Skip to main content
sharethis

วงเสวนาพัฒนาการของรัฐธรรมนูญ แนะแก้รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า คนยึดอำนาจมีความผิด นิรโทษกรรมไม่ได้ พร้อมเปิดทุกเสื้อสีร่วมออกแบบ “พงศ์เทพ” วอนขออย่าปิดทางแก้หมวด 1 หมวด 2 เพราะบางเรื่องเกี่ยวโยงมาตราอื่น

10 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่าในการเสวนา “พัฒนาการของรัฐธรรมนูญ” เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธ.ค. ที่มีนายโภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรคไทยสร้างไทย นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านการพัฒนาพรรค พรรคเพื่อไทย และนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนา

นายโภคิน กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะทำโดยคน 3 กลุ่ม คือ 1. คณะราษฎร 2. คณะรัฐประหาร และ 3. รัฐสภาและประชาชน ซึ่งฉบับที่คณะราษฎรทำ มีจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ เปลี่ยนอำนาจเป็นของราษฎร เป็นของประชาชน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่ว่ายึดอำนาจกี่ร้อยครั้งก็ไม่เคยเปลี่ยนคอนเซปต์นี้ ไม่มีใครกล้าเขียนใหม่ว่าอำนาจไม่ใช่ของประชาชน นี่คือสิ่งที่พัฒนาในทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนฉบับที่คณะรัฐประหารทำ แน่นอนว่าทำเพื่อสืบทอดอำนาจ ที่เห็นได้ชัดคือ การให้มีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและให้อำนาจมาก เรียกว่าไม่มีพัฒนาการเลย แต่ที่เป็นพัฒนาการสุดยอด คือ การนิรโทษกรรมตัวเอง ผ่านพระราชบัญญัติ จากนั้นตั้งแต่ปี 2534 ก็เป็นสุดยอดพัฒนาการนิรโทษกรรมในรัฐธรรมนูญ แต่ที่บ้าไปกว่านั้น ตั้งแต่ฉบับปี 2550 ปี 2560 ก็ยังบอกว่า การยึดอำนาจทั้งหลาย รัฐธรรมนูญให้ถือว่า “ชอบ” หมด รัฐธรรมนูญที่บังคับใช้อยู่ขณะนี้ จึงเกิดปัญหา แล้วถ้าบทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพไปขัดแย้งการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ถามว่าใครใหญ่ เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ของรัฐประหารใหญ่กว่า ก็ถือว่าเพี้ยนหมด นี่คือพัฒนาการในทางเลว อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดีหรือว่าฉบับเลว ต่างก็ถูกฉีกทิ้งทั้งนั้น

นายโภคิน กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ปัจจุบัน ดูเหมือนว่าจะเป็นความร่วมมือกัน ซึ่งตนอยู่ในสภาชุดที่แล้วด้วย ในการศึกษาว่าจะแก้อะไรบ้างในรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก แต่อันหนึ่งที่ต้องโฟกัส คือ ที่เกิดรัฐประหารตลอดเวลา เพราะศาลฎีกาในปี 2496 ไปตีความว่า ใครรัฐประหารสำเร็จ คนนั้นเป็นรัฏฐาธิปัตย์ กลายเป็นบรรทัดฐานมาถึงปัจจุบัน ขณะที่ปี 2510 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตีความมาตรา 17 ซึ่งเหมือนมาตรา 44 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การใช้อำนาจนั้นมีกรอบกำหนดอยู่ แม้จะเป็นเผด็จการ หากไม่เข้าตามกรอบก็ไม่ถูกศาลฎีกาตีความ ดังนั้น การจะมองว่าเข้าหรือไม่เข้ากฎหมาย อยู่ที่เข้าหรือไม่เข้ากรอบ ไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะมองอย่างไร ดังนั้น ต้องผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ โดยกำหนดว่า การรัฐประหารเป็นกบฏ มีความผิดร้ายแรง จะนิรโทษกรรมไม่ได้ โดยบทบัญญัติเช่นนี้ให้ถือเป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สำคัญที่สุด แม้ว่าไม่มีรัฐธรรมนูญ หรือรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นใหม่ๆ ต่อไปก็ให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ หากมีการยึดอำนาจเมื่อไหร่ พ้นจากอำนาจจะต้องติดคุก ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจบ ตนอยากเห็นพัฒนาการอย่างนี้ ส่วนการเมืองจะเดินแบบผิดบ้าง ถูกบ้าง ดีบ้าง ประชาชนก็เรียนรู้ไป แต่ถ้าปล่อยไว้ก็จะเละแบบนี้ ตอนนี้ 91 ปี ถึงปล่อยไป 100 ปี ก็จะเหมือนเดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net