Skip to main content
sharethis

วงเสวนาสะท้อนปัญหามาตรา 112 ในรอบ 3 ปีล่าสุดหลังถูกเอามาใช้กับม็อบเยาวชน แนวโน้มยังมีเพิ่มขึ้นเป็นคดีแสดงออกบนโลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ที่มีหลายคดีคนฟ้องเป็นประชาชนฝ่ายกษัตริย์นิยม อาจารย์นิติฯ ชี้กฎหมายถูกคนในกระบวนการยุติธรรมตีความเกินขอบ เสนอแก้ในสภา

เมื่อ 12 พ.ย.2566 ที่อาคาร All Rise (สำนักงาน iLaw) มีเสวนาในวาระครบรอบ 3 ปีที่ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้ ซึ่งงานเสวนาเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ "ผู้ใดหมิ่นประมาท ..." นำเสนอ บอกเล่าข้อมูล เรื่องราวคดี 112 ซึ่งตัวนิทรรศการมีการนำเสนอคำพิพากษา สถิติต่างๆ จดหมายที่คนข้างนอกส่งหาคนในเรือนจำ ไทม์ไลน์การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่ผ่านมา

แนวโน้มคดีม.112 ยังเพิ่มขึ้น 

งานเสวนาเริ่มจากการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางคดีของข้อหานี้โดย ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยเธอเล่าว่าแม้ว่าประเทศไทยจะมีรัฐบาลใหม่แล้วแต่สถานการณ์การดำเนินคดีก็ยังไม่หยุดและมีแต่จะเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีคดีรวมกันตั้งแต่ 19 พ.ย.2563 ที่มาตรา 112 ถูกนำกลับมาใช้มีแล้วอย่างน้อย 285 คดี มีคนที่ถูกดำเนินคดี 262 คน และคาดว่าภายในธันวาคมนี้อาจจะมีเพิ่มขึ้นจนเกิน 300 คดี

ณัฐฐาระบุว่าคดีส่วนใหญ่ในเวลานี้เกิดจากการแสดงออกทางออนไลน์และมีเพิ่มขึ้นถึง 175 คดีเป็นอย่างน้อยและมีจำนวนมากกว่าคดีที่เกิดจากการปราศรัยหรือจากการเข้าร่วมชุมนุมในช่วงแรกที่มีการนำข้อหานี้กลับมาใช้แล้ว  และในเวลานี้คดีที่เกิดจากการแสดงออกทางออนไลน์นี้ก็ไม่มีคดีใดที่อัยการมีความเห็นไม่สั่งฟ้อง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เป็นคดีจะเกี่ยวกับประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือการแสดงออกในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านรัชกาล โดยดคีส่วนหนึ่งเกิดขึ้นโดยประชาชนฝ่ายที่เห็นต่างกันด้วยกันเองเป็นผู้ฟ้องคดี เช่นมีคดีที่ผู้ฟ้องเป็นคนในกลุ่มของประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน

นอกจากนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลของศูนย์ทนายความฯ ยังให้ข้อมูลอีกว่าแนวโน้มการพิพากษาคดีมาตรา 112 ของศาลที่ตอนนี้คดีที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาทั้ง 105 คดีศาลมีแนวโน้มที่จะพิพากษาลงโทษและเมื่อคดีมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์แล้วศาลก็มักมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยประกันตัวด้วย ยกเว้นบางคดีเช่นคดีของณัฐชนนท์ ไพโรจน์ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือปกแดงที่รวมคำปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ศาลยกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าไม่ได้เป็นผู้พิมพ์

ณัฐฐามีข้อสังเกตต่อกรณีของณัฐชนนว่า ในการสืบพยานศาลมีการถามพยานที่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ด้วยว่าทำไมถึงมีการจับกุมเพียงณัฐชนนเพียงคนเดียวทั้งที่ในเหตุการณ์ขณะตรวจยึดหนังสือดังกล่าวจากรถบรรทุกมีคนอื่นอยู่ด้วยซึ่งพนักงานสอบสวนก็ตอบไม่ได้ อีกทั้งศาลก็ยังถามด้วยว่าแล้วคนที่เป็นคนพูดเนื้อหาที่อยู่ในหนังสือมีการดำเนินคดีตามมาหรือไม่ พนักงานสอบสวนก็ตอบว่ามีการดำเนินคดีด้วยข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เท่านั้นทำให้ศาลเกิดข้อสงสัยขึ้นมาเช่นกันว่าทำไมจึงไม่มีการดำเนินคดีด้วยข้อหามาตรา 112 กับผู้ปราศรัย

“มันเป็นความไม่แน่นอน มันเป็นดุลพินิจที่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐเองยังมีมุมมองไม่เหมือนกันกับกฎหมายตัวนี้ มันปฏิเสธไม่ได้ว่ากฎมหาย 112 ไม่มีปัญหา เพราะขนาดเจ้าหน้าที่ของรัฐเองก็ยังตั้งคำถามกันเองเลย แล้วพนรักงานสอบสวนก็ตอบคำถามนี้ไม่ได้เลยและเขาก็บอกแค่ว่าเป็นแค่พนักงานสอบสวนคนหนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนเท่านั้น” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความฯ กล่าว

ญัฐฐายังให้ข้อมูลต่อไปว่า ในปีนี้ศาลมีคำพิพากษาลงโทษแล้วให้รอการลงโทษหรือกำหนดโทษไว้มากขึ้นในคดีที่จำเลยยอมรับสารภาพเท่านั้นแต่จะไม่เกิดขึ้นกับคดีที่จำเลยเลือกต่อสู้คดี ยกเว้นคดีของเบนจา อะปันที่มีการต่อสู้คดีในคดีการปราศรัยในคาร์ม็อบและศาลพิพากษาลงโทษโดยให้รอการลงโทษไว้โดยให้เหตุผลว่าเบนจายังเป้นนักศึกษาอยู่

สำหรับข้อมูลสถิติของคนที่อยู่ในเรือนจำขณะนี้มีทั้งหมด 37 คน เป็นการคุมขังระหว่างคดียังไม่สิ้นสุดและยังมีการต่อสู้คดีอยู่ 27 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 15 คน และเป็นเยาวชน 2 คน ซึ่งประเด็นที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือการที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน นอกจากนั้นยังมีกรณีที่ศูนย์ทนายความฯ เพิ่งได้รับทราบข้อมูลมาว่ามีผู้ต้องขังที่ชื่อแม็กกี้ ที่ถูกขังระหว่างสอบสวนโดยที่แม็กกี้เองไม่ทราบว่าจะช่วยเหลือตัวเองในทางคดีได้อย่างไรและก็ไม่รู้จักศูนย์ทนายความฯ ด้วย

นายประกันที่ต้องดูแลทั้งผู้ต้องขังและครอบครัวผู้ต้องขัง

ชุติมน กฤษณปาณี เจ้าหน้าที่คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) ที่เข้ามาช่วยเป็นนายประกันอาสา ให้กับผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองซึ่งร่วมถึงคดีมาตรา 112 ด้วย ได้เล่าประสบการณ์การเข้ามาช่วยเหลือดำเนินการการยื่นประกันตัวและเป็นตั้งแต่ช่วงที่ประมาณเดือนกันยายน 2564 ซึ่งก็มีการแบ่งกันทำในกลุ่มเพื่อนที่ทำงาน ครช. ด้วยกันแต่เนื่องจากคดีส่วนใหญ่อยู่กับศาลอาญา รัชดาฯ ซึ่งใกล้บ้านทำให้ต้องไปตามบ่อยๆ จนทำให้จำไม่ได้แล้วว่าเป็นนายประกันให้กี่คดี แต่น่าจะเกิน 200 คดีแล้ว บางวันก็ต้องไปหลายศาลในวันเดียว

ชุติมนเล่าว่าที่ผ่านมาด้วยความที่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีหลายคนก็เป็นเพื่อนกันด้วยก็ทำให้การมาทำตรงนี้ไม่ได้อึดอัดมาก แต่พอผลว่าศาลไม่ให้ประกันก็รู้สึกไปอีกแบบและบางครั้งก็ต้องมาช่วยอธิบายให้กับญาติของผู้ที่ถูกสั่งขังฟังด้วยว่าทำไมคนที่โดนดีไม่ได้กลับบ้าน ดังนั้นการมาเป็นนายประกันก็ไม่ใช่แค่พาคนมาฟังการพิจารณาคดีที่ศาลเท่านั้นแต่ยังต้องทำให้ญาติของพวกเขาเหล่านี้รู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้งและยืนยันว่าจะมีการยื่นประกันต่อไป  ไปจนถึงการดูแลเรื่องปากท้องของผู้ที่ถูกดำเนินคดีด้วยถ้าเขาถูกสั่งขังแล้วทำให้พวกเขาต้องไปถูกขังในห้องขังของศาล

นายประกันอาสามองว่าสิ่งที่ทำให้ต้องใช้เวลามากคือขั้นตอนเอกสารต่างๆ เช่นการขาดเอกสารใดก็ต้องเดินทางไปคัดถ่ายกับเขต และการนั่งรอผลพิจารณาของศาลว่าจะให้ประกันหรือไม่ หรือการนั่งรอญาติ

ชุติมนกล่าวถึงวิธีคิดค่าประกันตัวในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วด้วยว่าก็จะต้องดูว่าศาลมีคำพิพากษาจำคุกกี่ปีซึ่งศาลก็จะตีเป็นปีละ 50,000 บาท ถ้ามีเศษเกินศาลก็จะปัดเป็น 1 ปีทันที

“ก็รู้สึกว่าทำไมชีวิตคนถูกปัดเศษกันง่ายขนาดนี้” ชุติมนกล่าว

นอกจากเรื่องนี้ที่เธอคิดว่าเป็นอุปสรรคของคนที่จะมาช่วยประกันตัวผู้ที่ถูกดำเนินคดีคือภาษาที่ใช้ในศาลที่เหมือนเป็นอีกภาษาหนึ่งเลย ทั้งคำสั่งของศาลอย่างการฟ้องไม่ฟ้องเป็นคดี คดีดำคดีแดงคืออะไร หรือแม้กระทั่งคำต่างๆ ในแบบฟอร์มที่ขอประกันตัว

อย่างไรก็ตามการมาเป็นนายประกันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องดูแลเงินประกันตัวจำนวนมากและต้องทำให้เงินที่ได้คืนหลังจากคดีจบต้องกลับเข้ามาเข้ากองทุนครบถ้วน

เก็ทไม่ได้ฆ่าใครตาย ไม่ได้ทำให้ใครถูกล้มล้าง

ไก่ (สงวนชื่อนามสกุลจริง) พ่อของ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือเก็ท โมกหลวงริมน้ำ จำเลยคดี 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำเพราะไม่สามารถขอประกันตัวได้ เขาเล่าถึงเรื่องราวของลูกชายตัวเองว่าโสภณเป็นคนเรียนเก่งอยู่แล้วโดยเฉพาะวิชาสายวิทย์-คณิต และโภณเองก็มีความฝันจะเป็นหมออยู่แล้วตั้งแต่เรียนป.1 แล้ว การที่สอบติดภาควิชารังสีเทคนิค คณะแพทย์ศาสตร์วชิระพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราทิราช ก็ทำให้เขาได้ทำตามฝัน

พ่อของโสภณเป่าเค้กวันเกิดของลูกชายให้แทนโสภณที่ขณะนี้ติดอยู่ในเรือนจำ

ไก่เล่าว่าลูกของตนเริ่มเข้าสู่การเมืองจากการเข้าร่วมสภานักศึกษาของมหาวิทยาลัย ซึ่งตอนแรกก็เหมือนเด็กทั่วไปไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองตั้งแต่แรก แต่การได้เข้าร่วมสภาที่ในการประชุมมีการถกเถียงถึงเรื่องความเป็นธรรมต่างๆ อยู่แล้วแม้ว่าจะเคยเตือนไปบ้างแล้วว่าการไปถกเถียงก็คงไม่ชนะถ้าอีกฝ่ายมีอาจารย์คอยให้การสนับสนุนอยู่ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้โสภณรู้สึกผิดหวังและก็เป็นเรื่องที่ทำให้เขาเกือบถูกให้ออกจากการเป็นสมาชิกสภา

พ่อของโสภณเล่าอีกว่า วันหนึ่งหลังการรัฐประหารความเป็นเผด็จการของรัฐบาลทหารก็เข้าสู่มหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เข้าไปอยู่ในความคิดของลูกว่าจะทำอย่างไรให้สังคมดีขึ้นกว่านี้ได้บ้าง และมีความตั้งใจจะปรับปรุงให้ดีขึ้น และก็ต้องประชาธิปไตยเต็มใบ แม้ว่าตัวเขาเองจะรู้สึกกังวลใจที่ลูกทำมากกว่าในพื้นที่ของมหาวิทลัยไปสู่เรื่องทางการเมือง

ไก่เล่าว่าตอนที่ได้รู้ว่าลูกตัวเองถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เขาเองก็รู้สึกช็อคว่าลูกตัวเองไม่ได้ไปฆ่าใครตายหรือทำให้ใครถูกล้มทั้งที่ก็ยังเห็นว่าอยู่กันเป็นปกติดีกันหมด แล้วก็มาจับลูกของเขาทั้งที่ก็ไม่ได้ทำผิดอะไรแต่แต่กลับถูกเอาไปตีความคำพูดของเขาแล้วก็เอามาใช้กฎหมายมาใช้ทำให้ฝ่ายหนึ่งผิดอยู่ฝ่ายเดียว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกผิดหวังกับระบบในประเทศนี้ด้วย แม้ว่าตัวเขาเองจะไม่ได้สนใจการเมืองเลยเพราะในความรู้สึกเขาเองคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องสกปรก แต่ทำไมมันไม่หายสกปรกแล้วกลับกลายเป็นว่ายังเอาการเมืองมาทำร้ายคนที่อยากจะพัฒนาการเมืองด้วย

พ่อของโสภณเล่าว่าตอนที่ลูกเลือกใช้วิธีอดอาหาร อดนอนในการประท้วงในเรือนจำเขาก็รู้สึกเจ็บปวด ลูกทุกข์พ่อแม่ก็ทุกข์ด้วย คนที่มาเปลี่ยนชีวิตลูกก็เหมือนมาเปลี่ยนชีวิตคนเป็นพ่อเป็นแม่ไปด้วย เหมือนกับเป็นการเอาหัวใจของเขาไป ลูกใครใครก็รัก ถ้าต้องการพัฒนาประเทศก็ไม่ต้องมาห้ำหั่นลูกหรือพ่อของเขามากนักเลยก็เป็นคนไทยด้วยกัน

ถ้าฝ่ายตุลาการตีความกฎหมายเกินเลย ฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องเข้ามาแก้

รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พยานผู้เชี่ยวชาญคดีมาตรา 112 หลายคดี เล่าว่าจากที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเป็นพยานเขาสามารถแบ่งกลุ่มคดีได้ 3 ประเภท คือ กลุ่มคดีอาญา คดีเกี่ยวกับจริยธรรมและความผิดทางวินัย และคดีในศาลรัฐธรรมนูญ

ในส่วนคดีอาญา รณกรณ์เล่าว่าจากการเป็นพยานในหลายคดีทำให้ทราบว่าจำนวนสถิติคดีที่ปรากฏและเข้าสู่ศาลนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น แต่มีคดีที่เข้าสู่ชั้นสอบสวนของตำรวจอีกจำนวนมากเช่นกัน เช่นกรณีที่เอาเพลงมารีมิกซ์ใหม่แล้วก็เอามาเต้น คดีไปร่วมชุมนุมหรือคดีที่เป็นการโพสต์ในโซเชียลมีเดีย เช่นคดีของ สส.คนหนึ่งในจังหวัดปทุมธานี แต่คดีกลุ่มนี้ก็จบไปในชั้นสอบสวนโดยคดียุติไปหรือตำรวจไม่ได้ดำเนินการต่อ ซึ่งจากที่เขาได้คุยกับตำรวจและอัยการมีกว่า 90% ที่คดียุติไปในพนักงานสอบสวนก็เป็นคดีที่เขาให้ความเห็นไปว่าไม่ได้เป็นความผิดและทางเจ้าหน้าที่ก็มีการตอบกลับมาว่าก็ยุติไป

ส่วนคดีจริยธรรมและความผิดทางวินัยก็เช่นคดีของอานนท์ นำภา ที่ถูกสภาทนายความตั้งงคณะกรรมการสอบสวนเพื่อถอนใบอนุญาต หรือคดีของพรรณิกา วานิช ซึ่งคดีลักษณะนี้เป็นการทำให้บุคคลไม่สามารถประกอบอาชีพนั้นต่อไปได้

คดีกลุ่มที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญที่ รณกรณ์เห็นว่าเป็นคดีการเมืองชัดเจน อย่างในคดีที่มีการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 จะเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมือง เป็นต้น

อาจารย์นิติฯ มองว่าคดีม.112 มีปัญหาทั้งในระดับตัวบทของกฎหมายและทัศนคติในการปรับใช้หรือตีความกฎหมายของผู้บังคับใช้กฎหมายทั้งตำรวจ อัยการ ศาล

รณกรณ์อธิบายว่าในส่วนของตัวบทของมาตรา 112 ที่มีไว้เพื่อคุ้มครองความมั่นคงรัฐโดยการปกป้องบุคคล 4 สถานะ ได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มากกว่าการหมิ่นประมาททั่วๆ ไป โดยคุ้มครองจาก 3 การกระทำคือ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้าย

ทั้งนี้ศาลไทยมีการตีความส่วนของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองขยายออกไปจาก 4 สถานะนี้ไปรวมถึงกษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ที่ศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษาไว้ประมาณปี 2556 โดยศาลตีความว่าการพูดเชื่อมโยงไปถึงรัชกาลก่อนหน้าส่งผลกระทบต่อรัชกาลพปัจจุบันด้วย ซึ่งการตีความแบบนี้เป็นการตีความที่มีปัญหา เพราะกฎหมายอาญาต้องตีความเคร่งครัด แล้วถ้าจะขยายแบบนี้ในกรณีกฎหมายของไทยในมาตรา 134-135 ยังให้การคุ้มครองประมุขของต่างประเทศไว้มากกว่ากฎหมายภายในประเทศของประเทศเหล่านั้นไว้ด้วย

รณกรณ์ยกตัวอย่างว่าในประเทศเช่นอังกฤษว่ามีการแสดงหรือสินค้าล้อเลียนกันเป็นเรื่องปกติ ถ้าไปทำแบบนี้ในประเทศอังกฤษก็ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถ้าทำสิ่งเดียวกันนี้ในไทยกลับเป็นความผิดอาญา หรือการวิจารณ์โจ ไบเดน ถ้าทำในไทยก็เป็นความผิดแต่ไปทำในสหรัฐฯ ไม่ผิด

อาจารย์นิติฯ กลับมากล่าวถึงการตีความของศาลไทยว่าการคุ้มครองขยายไปจนถึงรัชกาลก่อนๆ ที่เคยมีอยู่ในกฎหมายที่เลิกใช้มากว่า 66 ปี แต่ศาลไทยไม่เพียงแต่ตีความกฎหมายขยายไปคุ้มครองถึงรัชกาลก่อนๆ แต่รวมไปถึงลูกหลานของกษัตริย์รัชกาลก่อนๆ ด้วย

รณกรณ์ยังชี้ปัญหาของอัตราโทษของมาตรา 112 ที่มีโทษจำคุก 3-15 ปีว่าแม้กฎหมายลักษณะหมิ่นประมาทประมุขแบบนี้ในต่างประเทศจะมีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดโทษไว้แบบเดียวกันนี้ซึ่งการกำหนดโทษของกฎหมายไทยนั้นไม่ได้สัดส่วน และยังไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญด้วยเนื่องจากมีการห้ามการลงโทษที่เป็นการทรมานทารุนโหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรีและการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนก็เข้าข่ายตามนิยามการลงโทษที่โหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรีด้วย ซึ่งเคยมีตัวอย่างคำพิพากษาในศาลอังกฤษถึงประเด็นนี้ด้วยว่าการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วนนั้นคือการใช้ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเครื่องมือเพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นทำผิดตาม

“พูดง่ายๆ ว่าศาลเชือดไก่ให้ลิงดู แทนที่จะลงโทษเขาเพราะสิ่งที่เขาผิด แต่ศาลบอกไม่ได้ต้องลงโทษหนักๆ นิติบัญญัติบอกไม่ได้ต้องลงโทษหนักๆ คนอื่นจะได้ไม่ทำตาม อันนี้คือการลงโทษที่ผิดหลักสิทธิมนุษยชนที่เรียกว่าสิทธิที่จะไม่ถูกทรมานโหดร้ายย่ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งปัจจุบันเรามี พ.ร.บ.ฉบับนี้และผมก็เป็นกรรมการประจำ พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ นี่คือสิ่งที่เราพยายามจะบอกและพยายามจะเข้าใจ”

รณกรณ์กล่าวถึงการตีความการกระทำที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ว่า ดูหมิ่นคือการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์จัดให้เป็นสัตว์ต่างๆ แต่ศาลก็ยืนยันมาตลอดว่าการพูดจาไม่สุภาพ กู มึง อั๊ว ลื้อ ท้าตีท้าต่อยไม่ใช่การดูหมิ่น  ส่วนการหมิ่นประมาทคือการนินทาไม่ว่าจริงหรือเท็จในทางคนถูกพูดถึงเสื่อมเสีย และการอาฆาตมาดร้ายคือการข่มขู่ว่าในอนาคตจะไปทำร้ายกัน

“จะเห็นว่าตัวบทพวกนี้ค่อนช้างชัดเจน แต่เวลาศาลเอาคำพวกนี้ไปใช้ศาลหลุดจากคำว่าดูหมิ่นจากกฎหมายที่ใช้กับคนธรรมดาในมาตรา 393 ศาลหลุดจากคำว่าหมิ่นประมาทในมาตรา 326 ศาลหลุดจากคำว่าอาฆาตมาดร้ายที่ไม่ได้มีใช้กับคนธรรมดา โดยศาลไปเข้าใจหรือตีความรวมว่าการแสดงความไม่เคารพ ไม่รัก ไม่แสดงความเคารพอย่างการแต่งกาย ถ้าเป็นภาษาอังกฤษก็คือการ Parody การล้อเลียน แต่มันไม่ได้ลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มันไม่ได้นินทาว่าร้ายว่าเขาไม่ดีอย่างไร หรือมันไมได้แสดงความอาฆาตมาดร้ายว่าจะมาทำร้ายคุณยังไง อันนี้ผมคิดว่ากฎหมายอาญามันชัดเจนอยู่แล้วว่าควรจะจำกัดขอบแบบนี้”

รณกรณ์ยังชี้อีกปัญหาคือกฎหมายกำหนดบทลงโทษให้การกระทำทั้ง 3 แบบคือ ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย มีความผิดเท่ากัน ซึ่งเขาคิดว่าด้วยความร้ายแรงที่แตกต่างกันจึงไม่ควรจะมีโทษจำคุกเท่ากัน ดูหมิ่นควรจะน้อยที่สุด อาฆาตมาดร้ายก็อาจจะหนักกว่าได้แต่ก็ไม่ควรหนักถึง 3-15 ปีอย่างที่เป็นอยู่  

รณกรณ์กล่าวถึงประเด็นสุดท้ายที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุดคือการที่บุคคลสาธารณะหรือรับเงินสาธารณะจะถูกวิพากษ์วิจารณ์นินทาตามมาตรฐานสากลแล้วต้องทำได้ เช่น คดีในศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเคยมีคำพิพากษาว่ากรณีไปติดตามถ่ายภาพคนในราชวงศ์ของโมนาโคในเยอรมนีเป็นสิ่งที่ทำได้ไมได้ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว หรือแม้แต่การเผารูปในสเปน ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปก็ยังบอกว่าการแสดงความไม่พอใจเป็นสิ่งที่ทำได้ภายใต้กรอบเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น และการลงโทษคนเผารูปด้วยกฎหมาย lese majeste นั้นขัดหลักสิทธิมนุษยชน

“เป็น Deadlock ของสังคมประชาธิปไตย ถ้าไม่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ไม่ได้เสนอความคิดเห็น ถ้าเราถูกจำกัดความคิดเห็นตราบใดที่ความคิดเห็นนั้นอยู่ภายใต้กรอบ เราจะพัฒนาประชาธิปไตย เราจะเสนอความเห็นต่างได้อย่างไร”

อาจารย์นิติฯ เสนอว่าสิ่งที่จะนำมาใช้ในเรื่องนี้ได้คือเนื้อหาที่อยู่ในมาตรา 329 อนุ 3 ของประมวลกฎหมายอาญาที่อาจเอามาใช้กับกรณีหมิ่นประมาทได้เข้ามาอนุญาตให้สามารถทำการวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะกฎหมายนี้อนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์บุคคลสาธารณะได้ เช่นกรณีอาจารย์มหาวิทยาลัยสอนไม่ดี หรือนายกฯ บริหารประเทศไม่ดี ก็สามารถทำได้ถ้าทำด้วยความบริสุทธิ์ใจแม้ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่  อย่างไรก็ตามตอนนี้มีปัญหาว่าศาลตัดการใช้มาตรานี้ออกไปเลยทั้งที่อยู่ในประมวลกฎหมายอาญาเหมือนกันเพราะศาลมองว่ามาตรา 112 เป็นเรื่องความมั่นคงจึงห้ามพูดถึงในทางลบวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ทั้งสิ้น

“ถ้าเราอยากอยู่ในโลกที่มันได้มาตรฐานนานาชาติ อันนี้คือผมไม่ได้พูดว่าเราจะต้องเจริญก้าวหน้าเป็นผู้นำโลก แต่ผมพูดถึงมาตรฐานขั้นต่ำ เพราะเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของมาตรฐานขั้นต่ำในการอยู่ร่วมกัน ถ้าเราอยากเป็นรัฐที่ไปบอกชาวโลกได้ว่าเรามีประชาธิปไตยเราเคารพสิทธิมนุษยชน ผมว่าเรื่องพวกนี้อย่างแย่ที่สุดพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องควรจะต้องมีความกล้าหาญที่จะเอาข้อเสนอ 4-5 ข้อนี้ที่เสนอ ผมคิดว่าพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนในระบบประชาธิปไตยแย่ที่สุดก็ต้องเอาเรื่องพวกนี้มาพูดคุยกันว่าตกลงว่าเราจะมีการแก้ไขพวกนี้หรือไม่”

“ถ้าศาลใช้กฎหมายตีความกฎหมายเกินกว่าตัวบทมุ่งเน้นคุ้มครองจนเกินเลยกว่าตัวบท นิติบัญญัติก็ต้องตอบโต้ฝ่ายตุลาการด้วยการแก้กฎหมายให้มันชัดเจนแน่นอนรัดกุมมากขึ้น”

รณกรณ์ชี้ให้เห็นว่าการที่กฎหมายถูกนมาใช้แบบนี้ไม่ได้กระทบแค่เรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกแต่ยังไปกระทบกับการประกอบอาชีพ และสิทธิพลเมืองอย่างในกรณีที่มีการร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net