจหลุดลอยไปจากประชาชน

ตอนที่เราไปประชาสัมพันธ์เรื่องงาน เราถูกตั้งคำถามว่าถ้าไม่เอากังหันลมเราจะเอาอะไร เราจะบอกว่าเราเห็นว่าปัญหาเรื่องโลกร้อนเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นเราจึงอยากให้มีการลดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ลดการรวมศูนย์อำนาจ ดึงอำนาจของรัฐจากส่วนกลางกระจายสู่ภูมิภาค เราจะทำแบบนั้นได้อย่างไร เราจะทำแบบนั้นภายใต้รัฐธรรมนูญห่วยห่วยแบบนี้ได้หรือไม่ คำว่าสิทธิชุมชนมันถูกลบออกไปจากรัฐธรรมนูญ มันเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดมากๆว่าเค้าไม่ได้ต้องการให้อำนาจประชาชนในการจัดการทรัพยากร

เราปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่าเราต้องแก้ไขกฎหมายสูงสุดของประเทศ นั่นก็คือรัฐธรรมนูญ เพื่อที่จะเปลี่ยนความคิดใหม่ในการเดินหน้าของประเทศ เราจะไม่เอาอีกแล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ทำให้เราต้องอยู่กับความทุกข์ทรมาน เราต้องร่วมกันเขียนกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ เพื่อให้เราได้กำหนดอนาคตของตัวเองอย่างแท้จริง

ขณะที่ ดร.สุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการอิสระ และ อดีตอาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พลังงานสะอาดเป็นวาทกรรมของรัฐกับทุนแต่งงานเป็นผัวเมียกัน และผลิตวาทกรรมนี้เพื่อที่จะสร้างความชอบธรรมให้ตนเองในการที่จะเข้าไปแย่งยึดทรัพยากรมาเพื่ออ้างการพัฒนา ซึ่งถ้าเรามองย้อนกลับไปพลังงานมาจากไหน เกิดขึ้นเมื่อไหร่ เราสามารถย้อนกลับไปที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เกิดขึ้นในรัฐบาลสมัย คสช. ซึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติพูดถึงเรื่องการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เรื่องการเติบโตสีเขียว

เราจะเห็นว่าคำว่าสะอาดมันแฝงไว้ด้วยเรื่องของการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเติบโตของทุนทางพลังงานเรื่องของพลังงานสะอาดจึงเป็นการเปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้กับทุนพลังงานไปสะสมทุนให้มีพื้นที่มากขึ้น มีทรัพยากรมากขึ้น เติบโตมากขึ้น เป็นหลักการของทุนนิยมต้องเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และเข้าไปแย่งยึดที่ดินและผืนป่าของชาวบ้านเพื่อเอามาตอบสนองในเรื่องของความต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจของตนเอง ทุนนิยมต้องการผลกำไรและการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น กำไรมากขึ้น ขณะที่ต้องการจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ดังนั้น ป่าสาธารณะที่อยู่รอบๆหมู่บ้านจึงเป็นพื้นที่เป้าหมาย เพราะการเช่าพื้นที่ป่าถูกมาก จึงต้องการที่จะลดต้นทุนในการที่จะผลิตเพื่อให้มีกำไรมากขึ้น เพราะต้องมองหาพื้นที่ป่าที่จะสามารถเช่าในราคาที่ถูกได้ก็เลยแต่งงานกับรัฐ จะได้เป็นผัวเมียกัน และจะได้ช่วยเหลือดูแลกัน

ตามหลักการสากลแล้วกล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า “อาชญากรหรือคนที่ก่อมลภาวะหรือคนที่ทำให้เกิดโลกร้อนจะต้องเป็นผู้จ่าย” แต่ตอนนี้เขาไม่อยากที่จะจ่าย และพยายามสร้างวาทกรรมที่จะไม่รับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำไว้ มันมีหลักการสากลที่บอกว่า “ผู้ก่อมลภาวะจะต้องเป็นผู้จ่าย” แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกลุ่มเหล่านี้ซึ่งเป็นคนที่ทำให้เกิดโลกร้อนก็ไม่อยากจ่าย อยากจะผลักภาระให้กับคนอื่น ซึ่งก็คือพวกเราที่จะต้องจ่าย

การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเป็นเรื่องที่ดีเราควรจะทำ เราควรขยับแต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดจะต้องจะต้องมีความชอบธรรมเป็นธรรมและต้องไม่ไปซ้ำเติมความยากจนของประชาชนที่มีอยู่แล้วให้แย่ลงไปอีก ดังนั้นกระบวนการให้ได้มาซึ่งพลังงานสะอาดจะต้องทบทวนในเรื่องของวัฒนธรรม ในเรื่องความรู้ของพี่น้องชาวบ้าน เรื่องของสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกัน และในอีก 7 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะไปแถลงต่อเวทีสหประชาชาติว่าเราจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ หลังจากนี้เอกชนก็จะต้องมองหาพื้นที่ปลูกป่า อาจจะเกิดขึ้นที่ป่าสงวนหรือนอกพื้นที่ป่าก็ได้ เราจึงต้องช่วยกันจับตา ดังนั้น รอบหน้าถ้าพรรคการเมืองไหนบอกว่าจะไปผลักดันเรื่องคาร์บอนเครดิตให้เกิดขึ้น เราจะต้องไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น

ขณะที่ สส.อภิชาติ ศิริสุนทร เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า หลักการที่จะใช้ทรัพยากรของประเทศต้องอยู่บนหลักการของสิทธิมนุษยชนและเป็นธรรม และถ้าเราไม่อยู่บนหลักการนี้มันก็จะเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำขึ้นมา เช่นนโยบายคาร์บอนเครดิตที่เห็นกับตาในพื้นที่กลายเป็นการฟอกเขียวให้กับนายทุน แทนที่จะไปบังคับให้นายทุนลดการใช้คาร์บอนไดออกไซด์ที่ต้นตอ แต่กลับผลักภาระให้กับประชาชนโดยไปไล่ที่ทำกินของพี่น้องประชาชน ปล่อยให้นายทุนเช่าในราคาถูก และทำให้ชีวิตคนต้องออกจากที่ทำกินโดยไม่มีคุณค่าเลย แบบนี้ตนคิดว่าพลังงานสะอาดมันจะไม่สะอาด ถ้าจะให้สะอาดจริงจะต้องใช้อำนาจอย่างเป็นธรรม อำนาจที่ผูกขาดจากส่วนกลางไม่เป็นธรรม มันต้องมองให้ครบทุกมิติ ทั้งมิติของวัฒนธรรม มิติของชนชุมชน มิติของชีวิต วิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนทั้งหลายที่เป็นคนส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจะต้องมองให้ครบ ไม่ใช่มองเพียงมิติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว

เราต้องมาปรับเรื่องโครงสร้างอำนาจใหม่ทั้งหมด สิ่งที่จะแก้ได้อย่างเป็นรูปธรรมก็ต้องแก้กฎหมายหลายฉบับ รวมถึงกฎหมายรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยที่จะต้องแก้ให้อำนาจเป็นของราษฎร ไม่ใช่แก้ให้กฎหมายออกมาจากกลุ่มเผด็จการ เราจะต้องใช้สองกลไกในการรื้อกฎหมายป่าไม้ที่ดินใหม่หมด คือ หนึ่งกลไกในสภาและสองกลไกนอกสภา สำคัญที่สุดคือการเลือกใช้กลไกในสภาที่เป็นตัวแทนของเราที่พวกเราควบคุมได้ ซึ่งกลไกที่พวกเราควบคุมไม่ได้เราต้องสั่งสอนมัน สำคัญที่สุดคือเครือข่ายพี่น้องประชาชนจะต้องเข้มแข็ง ต้องเข้าใจตรงกันในหลักการนี้เราเข้าใจหรือไม่ว่าอำนาจทั้งหลายและทรัพยากรมนุษย์ควรเป็นของประชาชนร

อย่างกรณีเรื่องของคาร์บอนเครดิต เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากพีมูฟ มันไม่มีตัวชี้วัดว่ามันจะแก้ปัญหาการลดคาร์บอนได้ แต่เป็นการผลักภาระให้กับประชาชนเอื้อให้กลุ่มทุนฟอกเขียวตัวเอง เราตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องนี้ ในฐานะเป็นพรรคการเมืองเราเห็นว่าการลดคาร์บอนต้องจัดการที่ต้นกำเนิด ให้โรงงานที่เป็นต้นตอในการปล่อยต้องจัดการในพื้นที่ของตนเองให้ได้อย่างเห็นผลที่ผ่านมามีการแก้กฎหมายที่ลดขั้นตอนและเอื้อให้ง่ายขึ้นต่อทุน โดยมองเพียงมิติเศรษฐกิจมิติเดียว ดังนั้นตนคิดว่าการพิจารณาอนุญาตต้องไปดูกฎหมายที่เราจะปรับแก้โดยเพิ่มอำนาจให้กับประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรของตนเองได้

ด้านปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ระบุว่า เราจะทำอย่างไรให้อำนาจอธิปไตยและประชาธิปไตยเรื่องที่ดินและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้จริงในยุคที่โลกแสวงหาความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรเพื่อให้มนุษย์อยู่ในโลกนี้ได้โดยไม่ร้อนเกินไป ประโยชน์ต้องตกที่ใครโดยที่ไม่อยู่ที่ทุนผูกขาด สิ่งแวดล้อมที่พูดถึงใครจะเป็นคนจัดการ และหัวใจในการทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมคืออะไร โลกร้อนต้องเคารพสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นข้อเสนอระดับโลก โดยเฉพาะชุมชนดั้งเดิมชุมชนท้องถิ่นและประชาชนที่มีการบริหารจัดการที่ดินและสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่แล้วจะทำอย่างไรในการปกป้องคุ้มครองคนที่ลุกขึ้นมาปกป้องประโยชน์สาธารณะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net