Skip to main content
sharethis

ประสานเสียงค้าน 'พีระพีนธุ์' อ้างเขื่อนไฟฟ้าลาวสะอาด-ทุนต่ำ 'สฤณี' มองผลกระทบข้ามแดน ลดความยืดหยุ่นการแก้ไขปริมาณไฟฟ้าไทย 'วิโรจน์' สส.ก้าวไกล จี้รัฐแจงหลายประเด็น ช่วยประชาชนอย่างไร พร้อมเสนอหนุนโซลาร์เซลล์ ปธ.กลุ่มรักษ์เชียงของ เชื่อเป็นวิธีต้องการกินรวบของกลุ่มทุน ลงทุนปราศจากธรรมาภิบาล 

 

6 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (6 ธ.ค.) จากกรณีที่พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ลงพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงอุดรธานี 3 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรที่ จ.หนองบัวลำภู พร้อมให้สัมภาษณ์สนับสนุนการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เนื่องจากเชื่อว่าเป็นการช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และเป็นพลังงานสะอาด

เมื่อ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด และแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand - FFT) กล่าวว่า โครงการที่พีระพันธุ์ พูดถึงคือ เขื่อนน้ำงึม 2 น้ำเงี้ยบ และน้ำเทิน 1 เป็นเขื่อนบนลำน้ำสาขา ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำอาจเข้าข่ายพลังงานสะอาดได้ หากคำนึงถึงเพียงการปล่อยคาร์บอน และอาจมีราคาถูกกว่า หากเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ แต่หากมองปรากฏการณ์ว่ารับซื้อไฟเขื่อนลาวถูกกว่า และอยากให้ไทยซื้อ พูดแบบนี้เมื่อหลายปีก่อนคงไม่มีปัญหามากเพราะเขื่อนไม่ได้ใหญ่มาก แต่พูดในวันนี้จะหมายถึงอนาคต หมายถึงโครงการเขื่อนใหม่ในลาว ที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งมีผลกระทบข้ามพรมแดน อาทิ โครงการเขื่อนปากแบง โครงการเขื่อนหลวงพระบาง โครงการเขื่อนปากลาย ที่จะมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคมชัดเจน จนมีกรณีเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาที่คณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) และแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมฯ (FFT) ก็ได้รวบรวมข้อกังวลและประเด็นเสี่ยงมาเป็นกรณีศึกษามาแล้วร่วมกับ International Rivers 

สฤณี อาชวานันทกุล

สฤณี กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของบริบทว่า เขื่อนใหญ่ที่เป็นโครงการใหม่ๆ ต้องเข้ากระบวนการของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า รายงานและเอกสารต่างๆ ก็มีออกมา ทุกคนตอนนี้ต่างพูดถึงเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน กรณีโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ก็มีข้อกังวลจาก UNESCO และคณะกรรมการมรดกโลก ทั้งเรื่องขนาดเขื่อน และที่ตั้งของเขื่อน ยิ่งหากมองในมุมของนักการเงินจะเห็นว่ามีความเสี่ยงกว่า ดังนั้น การพูดว่าเขื่อนลาวเหมือนกันหมด อาจไม่จริง

"นี่ยังไม่นับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่สมาคมไฟฟ้าพลังงานน้ำสากล (IHA) ได้ระบุชัดเจนเรื่องการศึกษาผลกระทบนี้ ทั้งปริมาณน้ำ การไหลของน้ำ อุทกวิทยา และอื่นๆ แล้วโครงการเขื่อนในลาวได้ใช้มาตรฐานนี้อย่างไร การระบุว่าต้นทุนเชื้อเพลิงของเขื่อนมีราคาถูก หากเทียบกับแก๊ส แต่หากดูกรณีเขื่อนน้ำงึม แรกเริ่มนั้นไฟฟ้าที่รับซื้อราคา 1 บาทเศษๆ ต่อมาขึ้นมาเป็น 2 บาทจากการเจรจา และหากดูเขื่อนใหม่ๆ เช่น โครงการหลวงพระบาง ราคา 2.84 บาทต่อหน่วย โครงการปากแบง 2.719 บาท คือราคาไฟฟ้าจากเขื่อนไม่ได้ถูกแบบเดิมแล้ว" สฤณี กล่าว

สฤณี กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนนั้นพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด การประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ และลม ซึ่งก็ไม่ได้เปิดให้เสนอราคา แต่มี "feed in tariff" ขณะที่ราคาไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์โซลาร์บวกแบตเตอรีอยู่เพียง 2.8 บาท ราคานี้หากเปิดเสรี ย่อมมีผู้ผลิตไฟฟ้าที่สนใจเสนอเข้ามาในราคาที่ถูกกว่านี้ ตอนนี้คือเหมือนพูดลอยๆ ว่าไฟฟ้าจากเขื่อนดีที่สุดแล้ว

"อีกประเด็นคือปัญหาปริมาณไฟฟ้าสำรองล้น (over supply) เป็นเรื่องที่กังวลมาตลอด เขื่อนเหล่านี้เป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ 'take or pay' และมีค่าความพร้อมจ่าย โครงการเขื่อนหลวงพระบาง มีสัญญากับ กฟผ.ยาวนานถึง 35 ปี ทำไมต้องนานขนาดนั้น หากเป็นส่วนหนึ่งของไฟฟ้าที่เกินก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในระบบ การบริหารพลังงานที่ยาวขนาดนี้ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหาปริมาณไฟฟ้า" สฤณี กล่าว

'วิโรจน์' จี้ รบ.ต้องแจง 3 ประเด็น ประชาชนได้ประโยชน์ยังไง พร้อมหนุนโซลาร์เซลล์ได้ประโยชน์มากกว่า

ด้านวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า การจะตัดสินใจซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติม รัฐบาลจำเป็นต้องชี้แจงประเด็นต่างๆ ให้กับประชาชนได้รับทราบอย่างชัดเจนก่อน คือ 1. กำลังการผลิตไฟฟ้าในปัจจุบันมีเกินกว่าความต้องการมากน้อยขนาดไหน และรัฐบาลมีแผนที่จะจัดการกับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หรือเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าต่ำไร้ประสิทธิภาพอย่างไร เนื่องจากรัฐบาลต้องเอาเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับนายทุนโรงไฟฟ้าแบบฟรีๆ 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร

วิโรจน์ กล่าวว่า 2. รัฐบาลควรต้องชี้แจงเพิ่มเติมด้วยว่าจะบริหารจัดการราคาก๊าซธรรมชาติที่รัฐอุดหนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมาโดยตลอดอย่างไร สามารถทำให้ราคาก๊าซที่นำมาใช้ผลิตไฟฟ้ามีราคาที่ถูกลงอย่างเป็นธรรมได้หรือไม่

3. หากจะเอางบประมาณที่จะไปซื้อไฟฟ้าเพิ่มเติมจากเขื่อน ก็ควรต้องตอบคำถามของประชาชนทั่วประเทศก่อนว่า เอางบประมาณก้อนนี้มาใช้อุดหนุนให้ประชาชนหันมาพึ่งพาไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และขับเคลื่อนนโยบายที่ให้ประชาชนขายไฟฟ้าให้กับรัฐในรูปแบบ Net metering (มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์บนหลังคา) หรือการคำนวณค่าไฟแบบหักลบหน่วยไฟฟ้า ระหว่างหน่วยไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้ากับหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้เองจากโซลาร์เซลล์จะดีกว่าหรือไม่ เนื่องจากการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ นอกจากผลประโยชน์จะเกิดขึ้นทันทีกับประชาชนแล้ว ยังจะเกิดความยั่งยืนด้านพลังงานกับประชาชนในทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคเกษตรกรรม และภาคธุรกิจขนาดย่อม ได้มากกว่า ซึ่งรัฐบาลยังสามารถการขับเคลื่อนนโยบายพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้อย่างเป็นรูปธรรม และหากรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนต่อยอด ก็จะเกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่นำเอาพลังงานไฟฟ้าส่วนเกินจากพลังงานแสงอาทิตย์ ไปผลิตไฮโดรเจน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ย และพลังงาน ได้อีกด้วย 

"หากซื้อไฟฟ้าจากเขื่อน คนที่ได้ประโยชน์ คือนายทุนพลังงานหน้าเดิมๆ แต่ถ้าเอามาอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากหลังคาโซลาร์เซลล์ ประโยชน์จะวิ่งตรงไปที่ประชาชนทันที ส่วนข้ออ้างที่บอกว่า ถ้าซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มเติม แล้วค่าไฟฟ้าจะถูกลง ก็อยากให้ รมว.พลังงาน ชี้แจงการคำนวณ และเปิดเผยให้กับประชาชนได้ทราบว่า ราคาค่าไฟฟ้าจะถูกลงได้อย่างไร จะถูกลงขนาดไหน เมื่อไหร่ ไม่ใช่เพียงอ้างว่าราคาจะถูกลง แล้วก็รีบไปเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าจากนายทุนหน้าเดิมๆ เพราะที่ผ่านมาภาษีของประชาชนได้ถูกนำไปถลุงซื้อไฟฟ้าจากนายทุนพลังงานอย่างขาดสำนึกมาโดยตลอด รัฐบาลก็อ้างเสมอว่าซื้อแล้วจะทำให้ไฟฟ้ามีราคาถูกลง แต่ได้พิสูจน์แล้วว่า ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับภาระ ราวกับว่าถูกมาเฟียโรงไฟฟ้ามัดมือชกไถเงินอยู่ทุกเดือน มีแต่จะแพงขึ้นเรื่อยๆ และแพงกว่าหลายประเทศในอาเซียน" สส.พรรคก้าวไกล กล่าว

วิโรจน์ กล่าวว่า การซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากเขื่อนโดยไม่ยอมจัดการกับค่าพร้อมจ่าย ที่รัฐต้องเอาเงินภาษีไปประเคนให้กับนายทุนพลังงาน ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลยแม้แต่เมกะวัตต์เดียว แทบจะไม่เห็นโอกาสที่จะทำให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลงได้เลย แต่ที่ลูบปากเห็นโอกาสทองรออยู่ตรงหน้าแน่ๆ คือความร่ำรวย และความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของนายทุนโรงไฟฟ้าหน้าเดิมๆ

ปธ.รักษ์เชียงของ ชี้เขื่อนผลิตไฟฟ้าแม่โขง ทำลายระบบนิเวศ ไม่เป็นพลังงานสะอาด

ด้าน นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนพลังงานน้ำในประเทศลาวนั้น การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่าเป็นพลังงานสะอาดไม่ถูกต้อง เพราะจากที่ผ่านมาผลกระทบจากเขื่อนในแม่น้ำโขงกว่า 20 ปี ทำให้เห็นว่าเขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด แต่เป็นพลังงานที่ทำร้ายโลก โดยมีผลกระทบมากมาย และไม่เหมาะสมกับยุคสมัย เพราะพลังงานสะอาดต้องไม่ทำลายระบบนิเวศ ผู้คน และสิ่งมีชีวิต จึงจะถือว่าสะอาด 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว

"การกล่าวว่าไฟฟ้าจากเขื่อนลาวเป็นพลังงานที่ถูก ลดต้นทุน ลดภาระให้ประชาชนก็ไม่ถูกต้อง ไม่ใช้เหตุผลที่แท้จริงของการที่จะเข้าไปซื้อไฟฟ้า แต่เป็นเรื่องกลุ่มผลประโยชน์ของเรื่องกลุ่มกิจการพลังงานไฟฟ้า กับกลุ่มทุนในประเทศที่กินรวบ และดำเนินแผนพลังงานไฟฟ้าอย่างไม่มีธรรมาภิบาล และกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการเขื่อนในแม่น้ำโขงก็ไม่มีความเป็นธรรม และถูกต้องตามกระบวนการ" นิวัฒน์ กล่าว

นิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ในรอบปีที่ผ่านมา ไทยมีการลงนามซื้อขายไฟฟ้ากับ 3 โครงการเขื่อนแม่น้ำโขงในลาว ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง สำหรับโครงการเขื่อนปากแบง ซึ่งจะสร้างกั้นแม่น้ำโขงห่างจากพรมแดนไทยที่ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย เพียงไม่ถึง 100 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลา 7 ปี ชาวบ้านได้ตั้งคำถามมาโดยตลอด ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำในฐานะกองเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้จัดเวทีตามข้อตกลงแม่น้ำโขงของ เอ็มอาร์ซี (MRC) ซึ่งมีข้อกังวลอย่างยิ่งจากประชาชนและภาควิชาการเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะน้ำเท้อ ‘backwater effect’ ถึงแผ่นดินไทย ผลกระทบต่อตะกอนแร่ธาตุ พันธุ์ปลาและประมง โดยยังไม่มีการศึกษาหรือเอกสารที่อธิบายผลกระทบและมาตรการแก้ไขปัญหา 

หาดบ้านดอน: พื้นที่สันทนาการของชุมชนเชียงของ แต่หาดนี้จะหายไปเมื่อมีการสร้างเขื่อนปากแบง (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

ไกหรือสาหร่าย แม่น้ำโขง พืชชนิดนี้เสี่ยงหายไปหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

อนึ่ง ในวันที่ 9-10 ธ.ค. 2566 จะมีการจัดงานใหญ่ "ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง" ขึ้นที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เขียงของ จ.เชียงราย โดยกิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่เช้าวันที่ 9 ธ.ค. 2566 โดยการทำบุญและรำลึกถึงนักต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขงที่ล่วงลับ อาทิ แสงดาว ศรัทธามั่น, อุ้ยเสาร์ ระวังศรี,จิตติมา ผลเสวก และไพศาล เปลี่ยนบางช้าง

ช่วงบ่ายของวันที่ 9 ธ.ค. จะมีงานเสวนา 2 เวที ซึ่งมีทั้งเสียงสะท้อนจากชุมชนและมีผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ สส. รวมถึงตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย ร่วมเสนอมุมมองเกี่ยวกับแม่น้ำโขง หลังจากนั้นจะมีการแสดงศิลปะสาขาต่างๆและการดนตรีในช่วงค่ำ ที่น่าสนใจคือจะมีร้านค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมขายสินค้าท้องถิ่น

ส่วนในช่วงเช้าวันที่ 10 ธ.ค. มีขบวนเรือคายัครณรงค์ปกป้องแม่น้ำโขง ก่อนปิดท้ายด้วยการคำประกาศเพื่อแม่น้ำโขง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net