Skip to main content
sharethis

งาน 'ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง' อ.เชียงของ จ.เชียงราย เริ่มวันแรก เสวนาถกสนั่นผลกระทบเขื่อนปากแบง ผู้นำท้องถิ่นหวั่นน้ำเท้อ ทำลายวิถีประมง และการเกษตร ถามก่อนสร้างไม่ฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบ 'วิโรจน์' พรรคก้าวไกล เสนอยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สาย ดึง กสม. สภาฯ และ ป.ป.ช. องค์กรอิสระ ทำข้อเสนอส่งนายกฯ ทบทวนโครงการอีกครั้ง อย่างน้อยประชาชนได้ข้อมูลรอบด้าน

 

9 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (9 ธ.ค.) ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดงาน "ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง" บรรยากาศงานเริ่มตั้งแต่เช้าด้วยพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้นักป้องป้องแม่น้ำโขงที่เสียชีวิต ต่อมา มีกิจกรรมอ่านบทกวี และศิลปะการแสดงสด เพื่อรำลึกถึง อุ้ยเสาร์ ระวังศรี, อ้ายแสงดาว ศรัทธามั่น, จิตติมา ผลเสวก และ ไพศาล เปลี่ยนบางช้าง 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการออกร้านผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น โดยมีผู้ร่วมงานหลายกลุ่ม มีชาวบ้านลุ่มน้ำโขงทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน ชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ เช่น แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำยม นอกจากชาวบ้านแล้ว ยังมีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตัวแทนสถานเอกอัครราชทูต นักวิชาการ ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศ สื่อมวลชน ฯลฯ เข้าร่วมกิจกรรมอีกด้วย 

ช่วงบ่ายมีการจัดเวทีเสวนา 2 เวที เวทีแรกเป็นเสียงสะท้อนสภาพปัญหาของแม่น้ำโขงจากชาวบ้านริมแม่น้ำโขง และผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนเวทีสองเป็นคำแนะนำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนักวิชาการ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)

ชาวเชียงของหวั่นรับผลหนักเขื่อนปากแบง น้ำเท้อ ทำประมงไม่ได้

ในเวทีแรก ทองสุข อินทะวงศ์ อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ได้พยายามตั้งคำถาม แสดงความเห็น และคัดค้านการสร้างเขื่อนปากแบงในลาว เพราะหวั่นเกรงอุบัติภัยในอนาคต เรื่องใหญ่สุดคือน้ำเท้อ (ปรากฏการณ์น้ำย้อนไหลกลับ) ที่บ้านห้วยลึกจะได้รับผลกระทบเป็นหมู่บ้านแรก และอาจยาวมาถึง อ.เชียงของ คนเชียงของมีที่ดินมรดกบรรพบุรุษแต่ไม่มีเอกสารสิทธิ หากเกิดน้ำเท้อขึ้นมา อาจมีปัญหาเรื่องค่าชดเชย ขณะที่การหาปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป จนถึงขณะนี้ไม่มีใครกล้าลงทุนเติมน้ำมันเรือไปหาปลา เพราะไม่ได้ปลา ทำให้ครอบครัวอาชีพประมงต้องลำบาก บ้านแตกสาแหรกขาด เพราะพ่อแม่ต้องเข้าไปหางานทำในเมือง ลูกๆ ต้องอยู่กับตายาย กลายเป็นวิบากกรรมจากการพัฒนาโดยฝีมือมนุษย์

"เราเคยทำงานวิจัยเรื่องเกาะแก่งแม่น้ำโขงร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุปกรณ์หาปลาต้องเอาทิ้งหมด เพราะหากินไม่ได้ เช่น แหถี่ใช้ไม่ได้ ผมกังวลมากหากสร้างเขื่อน และเกิดน้ำเท้อ บ้านห้วยลึกสูง 315 เมตร จากระดับน้ำทะเล แต่ทางกรมทรัพยากรน้ำบอกน้ำเท้ออยู่ระดับ 340 เมตร ดังนั้น น้ำจึงท่วมแน่ๆ แม้เราต่อสู้แล้วไม่ชนะ แต่เราเป็นพลังกลุ่มบริสุทธิ์ เราไม่ได้คัดค้านหรือต่อต้านถึงขั้นปะทะ แต่พูดด้วยเหตุผลว่า ก่อนทำทำไมไม่ดูผลกระทบก่อนว่าคุ้มค่าหรือไม่ ไม่ใช่โยนไปโยนมา ตอนนี้เห็นตั้งงบประมาณไว้ 46 ล้านบาท มันกี่หมู่บ้าน ดีใจที่เห็นรองอธิบดีกรมสนธิสัญญาไปที่บ้านผม ท่านพูดเรื่องทางบก แต่เราอยากพูดเรื่องทางน้ำด้วย" ทองสุข กล่าว
 
ทองสุข กล่าวด้วยว่า หากมีเขื่อนปากแบง เมืองมีน้ำเท้อ เกาะแก่งก็หายไป ซึ่งน่าห่วง อยากเรียกร้องเรื่องการดูแลสิทธิชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเขื่อน ไม่แน่ใจว่าบริษัทได้จ้างคนมาสำรวจความเสียหายจำนวนกี่ไร่เพื่อชดเชยค่าเสียหายหรือไม่ ชาวบ้านถามไปแล้วเงียบและปล่อยให้สร้าง ต้องยืนยันให้ได้ว่าพื้นที่ติดริมน้ำเสียหายเท่าไหร่  จะจ่ายค่าชดเชยกันอีกกี่ปี

"เมื่อก่อนเขาบอกว่าถ้ามีผลกระทบจะทำลายเขื่อน มันเรื่องจริงเหรอ ผมอยากให้ปิดกระบอกเสียงนี้ก่อน ความเจริญที่เข้ามาทำลายหลายอย่าง ผมต่อสู้เรื่องนี้มา 25 ปี" อดีตผู้ใหญ่บ้านห้วยลึก กล่าว

ผู้นำท้องถิ่นตัดพ้อ ก่อนสร้าง ไม่ถามคนท้องถิ่นผู้ได้รับผลกระทบ

มานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิงใต้ อ.เวียงแก่น กล่าวว่า สอบถามทางการไปแล้ว แต่ได้รับคำตอบว่า การสำรวจยังไม่แล้วเสร็จ แต่กลับไปลงนามในสัญญาสร้างเขื่อนกันก่อน บริษัททำเพื่ออะไร สิ่งเหล่านี้ประชาชนพยายามพูดหลายเวทีแต่เสียงไม่ดังพอ เป็นเรื่องที่น่าน้อยใจ เพราะคนเชียงของเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็น และบอกว่าการที่ต้องการพลังงาน ชาวบ้านเข้าใจ แต่ก่อนสร้างทำไมไม่ศึกษา ที่ดินหลายแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ หากน้ำท่วมผืนดินเหล่านี้หายไปแล้วใครรับผิดชอบ ได้เตรียมการรองรับหรือไม่ ชาวบ้านจะไปทำกินที่ไหน เคยถามว่าหน่วยไหนเป็นหน่วยงงานหลักเกี่ยวกับการกำหนดขั้นตอนการเยียวยา ก็ตอบไม่ได้ 

"อยากฝากเสียงเล็กๆของชาวบ้านไปถึงผู้บริหาร พูดไปเราก็รู้สึกสะเทือนใจเหมือนเราถูกทอดทิ้ง เหมือนเราไม่มีตัวตน เราไม่รู้จะหาคำพูดไหนๆ มาทดแทนความสูญเสีย แต่คนที่ได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คน" มานพ กล่าว

อภิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีเทศบาลม่วงยาย อ.เวียงแก่น กล่าวว่า แม่น้ำงาวไหลผ่าน อ.เวียงแก่น เกาะแก่งผาไดจะอยู่ใต้น้ำทั้งหมด เมื่อเกิดน้ำท่วมจะทำให้น้ำเท้อมาถึง อ.เชียงของแน่ๆ เพราะบริเวณผาไดเป็นคอขวด และสวนส้มโอบริเวณน้ำงาวต้องถูกน้ำท่วมแน่ๆ ยิ่งถ้ามีเขื่อนยิ่งทำให้น้ำไหลช้า พืชเศรษฐกิจของเวียงแก่นมี 2 พันไร่ ถ้าเกิดน้ำท่วมน้ำขังเสียหายไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี เทศบาลรู้สึกกังวลมากว่าทำให้เศรษฐกิจสูญเสียไปเท่าไหร่ ตอนนี้ชาวบ้านยังทราบข่าวไม่มาก เพราะเพิ่งได้ข้อมูล ถ้าชาวบ้านทราบก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อภิธาร กล่าวแสดงความกังวลว่า หากมีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงอีก วิถีชีวิตของคนพื้นเมือง รวมไปถึงพันธุ์ปลาจะเปลี่ยนไปโดยไม่สามารถกู้คืนมาได้ นี่ไม่นับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทย-ลาว ทั้งเรื่องวัฒนธรรมต่างๆ เรื่องกีฬา และการค้าขายชายแดนนั้นจะเปลี่ยนไป 

ปรีดา คงแป้น กสม. กล่าวว่า ชาวบ้านมีสิทธิเต็มที่ในการเรียกร้องและปกป้องสิทธิของตัวเองและชุมชน ซึ่งอยู่ร่วมกันมาเป็นร้อยๆ ปีโดยมีรัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครอง ชาวบ้านไม่รู้เรื่องมาก่อนเลย แต่จู่ๆ เอกชนไทยไปเซ็นสัญญากันไว้แล้ว ส่งผลกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน รัฐจึงสอบไม่ผ่านเรื่องนี้ จึงมีหนังสือด่วนถึงนายกรัฐมนตรี 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ขอให้ทบทวนการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เพราะเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ กสม.อย่างรอบด้าน ประเด็นสำคัญที่ท้วงติงคือชาวบ้านยังไม่รับรู้ข้อมูล และมีการศึกษาพบว่าน้ำท่วมนับ 10 หมู่บ้าน แต่รัฐบาลจะหยุดหรือไม่ก็ต้องร่วมกันตรวจสอบ

'วิโรจน์' เสนอยุทธวิธีแม่น้ำ 4 สาย ทำหนังสือส่งนายกฯ ทบทวนโครงการ

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.พรรคบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ไม่เพียงผลกระทบปฐมภูมิ แต่จริงๆ แล้วยังมีผลกระทบทุติยภูมิในวงกว้างออกไป หากไม่คำนึงถึงตรงนี้ ประเมินผลการศึกษาความคุ้มค่าไม่รอบด้าน ถามว่าโครงการนี้จะคุ้มค่าหรือไม่ ส่วนการประเมินความคุ้มค่าไฟฟ้า หลายคนกังวลว่าระหว่างสร้างเขื่อน 7-8 ปี ความเป็นจริงจะตรงข้ามกับในกระดาษโดยเฉพาะแผนพลังงานชาติที่จะครบปีหน้า ทำไมถึงไม่รอตอนนั้น การสำรองไฟฟ้ามากเกินไปส่งผลต่อราคาค่าไฟฟ้า ถ้าโครงการไม่คุ้มค่าไม่คุ้มทุน ใครจะรับผิดชอบ

"ที่สำคัญสุดคือข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนได้รับ และการประเมินไม่ใช่แค่ปฐมภูมิ ถ้าคุณจำกัดเอาเฉพาะคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเท่ากับคุณปั้นตัวเลขให้ต่ำกว่าความเป็นจริง คุณจงใจให้โครงการนี้คุ้มทุนไว้ก่อน เราจะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ต่อไป" วิโรจน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้มั้ยยกเลือกสัญญาซื้อไฟฟ้า วิโรจน์ กล่าวว่า ต้องเอาข้อเท็จจริงที่ปรากฏไปทำให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ และจะปัดความรับผิดชอบไม่ได้  นอกจากนี้ ยังต้องช่วยกันติดตามแผนพลังงานชาติ และเขื่อนปากแบงว่าสอดคล้องกับแผนหรือไม่ หากมีการปลดระวางก็ต้องตั้งคำถามกับโรงไฟฟ้าที่หมดอายุ และต่ออายุ เรื่องนี้ต้องนำไปสู่การอภิปรายในสภาหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจด้วยซ้ำ เรื่องนี้ไม่ใช่กระทบแค่คนเชียงของ แต่กระทบกับคนทั้งประเทศ ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องผัดผ่อนหนี้ค่าไฟฟ้าซึ่งไม่จีรัง 

"อยากให้ใช้กลไก ป.ป.ช.และ สตง.ด้วย นอกจาก กสม. อะไรที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ ถ้าดึงเอาแนวร่วมองค์กรอิสระเข้ามาสื่อสาร จะทำให้มีน้ำหนัก ส่วนในสภา เราจะดำเนินการอยู่แล้ว เป็นแม่น้ำ 4 สาย หากนายกฯไม่ทบทวน ก็อาจถูกข้อหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่ อย่างน้อยให้ประชาชนสิ้นข้อสงสัยหากจะทำจริงๆ" วิโรจน์ กล่าว

อ่านข่าววงเสวนาช่วงบ่าย วงที่ 2 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net