Skip to main content
sharethis

ถึงแม้ว่าหลังปีใหม่เป็นต้นมา มิกกี้เมาส์ เวอร์ชั่นการ์ตูนที่เก่าแก่จะหมดลิขสิทธิ์ทำให้กลายเป็นสาธารณสมบัติ (Public Domain) แต่ทว่า ไม่ได้หมายความว่าจะเอามาใช้ได้ในทุกที่ ทุกกรณี เพราะมีความซับซ้อนของกฎหมายอื่นที่ผูกอยู่กับตัวละคร อีกทั้งมิกกี้เมาส์ ยังมีหลายเวอร์ชั่น เวอร์ชั่นทีเป็นสาธารณสมบัตินี้เป็นแค่เวอร์ชั่นการ์ตูนปี 2471 เท่านั้น

ในที่สุด มิกกี้เมาส์ ตัวการ์ตูนหนูที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกซึ่งสร้างขึ้นโดยวอลท์ ดิสนีย์ ก็กลายมาเป็นสาธารณสมบัตินับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นมา

การกลายเป็นสมบัติสาธารณะที่ว่านี้หมายถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะลิขสิทธิ์ของตัวละคร มิกกี้เมาส์ จากที่เคยมีเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นดิสนีย์ให้กลายเป็นลิขสิทธิ์ในรูปแบบของสาธารณสมบัติ (public domain) ที่ไม่ได้อยูภายใต้การคุ้มครองด้วยกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอีกต่อไป

แต่ทว่า ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายก็เตือนว่าอย่าเพิ่งด่วนนำ มิกกี้เมาส์ ไปใช้เป็นชื่อของบริษัทคุณ เพราะมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่ถึงแม้ว่ามิกกี้เมาส์ จะกลายเป็นสาธารณสมบัติแล้วก็ตาม

"สาธารณสมบัติ" หมายความว่าอย่างไร

การที่ มิกกี้เมาส์ เปลี่ยนรูปแบบลิขสิทธิ์เป็น "สาธารณสมบัติ" หมายความว่า ผู้กำกับ, นักเขียน และศิลปินทั่วโลกสามารถนำตัวละคร มิกกี้เมาส์ ในรูปแบบขาวดำเวอร์ชั่นของปี 2471 ไปใช้ได้ เวอร์ชั่นที่ว่านี้เป็นมิกกี้เมาส์ ในการ์ตูนแอนิเมชั่นขนาดสั้นที่ชื่อ “สตีมโบUท วิลลี่” (Steamboat Willie)

คิมเบอร์ลี เวทเทอร์ออล ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์อธิบายว่า นอกเหนือจากการนำไปใช้แล้ว ในตอนนี้มันยังถือเป็นเรื่องถูกกฎหมายที่จะทำตัวละครมิกกี้เมาส์ เวอร์ชั่นขาวดำปี 2471 ไปดัดแปลงแก้ไข หรือก๊อปปี้ตัวต้นฉบับเอาไปตัดต่อหรือเปลี่ยนแปลงจากผลงานต้นฉบับเลยก็ได้

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือการที่กฎหมายลิขสิทธิ์ในแต่ละประเทศแตกต่างกันออกไป

กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐฯ ที่มีการเปลี่ยนแปลงมาหลายครั้งมากตลอดช่วงชีวิตของมิกกี้เมาส์ ก็เป็นกฎหมายที่ได้รับอิทธิพลจากดิสนีย์เอง จนถึงขั้นมีคนเรียกกฎหมายนี้ในเชิงหยอกว่าหรือจริงๆ แล้วมันคือกฎหมายคุ้มครองมิกกี้เมาส์ กันแน่ กฎหมายดังกล่าวนี้ระบุว่าผู้คนสามารถผูกขาดลิขสิทธิ์เอาไว้ได้เป็นเวลา 95 ปี นั่นหมายความว่ามิกกี้เมาส์ เวอร์ชั่น ปี 2471 มีอายุลิขสิทธิ์เกิน 95 ปีแล้วเมื่อเข้าสู่ศักราช 2567

สำหรับกฎหมายลิขสิทธิ์ในออสเตรเลีย, แคนาดา, อังกฤษ และประเทศยุโรปอื่นๆ นั้น กำหนดระยะเวลาการคุ้มครองการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่ที่จำนวนอายุขัยของผู้สร้างบวกเพิ่มไปอีก 70 ปี

อิสซาเบลลา อเล็กซานเดอร์ ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์กล่าวว่า การที่ผลงานหมดลิขสิทธิ์จนนับเป็นสาธารณสมบัตินั้นถือเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้สร้างสรรค์ผลงานในอนาคต เป็นการทำให้ศิลปินหรือผู้สร้างผลงานสามารถวาดเขียนผลงานที่มีอยู่แล้วได้ไม่ว่าจะด้วยแรงบันดาลใจหรือเพื่อสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ

อเล็กซานเดอร์กล่าวอีกว่าในปัจจุบันนั้นกฎหมายมีการเพิ่มระยะเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์มากกว่าในอดีต ทำให้ลิขสิทธิ์อาจจะยังคงอยู่เกินกว่า 100 ปีในบางกรณี แต่ก่อนหน้านี้กฎหมายลิขสิทธิ์เคยคุ้มครองผลงานเพียงแค่ 14 ปี เท่านั้นและอนุญาตให้ต่ออายุได้ไปอีก 14 ปี ทำให้ในปัจจุบันอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ยาวนานกว่าอย่างเห็นได้ชัด

แล้วแบบนี้จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับมิกกี้เมาส์ หรือใช้มิกกี้เมาส์ เป็นโลโก้บริษัทได้ไหม?

อเล็กซานเดอร์บอกว่า ถ้าหากคุณมีแรงดลใจที่จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับการผจญภัยของมิกกี้เมาส์ ในออสเตรเลียก็อาจจะสามารถทำได้ แต่ต้องพิจารณาเรื่องกฎหมายและเรื่องการเงินอย่างถี่ถ้วน เพราะรูปมิกกี้ เมาส์ ที่นำมาใช้ได้ในตอนนี้ยังต้องเป็นมิกกี้เมาส์ ในฉบับของภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง "สตีมโบ๊ต วิลลี" เท่านั้น

สำหรับในออสเตรเลียนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ระบุอนุญาตในเรื่องการทำข้อตกลงอย่างเป็นธรรมอยู่ ทำให้นำมิกกีมาใช้ได้ในแบบที่จำกัดอยู่พอสมควร เช่นนำมาใช้ในหนังสือที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หรือวิจารณ์ภาพยนตร์เกี่ยวกับมิกกี้เมาส์ ได้ในฐานะข้อยกเว้นลิขสิทธิ์

แต่อเล็กซานเดอร์ก็เตือนว่า ความยุ่งยากอาจจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการจัดตีพิมพ์ของสำนักพิมพ์ เพราะสำนักพิมพ์นั้นพยายามจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงอย่างมาก ทำให้ถึงแม้ว่าลักษณะผลงานนั้นจะอยู่ภายใต้ข้อยกเว้นลิขสิทธิ์ แต่พวกเขาก็มักจะต้องขออนุญาตจากบริษัทดิสนีย์ก่อนเสมอ และดิสนีย์ก็มักจะขอเงินในเรื่องนี้ที่แพงมากสำหรับผู้สร้างผลงานเว้นแต่ว่าจะทุนหนาจริงๆ หรือไม่เช่นนั้นผู้จัดพิมพ์ก็ต้องมีงบพร้อมทุ่มจ่ายจริงๆ ซึ่งตามประสบการณ์ส่วนตัวของอเล็กซานเดอร์แล้วมักจะไม่เป็นเช่นนั้น

แม้แต่การนำภาพต้นฉบับไปใช้งานก็มีความเสี่ยงหลายอย่างเช่นกัน

ดิสนีย์ทำการอัพเดทตัวละครของตัวเองอยู่เสมอทำให้ตัวละครในเวอร์ชั่นต่างๆ ของพวกเขาจะกลายเป็นสาธารณสมบัติในช่วงเวลาต่างๆ ในอีกหลายสิบปีถัดจากนี้

ซาราห์ ฮุก จากวิทยาลัยนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเวสต์เทิร์นซิดนีย์กล่าวย้ำว่า ตัวการ์ตูนมิกกี้ที่กลายเป็นสาธารณสมบัติในครั้งนี้นับแค่ตัวการ์ตูนเวอร์ชั่นสตีมโบ๊ต วิลลี่ เท่านั้น ตัวละครมิกกี้ ในเวอร์ชั่นที่ใหม่กว่า (เช่น ตัวที่สวมถุงมือ, รองเท้าใหญ่เกินเบอร์ และอื่นๆ) ก็ยังคงอยู่ภายใต้การคุ้มครองลิขสิทธิ์และจะต้องขอใบอนุญาต

นอกจากนี้แล้วดิสนีย์ยังคงถือสิทธิในด้านอื่นๆ เกี่ยวกับตัวละครมิกกี้อีกด้วย เช่นกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ทำให้ต้องระวังไม่เป็นการใช้มิกกีไปในทำนองสรางความสับสนให้กับผู้บริโภคในแง่ที่ว่าทำให้เกิดการเข้าใจผิดว่ามิกกี้ที่คุณสร้างขึ้นเป็นผลงานของดิสนีย์เองหรือได้รับการสนับสนุนจากดิสนีย์

ฮุกกล่าวว่า ถ้าหากคุณใช้มิกกี้ไปในทำนองสร้างความเชื่อมโยงกับดิสนีย์ คุณก็อาจจะเผชิญปัญหาทางกฎหมายหลายข้อ เช่น กฎหมายผู้บริโภคที่ระบุห้ามไม่ให้มีการกระทำชวนให้ไขว้เขวหรือหลอกลวง, กฎหมายการลวงขาย, กฎหมายการละเมิดเครื่องหมายการค้า และถ้าหากคุณไม่ใช่กลุ่มธุรกิจก็เสี่ยงต่อกฎหมายหมิ่นประมาทได้อีกด้วย

อเล็กซานเดอร์เห็นด้วยกับฮุก เธอบอกว่าในออสเตรเลียก็มีกฎหมายที่ต่อต้านการนำเสนอที่ชวนให้ไขว้เขวหรือหลอกลวงเช่นกัน ทำให้ปัญหาของการใช้งานมิกกี้เมาส์ จะมาจากการที่มิกกี้เมาส์ นั้นเป็น "แบรนด์ที่ผู้คนจดจำ" ในฐานะสิ่งที่เกี่ยวโยงอย่างมากกับดิสนีย์ ดังนั้นแล้วถ้าคุณเอารูปมิกกี ไปใช้เป็นลายเสื้อยืด ผู้คนก็อาจจะคิดว่าเสื้อยืดนั้นจัดทำโดยดิสนีย์

ดิสนีย์ประกาศว่าพวกเขาจะยังคงติดตามอย่างใกล้ชิดว่าผู้คนใช้ตัวละครที่โด่งดังที่สุดของพวกเขาอย่างมิกกี้เมาส์ อย่างไรบ้าง เพราะมิกกี้เมาส์ ยังถือเป็นภาพแทนบริษัทในเรื่องราว, ในสวนสนุก และในสินค้าของพวกเขา

หมดอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์แล้ว แต่ยังคงมีกฎหมายเครื่องหมายการค้า

เวทเทอร์ออลเตือนว่า ในขณะที่การคุ้มครองลิขสิทธิ์จะหมดอายุ แต่ก็ยังคงมีการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าอยู่ และการคุ้มครองเครื่องหมายการค้านั้นไม่มีวันหมดอายุตราบใดที่บริษัทยังคงใช้มันและจ่ายค่าธรรมเนียมต่ออายุการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าให้กับมัน รวมถึงมิกกี้เมาส์ เวอร์ชั่น สตีมโบ๊ต วิลลี ด้วย

ทำให้คนที่ต้องการจะใช้เจ้ามิกกี้เมาส์ไปโปรโมทผลงานของตัวเอง ก็เสี่ยงที่จะเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้าได้ แต่ถ้าหากใช้มันในเชิงงานสร้างสรรค์ที่ไม่ใช่การโปรโมทก็สามารถใช้ได้

ฮุกกล่าวว่า "ต้องไม่ลืมว่าลิขสิทธิ์เป็นแค่หนึ่งในหลายๆ สิทธิ ที่พ่วงมากับผลงานสร้างสรรค์ ดังนั้นแล้วอย่าเพิ่งไปเปลี่ยนชื่อของบริษัทตัวเองเป็นมิกกี้เมาส์"

ในปีหนึ่งมีผลงานจำนวนมากที่กลายเป็นสาธารณสมบัติ แต่ทำไม มิกกี้เมาส์ ถึงเป็นเรื่องใหญ่ล่ะ

ฮุกกล่าวว่า "บรรษัทดิสนีย์มีอิทธิพลต่อนโยบายลิขสิทธิ์ในอเมริกามายาวนานแล้ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม การที่ สตีมโบ๊ต วิลลี กลายเป็นสาธารณสมบัติ ถึงได้รับความสนใจอย่างมากในเชิงสัญลักษณ์"

นอกจากมิกกี้แล้ว ก่อนหน้านี้ก็มีตัวละครอื่นๆ ที่เป็นที่นิยมได้กลายมาเป็นสาธารณสมบัติเช่นกัน เช่น วินนี เดอะ พูห์ หรือ "หมีพูห์" ในเวอร์ชั่นหนังสือเด็กปี 2469 กับอีกตัวละครหนึ่งคือนักสืบ เชอร์ล็อก โฮล์ม

ไม่นานหลังจากที่ลิขสิทธิ์หมีพูห์หมดอายุในปี 2565 ก็มีการทำภาพยนตร์สยองขวัญเรื่อง "วินนี เดอะ พูห์ โหด/เห็น/หมี" (Winnie the Pooh: Blood and Honey) ที่หมีพูห์และตัวละครอื่นๆ ในเรื่องหลายมาเป็นฆาตกรกระหายเลือด

เวทเทอร์ออลตั้งข้อสังเกตว่าเริ่มมีการเขียนเรื่องราว เชอร์ล็อก โฮล์ม แบบใหม่ๆ ออกมา หลังจากที่นิยายนักสืบเรื่องนี้กลายเป็นสมบัติสาธารณะ ทำให้การสร้างสรรค์ผลงานแบบใหม่ๆ ออกมานั้นเป็นไปได้

แต่ฮุกก็เตือนว่าในกฎหมายลิขสิทธิ์ของออสเตรเลียนั้น ไม่ได้มีการคุ้มครองตัวละครในแบบของสหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ นั้นมีการคุ้มครองผลงานวรรณกรรม กับคุ้มครองตัวละครในวรรณกรรมแยกออกมาต่างหาก แต่กฎหมายออสเตรเลียไม่เป็นแบบนั้น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้ว่าอะไรนำมาใช้ได้ อะไรนำมาใช้ไม่ได้

 

เรียบเรียงจาก

Mickey Mouse belongs to the people now. Or does he?, SBS News, 02-01-2024

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net