Skip to main content
sharethis

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือถึง ‘พท.’ เสนอคำถามประชามติ ร่าง รธน.ใหม่ทั้งฉบับ ยกร่างผ่าน สสร. 100% ด้าน ‘ชูศักดิ์’ รอง หน.เพื่อไทย ชงทำประชามติสอบถามความต้องการ ปชช. 2 คำถาม ได้แก่ 1.ประสงค์จะมี รธน.ฉบับใหม่หรือไม่ และ 2. จะมีการเลือกตั้ง สสร. มายกร่างหรือไม่ ถ้าผ่านได้ เชื่อราบรื่น

 

28 ส.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (28 ส.ค.) สำนักงานพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรี กทม. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เดินทางมายื่นหนังสือถึงพรรคเพื่อไทย เพื่อเรียกร้องให้ทางพรรคเพื่อไทย รับเจตจำนงในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่มีเงื่อนไข หรือร่างทั้งฉบับ และผ่านสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยมี ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ชูศักดิ์ ศรีนิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ

หลังจากนั้น ตัวแทนประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ได้กล่าวอ่านรายละเอียดในหนังสือที่นำมายื่นวันนี้ 

รายละเอียดของหนังสือยื่นถึงเพื่อไทย 

เรียน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย

เรื่อง ขอให้จัดทำประชามติรัฐธรรมนูญด้วยคำถามที่ไม่มีเงื่อนไข

สิ่งที่แนบมาด้วย 1. คำถามประชามติที่ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอ

2. ตัวเลขแสดงจำนวนรายชื่อประชาชนที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน

ตามที่พรรคเพื่อไทย เคยออกแถลงการณ์ครั้งที่หนึ่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2566 และครั้งที่สอง ร่วมกับพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่อง การประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลมีสาระสำคัญตรงกันี่จะเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยจะมีมติให้ทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่การประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเห็นเป็นนิมิตรหมายอันดี และเห็นความตั้งใจดีของพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของรัฐบาลที่กำลังจะมีขึ้น แต่ยังคงมีความกังวลว่า หากในการทำประชามตินั้น คณะรัฐมนตรีออกแบบคำถามการจัดทำไม่ได้มีส่วนร่วม จะทำให้ประชาชนที่ไปออกเสียงประชามติไม่มีทางเลือกหรือผลการทำประชามติไม่มีความหมาย ไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชน และไม่นำไปสู่กระบวนการเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง   

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญเป็นการรวมตัวกันเฉพาะกิจของนักกิจกรรมทางสังคม และองค์กรภาคประชาสังคมกว่า 30 แห่ง เห็นความสำคัญของการตั้งคำถามในการทำประชามติตั้งแต่เริ่มต้น จึงประสงค์ที่จะเสนอคำถามที่ครอบคลุมชัดเจนว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ และหากจะมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด โดยได้ใช้สิทธิตามมาตรา 9(5) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 รวบรวมรายชื่อประชาชนอย่างน้อย 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามดังกล่าว โดบกิจกรรมนี้มีประชาชนที่เห็นด้วยจำนวนมาก และช่วยกันนรวบรวมรายชื่อได้มากกว่า 205,739 รายชื่อ ด้วยการลงชื่อบนกระดาษภายในเวลาเพียงสั้นๆ และอยู่ระหว่างการจัดระเบียบเอกสารเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำส่งให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

ด้วยจำนวนรายชื่อของประชาชนนที่มากเช่นนี้ กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญมีความไม่มั่นใจว่าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะตรวจสอบรายชื่อด้วยความรวดเร็ว และเสนอไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ทันการประชุมเริ่มคณะรัฐมนตรีใหม่นัดแรก จึงนำคำถามประชามติที่ประชาชนร่วมกับเข้าชื่อเพื่อเสนอนี้มายื่นต่อพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้นำคำถามนี้เข้าสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรก และตัดสินใจให้มีการทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญ และมาตรฐานไม่ต่ำกว่าที่ประชาชนต้องการจะเห็น โดยไม่ต้องรอขั้นตอนการเสนอเรื่องของหน่วยงานราชการ

'เทม' รัชพงศ์ แจ่มจิรไชยกุล สมาชิก iLaw และเป็นสมาชิกประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหาการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เมื่อวันอังคารที่ 22 ส.ค. 2566 ทาง iLaw เพิ่งได้รับแจ้งจาก กกต. ว่าไม่สามารถลงรายชื่อผ่านออนไลน์ได้ ส่งผลให้รายชื่อ 4 หมื่นกว่ารายชื่อตกน้ำ ใช้ไม่ได้ทันที และเรามีลงรายชื่อแบบกระดาษเพียงหมื่นกว่ารายชื่อ

'เทม' เล่าให้ฟังด้วยว่า ป้ายตัวเลขดังกล่าวทำมาจากซองที่ประชาชนนำรายชื่อมาส่งให้ iLaw

iLaw จึงมีการออกแถลงการณ์ในวันเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนรวบรวมรายชื่อแบบกระดาษ และส่งมาที่ iLaw ในหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการมาลงชื่อด้วยตัวเองที่สำนักงาน iLaw หรือล่ารายชื่อและส่งทางไปรษณีย์ โดยใช้เวลาตั้งแต่วันพุธที่แล้ว (23 ส.ค.) จนถึงวันศุกร์ที่ 25 ส.ค. 2566 เวลา 20.00 น. ได้จำนวนอย่างน้อย 205,739 รายชื่อ

เทม ระบุต่อว่า ทั้ง 2 แสนกว่ารายชื่อคือความพยายามของประชาชน และไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอะไรต่อพรรคเพื่อไทย เพราะมีจุดยืนที่มั่นคงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยจุดยืนแบบนี้เราเลยเสนอคำถามประชามติร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชนว่าควรมีคำถามอย่างไร เนื่องจากเราเคยมีบทเรียนมาตั้งแต่เมื่อปี 2559 ว่า การทำคำถามประชามติที่ไม่ดีจะเกิดอะไรขึ้น และผลของมันยังอยู่กับเราจนทุกวันนี้ในรูปแบบของ ส.ว. ที่เลือกนายกรัฐมนตรีได้ 

วันนี้เรามาพรรคเพื่อไทย เอาเจตจำนงของประชาชนและจดหมายมายื่นถึงพรรค และอยากเน้นย้ำว่า ด้วยรายชื่อที่มากขนาดนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้าเขาอ้างเรื่องการทำธุรการตรวจสอบรายชื่อไม่ทัน พรรคการเมืองสามารถเอาคำถามประชาชนไปใช้ได้เลย โดยไม่มีความจำเป็นต้องรอ กกต. เพื่อให้อย่างน้อย เจตจำนงของประชาชนได้แสดงออก 

"ก็หวังว่าพรรคเพื่อไทยจะรับคำถามของประชาชนไปพิจารณา ไม่ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะตรวจสอบรายชื่อได้ทัน หรือไม่ทัน ในการประชุมรัฐมนตรีครั้งแรกที่จะถึง ในการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่" สมาชิก iLaw ระบุ

ด้านจีรนุช เปรมชัยพร สมาชิกกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การได้ตัวเลขประมาณกว่า 2 แสนรายชื่อภายในเวลา 3 วัน หลังทราบว่าการลงรายชื่อออนไลน์ใช้ไม่ได้ และทุกคนมาช่วยกันคีย์ข้อมูลคนที่ลงรายชื่ออย่างต่อเนื่อง จำนวนเหล่านี้บอกชัดเจนถึงความต้องการของประชาชน 

จีรนุช ระบุต่อว่า เธอเชื่อมั่นว่าเจตจำนงของประชาชนสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทย เพราะพรรคเพื่อไทยได้แสดงการสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว เราคิดว่าประชาชนและรัฐบาลใหม่จะสามารถดำเนินการผลักดันให้เกิดขึ้นได้ 

"สิ่งที่สำคัญ คือการมี สสร. มาจากการเลือกตั้ง และเราคิดว่า ความตื่นตัวของประชาชนในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ที่เราได้เห็นนี้ มันสะท้อนชัดเจนว่าประชาชนพร้อมที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งให้มีคนจากภาคส่วนต่างๆ มาเป็น สสร. เราคิดว่ามันสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของยุคสมัย และเจตนารมณ์ของพรรคเพื่อไทยด้วยเช่นกัน อยากจะนำสารเหล่านี้มาส่งถึงทางพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนสำคัญของรัฐบาล

"ขอฝากพลังใจของประชาชน เจตจำนงอันแรงกล้าของประชาชน มาถึงตัวแทนของประชาชนตรงนี้ด้วย" จีรนุช กล่าว 

พท.รับนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณา ครม. 

ชลน่าน ศรีแก้ว ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวระหว่างรับหนังสือจากตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญว่า ขอบคุณกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ที่แสดงเจตจำนงในการใช้ช่องทางตามกฎหมายประชามติในการเสนอคำถามที่จะให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากำหนดในการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ทั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำรัฐบาลได้เสนอเรื่องนี้เอาไว้ เราก็จะทำตามเจตนารมณ์ เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อย ก็จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

ชลน่าน ศรีแก้ว

เริ่มจากทำประชาติถาม 'ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่' และ 'ต้องการให้ สสร. มายกร่างหรือไม่' 

ชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค  กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยริเริ่มในการขอจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มานานแล้ว เมื่อปี 2563 เราได้เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แต่ก็มีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่รัฐสภาในการแก้ไขจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งสุดท้ายไม่สามารถโหวตผ่านได้ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาตีความกันว่า ก่อนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องไปสอบถามประชาชนก่อน ในครั้งนี้เราก็ยืนยันว่าจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และก่อนอื่นต้องทำประชามติสอบถามประชาชนว่าต้องการให้ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราได้สอบถามประชาชนแล้ว 

รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะเดียวกัน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น ในอดีตเราเคยเสนอกระบวนการของ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในครั้งนี้เราจึงเห็นว่าจะต้องสอบถามประชาชนให้ชัดเจนว่า 1.ประสงค์จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และ 2. จะมีการเลือกตั้ง สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าสามารถถามได้สะเด็ดน้ำแบบนี้ก็เชื่อว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเดินไปได้ราบรื่น ซึ่งสุดท้ายเราก็จะได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net