Skip to main content
sharethis

คณะราษฎรยกเลิก112 (ครย.112) ตบเท้ายื่นหนังสือถึง รมว.ยุติธรรม เรียกร้องให้มีการผลักดันนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกกรณี และยกเลิกมาตรา 112 ด้าน 'ตะวัน' ปราศรัยทำไมทะลุแก๊ส ถึงควรได้รับการนิรโทษฯ

 

9 พ.ย. 2566 ยูทูบช่อง 'Friends Talk' รายงานวันนี้ (9 พ.ย.) ที่กระทรวงยุติธรรม เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) นำโดย สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ธนพร วิจันทร์ เดินทางมายื่นหนังสือ เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี ผู้ต้องขังคดีการเมืองเข้าถึงสิทธิประกันตัว และยกเลิกมาตรา 112 โดยมี ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับหนังสือด้วยตัวเอง

บรรยากาศวันนี้มีประชาชนและนักกิจกรรมแต่งกายด้วยชุดคล้ายชุดนักโทษสีน้ำตาล อาทิ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ แซม สาแมท 'แบม' อรวรรณ ภู่พงษ์ และ เชน "ขุนแผนแสนสะท้าน" เข้าร่วมกิจกรรมยื่นหนังสือด้วย 

ระหว่างรอทวี สอดส่อง ลงมารับหนังสือ ได้มีนักกิจกรรมร่วมปราศรัยถึงความสำคัญของการนิรโทษกรรมคดีการเมือง 

ณัฐชนน ไพโรจน์ อดีตนักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า ทำไมเราต้องเอานักโทษการเมืองออกมา เนื่องจากนับตั้งแต่ 14 ตุลา 2516 จนถึง 6 ตุลา 2519 ที่มีประชาชนออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย และต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพจำนวนมาก เขาสู้กับเผด็จการ หรือสู้กับหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นปกติที่ผู้มีอำนาจจะใช้กฎหมายเพื่อปิดปากผู้ออกมาใช้เสรีภาพ ขัดขวางการเป็นประชาธิปไตย

ณัฐชนน ไพโรจน์

เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รัฐยังใช้ความรุนแรง และใช้กฎหมายปิดปาก และหนึ่งในกฎหมายที่ถูกใช้มากที่สุดในปัจจุบันคือมาตรา 112 เราเห็นแล้วว่ามันมีความอยุติธรรมที่ใช้กับประชาชนที่ต้องการเห็นประเทศพัฒนาไปเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น วันนี้เป็นเหตุอันสมควรแล้วที่เราต้องชวนกันมาผลักดันนิรโทษกรรม ต่อคนที่ต้องการใช้สิทธิเสรีภาพของตัวเอง 

ณัฐชนน อยากสื่อสารกับรัฐบาลใหม่ว่าเวลาเราต่อสู้ทางการเมืองได้รับคดีความจากการใช้อำนาจการเป็นเผด็จการของรัฐบาล ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงที่มีคดีความเยอะมาก ช่วงที่ คสช.มีอำนาจ จนถึงตอนรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยมากมาย และเกิดคดีความ 

อดีตนักกิจกรรมจากแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ระบุว่า หลังจากเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา ประชาชนมีความหวังว่า ประเทศเราจะเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ในฐานะของรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องรีเซ็ตให้ความยุติธรรมดีขึ้น รัฐบาลตอนหาเสียงก็ทราบว่า 112 มีปัญหาในการบังคับใช้ รวมถึงมีคนที่ได้รับผลกระทบเป็นร้อยๆ คน และเป็นพันๆ คน ที่ไม่ใช่แค่คดี 112 แต่มาจากความอยุติธรรม และความไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งในการนิรโทษกรรมผู้ได้รับผลกระทบจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องรับเงื่อนไขนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศ ให้สอดคล้องแม้กระทั่งนโยบายของท่านไม่ได้พูดเรื่องแก้ไข หรือยกเลิกมาตรา 112 

นอกจากนี้ ณัฐชนน เชื่อว่า การนิรโทษกรรมคดีการเมืองจะนำไปสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตย ที่ต่างคนต่างมีเสรีภาพในการถกเถียง และพูดคุย และจะเป็นทางออกของการสร้างความสามัคคีของประชาชนในชาติในระยะยาว

ทำไมต้องนิรโทษกรรมคดีทะลุแก๊ส

'ตะวัน' ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวว่า วันนี้เธอมาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการนิรโทษกรรมนักโทษการเมือง และอยากกล่าวถึงคดีความที่มีมูลเหตุทางการเมืองอย่างม็อบทะลุแก๊ส และอยากกล่าวถึงว่า ทำไมเราต้องนิรโทษกรรมคดีครอบครองวัตถุระเบิด หรือคดีที่มีความรุนแรง เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ถ้าเรามองภาพรวม เราจะเห็นว่าพวกเขามีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองทั้งสิ้น

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

ตะวัน กล่าวว่า กลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องในช่วงทะลุแก๊ส คือคนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล ก่อนหน้านี้เราใช้สันติวิธีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการผูกโบว์ขาว ให้ดอกไม้ ยื่นหนังสือ หรืออื่นๆ แต่เราก็ยังได้รับความรุนแรงจากภาครัฐทั้งกระสุนยาง แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำต่างๆ เราโดนความรุนแรงมาโดยตลอด ปัญหาที่ถูกสะสมมานาน และทับถมมานาน และรัฐไม่เคยฟังกลุ่มคนเหล่านั้น ดังนั้น พวกเขาต้องหยิบฉวยอะไรก็ตามขึ้นมาต่อสู้กับรัฐที่ก่อความรุนแรงกับเขามาโดยตลอด ทราบไหมว่าคดีระเบิดที่โดนกัน แต่จริงๆ พวกเขามีแค่ประทัดไล่นก แต่คนที่ออกมาที่ดินแดง เขาโดนคดีความครอบครองวัตถุระเบิด จากการใช้ประทัดไล่นก หรือพลุ 

ทานตะวัน ระบุต่อว่า ที่ศาลอ้างไม่ให้ประกันตัว เกรงว่าจะหลบหนี เนื่องจากมีอัตราโทษสูง ให้ทุกคนทราบเลยว่าทุกคนที่โดนคดีความเขามีครอบครัว เขามีภาระที่ต้องรับผิดชอบ และเขาคือคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐ เขาจะเอาเงินจากไหนไปหนี เขาอยากจะเจอลูกเจอครอบครัวของเขา เขาเป็นเหมือนเสาหลักคนหนึ่งที่ต้องดูแลคนอื่นๆ ดังนั้น ไม่มีทางที่เขาจะหลบหนี หรือยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน แต่ศาลเอาเหตุผลนี้มาอ้าง สิทธิในการประกันตัว ถ้าไม่มีการหลบหนี หรือการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานเข้ามาเกี่ยวข้อง สิทธิประกันตัวควรเป็นสิทธิพื้นฐานที่เขาควรได้รับ ยังมีคนที่ยังไม่ถูกตัดสินและอยู่ระหว่างสู้คดี และศาลยังคงไม่อนุญาตประกันตัว

ตะวัน ระบุว่า เธอได้มีโอกาสเยี่ยมผู้ต้องขังคดีการเมืองบางราย มีคนเพิ่งได้พบหน้าลูกตอนที่ได้เยี่ยมญาติอย่างใกล้ชิด หรือบางคนอยากออกมาดูแลย่าที่ป่วย นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องนิรโทษกรรมให้กลุ่มคดีครอบครองวัตถุระเบิดนี้

"อยากให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้น ไม่อยากให้มองว่ามันคือความรุนแรง คือคดีระเบิด หรือคดีเผา แล้วเราไม่จำเป็นต้องให้โอกาสเขา ถ้าเรามองให้ลึกกว่านี้ มองปัญหาหลายๆ อย่าง ความไม่มีทางเลือกของเขาที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับความรุนแรงของรัฐที่โดนกระทำมาโดยตลอด อยากให้ทุกคนมองเหตุผลที่มาที่ไปที่ลึกกว่านี้ เกินกว่าภายนอก … ท้ายที่สุดแล้ว เขาคือที่เป็นเหยื่อของความอยุติธรรมทั้งปวงเช่นกัน 

"สำคัญที่สุดคือ เราต้องไม่ทอดทิ้งเขา รัฐอย่าทอดทิ้งเขา และนิรโทษกรรม รับฟังเขาให้มาก และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อระยะยาวที่มันยั่งยืน" ทานตะวัน ระบุ และกล่าวว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย ไม่รับฟัง หรือแก้ไขปัญหา ใช้ความรุนแรงกดปราบ มันจะกลายเป็นปัญหาสะสม และทะลุเป็นความรุนแรงไม่มีวันจบ ดังนั้น การนิรโทษกรรมให้พวกเขาเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกในระยะยาวที่ดีที่สุด จึงอยากขอให้ประชาชนอย่าลืมทะลุแก๊ส และนักโทษการเมืองทุกคนที่ออกมาเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย

พรรคฝ่ายประชาธิปไตยในรัฐบาล ต้องหนุนนิรโทษกรรม

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และคณะราษฎร ยกเลิก 112 กล่าวว่า วันนี้ต้องการมาพบ ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม เพื่อให้กฎหมายนิรโทษกรรมของฉบับก้าวไกล ผ่านสภาฯ และพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปี 2566 ต้องสนับสนุนการนิรโทษกรรม และต้องนิรโทษกรรมกฎหมายมาตรา 112 ทุกคดีต้องถูกนิรโทษกรรม 

ก่อนการเลือกตั้งหลายพรรคได้หาเสียงโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย จะเปิดพื้นที่ที่ปลอดภัยในการถกเถียงเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 จะให้ไปพูดที่ป่าช้าที่ไหน นี่คือการแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา การใช้กฎหมาย 112 มาเล่นงาน เราถึงคิดว่ามันมีความจำเป็น และอยากให้ รมว. มารับหนังสือ และอยากให้มีการแก้ไขมาตรา 112 หรือการนิรโทษกรรมคดีการเมืองในรัฐสภา ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของประชาชน ไม่ใช่ให้เราไปพูดที่ต่างๆ และยัดคดีให้กับประชาชน 

ธนพร ระบุต่อว่า ปัญหาของพวกเรา เพื่อนเราที่อยู่ในคุก มันหนักกว่าทุกคนที่อยู่ที่นี่ และอยากฝากว่าเรื่องนี้สำคัญมาก กฎหมายนิรโทษกรรมต้องผ่านสภาฯ และต้องมีพื้นที่ปลอดภัยในการถกเถียงพูดคุยและหาทางออกร่วมกัน 

ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมา รับหนังสือด้วยตัวเอง และตอบคำถามของผู้ทำกิจกรรม โดยสำหรับประเด็นสิทธิการประกันตัว ทวี ระบุว่า เป็นเรื่องของตุลาการและผู้พิพากษา แต่ว่าเรื่องการดูแลนักโทษ กระทรวงยุติธรรม สามารถดูแลได้

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ เรื่องการผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ จะมีการอภิปราย และในส่วนของกระทรวงยุติธรรมมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้

ทวี สอดส่อง

รายละเอียดหนังสือ 

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566

เรื่อง ขอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทุกกรณี และแก้ไข ป.วิอาญาให้หลักประกันการประกันตั

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

การรัฐประหารปี 2549 และ 2557 เป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนทุกข์ยากเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง จึงต่อต้านการรัฐประหารด้วยการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล รัฐบาลเผด็จการทหารจึงออกคำสั่งและใช้กฎหมายในการปราบปรามประชาชนด้วยการตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และก่อความไม่สงบเรียบร้อยเป็นจำนวน 1,930 ราย และกล่าวหาในความผิดตามมาตรา112 จำนวน 259 ราย

การรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตยและสร้างความเสียหายให้กับประเทศไทยแต่ผู้กระทำกลับนิรโทษกรรมตนเองและพวกพ้องโดยเขียนบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญขณะที่ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารเรียกร้องสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย และความเป็นธรรมกลับถูกดำเนินคดีโดยที่กระบวนการยุติธรรมยังไม่อำนวยความยุติธรรมอย่างเพียงพอ เกิดปัญหาสองมาตรฐาน หลายรายถูกจองจำและพ้นโทษมาแล้วแต่ยังถูกกีดกันจากการทำงานและถูกตัดสิทธิการเมือง ขณะนี้ยังมีนักโทษการเมืองจำนวน 38 รายด้วยกัน

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจึงต้องทำการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นและเข้าร่วมการชุมนุมหรือการตอบโต้การใช้ความรุนแรงจากรัฐบาลเผด็จการในอดีต ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116, 215 ความผิดจากการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. พ.ร.ก.ฉุกเฉินในการสั่งห้ามการชุมนุมการเมือง และคดีอาญาจากการตอบโต้ความรุนแรงของตำรวจ-ทหารอันมีมูลเหตุที่เป็นแรงจูงใจทางการเมือง

เพื่อเป็นการประกันสิทธิเสรีภาพ ฟื้นฟูความยุติธรรม และสร้างสันติสุขในสังคม คณะราษฎรยกเลิก 112 (ครย.112) จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรมดังต่อไปนี้

1. รัฐบาลปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งจะต้องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองและผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมืองที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองในทุกกรณีนับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 จนถึงปัจจุบัน

2. นักโทษการเมืองในคดีที่ยังไม่ถึงที่สุดจะต้องได้รับสิทธิการประกันตัวตามรัฐธรรมนูญ 2560 และทำการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้ได้รับสิทธิการประกันตัว 

3. ยกเลิกมาตรา 112 เพื่อประกันสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

4. ปรับปรุงสิทธิผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ให้ยกเลิกการใช้กุญแจข้อเท้าหรือเครื่องพันธการ ยกเลิกข้อกำหนดเยี่ยมญาติได้เพียง 10 คน เพิ่มวันเยี่ยมญาติในวันเสาร์ ให้ผู้ต้องขังคดีระหว่างการพิจารณาของศาลอยู่ในที่คุมขังเดียวกัน และให้สามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรม

จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการ ขอให้แจ้งผลการดำเนินงานสาธารณชนทราบ และขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

ธนพร วิจันทร์ สมยศ พฤกษาเกษมสุข เจษฎา ศรีปลั่ง

อาทิตยา พรพรม ปฏิมา ฝากทอง ธีรัตม์ พณิชอุดมพัชร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net