Skip to main content
sharethis

'ณัฐชา' สส.ก้าวไกล ตั้งกระทู้ทั่วไปถาม รมว.เกษตรฯ แนวทางแก้ไขปัญหาเอเลียนสปีชีส์ 'ปลาหมอสีคางดำ' ที่กำลังระบาดหนัก สอบสวนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยเฉพาะ 'CP' ที่เคยนำเข้า หรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างไร

 

26 ต.ค. 2566 ยูทูบ "TP Channel" ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (26 ต.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 27 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ประจำวันที่ 26 ต.ค. 2566 ตามระเบียบวาระกระทู้ถามสดด้วยวาจาต่อ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยหนึ่งในกระทู้ที่น่าสนใจการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำเอเลียนสปีชีส์จากต่างประเทศ คือ ปลาหมอสีคางดำ ซึ่งกำลังแพร่ระบาดในหลายจังหวัดและส่งผลกระทบต่อรายได้ของชาวประมงและเศรษฐกิจของประเทศ

ผู้หยิบยกเรื่องปัญหาดังกล่าว คือ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.พรรคก้าวไกล เขตบางบอนและบางขุนเทียน โดยถามนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบคำถาม อย่างไรก็ตาม ร.อ.ธรรมนัส ได้มอบหมายให้ ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ตอบคำถามแทน 

ณัฐชา ระบุว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวประมงย่านแสมดำ และบางขุนเทียน ได้รับผลกระทบจากปลาหมอสีคางคำอย่างหนัก เนื่องจากปกติ ปลาหมอสีคางดำเป็นปลานักล่า และทานลูกปลา หรือสัตว์น้ำ เมื่อมาอยู่ในบ่อเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลา กุ้ง หรือหอย ก็มักจะทานสัตว์น้ำไม่เหลือ

ณัฐชา กล่าวว่า หนึ่งในต้นตอของปัญหาต้องย้อนไปเมื่อปี 2549 รัฐบาลมีการเปิดให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่งนำเข้าปลาหมอสีคางดำจากประเทศแอฟริกาใต้ เพื่อมาพัฒนาสายพันธุ์ปลานิล แบบมีเงื่อนไข 

ต่อมา เมื่อปี 2549 บริษัทดังกล่าวขออนุญาตนำเข้าปลาหมอสีคางดำ 2 พันตัวจากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา

จนกระทั่งเมื่อปี 2553 มีการนำเข้ามาที่ศูนย์ทดลองใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม อย่างไรก็ตาม หลังจากนำเข้ามาเพียง 3 สัปดาห์ บริษัทเอกชนรายดังกล่าวอ้างว่าการวิจัยผิดพลาด และมีการทำลายปลาหมอสีคางดำไปหมดแล้ว 

ปลาหมอสีคางดำ

แต่อย่างไรก็ตาม สส.บางบอน บางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ระบุต่อว่า เมื่อปี 2555 มีรายงานการพบปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ แหล่งน้ำเค็ม และแหล่งน้ำกร่อย ใน ต.ยี่สาร อ.อัมพวา ซึ่งเป็นตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกับที่ศูนย์วิจัยดังกล่าวตั้งอยู่ 

ณัฐชา ระบุว่า ผลกระทบจากปลาหมอสีคางดำ เนื่องปลาหมอสีชนิดนี้เป็นสายพันธุ์นักล่า เมื่อลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติแล้วได้ไปกัดกินสัตว์เลี้ยงของชาวประมง ผู้เพาะพันธุ์กุ้ง ปลา และหอย กินของเขาหมด สุดท้าย เมื่อเริ่มระบาดหนักขึ้น มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. และ กสม. มีมติว่า การแพร่ระบาดของปลาชนิดนี้สร้างผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิทางเศรษฐกิจ และการประกอบอาชีพของประชาชน อันกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และได้รับการรับรองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเดือดร้อนขนาดนั้น เนื่องจากบ่อปลา และกุ้งของชาวบ้านจับไปขาย กก.ละร้อย สองร้อยบาท แต่พอเจอปลาหมอสีคางดำยกบ่อ ขายได้กิโลฯ ละ 3 บาท ทั้งบ่อไม่มีกุ้งเหลือให้ขาย แบบนี้เกษตรกรจะหารายได้จากที่ไหน" ณัฐชา กล่าว 

นอกจากนี้ สส.ก้าวไกล เน้นย้ำเพิ่มว่า คนเลี้ยงพันธุ์กุ้งในประเทศไทย ก็ได้รับผลกระทบหนัก และกำลังส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีบ่อเลี้ยงกุ้ง ปริมาณ 3.3 แสนไร่ มูลค่า 6 หมื่นกว่าล้านบาท เฉพาะแค่ 4 จังหวัด สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม และอื่นๆ มีบ่อเลี้ยงกุ้งปริมาณ 9.4 หมื่นไร่ มูลค่าทางเศรษฐกิจราว 4.4 พันล้านบาท ตอนนี้ทุกบ่อเลี้ยงกุ้งมีแต่ปลาสายพันธุ์นี้ 

ณัฐชา จึงมีประเด็นคำถามถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ข้อหนึ่ง รู้หรือไม่ ว่ามีการระบาดหนักของเอเลียนสปีชีส์นี้ในกลุ่มผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง หอย ปู และปลา ในจังหวัด 3 สมุทร ข้อสอง ทราบหรือไม่ว่า ใครคือต้นตอของการระบาดนี้และต้นตอของปัญหานี้จะมีการแก้ไขและรับผิดชอบอย่างไร ไปแล้วบ้าง และสุดท้าย การเสียหายครั้งนี้ รัฐเสียหายไปแล้วเท่าไร

รมช.เกษตรฯ ตอบจะรีบดำเนินการแก้ไข

ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวยอมรับว่า ปัญหาและผลกระทบเรื่องปลาหมอสีคางดำเกิดขึ้นตามที่ทาง สส.ก้าวไกล ได้อภิปรายในที่ประชุมเมื่อสักครู่ 

ไชยา พรหมา (ที่มา: TP Channel)

รมช.กระทรวงเกษตรฯ ระบุต่อว่าตอนนี้ปลาหมอสีคางดำกำลังระบาดหนักในอย่างน้อย 11 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบขีรีขันต์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี สงขลา ระนอง และจันทบุรี 

ไชยา ระบุต่อว่า กรมประมงได้มีการออกมาตรการในการควบคุมปริมาณ และผลกระทบ โดยการปรับปรุงกฎหมายว่าจากนี้ว่าจะอนุญาตในการนำเข้า หรือการอนุญาตเพื่อวิจัย ต้องมีขั้นตอนปฏิบัติอย่างไรบ้าง 

นอกจากนี้ กรมประมงพยายามแก้ไขปัญหาโดยมีมาตรการรับซื้อปลาหมอสีคางดำที่กำลังระบาด เพื่อควบคุมปริมาณการแพร่ระบาด แต่ว่าอาจมีข้อกังวลเรื่องการเล็ดลอด และการควบคุมการขยายพันธุ์ เนื่องจากปลาหมอสีคางดำตัวผู้มักอมไข่ไว้ในปาก  ซึ่งง่ายต่อการเล็ดลอดออกไปตามลำน้ำธรรมชาติ ตอนนี้กรมประมงกำลังมาตรการในการแก้ไขปัญหาอยู่ 

หลังจากที่ทราบปัญหาของการแพร่ระบาด และผลกระทบในวงกว้าง กระทรวงเกษตรฯ มีการกำหนดในเรื่องประกาศของกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์น้ำ ที่ห้ามนำเข้าและส่งออก หรือห้ามผ่านเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2564 ลงวันที่ 27 พ.ค. 2564 และประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์น้ำ ที่ห้ามเพาะเลี้ยงในราชอาณาจักร ลงวันที่  27 พ.ค. 2564 เพื่อเป็นการควบคุมและก็พิจารณาการนำเข้าสัตว์น้ำต่างถิ่น และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่จะเป็นผลเสียต่อระบบนิเวศน้ำพื้นเมืองในประเทศ 

แม้ว่าเรื่องนี้จะเกิดตั้งแต่เมื่อปี 2549 แต่ไชยา ยืนยันว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ และมีการมาตรการเพื่อลดปริมาณและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำเลี้ยงต่างถิ่นที่มีชีวิต หรือต้องผ่านพิจารณาคณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมงเรามีขั้นตอนการขออนุญาตที่ให้ผู้นำเข้า ชี้แจงจำนวน ปริมาณ วัตถุประสงค์ ประเทศต้นทาง ตลอดจนเหตุผลที่จะนำเข้ามาดังกล่าว นอกจากนี้ กรมประมงจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบด้านการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่มีการชี้แจง 

ไชยา ระบุว่า ตอนนี้กรมประมงกำลังตระหนักปัญหาดังกล่าว และพยายามหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน โดยเฉพาะผู้ทำประมง 

สส.ก้าวไกล ถามกรมประมง เคยสอบสวนบริษัทที่เกี่ยวข้องหรือยัง

ณัฐชา ใช้สิทธิรอบที่ 2 โดยกล่าวว่า เนื่องจาก รมช.กระทรวงเกษตรฯ ยังไม่ได้ตอบคำตอบทั้งหมด เขาจึงขออธิบายเพิ่ม บริษัทเอกชนที่เคยนำเข้าปลาหมอสีคางดำ 

มติของคณะกรรมการ IBC เมื่อ 21 พ.ย. 2549 ข้อที่ 2 ปลาตระกูลเดียวกับ ปลานิล ชื่อทางวิทยาศาสตร์ “โชโลโตโรคอน” อนุญาตนำเข้า หมายเหตุคือให้บริษัท CP นำเข้าโดยกรมประมงขอเก็บตัวอย่าง โดยเฉพาะครีบ และแจ้งผลวิจัย และทำลายหากไม่ได้ผลโดยทันที และแจ้งต่อกรมประมงตรวจสอบ

ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ (ที่มา: TP Channel)

ต่อมา เมื่อปี 2553 บอกให้บริษัท CPF นำเข้าปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2,000 ตัวจากประเทศกานา เข้ามาที่ศูนย์ทดลอง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ บริษัทได้แจ้งกลับมา จึงขอถามว่ากรมประมงมีรายงานว่าไปตรวจสอบแล้ว พบการทำลายซากปลาหมอสีคางดำ จำนวน 2 พันตัว หรือไม่ เอกสารอยู่ที่ไหน นี่เป็นคำถามที่กรมประมงต้องตอบ

ณัฐชา ระบุต่อว่า ปลาจากประเทศกานา ที่เข้ามาทำลายเศรษฐกิจประเทศไทย ปาไปเท่าไรแล้ว ไม่แน่ใจว่า บริษัทเอกชนดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ ทางกรมประมงได้มีการสืบหาพยานข้อเท็จจริง พยานแวดล้อมว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความบังเอิญอย่างพอเหมาะพอเจาะหรือไม่ว่า ปลาสายพันธุ์ดังกล่าวที่พบในแหล่งน้ำธรรมชาติในประเทศไทย คือจุดเดียว ตำบลเดียว หรืออำเภอเดียวกับศูนย์วิจัยของบริษัทดังกล่าว 

เยียวยาโดยการรับซื้อ-ปล่อยปลากระพงช่วยกิน ยั้งการระบาดไม่อยู่ 

ณัฐชา ระบุต่อว่า ปลาหมอสีคางดำที่เข้ามาอยู่ในบ่อของชาวบ้านแล้วนั้นจะช่วยเหลือเยียวยาอย่างไร และติงวิธีการช่วยเหลือของกรมประมง โดยระบุว่า กรมประมงได้ไปทดลองจ่ายเงินเยียวยารับซื้อปลาหมอสีคางดำ จาก กก.ละ 2-3 บาท เป็น กก.ละ 10-20 บาท ใช้งบฯ ไปแล้วหลายสิบล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้เปิดโอกาสให้กลุ่มผู้ไม่หวังดี เพาะปลาสายพันธุ์นี้มาขาย เนื่องจากสายพันธุ์นี้เพาะเลี้ยงง่าย 

"เงินหมดไม่เหลือ แต่ปลาเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว" ณัฐชา ระบุ

นอกจากนี้ สส.ก้าวไกล กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้มีการพยายามปล่อยสายพันธุ์ปลากระพงไปกินปลาหมอสีคางดำ แต่ผลลัพธ์ก็คือปลากระพงก็กลายเป็นอาหารของปลาหมอสีคางดำตามแหล่งน้ำธรรมชาติ 

ณัฐชา ระบุต่อว่า ยังมีปัญหาสำหรับผู้ที่ต้องการแปรรูปปลาหมอสีคางดำ เพื่อผลิตน้ำปลาร้า หรือน้ำปลา แต่ติดประกาศกรมประมง ห้ามดัดแปลง หรือแปรรูปสายพันธุ์ปลาต้องห้าม หากฝ่าฝืนต้องมีความผิด ก็เลยทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร 

ดังนั้น จึงมีคำถามในช่วงที่ 2 ว่าในเมื่อเรามีข้อมูลชัดเจนสายพันธุ์ปลาชัดเจน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ตรงกัน เราได้มีการเรียกสอบเอกชนที่อาจจะมีผลกระทบทางตรงหรือทางอ้อมเรื่องนี้หรือยัง และข้อต่อมา การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนทั้งระยะสั้นจะแก้ไขปัญหาปลาที่ป้วนเปี้ยนในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชาวบ้านอย่างไร ระยะกลางจะแก้ไขปัญหาให้ปลาเอเลียนสปีชีส์หมดไปอย่างไร และระยะยาว จะไม่ให้มีเหลืออยู่เลยในสายพันธุ์ปลานักล่าตัวนี้อย่างไร

ไชยา ระบุต่อว่า ตนยอมรับปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และชาวประมง โดยจะนำเรื่องนี้ไปหาคำตอบจากกรมประมงจะรับผิดชอบอย่างไร และคุมระเบียบอย่างเข้มงวดในการติดตามในการแพร่ระบาด และจะมาตอบอีกครั้งเมื่อมีความคืบหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net