Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' เยี่ยมคารวะจุฬาราชมนตรี ยืนยันรัฐบาลจะทำงาน เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวมุสลิมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ระบุหลังลงพื้นที่ชายแดนใต้ได้มองเห็นศักยภาพ สามารถสร้างโอกาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ - 'รอมฎอน' สส.ก้าวไกล ประเมินเศรษฐาลงพื้นที่ชายแดนใต้ จงใจโชว์ภาพสวยงาม แต่ไม่พูดปัญหาความยุติธรรม ชี้จะแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การพูดคุยสันติภาพต้องเป็นหัวใจ ผู้นำต้องมีเจตจำนงทางการเมืองแน่วแน่

1 มี.ค. 2567 เว็บไซต์รัฐบาลไทย รายงานว่าเวลา 16.30 น. ณ สำนักจุฬาราชมนตรี ถนนคลองเก้า เขตหนองจอก กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เข้าเยี่ยมคารวะนายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ในโอกาสได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้นำสูงสุดในกิจการของศาสนาอิสลามคนที่ 19 แห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านศาสนาอิสลามแก่รัฐบาลไทย โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายประสิทธิ์ มะหะหมัด เลขานุการจุฬาราชมนตรี เข้าร่วมด้วย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

การเข้าเยี่ยมคารวะฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงความยินดีกับนายอรุณ บุญชม ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี พร้อมกล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 - 29 ก.พ. ที่ผ่านมา ได้นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชนลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังจากลงพื้นที่ได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ทั้งสถานที่ท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์ และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ สามารถสร้างโอกาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลจะมีการส่งเสริม สนับสนุนด้านต่าง ๆ เช่น การปรับปรุง ขยายด่านบริเวณชายแดน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวและการขนย้ายสินค้าข้ามชายแดน นอกจากนั้น จะมีการพูดคุยหารือเกี่ยวกับการปรับปรุงถนนให้สะดวกสบาย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องทำงานเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวมุสลิม ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น 

นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องความมั่นคง ในปีที่ผ่านมาปัญหาความไม่สงบลดน้อยลงมาก ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ดูแลประชาชนเป็นอย่างดี ส่งผลให้สถานการณ์ในพื้นที่ดีขึ้น อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอและปัญหาเกี่ยวกับเรื่องของแหล่งเงินทุน กฎหมายต่าง ๆ ที่บังคับใช้ในพื้นที่ โดยจะนำการพูดคุยวันนี้ไปพูดคุยกับคณะทำงานว่าจะใช้ช่องทางในการช่วยเหลือได้หรือไม่ นอกจากนั้น นายกรัฐมนตรีขอบคุณเสียงตอบรับจากชาวมุสลิม พร้อมย้ำจะทำงานแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาว 3 จังหวัดชายแดนใต้

'รอมฎอน' สส.ก้าวไกล ประเมินเศรษฐาลงพื้นที่ชายแดนใต้ จงใจโชว์ภาพสวยงาม แต่ไม่พูดปัญหาความยุติธรรม

ทีมสื่อพรรคก้าวไกล แจ้งข่าวว่าที่รัฐสภา รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล แถลง Policy Watch หัวข้อ “ตรวจสุขภาพชายแดนใต้ในมือนายกฯ เศรษฐา” โดยระบุว่าตนมี 3 เรื่องที่ต้องการสื่อสารต่อสาธารณะและต่อนายกรัฐมนตรี รวมถึงอีก 3 บุคคลที่จะมีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำและกำหนดจังหวะก้าวของรัฐบาลเศรษฐาต่อสถานการณ์ความไม่สงบและการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือ “ปาตานี” คือ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, ภูมิธรรม เวชยชัย และ ทักษิณ ชินวัตร

รอมฎอนกล่าวว่า เรื่องแรก คือการลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ของนายกฯ เมื่อวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภาพที่สื่อสารออกมาเน้นเรื่องเศรษฐกิจปากท้องและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องบอกว่าเป็นเรื่องที่เราเห็นตรงกัน แต่สิ่งที่ต่างกันและมีความสำคัญ คือรายละเอียดของการเดินทาง

สำหรับตน มองสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนคน การเดินทางลงไปครั้งนี้ เปรียบเหมือนคนที่ภายนอกดูมีร่างกายสมบูรณ์ดี แต่จริงๆ แล้วเป็นคนอมโรคอยู่พอสมควร เรื่องแรกที่ต้องพูดถึงและเป็นเสียงสะท้อนจากพื้นที่ คือเรื่องด่านและจุดตรวจ การเดินทางลงไปของนายกฯ ครั้งนี้มีนัยสำคัญมาก เพราะหลายด่านถูกทำให้หายไปชั่วคราว แต่ตอนนี้หลายคนบอกว่าด่านกลับมาแล้ว เรื่องนี้สำหรับคนภายนอก อาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กหรือเป็นเรื่องปกติในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แต่ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นี่คือจุดสำคัญมากที่คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีประสบการณ์ในการถูกเจ้าหน้าที่ซักไซ้ไล่เรียง ถูกตรวจสอบสอดส่องโดยอำนาจรัฐ เป็นภาพติดตาประชาชน

ข้อมูลจาก กอ.รมน. ที่ชี้แจงต่อ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ พบว่ามีด่านตรวจอยู่ถึง 2,392 ด่านใน 3 จังหวัดและ 4 อำเภอ เฉลี่ยอำเภอละประมาณ 65 แห่ง ดังนั้น สำหรับคนใน ด่านเป็นสัญลักษณ์ของการใช้อำนาจที่เกินเลยต่อประชาชน

แต่กลายเป็นว่าการที่นายกฯ โชว์ภาพด้านบวกสวยงาม สื่อสารให้เห็นว่ามีโอกาสที่จะพัฒนาในทางเศรษฐกิจ กลายเป็นภาพที่เป็นผิวเปลือกเท่านั้น เพราะชะตากรรมหรือชีวิตปกติของผู้คนในสามจังหวัดต้องเผชิญกับการถูกตรวจสอบการถูกคุกคามโดยตลอด นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้การวินิจฉัยโรคหรือการประเมินสถานการณ์ของนายกฯ บิดเบี้ยวบิดเบือนไป

ยิ่งเมื่อดูจากการสื่อสารของนายกฯ ก็เหมือนมีความตั้งใจว่าบางเรื่องจะทำเป็นมองไม่เห็นหรือไม่พูดถึง โดยตลอดการแถลงข่าวระหว่างลงพื้นที่ มีคำสำคัญ 3 คำที่นายกฯ พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก คือความเสมอภาค ความเท่าเทียม และโอกาส แต่สิ่งที่ขาดไปเลยและเป็นคำสำคัญของสันติภาพชายแดนภาคใต้ คือเรื่องความยุติธรรม ซ้ำร้ายยังพูดถึงเหตุการณ์ในอดีตที่เรียกร้องให้ประชาชนในพื้นที่อดกลั้นและอ้างว่าในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าจะเข้าสู่เดือนรอมฎอน เรียกร้องให้ประชาชนยกโทษให้แก่กันและกัน

ตนไม่แน่ใจว่านายกฯ หมายถึงเหตุการณ์ตากใบเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้วหรือไม่ เพราะเกิดขึ้นในเดือนรอมฎอนเหมือนกัน ในปฏิทินปกติเหตุโศกนาฏกรรมนี้เกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม แต่ในปฏิทินอิสลามจะอยู่ที่วันที่ 11 เดือนรอมฎอน ซึ่งในปีนี้จะครบรอบอีกครั้งราว ๆ วันที่ 21 หรือ 22 มีนาคม เหตุการณ์ในอดีตเหล่านี้คือเหตุการณ์บาดแผลสำคัญ ซึ่งในความเห็นของตนและพรรคก้าวไกลเหตุการณ์ที่อำนาจรัฐใช้กำลังทำให้ประชาชนเสียชีวิตจำนวนมหาศาลแบบนี้ ต้องมีการฟื้นคืนความยุติธรรมผ่านกลไกต่างๆ

“ผมไม่แน่ใจว่าที่ท่านนายกพูดถึงประเด็นนี้และเรียกร้องให้เราในฐานะประชาชนในพื้นที่ลืมและให้อภัย คือเหตุการณ์ตากใบหรือไม่ ถ้าท่านคิดอย่างนั้นจริงก็ถือว่าน่าเสียดาย เพราะความเสมอภาคความเท่าเทียมและโอกาสในทางเศรษฐกิจจะไม่มีความหมายเลย ถ้าปมในใจของประชาชนยังอยู่ และเรื่องที่เป็นหัวใจสำคัญที่สุดคือความยุติธรรม การรื้อฟื้นผลักดันคดีตากใบขึ้นมาเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่เรายังไม่เห็นรัฐบาลมีท่าทีต่อเรื่องนี้”

สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2 คือกระบวนการสันติภาพที่หากพิจารณาหมุดหมายสำคัญในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบการลงนามในเอกสารสำคัญมากเมื่อ 11 ปีที่แล้วในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ นั่นคือเอกสาร “ฉันทามติทั่วไปว่าด้วยการพูดคุยสันติภาพ” (General Consensus on the Peace Dialogue Process) ที่มีการลงนามที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และตัวแทนจากขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN) ถือเป็นวันที่มีความหมายสำคัญต่อพัฒนาการในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและการสร้างสันติภาพในชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ มีการฟื้นคืนการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น เห็นพ้องกันหลายครั้งแต่ไม่มีการลงนามเลย รวมถึงเอกสารสำคัญอีกฉบับที่ลงนามในเดือนมีนาคม 2565 นั่นก็คือหลักการทั่วไปว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Principle on Peace Dialogue Process) มาถึงยุครัฐบาลเศรษฐา ได้แต่งตั้งรองเลขา สมช. เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย ตอนนี้มีข้อตกลงจำนวนมากเรื่องแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติภาพแบบองค์รวม (JCPP) แต่สิ่งที่ต้องกังวลและนายกฯ ยังให้ความใส่ใจไม่มากพอ คือท่านไม่พยายามมองประเด็นที่เป็นปัญหาในระหว่างการลงพื้นที่

เรื่องที่ท่านอาจมองไม่เห็นคือบรรยากาศในการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ถูกจำกัดมาก กมธ. หลายชุดได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินคดีฟ้องปิดปากประชาชนในพื้นที่ เป็นการสร้างบรรยากาศให้อึมครึม เป็นบริบทที่ไม่เอื้อให้กระบวนการสันติภาพมีสุขภาพที่ดี

เมื่อเราวินิจฉัยโรคแล้ว สถานการณ์ในปัจจุบันต้องเรียกว่าเป็นการแก้ไขปัญหาหรือการสร้างสันติภาพแบบลูกผสม ระหว่างแบบเสรีกับแบบอำนาจนิยม รัฐบาลเศรษฐาทำทั้ง 2 อย่างพร้อมกัน คือด้านหนึ่งให้มีการพูดคุย อีกด้านหนึ่งให้จำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น พูดถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่ไม่พูดถึงประเด็นความยุติธรรม

รอมฎอนกล่าวว่า เรื่องสุดท้าย คือวาระการทำงานของรัฐบาลเศรษฐาจะครบ 6 เดือน ตนเป็นคนหนึ่งที่วิพากษ์วิจารณ์การแถลงนโยบายของรัฐบาลว่าไม่มีการระบุตรงๆ ถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ 2 อย่าง คือไม่แยแสเลย หรือไม่กล้าแตะอาณาบริเวณที่ฝ่ายความมั่นคงดูแลอยู่

โดยตนมีข้อสังเกต ประการที่หนึ่ง ที่ผ่านมาดูเหมือนนายกฯ ให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซีย เพราะการตีโอบหรือจำกัดบทบาทของมาเลเซีย เป็นหนึ่งในหนทางการแก้ไขปัญหาภายในประเทศ และประเด็นที่สอง การพูดถึงบรรดาการบังคับใช้กฎหมายพิเศษต่างๆ ทำไปอย่างมะงุมมะงาหรา สำคัญที่สุดคือรัฐบาลยังไม่แตะกฎอัยการศึกเลย

“จะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะพัฒนาการท่องเที่ยวหรือพัฒนาเศรษฐกิจโดยไม่แตะเรื่องหัวใจสำคัญแบบนี้ พื้นที่นี้ถูกตีกรอบว่าต้องใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่ปี 2547 เราจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างที่นายกฯ คาดหวังได้อย่างไร ถ้าบรรดากฎหมายพิเศษเหล่านี้ยังประกาศอยู่ สถานทูตยังมีคำเตือนต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติ เขาจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์”

รอมฎอนกล่าวว่า โดยสรุปตนเห็นว่าตอนนี้คือปี 2567 แต่ภาพที่เกิดขึ้นทำให้ตนนึกย้อนไปก่อนหน้าปี 2547 ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ตอนนั้นรัฐบาลดูเบาสถานการณ์ความขัดแย้ง ประเมินต่ำมากว่าสิ่งที่เคยเป็นข้อขัดแย้งเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ข้อเรียกร้องเรื่องการแบ่งแยกดินแดนหรือการปกครองพื้นที่ที่ต้องมีกลไกพิเศษในการบริหารจัดการ ได้ผ่านไปแล้ว นายกฯ ทักษิณมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งถ้ารัฐบาลเศรษฐามองอย่างนั้นจริง ก็หมายความว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือการประเมินสถานการณ์ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเศรษฐาจึงไม่กล้าปะทะกับปัญหาใจกลางความขัดแย้งของจังหวัดชายแดนภาคใต้และมองข้ามไป คือเรื่องการปกครองที่ชอบธรรม ตนต้องย้ำว่าเราไม่สามารถควบคุมจากกรุงเทพฯ ส่งทหารไปแล้วอยู่กันอย่างนี้ได้อีกแล้ว แต่ต้องแบ่งสรรปันอำนาจ ต้องฟังเสียงประชาชน มีแต่หนทางนี้ที่ทำให้คนที่ใช้กำลังจะไม่สามารถระดมคนหรือความสนับสนุนได้

“นี่คือแนวทางการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน ต้องคุยกันว่าเราจะสร้างโครงสร้างการปกครองที่ชอบธรรม ที่ผู้คนยอมรับได้อย่างไร แต่สิ่งนี้ดูเหมือนนายกฯ เศรษฐาจะละเลยไป ประหนึ่งหลับตาเดินข้ามถนนโดยทึกทักคิดเอาเองว่ารถจะไม่ชน รถจะไม่มี”

รอมฎอนกล่าวว่า เจตจำนงทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท้ายสุดแล้วเราต้องการฝ่ายบริหารที่มุ่งมั่นแน่วแน่ว่าจะแก้ปัญหาในทางการเมือง ไม่ใช่ผู้นำที่พยายามหลีกเลี่ยงปัญหา วันนี้เราไม่เห็นการจัดตั้งกลไกที่เตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขปัญหาทางการเมือง รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงก็ไม่มี คณะกรรมการกำกับทิศทางการพูดคุยสันติภาพก็ไม่เห็น

“ต้องขอเตือนนายกฯ เศรษฐา ให้ทบทวนสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียใหม่ ถ้าดูเบาสถานการณ์เกินไปแล้วมอบหมายงานเหล่านี้ให้ฝ่ายความมั่นคงเพียงอย่างเดียว เกรงว่าในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ผู้นำของรัฐบาลพลเรือน ท่านจะตัดสินใจทางการเมืองผิด” รอมฎอนกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net