Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' ทวีตตอบโต้ 'ศิริกัญญา' ที่ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน และฟันธงว่าไม่มีใครได้เงินดิจิทัลเป็นแค่การหาทางลงของรัฐบาล ว่า "อย่าเอามาตรฐานความคิดของตัวเองมาหวังว่าคนอื่นเค้าจะเป็นเหมือนกัน อย่ามองความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มาเป็นมุมการเมืองที่สร้างความสับสนให้กับประชาชน"

11 พ.ย. 2566 สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นำแถลงข่าวสรุปเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท นั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต่อมา THE STANDARD ได้นำเสนอบทสัมภาษณ์ของศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ที่ให้ไว้ต่อสื่อมวลชนว่าขณะนี้ความชัดเจนเริ่มปรากฏแล้ว แต่เป็นความชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน ซึ่งรัฐบาลเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินกู้ 5 แสนล้านบาท เพื่อระดมทุนมาแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

ศิริกัญญาระบุว่า วันนี้หลักเกณฑ์จะมีการพูดถึงคนที่รายได้ต่ำกว่า 70,000 บาท แต่ท้ายที่สุดอาจไม่มีใครได้เงินจากโครงการนี้เลย เพราะเสี่ยงขัดต่อกฎหมาย ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 53 ที่มีการระบุว่า หากใช้เงินที่ไม่ได้เป็นไปตามงบประมาณปกติจะทำได้กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น 

“วันนี้ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอะไร เราไม่ได้อยากกดดันให้มีการร้องเรียนไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แต่เราคิดว่านี่เป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริงที่ต้องแสดงความรับผิดชอบ โดยให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้เด็ดขาด ว่ารัฐบาลจะออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปถึงมือขององค์กรอิสระที่ไม่เป็นวิถีทางประชาธิปไตยสักเท่าไร”

ศิริกัญญากล่าวอีกว่า ที่ต้องออกมาพูด เพราะการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท มีความสุ่มเสี่ยงจริงๆ เหมือนกับกรณี พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท อย่างชัดเจน ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตก ว่าไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน 

ดังนั้น รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ตนตั้งข้อสังเกตว่าการที่รัฐบาลเลือกทางนี้ เพราะไม่ต้องการให้โครงการนี้สำเร็จ แต่ต้องการให้เข้าทางนักร้องต่างๆ เพื่อหาทางลงให้สวยงามของโครงการที่มาถึงทางตันโดยสมบูรณ์แล้ว ตนไม่ได้เห็นด้วยกับการร้องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องนี้ แต่ขอให้รัฐบาลได้แสดงความรับผิดชอบทางการเมืองโดยการให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ 

“รัฐบาลเองน่าจะเห็นแล้วว่าไม่มีทางที่จะไปได้จริงๆ ทางเลือกนี้เป็นการหาทางลงมากกว่าที่จะเดินหน้าโครงการนี้จริงๆ ถ้ากฤษฎีกาตีความเข้าข้างให้ผ่าน และ สส. ในสภาก็ให้ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือภาระหนี้ในแต่ละปีงบประมาณที่จะเพิ่มขึ้นปีละ 5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15% ของงบรายจ่ายประจำปี ซึ่งจะเป็นภาระงบประมาณอย่างใหญ่หลวง

“สิ่งที่รัฐบาลทำวันนี้จะทำภาระดอกเบี้ยเกิน 10% ในงบประมาณปี 2568 ทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่ได้พูดถึงทั้งเรื่องภาระหนี้และภาระดอกเบี้ย ความเสี่ยงนี้จะไม่เกิดขึ้นหาก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ถูกทำแท้งตั้งแต่ต้นโดยกฤษฎีกา” ศิริกัญญากล่าว 

ผู้สื่อข่าวสอบถามว่าการทำแบบนี้เหมือนเป็นการขายผ้าเอาหน้ารอดหรือไม่ ศิริกัญญากล่าวว่า ถ้าจะพูดแบบนั้นน่าจะได้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นมาจากการที่ไม่ได้คิดนโยบายอย่างถี่ถ้วน ตั้งแต่ก่อนหาเสียง เมื่อถึงทางตันจึงต้องหาทางลงแบบนี้ 

“เงื่อนไขต่างๆ โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเหมือนลอยมาจากฟ้าโดยสิ้นเชิง หากตัดตามสัดส่วนผู้มีรายได้ 20% บนสุดต้องอยู่ประมาณ 60,000 บาท แต่วันนี้เราไม่รู้ว่าตัวเลข 70,000 บาทมาจากไหน จะตัดคน 4 ล้านกว่าคนได้จริงหรือไม่ ดิฉันคิดว่ารัฐบาลต้องการตัวเลขกลมๆ ที่ 50 ล้านคน จึงไม่มีหลักเกณฑ์อะไรมากนัก” ศิริกัญญากล่าว

 

 

ซึ่งวันนี้ (11 พ.ย.) นายเศรษฐา ทวีตข้อความตอบโต้ศิริกัญญาที่ให้สัมภาษณ์ว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ชัดเจนที่ไม่มีเรื่องแหล่งที่มาของเงิน และฟันธงว่าไม่มีใครได้เงินดิจิทัล เป็นแค่การหาทางลงของรัฐบาลว่า "อย่าเอามาตรฐานความคิดของตัวเองมาหวังว่าคนอื่นเค้าจะเป็นเหมือนกัน อย่ามองความตั้งใจที่บริสุทธิ์ และความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน มาเป็นมุมการเมืองที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนเลยครับ"
 

ต่อมาศิริกัญญา ก็ได้ทวีตว่า "Noble Effort คำเรียกตรรกะวิบัติชนิดหนึ่งที่ตีความผิดๆ ว่า อะไรสักอย่างย่อมถูกต้อง ดีงาม จริงแท้ หรือมีคุณค่า เพียงเพราะใครสักคนทุ่มเทแรงกายแรงใจ หรือแม้แต่เสียสละเวลา ทรัพย์สิน หรือความสุขสบาย มาพากเพียรทำสิ่งนั้นๆ ด้วยเจตนาที่ดี"

"cr: ศัพท์+ตรรกะวิบัติวันละคำ โดย สฤณี อาชวนันทกุล"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net