Skip to main content
sharethis

'พิชิต ชื่นบาน' ที่ปรึกษานายก ชี้รัฐบาลใช้วิธีออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้รัฐสภาตรวจสอบถ่วงดุล - รองเลขาธิการเพื่อไทยถามคนค้านดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนไม่เข้าใจถ่องแท้ วอนผู้วิจารณ์อย่ายัดเยียดความกลัว ความกังวล มาเป็นข้อจำกัดความเจริญประเทศ

เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2566 พิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตราพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ว่าพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังและช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดหลักการให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ โดยเงินที่กู้กระทรวงการคลังจะเก็บไว้เพื่อจ่ายออกไปตามโครงการเงินกู้ ไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเข้าบัญชีเงินคงคลัง ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและจ่ายเงินแผ่นดินตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 แต่อย่างใด

การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ มาตรา 53 นั้น วรรคคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”

วรรคสอง บัญญัติว่า “กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น”

และวรรคสาม บัญญัติว่า “เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น” จากบทบัญญัติในมาตรา 53 เห็นได้ว่า กรอบและเงื่อนไขในการออกกฎหมายเพื่อการกู้เงินของรัฐบาลมีได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้

ส่วนรูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ “รูปแบบของพระราชบัญญัติ” หรือ “รูปแบบของพระราชกำหนด” หาใช่กระทำได้เฉพาะในรูปแบบของพระราชกำหนดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้อยคำใน พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 วรรคหนึ่ง กำหนดเพียงว่า “มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ” ซึ่งถ้อยคำนี้มีความแตกต่างกับเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง ที่กำหนดว่า “เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”

ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องตามความหมายในพ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 จึงไม่ต้องถึงขนาดที่จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง แต่อย่างใด เพราะหากถึงขนาดที่เป็นกรณีฉุกเฉิน รัฐบาลย่อมสามารถออกกฎหมายเพื่อกู้เงินโดยตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ได้อยู่แล้ว

“ด้วยเหตุนี้หากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศที่ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ และโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะส่งผลให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต รัฐบาลย่อมสามารถตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงิน โดยรูปแบบของพระราชบัญญัติได้ตามพ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 และไม่ถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และมาตรา 62 ประการใด” พิชิต กล่าว

นายพิชิต กล่าวว่า การที่รัฐบาลได้เลือกรูปแบบของกฎหมายเพื่อกู้เงินโดยออกเป็นพระราชบัญญัติแทนที่จะออกเป็นพระราชกำหนดนั้น รัฐบาลมีเจตนาที่จะให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินนี้ ได้โดยผ่านการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามกลไกของรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ระยะเวลา และแผนงานหรือโครงการ ฯ อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นกระบวนการตรวจสอบตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตย และยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่อาจมีความเห็นในประเด็นต่าง ๆ สามารถส่งเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติกู้เงินว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ได้อีกทางหนึ่ง

ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตและมิได้ใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการฯดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังคงเฝ้ารอโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มาก ยกตัวอย่างครอบครัว ที่มีพ่อ แม่ และลูก เข้าเงื่อนไขรับเงิน 10,000 บาท แสดงว่าครอบครัวนี้สามารถมีเงินมาหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ถึง 30,000 บาท ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถคิด วางแผน เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้เพิ่มเติมได้อีกช่องทางหนึ่ง

นายพิชิต กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่นักวิชาการวิจารณ์ว่า โครงการฯ ดังกล่าวไม่ตรงปก เพราะเป็นการกู้มาแจก 100% ไม่เหมือนตอนยื่นนโยบายต่อ กกต. ที่บอกจะนำเงินมาจากงบประมาณแผ่นดิน นั้น ขออธิบายว่าในประเด็นนี้เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการชี้แจง กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2660 มาตรา 57 พรรคเพื่อไทยได้มีการระบุเงื่อนไขว่าอย่างชัดเจนว่า “ที่มาของวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ”

เมื่อวันนี้ รัฐบาลได้หาข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่าในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องมีการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงิน จำนวน 5 แสนล้านบาท และมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 1 แสนล้านบาท จึงเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศตามที่ได้แจ้งต่อ กกต. แล้ว

“อยากฝากประเด็นให้คิดว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แม้อาจมีหลายฝ่ายมีข้อกังวลเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ. กู้เงิน ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การตีความกฎหมายนั้น ดังสุภาษิตที่ว่า สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย จึงเป็นเรื่องสองคนย่อมเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและที่สำคัญประชาชนรอความหวังกับโครงการนี้อยู่ ตนเห็นข่าวยายอายุ 71 ปี ที่กระโดดลงไปในน้ำเพื่อตามธนบัตรใบหนึ่งพันบาทเพียงใบเดียว สุดท้ายตกลงไปในน้ำโดยไม่ห่วงชีวิต จึงอยากสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศที่หากเรามองปัญหามาจากหอคอยงาช้างย่อมไม่อาจเห็นปัญหาที่อยู่จุดข้างล่างได้” พิชิต ระบุ

นายพิชิต กล่าวว่า ท้ายสุดหากเรื่องนี้ไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เอง อย่างไรก็ตามเมื่อวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายประการตามมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จึงมีหน้าที่ที่จึงต้องรีบดำเนินการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะทุกปัญหาย่อมมีไว้ให้แก้ แต่ผู้นำที่ดีย่อมแก้ก่อนมีปัญหา

โฆษกรัฐบาลชี้แจงทุกคำตอบเกี่ยวกับ Digital wallet ผ่านข้อมูล infographics ตอบคำถามคาใจประชาชน

ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยแพร่ infographics คำถามคาใจ Digital Wallet ฉบับประชาชน ตอบทุกคำถามที่ประชาชนสงสัยต่อนโยบาย Digital Wallet

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงประเด็นที่ยังมีข้อสงสัยต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในสังคมไทยผ่าน infographics เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจถึงแนวคิด หลักคิด การดำเนินมาตรการ ซึ่งล้วนเกิดขึ้นจากการพิจารณาอย่างถ้วนถี่ของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งต้องการกระตุ้นการใช้จ่ายให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาส ยกระดับวิถีชีวิต พัฒนาความเป็นอยู่ ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

“นายกรัฐมนตรียืนยันการทำงานตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง ต้องการพัฒนาชาติบ้านเมืองให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และที่สำคัญที่สุดคือทำให้ชีวิตพี่น้องประชาชนดีขึ้น ซึ่งมีหลายการทำงานที่ประสบความสำเร็จแล้วเพียงช่วงเวลา 60 วันที่เข้ารับหน้าที่ และตอนนี้ รัฐบาลมุ่งหน้าที่จะพัฒนาภาพรวมของระบบเศรษฐกิจทั้งระบบให้ดีขึ้น แก้ปัญหาเก่า เพิ่มโอกาสไม่ให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจในอนาคต” ชัย กล่าว

รองเลขาธิการเพื่อไทยถามคนค้านดิจิทัลวอลเล็ต สะท้อนไม่เข้าใจถ่องแท้

ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อและรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท อันเป็นนโยบายที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย หลังจากการแถลงของนายกฯ เศรษฐา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็น ที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายดังกล่าว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและ GDP ของประเทศให้เติบโตเฉลี่ยปีละ 5% เและตัวเลขธนาคารแห่งประเทศไทยไตรมาสที่ 3 ยังสะท้อนว่า ทั้งภาคการลงทุนและการบริโภค ตกลงทุกด้านเมื่อเทียบกับปี 2565 สอดรับกับการประเมินของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ระบุว่า ครึ่งปีแรกของปี 2566 เศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.2% สะท้อนว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยไม่ได้เติบโตอย่างแท้จริง เป็นเพียงภาพลวงตา

นางสาวลิณธิภรณ์ กล่าวอีกว่า การที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล อีกหลายท่าน ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าว ตนเข้าใจดี ว่าถือเป็นบทบาทของฝ่ายค้านที่ต้องการตรวจสอบ แต่ต้องไม่ลืมว่าการดำเนินนโยบายดังกล่าว รัฐบาลได้พิจารณาอย่างรอบคอบและถี่ถ้วนโดยศึกษาทั้งทางกฎหมาย และการเงิน รวมทั้งยังคงมุ่งรักษาวินัยทางการเงินและการคลัง การวิจารณ์ดังกล่าวนอกจากจะสะท้อนว่าผู้พูด ไม่ได้ศึกษาในรายละเอียดของคำแถลงอย่างถ่องแท้แล้ว ยังสะท้อนว่า ผู้พูดมองแต่มุมของตนเอง ไม่ได้มองเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง

เพราะหากมองโดยปราศจากอคติ มีการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย สภาวะสงครามที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้ยาก สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้ จึงเป็นทางเลือกที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เรียกร้อง และถือเป็นมิติใหม่ ที่รัฐบาล ‘ให้อำนาจกับประชาชน’ เป็นผู้ร่วมกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศครั้งยิ่งใหญ่ครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นภาคการผลิตภายในประเทศ ซึ่งก็ดำเนินการควบคู่กันไปกับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งระยะกลางและระยะยาว หากเป็นไปตามเป้าหมาย GDP ของประเทศจะสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% จะช่วยทำให้หนี้สาธารณะที่หมักหมมมาเป็น 10 ปี ลดลงเป็น 67.1% ได้

“ฐานคิดของพรรคเพื่อไทย เราพยายามทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้มาแล้วในหลายครั้ง เราสะท้อนให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ที่มองไปในอนาคตเสมอ ถึงวันนี้เราเป็นรัฐบาลก็ยังยึดมั่นแนวทางนี้ ฝากถึงผู้วิจารณ์ทั้งหลาย อย่ายัดเยียดความกลัว ความกังวล ของตนเอง มาเป็นข้อจำกัดความเจริญเติบโตของประเทศเลยนะคะ” ลิณธิภรณ์ กล่าว


ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3]



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net