Skip to main content
sharethis

ไทย-ออสเตรเลีย กระชับความสัมพันธ์และเห็นพ้องเพิ่มพูนความร่วมมือทุกด้าน ไทยพร้อมเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในปีหน้า - บริษัท Apple ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานไทยพร้อมเพิ่มการผลิตสินค้าในไทย เชิญชวนตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรในไทย


เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทย พบหารือทวิภาคีกับแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย

16 พ.ย. 2566 เวลา 11.35 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง) ณ ห้องหารือทวิภาคี 1 ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายแอนโทนี แอลบาเนซี (The Honourable Anthony Albanese MP) นายกรัฐมนตรีเครือรัฐออสเตรเลีย ในห้วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 โดย นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกฯ ยืนยันความพร้อมที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียในปีหน้า พร้อมจะพาภาคเอกชนร่วมคณะไปด้วย โดยไทยและออสเตรเลียมี FTA ที่มีความก้าวหน้ามาก มีการแลกเปลี่ยนและความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนที่ใกล้ชิด การท่องเที่ยวเป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยคนออสเตรเลียนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยจำนวนมาก ในขณะที่คนไทยก็นิยมท่องเที่ยวออสเตรเลีย เนื่องจากมีความปลอดภัย ทั้งนี้ มีบริษัทชั้นนำย้ายฐานการผลิตมาไทยเป็นจำนวนมาก อาทิ ด้านรถยนต์ไฟฟ้า การตั้งศูนย์ Data Center เป็นต้น รวมถึงจะมาลงทุนในไทยด้วย
 
ด้าน นายกฯ ออสเตรเลียแสดงความยินดี และเชื่อมั่นในการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ทั้งสองประเทศถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และไทยถือเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของออสเตรเลีย ทั้งทวิภาคี และในกรอบอาเซียน ยินดีที่ไทยตอบรับเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย ในเดือนมีนาคม 2567 โดยออสเตรเลียมีคนไทยอาศัยอยู่จำนวนมากในภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคธุรกิจ และอาหาร เป็นต้น รวมถึงมีความร่วมมือสถาบันการศึกษาระหว่างกันอย่างดี อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อสูงมากเนื่องจากสถานการณ์ระหว่างประเทศ จึงทำให้สินค้าในประเทศราคาสูงขึ้น และประชาชนได้รับผลกระทบ
 
โอกาสนี้ นายกฯ ออสเตรเลียยังกล่าวว่าออสเตรเลียให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลียอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษ เพื่อฉลองครบรอบ 50 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-ออสเตรเลีย และยินดีที่ผู้นำอาเซียนทุกท่านได้ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้ว โดยเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียนมีความเกื้อหนุนกันอย่างดี ทั้งนี้ ยังได้กล่าวชื่นชมการจัดการประชุมเอเปคปี 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง

หารือนายกรัฐมนตรีแคนาดา มุ่งร่วมมือเสริมสร้างศักยภาพที่แน่นแฟ้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เพื่อการเติบโตครอบคลุม และการพัฒนาที่ยั่งยืน

16 พ.ย. 2566 เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก) ณ ศูนย์ประชุมมอสโคนีเซ็นเตอร์ ฝั่งทิศใต้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือทวิภาคีกับนายจัสติน ทรูโด (The Right Honourable Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดา ในระหว่างการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 30 นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้
 
ผู้นำทั้งสองฝ่ายต่างหวังที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือในระดับทวิภาคีอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น โดยมีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศ เชื่อว่าความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ถือเป็นกรอบความร่วมมือที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโอกาสมากมาย และการประชุมในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจจากทั่วโลกจะได้ใช้โอกาสนี้พบกัน
 
นายกฯ กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้มาเพื่อประกาศให้ทราบว่า ประเทศไทยเปิดแล้ว และพร้อมรับการลงทุน การเกิดสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมาภูมิภาคอาเซียน อาทิ ไทย และเวียดนาม มากขึ้น โดยมีภาคเอกชนชั้นนำต่างประเทศเข้ามาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมากขึ้น ในครั้งนี้มีโอกาสได้พบหารือกับภาคเอกชนชั้นนำหลายราย ที่กำลังพิจารณา และพิจารณาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต โดยไทยมีสิทธิประโยชน์และมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับภาคเอกชนจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการ
 
นายกฯ แคนาดากล่าวว่า แคนาดาพร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลของไทย ทั้งในระดับทวิภาคี และภูมิภาค เพื่อสานต่อพลวัตความสัมพันธ์ และความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ แคนาดามียุทธศาตร์อินโดแปซิฟิก ที่หวังจะร่วมมือกับไทย ซึ่งด้วยสถานการณ์ระหว่างประเทศทำให้ภาคเอกชนจะต้องเพิ่มศักยภาพความยืดหยุ่นในภาคการผลิตมากขึ้น รวมทั้งกระชับความร่วมมือระหว่างประเทศให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย ไทยถือเป็นประเทศคู่ค้ารายสำคัญของแคนาดา อย่างไรก็ดี ไทยและแคนาดายังไม่มี FTA ระหว่างกัน ทั้งนี้ ทั้งสองเห็นพ้องหากดำเนินการได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อไทยและแคนาดามาก โดยทั้งสองฝ่ายเห็นว่า ความตกลง FTA ระหว่าง ASEAN-Canada ซึ่งกำลังเจรจากันอยู่น่าจะเป็นโอกาสที่ดีให้ทั้งสองฝ่ายใช้ประโยชน์จาก FTA ดังกล่าว

บริษัท Apple ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานไทยพร้อมเพิ่มการผลิตสินค้าในไทย เชิญชวนตั้งศูนย์พัฒนาบุคลากรในไทย

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 15 พ.ย. เวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบหารือกับผู้บริหาร บริษัท Apple ซึ่งนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

บริษัท Apple ผู้บริหารบริษัทกล่าวว่า ไทยมีผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น (Application) จำนวนมาก โดยส่วนใหญ่อยู่ในระบบ ios โดยมีจำนวนมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้บริหารฯ ชื่นชมโครงสร้างพื้นฐานของไทย โดยบริษัทฯ มีโรงงานผลิตสินค้าของ Apple ในไทย และรู้สึกพอใจกับทั้งโครงสร้างพื้นฐาน และคุณภาพของสินค้าที่ผลิตในไทยเป็นอย่างมาก 

โอกาสนี้ ผู้บริหารฯ ได้สอบถามเกี่ยวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ซึ่งนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบด้าน ทั้งการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รัฐบาลดิจิทัล และพลังงานสีเขียว เป็นต้น ซึ่งผู้บริหารบริษัทฯ กล่าวว่า บริษัทฯ ตั้งมั่นจะบรรลุความพยายามในการลดการปล่อยคาร์บอนลงให้ได้ภายในปี 2030 พร้อมกล่าวชื่นชมนโยบายพลังงานสีเขียวของรัฐบาลไทย ทั้งนี้ ทั้งผู้จัดหา (supplier) และผู้ผลิต (manufacturer) ของบริษัทจะต้องเดินหน้าตามแนวทางนี้ด้วย ซึ่ง นายกฯ กล่าวว่า ไทยมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ซึ่งถือเป็นผู้นำในภูมิภาคในเรื่องนี้ ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ รวมทั้งยังมีแผนที่จะทำโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดในเขื่อนด้วย

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายพร้อมพิจารณาศูนย์พัฒนาบุคลากรสำหรับการสร้างแอพพลิเคชั่นร่วมกัน โดย นายกฯ ได้เชิญชวนให้บริษัทมาตั้งสถาบันที่ประเทศไทย รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเชี่ยวชาญ และ know how ของบริษัทฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องว่าเป็นความร่วมมือที่ควรเดินหน้าโดยเร็ว โดยจะให้ทีมงานของทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนกัน


ที่มาเรียบเรียงจากเว็บไซต์รัฐบาลไทย [1] [2] [3]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net