Skip to main content
sharethis

สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ เรียกร้องขอให้เร่งแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ชี้เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั้งระบบ

เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมาว่านายณัฐชา  บุญไชยอินสวัสดิ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคก้าวไกล และคณะ รับหนังสือจาก นายวินิจ  ม่วงนาค สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติและประธานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อขอให้พิจารณาหาแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากการระบาดของปลาหมอสีคางดำ เนื่องจากสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรปราการ ได้รับแจ้งปัญหาการระบาดของปลาหมอสีคางดำจากสมาชิกในพื้นที่อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้ลงพื้นที่สำรวจปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในพื้นที่ โดยมีการประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับสภาเกษตรแห่งชาติ สำนักงานประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักงานสภาเกษตรกรกรุงเทพมหานคร และสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม และ สส.จังหวัดสมุทรปราการ โดยพบว่าการระบาดของปลาหมอสีคางดำได้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรเลี้ยงปลา และเลี้ยงกุ้ง รวมทั้งส่งผลกระทบกับสัตว์น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้ระบบนิเวศสัตว์น้ำของไทยเสียหายอย่างหนัก ประกอบกับจังหวัดสมุทรปราการ มีเกษตรขึ้นทะเบียนเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกว่า 7,000 ราย พื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำกว่า 100,000 ไร่ หากรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จะทำให้เกษตรกรต้องล้มละลายเพราะถูกภัยจากปลาหมอสีคางดำเข้ามารุกราน โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม นครปฐม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ จากเดิมที่แพร่ระบาดในแหล่งน้ำภาคกลาง แต่ได้เริ่มกระจายตัวอยู่บริเวณจังหวัดชุมพร และสงขลาเพิ่มขึ้น จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างเร่งด่วน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายณัฐชา กล่าวว่าการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ถือเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์” (Alien Species) หรือสิ่งมีชีวิตต่างถิ่นที่ไม่ได้มีต้นกำเนิดในพื้นที่นั้น ๆ สิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ซึ่งเรื่องนี้เคยเกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องราวที่เกษตรในพื้นที่ต้องเผชิญทุกปี แต่ปีนี้เกิดความรุนแรงมากขึ้น โดยปลาหมอสีคางดำเป็นปลาสายพันธุ์นักล่าที่ภาคเอกชนรายหนึ่งนำเข้ามาในปี 2549 และได้ทดลองเพื่อที่จะผสมพันธ์กับปลานิลเพื่อให้ปลานิลขยายพันธ์ได้รวดเร็วทันแก่ตลาดที่ต้องการ แต่สุดท้ายเกิดความผิดพลาดจนต้องทำลายปลาชนิดไปในปี 2549 หลังจากนั้นในปี 2553 ได้พบปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรก และได้มีการออกประกาศโดยกรมประมงว่าปลาชนิดดังกล่าวไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้ แม้ว่ากรมประมงพยายามแก้ไขปัญหานี้แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้น ตนขอให้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน โดย ตน จะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร และจะเชิญอธิบดีกรมประมง มาชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net