Skip to main content
sharethis

ประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ(Con for All) จัดงาน "ปักธง ส่งต่อ สสร. เลือกตั้ง" นักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นต่างๆ สะท้อนเสียงการเรียกร้องให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อให้รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิของคนทุกกลุ่ม "ปนัสยา" ตั้งคำถามมีการแก้หมวด 1 และ 2 มีมาตลอดทำไมจึงถูกขัดขวางตกลงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใครกันแน่

9 ธ.ค.2566 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ(Con for All) จัดงาน "ปักธง ส่งต่อ สสร. เลือกตั้ง" เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลทำให้เกิดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วม โดยในกิจกรรมมีทั้งหมด 2 ช่วงช่วงแรกเป็นการนำเสนอปัญหาในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 โดยนักกิจกรรมที่ทำงานในประเด็นต่างๆ ทั้งความหลากหลายทางเพศ สิทธิทางการเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสิทธิแรงงาน ในช่วงที่ 2 เป็นช่วงเสวนาที่พูดถึงกระบวนการทำประชามติและความจำเป็นที่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องมีตัวแทนของประชาชนในสภาร่างรัฐธรรมนูญ

นอกจากนั้นในงานยังมีกิจกรรมเขียนธงสนับสนุนข้อเสนอ Con for All และการติดสติ๊กเกอร์ทำ Poll ว่า เห็นด้วยกับคำถามประชามติที่ประชาชนเสนอหรือไม่

ระบบการเลือกตั้งที่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

นนทวัฒน์ เหลาผา หรือ เจมส์ จากกลุ่มวีวอทช์ องค์กรที่ทำงานสังเกตการณ์การเลือกตั้ง กล่าวถึงปัญหาในการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างพื้นที่บ้านเกิดของเขาในภาคอีสานที่ทรัพยากรกับเมืองใหญ่อย่างเช่นกรุงเทพฯ ซึ่งการเลือกตั้งที่เป็นส่วนหนึ่งในการกระจายอำนาจและทรัพยการ แต่การรัฐประหารเมื่อปี 2557 ก็ได้พรากสิทธิเลือกตั้งไป 5 ปี การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งเขาคิดว่าจะเป็นโอกาสอย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนั้นกลับได้รัฐบาลที่ไม่ต่างไปจากเดิม่เป็นรัฐบาลชุดเดิมที่เคยทำรัฐประหารที่ได้กลับเข้ามาจากการเลือกตั้ง

"เราต้องกู้การเลือกตั้งกลับมาเป็นเครื่องมือที่จะเปลี่ยนผ่านอำนาจของประชาชนสู่กระบวนการอย่างสันติอย่างที่เราตั้งใจไว้จริงๆ"

นนทวัฒน์กล่าวว่าการเลือกตั้งในการเลือกตั้ง 62 และ 66 มีปัญหาเกิดขึ้นที่ทำให้ได้ผู้แทนที่ไม่ได้เป็นผู้แทนของประชาชนจริงๆ โครงสร้างของการเลือกตั้งไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนและการเลือกตั้ง 66 นับเป็นครั้งที่ 8 แล้วที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ไม่ได้ตั้งรัฐบาล เพราะกลไกการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมและไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งเป็นปัญหาทั้งระบบกลไกการเลือกตั้งและวัฒนธรรมการเมือง

ทั้งนี้นนทวัฒน์ในฐานะตัวแทนของวีวอชท์กล่าวว่าทางองค์กรมีข้อเสนอต่อกลไกเลือกตั้งของไทยอยู่ 5 ข้อ

ข้อ 1 ทุกคนต้องมีสิทธิ์เลือกตั้งไม่เว้นแม้แต่พระสงฆ์นักบวชและผู้ต้องขัง

ข้อ 2 ถ้าจะมี สว.จะต้องมาจากการเลือกตั้งจริงๆ และไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯ ได้

ข้อ 3 คนที่มีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรีต้องมาจากเสียงของประชาชนจริงๆ

ข้อ 4 กกต.ต้องยึดโยงกับประชาชน มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ให้ความรู้กับประชาชน แต่ไม่มีสิทธิ์ตัดสิทธิ์นักการเมืองและยุบพรรค

ข้อ 5 การเลือกตั้งต้องตรงไปตรงมาสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนในประเทศ

อย่างไรก็ตามนนทวัฒน์เห็นว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ายังมีรัฐธรรมนูญฉบับ 60 อยู่ จึงต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งหมดและต้องมีประชาชนทั้งประเทศเข้ามามีส่วนร่วมด้วยผ่านการเลือกตั้งทั้งหมดของ สสร. 100%

คนจนต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติ

ลลิตา เพ็ชรพวง จากมูลนิธิโกมลคีมทอง เริ่มจากการเล่าของชีวิตในวัยเด็กของเธอที่ต้องเผชิญปัญหากับความยากจนและไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการต่างๆ ได้ หลังจากพ่อแม่แยกทางกันและเธอต้องอยู่กับแม่และยาย ซึ่งแม่ต้องไปทำงานที่พัทยาทำให้ต้องโตมากับยายในกรุงเทพ ถึงจะมีช่วงที่ได้ย้ายบ้านไปอยู่กับแม่และพ่อของน้องสาวแต่แล้วพ่อของน้องสาวก็กลายเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุในการทำงานและต้องตกงาน และแม้ว่าสุดท้ายแม่ได้แต่งงานใหม่กับพ่อเลี้ยงชาวต่างชาติจนชีวิตดีขึ้นจากเงินบำนาญของพ่อเลี้ยง แต่สุดท้ายพ่อเลี้ยงก็มีปัญหาสุขภาพทำให้ต้องเผชิญค่ารักษาราคาแพงและการจัดงานศพที่ต้องใช้เงิน แม้จะยังมีเงินบำนาญของพ่อเลี้ยงอยู่แต่ก็ไม่พอสำหรับการเรียนจนจบได้ทำให้ต้องกู้เงินและทำงานไปด้วยเพื่อส่งเสียตัวเองจนเรียนจบและมาทำกิจกรรมทางสังคมอย่างทุกวันนี้

ลลิตากล่าวต่อว่า ยังมีคนมากมายที่ไม่สามารถกำหนดชีวิตของตัวเองได้ ในปี 2565 เส้นความยากจนของประเทศไทยอยู่ที่ 2,997 บาทต่อคนต่อเดือนและยังมีคนที่รายได้น้อยกว่านี้ถึง 3.8 ล้านคน ความยากจนแบ่งแยกคน แบ่งแยกชนชั้น เกิดการเลือกปฏิบัติให้ไม่เท่ากันแม้แต่ในรัฐธรรมนูญที่เหมือนเป็นข้อตกลงร่วมกันประชาชนยังต้องเป็นคนยากไร้ถึงจะมีสิทธิรับบริการสาธารณสุขที่ดี

ลลิตาทิ้งท้ายว่า จะเป็นเรื่องดีกว่าถ้าทุกคนมีหลักประกันชีวิตที่ดี มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าต่อเนื่องเพียงพอต่อการใช้ชีวิตครอบคลุมทุกคนในประเทศนี้โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและการตั้ง สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจริงๆ จะเป็นประตูบานแรกและหลักประกันที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดี รัฐธรรมนูญที่มาจากเสียงของประชาชนเป็นผู้กำหนดจะเป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถกินได้และเห็นหัวของคนทุกคน

ชุมชนต้องได้กำหนดชีวิตตัวเอง

พายุ บุญโสภณ ตัวแทนจากกลุ่มอีสานใหม่ เขาเริ่มจากเล่าประสบการณ์การเคลื่อนไหวต่อต้านเหมืองทองที่นาหนองบง จังหวัดเลยว่าแต่เดิมชาวบ้านอยู่ร่วมกับป่าและภูเขาเป็นปกติ แต่รัฐบาลอนุญาตให้นายทุนอุตสาหกรรมเข้าไปทำเหมืองแร่ทองคำซึ่งจะต้องระเบิดภูเขาเผาป่าเพื่อเคลียร์พื้นที่ที่ชาวบ้านใช้ทำมาหากิน การระเบิดภูเขาทำเหมืองได้สร้างมลพิษและทำให้สิ่งแวดล้อมถูกทำลายและสารพิษได้ปนเปื้อนพื้นที่การเกษตร รวมถึงอาหารและน้ำของชาวบ้านจนกระทบกับสุขภาพของชาวบ้านในพื้นที่จนถึงกับมีคนที่แท้งลูก

แต่ผลกระทบเหล่านี้กลับไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดกล้ารับรองว่าเกิดขึ้นจากการทำเหมืองของนายทุนอุตสาหกรรม ส่วนหมอคนที่ยอมรับรองผลการตรวจร่างกายให้กับชาวบ้านก็ถูกย้ายออกจากพื้นที่ จนทำสุดท้ายทำให้ชาวบ้านต้องออกมาเรียกร้องต่อสู้ แต่สิ่งที่รัฐทำคือการอนุญาตให้บริษัททำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่

อีกทั้งเมื่อข้าราชการท้องถิ่นไม่มาช่วยเหลือชาวบ้านและยังเข้าข้างกลุ่มนายทุนทำให้ชาวบ้านต้องเข้ามาต่อสู้เรียกร้องในศูนย์กลางอำนาจอย่างกรุงเทพฯ ที่มีอำนาจในการกำหนดว่าสิ่งใดจะสร้างได้หรือไม่ได้หรือจะยุติหรือดำเนินการต่อ แต่การต่อสู้ของชาวบ้านก็ต้องแลกกับการขาดรายได้เพราะเป็นคนหาเช้ากินค่ำ โดยไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าผู้มีอำนาจจะรับฟัง และอาจต้องเผชิญกับความรุนแรงจากการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่นกรณีการชุมนุมประท้วงช่วงการประชุมเอเปคเมื่อปี 2565 ซึ่งตัวเขาเองก็ต้องเสียดวงตาไปจากการสลายการชุมนุมครั้งนั้น

พายุกล่าวอีกว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้านเป็นเพียงข้อเรียกร้องเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุขแต่รัฐก็ทำให้พวกเขาไม่ได้

"การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผมอยากให้พี่น้องช่วยกันชักชวนบอกกล่าวว่ามันจะดีอย่างไรถ้ารัฐธรรมนูญครั้งนี้เราสามารถแก้ไขและทุกหมวดหมู่ทุกมาตราเพื่อให้เรากำหนดสิทธิความต้องการต่างๆ ที่เราต้องการเห็นในอนาคตการแก้ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ หรือสิทธิชุมชนของชาวบ้านที่ต้องมีอยู่ในรัฐธรรมนูญที่มาจากพี่น้องประชาชนเราไม่ยอมอีกแล้วให้ใครมาขีดเขียนกำหนดชะตาชีวิตให้เดินไปในทางที่เราไม่ต้องการ" พายุกล่าว

พายุได้กล่าวถึงการต่อสู้ของพี่น้องนาหนองบงตลอด 12 ปีเพื่อที่จะบอกว่าต้องการกำหนดชีวิตตัวเอง ที่สุดท้ายแล้วศาลได้บอกว่าพี่น้องชาวบ้านเป็นฝ่ายถูกและบอกว่าอุตสาหกรรมเหมืองทองคำได้ทำลายสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชาวบ้านและศาลยังสั่งให้ชดเชยแก่ประชาชนในพื้นที่รวมถึงการฟื้นฟูธรรมชาติบนภูเขาด้วย ซึ่งเขาอยากเห็นการกระจายอำนาจในท้องถิ่นสิทธิชุมชนควรได้รับการพูดถึงและถูกรับฟังจากชุมชนไม่ใช่การออกแบบจากรัฐส่วนกลางโดยไม่เห็นบริบทของชุมชน

คืนอำนาจต่อรองให้แรงงาน

ฉัตรชัย พุ่มพวง จากสหภาพคนทำงาน กล่าวว่าแม้ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลแล้วชีวิตจะดีขึ้น แต่ชีวิตของประชาชนก็ยังไม่ดี ทำงานหนักแต่เงินไม่พอใช้ ค่าแรงยังคงถูกโดยที่สินค้าราคาแพง นายทุนยังคงร่ำรวยชีวิตประชาชนยังมีความไม่มั่นคง และประชาชนยังคงไม่มีอำนาจต่อรองและกำหนดอนาคตตัวเองได้อาจต้องเกษียนจากงานมาและตายไปอย่างยากจน

ฉัตรชัยกล่าวว่ารัฐธรรมนูญที่ทำให้คนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ร่ำรวยล้นฟ้าแต่คนทำงานกว่า 18 ล้านคนยังมีรายได้ไม่ถึง 15,000 บาทต่อเดือนข้าวของแพงขึ้นแต่ค่าแรงไม่ขึ้นและยังทำให้สังคมนี้เหลื่อมล้ำติดอันดับโลก

"รัฐธรรมนูญ 2560 มีคำว่าเศรษฐกิจ 16 คำมีคำว่ากษัตริย์ 89 คำแต่มีคำว่าแรงงานแค่ 3 คำ ไม่ต้องพูดถึงคำว่าสิทธิแรงงาน ไม่ต้องพูดถึงคำว่าสิทธิที่จะต่อรองสิทธิ์เพราะไม่มีเลยสักคำอาจจะมีคำว่าแรงงานสัมพันท์อยู่ 1 คำ แต่คำถามคือสัมพันท์แบบไหน สัมพันท์แบบที่เป็นอยู่นี้แบบที่จะต้องกราบคน 1% เราไม่เอา เราเป็นคนเท่ากันไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้ ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญรับรองแต่อำนาจรัฐแต่ไม่ได้รับรองอำนาจต่อรองของแรงงานมากพอ"

ตัวแทนจากสหภาพแรงงานกล่าวต่อว่า มีนายทุน นายพล ชนชั้นศักดินาเพียง 1% ที่ร่ำรวยมีความสุขเพราะอำนาจของพวกเขาไม่เคยถูกต่อรองแต่คน 99% อย่างประชาชนไม่เคยมีส่วนร่วมกำหนดส่วนแบ่ง ประชาชนทุกคนจึงต้องร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมาเพราะแรงงานล้วนเป็นคนสร้างสิ่งต่างๆ รวมถึงงานบริการการดูแล แต่กลับมีคำถามว่าแรงงานจะมีสิทธิ์ในสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาได้หรือไม่ พวกเขาจะมีสิทธิ์ในที่ทำงานของพวกเขาได้หรือไม่

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำให้อำนาจต่อรองของแรงงานเป็นเรื่องที่ละเมิดไม่ได้ เพราะประชาชนเป็นเจ้าของประเทศนี้และอำนาจสูงสุดจะต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่ของคน 1% รัฐธรรมนูญเผด็จการทำให้อำนาจของรัฐและทุนและคน 1% เป็นจริงแต่ไม่เคยคน 99% มีอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง ประชาชนต้องกดดันให้นายกรัฐมนตรีต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและ สสร.จะต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% จะทำให้ชีวิตของประชาชนอยู่ดีกินดี มีกินมีใช้มีเกียรติและศักดิ์ศรีประเทศไทยจะเกิดความเปลี่ยนแปลงถ้าได้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และแรงงานจะต้องมีอำนาจในรัฐธรรมนูญใหม่

รัฐธรรมนูญใหม่ต้องคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คนทุกกลุ่ม

พรชิตา ฟ้าประทานพร จากชาติพันธุ์ปลดแอก เธอเล่าว่าเธอโตมาท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ พื้นที่ที่อยู่ไม่มีไฟฟ้าใช้ กลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มถ้าจะดูทีวีก็ต้องไปดูในบ้านที่มีอยู่เพียงหลังเดียวที่ติดโซลาเซลล์ในพื้นที่ ถูกจำกัดการเข้าถึงถนนที่ดี น้ำประปาสะอาด และไฟฟ้า แต่เธอต้องเติบโตมาท่ามกลางมายาคติว่าเป็นพวกค้ายาเสพติด พูดไม่ชัด โง่และเป็นพวกทำลายป่า อีกทั้งยังถูกดูถูกล้อเลียนจากคนในเมือง ทั้งที่กลุ่มชาติพันธุ์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การแต่งกาย ภาษาและใช้ชีวิตเหมือนคนในประเทศนี้ ประเทศไทยมีกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ถึง 6.1 ล้านคนอยู่ร่วมกับคนในประเทศนี้

แต่กลุ่มชาติพันธุ์กลับถูกจำกัดสิทธิ์ในการจัดการตัวเองและยังถูกจำกัดการเข้าถึงการรักษาพยาบาล สัญชาติ และถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกจำกัดโดยนโยบายของรัฐ เช่น นโยบายการจัดการที่ดินที่ทำให้ไม่สามารถเข้าไปหาของป่าและเลี้ยงสัตว์ในถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเธอได้ มีการสัมปทานโครงการเหมืองหรือเขื่อน

พรชิตากล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เธอคิดถึงกฎหมายที่ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์มีชีวิตดีขึ้นคือการมีรัฐธรรมนูญที่มีเรื่องของกลุ่มชาติพันธุ์และคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ โดยพวกเขาสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเขียน

"ฉันอยากเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ์ ไม่ถูกเลือกปฏิบัติและเป็นพลเมืองชั้นสอง แค่นั้นเอง”

พรชิตาทิ้งท้ายว่าการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยมีการเลือกตั้ง สสร. 100% จะเป็นสิ่งที่ปลดปล่อยกลุ่มชาิตพันธุ์และเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้พวกเธอกำหนดอนาคตตัวเองได้และคุณภาพชีวิตดีขึ้น รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องเขียนว่าคนเท่ากัน

รัฐธรรมนูญที่ดีทำให้คุณภาพชีวิตคนพิการดี

อธิพันธ์ ว่องไว หรือ น้ำพุ จากมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่าหลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.2566 เขารู้สึกดีใจมากที่พรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง แต่หลายเดือนผ่านไปเขาเองและคนพิการอีกจำนวนมากที่ต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นความหวังของพวกเขาก็หายไปในพริบตา คนพิการรุนแรงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างเขาต้องการให้มีรัฐสวัสดิการให้กับเขาและเพื่อนคนพิการ

ข้อมูลของกระทรวงพัฒนาสังคมและมนุษย์ (พม.) พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการทางการเคลื่อนไหวกว่า 1 ล้านกว่าและมีคนพิการที่ต้องการผู้ช่วยถึง 7 แสนกว่าคน

อธิพันธ์เล่าว่าตัวเขาเองพิการตั้งแต่กำเนิดพ่อแม่เลิกกันตั้งแต่ยังเล็กทำให้เขาต้องอยู่กับยายกับแม่ แม่และยายต้องเป็นคนช่วยทุกอย่างให้กับเขาแต่แม่ก็ไม่เคยทำให้เข้ารู้สึกว่าตัวเองเป็นคนพิการเพราะมีความเข้าใจความพิการ จนกระทั่งแม่ของเขาฆ่าตัวตายเพราะโรคซึมเศร้าตอนเขาอายุ 12-13 ทำให้ยายต้องเป็นคนหาเลี้ยง ยายเขาต้องไปขายยาเพื่อหาเลี้ยงชีพแต่สุดท้ายแล้วยายของเขาก็ต้องถูกจับกุมเพราะนโยบายปราบปรามยาเสพติดและเสียชีวิตในคุกทำให้เขาต้องไปอยู่กับพ่อที่เขาไม่เคยเลี้ยงมาตั้งแต่เด็กและยังผลักไสเขา

การไปอยู่กับพ่อทำให้เขารู้ว่าความพิการคืออะไรเพราะเขาไม่สามารถออกจากบ้านได้กินอาหารอะไรก็ไม่ได้เพราะจะทำให้ท้องเสีย และยังต้องรอให้พ่อที่เลิกกลับมาจากงานมาช่วยในเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องการทำความสะอาดร่างกาย เก็บกวาดอุจจาระให้ถ้าท้องเสีย จนเมื่อเขาอายุ 18 เขาจึงได้ออกมาทำงานและทำให้เขาได้รู้จักกับระบบผู้ช่วยคนพิการที่รู้ว่าต้องดูแลกับคนพิการอย่างไรแตกต่างจากพ่อแม่พี่น้องดูแลอย่างไร

"ระบบผู้ช่วยทำให้เราเป็นมนุษย์มากขึ้น มีศักดิ์ศรี และรู้จักการดูแลร่างกายตนเองมากขึ้น อยากอาบน้ำในห้องน้ำ อยากแปรงฟันตอน 7 โมงเช้า อยากกินข้าว อยากกินกาแฟ อยากกินของดองไม่ต้องกลัวท้องเสีย การมีผู้ช่วยทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป คุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่ผมต้องทำงานหาเงินมาจ้างผู้ช่วย"

แม้ประเทศไทยมีระบบสวัสดิการขอรับผู้ช่วยคนพิการได้ แต่กฎหมายกำหนดไว้ให้การขอผู้ช่วยต้องเป็นคนยากจนไม่มีคนดูแลซึ่งเขาเองเคยไปขอผู้ช่วยกับ พม.กลับถูกบอกว่าเขามีงานทำและเงินเดือนไม่จำเป็นต้องรับผู้ช่วยเพราะสามารถจ่ายเงินช่วยเหลือตัวเองได้

อธิพันธ์เล่าว่าในประเทศอื่นอย่าง ประเทศญี่ปุ่น ยุโรปหรือเกาหลีต่างมีระบบจัดผู้ช่วยให้แก่ผู้พิการรุนแรงที่ต้องการผู้ช่วยสำหรับ 24 ชั่วโมง รัฐจะจัดให้มีผู้ช่วย 3 คนต่อผู้พิการ 1 คน แต่ของไทยคือผู้ช่วย 1 คนช่วยผู้พิการ 3 คนและยังต้องทำงานวันละ 6 ชั่วโมงได้เงิน 300 บาท

อธิพันธ์กล่าวว่าเขาอยากฝากถึงหน่วยงานของรัฐว่า ถ้าวันหนึ่งเขาทำงานไม่ไหวใครจะช่วยเขา เขาไม่มีเงินจ้างผู้ช่วยใครจะดูแล ซึ่งพ่อแม่เขาก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว

เขากล่าวอีกว่า ที่อยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่คนทุกคนได้เข้าไปร่วมเขียนรัฐธรรมนูญได้ไม่ใช่แค่คนพิการ เพราะถ้าหากทุกคนวันหนึ่งอายุมากขึ้นแก่ตัวไปไม่มีคนดูแลไม่มีเงิน แล้วยังไม่มีสวัสดิการอะไรก็จะต้องไปอยู่สถานสงเคราะห์กันทั้งหมดเช่นนั้นหรือ สวัสดิการผู้ช่วยไม่ใช่แค่สำหรับคนพิการอย่างเดียว คนทั่วไปไม่มีลูกไม่มีหลานดูแลก็ขอรับสวัสดิการนี้ได้

อธิพันธ์อยากให้มีรัฐธรรมนูญใหม่และมีการเลือกตั้ง สสร. 100% ที่กลุ่มคนพิการทั่วๆ ไปสามารถเข้าไปเป็นตัวแทนในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้ด้วยไม่ใช่เพียงแค่คนพิการที่อยู่ในสมาคมคนพิการเท่านั้น

รัฐธรรมนูญ 60 ทำให้มีศาลรัฐธรรมนูญชายแท้เหยียดเพศ

ปกป้อง ชานันท์ ยอดหงษ์ นักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศ รัฐธรรมนูญคือสิ่งยืนยันและรับประกันสิทธิอำนาจของประชาชนและเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อกฎหมายอื่นๆ ในประเทศต่อโครงการและนโยบายต่างๆของรัฐ ดังนั้นรัฐธรรมนูญต้องมีความเท่าเทียมทางเพศไม่ผูกขาดกับเพศใดเพศหนึ่ง lgbtq ก็คือประชาชนต้องมีตัวตนในกฎหมายและได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพด้วย คุณค่าที่มนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาไม่เคยเห็นหัวกลุ่ม lgbtq เลย

ชานันท์ยกตัวอย่างรัฐธรรมมนูญ 2560 ของ คสช.ในมาตรา 27 ที่ระบุให้ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกันแต่ไม่ได้ระบุว่าบุคคลประเภทใดจะมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เป็นสิ่งยืนยันว่าฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญของชายหญิงรักต่างเพศเท่านั้นทำให้ lgbtq สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเลือกปฏิบัติและละเมิดสิทธิ์

เขาเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กับฉบับ 2475 ว่าด้วยเรื่องสิทธิ์ของประชาชนที่ยังใช้คำว่าบุคคลซึ่งเป็นคำกลางๆ ไม่ระบุเพศใดเหมือนฉบับ 2560 และรัฐธรรมนูญของ คสช.ยังทำให้เกิดศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เครื่องมือของ คสช.เท่านั้นแต่ยังเป็นตุลาการที่มีแต่ผู้ชายเท่านั้น และศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมายังสร้างปัญหาเอาไว้มากผ่านคำวินิจฉัยของศาล เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม ที่ศาลได้กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการสมรสเท่าเทียม

"ศาลรัฐธรรมนูญชายแท้ยังเสนอหน้ามานิยามความหมายของ lgbtq ที่แบบตีตรา ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นคนว่าเป็นสิ่งผิดธรรมชาติและสมควรได้รับการเลือกปฏิบัติแตกต่างจากชายและหญิง"

ชานันท์ระบุว่า ในประเด็นเรื่องสมรสเท่าเทียมนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนคำวินิจฉัยว่า สิ่งที่ไม่เหมือนกันจะถึงให้ปฏิบัติเหมือนกันไม่ได้ การปฏิบัติให้ถูกสอดคล้องกับวิถีที่เป็นธรรมชาติจะสร้างความเสมอภาคระหว่างชายหญิงได้ ไม่ใช่ถือเอาบุคคลที่กำหนดเพศไม่ได้มารวมกับความเป็นหญิงชาย ศาลรัฐธรรมนูญยังบอกอีกว่าจะเป็นการเพิ่มภาระของรัฐและทำให้สวัสดิการของชายจริงหญิงแท้เกิดความล้าช้าอุปสรรคไม่ได้รับความเป็นธรรม และยังนำไปสู่การจดทะเบียนสมรสเพื่อหวังผลประโยชน์ต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีด้วย และยังเขียนด้วยว่าเพศหญิงนั้นอ่อนแอกว่าผู้ชาย ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ทำให้เกิดกระแสการติดแฮชแท็กว่า "ศาลรัฐธรรมนูญเหยียดเพศ"

ชานันท์ระบุว่า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดรัฐธรรมนูญเหยียดเพศอีก การร่างใหม่จะต้องรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกเพศสร้างความเท่าเทียมทางเพศ กลุ่มอตัลักษณ์ต่างๆ ที่หลากหลายทั้ง lgbtq คนพิการและชาติพันธุ์จะต้องมีสิทธิ์ในการเข้าไปร่วมร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีตัวตนเป็นลายลักษณ์อักษร จะต้องกำหนดอัตราสัดส่วนของกลุ่มต่างๆ ที่จะเข้าไปอยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญด้วย

"ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐธรรมนูญที่มารับประกันยืนยันสิทธิเสรีภาพ อำนาจของประชาชนทุกคน เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ต้องให้พวกเราทุกคนเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับทุกมาตราทุกตัวอักษร”

อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของใครกันแน่

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กล่าวว่าอำนาจอธิปไตยควรจะต้องเป็นของประชาชนเสียงของประชาชนควรจะดังที่สุด มีความหวังมากกว่านี้ในรัฐบาลที่ไม่ใช่รัฐบาลทหารแต่ก็ลดน้อยลงหลังเลือกตั้ง 2 แสนรายชื่อที่เสนอคำถามประชามติที่ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและเกิดการเลือกตั้ง สสร. 100%ก็ควรจะได้รับการตอบสนองแล้วไม่ใช่การเถียงกันเรื่องจะแก้หมวด 1 และ 2 ได้หรือไม่ สิ่งที่ควรจะเป็นคือต้องไม่มีเสียงใครใหญ่กว่าเสียงของประชาชน

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไทยก็ขึ้นๆ ลงๆ มาตลอด เราเพิ่งผ่านเราเพิ่งผ่านจากระบบเผด็จการ รัฐธรรมนูญกว่า 20 ฉบับก็ถูกฉีก แต่ตลอดที่ผ่านมาไม่เคยมีการห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เพิ่งถูกแก้ในหมวดนี้ไปอีกทั้งยังถูกแก้หลังการประชามติ และที่ผ่านมารัฐธรรรมนูญก็ถูกแก้ทุกหมวดทุกมาตรามาโดยตลอดเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งถ้าหากบอกว่าอธิปไตยและอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนทำไมจึงมีการแก้ไขอีกหลังการทำประชามติ 2559

“มีอำนาจอะไรที่มีศักดิ์เหนือไปกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอยู่ในประเทศนี้หรือไม่”

ปนัสยายกกรณีการแต่งตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นองคมนตรี แต่ในพระบรมราชโองการแต่งตั้งกลับไม่มีผู้ลงนามรับสนองทั้งที่ในรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานองคมนตรีต้องเป็นผู้ลงนามซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้เพื่อป้องกันกษัตริย์จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์และยืนยันหลักการ The King can do no wrong หรือกษัตริย์จะไม่ได้รับผลใดๆ จากการใช้อำนาจนั้นแต่ผู้รับสนองจะเป็นผู้รับผิดชอบแทน จึงเป็นอีกคำถามสำคัญว่าคนจำนวนหนึ่งทำทุกวิถีทางในการป้องกันไม่ให้มีการแตะหมวด 1 และ 2 โดยพยายามยกเรื่องความสำคัญของมัน แต่จริงๆ แล้วได้ให้ความสำคัญกับทั้งสองหมวดนี้หรือไม่?

"เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีแนวโน้มจะขัดกับหมวด 2 ขึ้นกลับไม่สงสัยต่อความผิดปกตินั้น แต่เมื่อมีการเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ทำไมถึงมีความพยายามป้องกันไม่ให้เกิดการแก้ไขและมีความพยายามที่จะขัดกระบวนการได้ขนาดนี้ มันไม่ดูย้อนแย้งเกินไปเหรอ”

ปนัสยากล่าวว่าประเด็นหมวด 1 และ 2 ในรัฐธรรมนูญยังมีเรื่องที่คุยกันอีกมาก จึงต้องการให้รัฐสร้างพื้นที่ในการถกเถียง และถ้าจะให้ได้ผลก็ต้องให้พูดคุยเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาได้ด้วยเพราะรัฐธรรมนูญเป็นข้อตกลงร่วมกันของประชาชน จึงละเลยความต้องการของประชาชนเพราะไม่เห็นด้วยไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็ระบุชัดว่าอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทุกคนไม่ใช่กลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ปนัสยากล่าวต่อไปว่า รัฐจะต้องฟังเสียงของคนทุกกลุ่มเพราะกำลังใช้อำนาจในการบริหารประเทศ และประชาชนได้ส่งเสียงแล้วว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง สสร.100% โดยไม่มีเงื่อนไข ถ้าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริงรัฐจะไม่กีดกันเจตจำนงของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net