Skip to main content
sharethis

กต.แถลงความคืบหน้าสถานการณ์อิสราเอล มีผู้เสียชีวิต 18 ราย บาดเจ็บ 8 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย ส่วนกรณีที่ 'ฮามาส' ขู่สังหารตัวประกัน ประเมินเป้ายังไม่ใช่ชาวต่างชาติ และกองกำลังยังไม่อยากเปิดหน้าความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ

 

10 ต.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก กระทรวงการต่างประเทศ รายงานวันนี้ (10 ต.ค.) ว่า กาญจนา ภัทรโชค อธิบธีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงกรณีความรุนแรงอิสราเอล ระบุว่า ตอนนี้มีการหารือเตรียมการอพยพชาวไทยในอิสราเอล และสถานการณ์คนไทยในอิสราเอลที่ได้รับผลกระทบนั้น มีคนไทยเสียชีวิต 18 ราย ซึ่งกำลังรอการยืนยันจากประเทศอิสราเอล มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย 

ตอนนี้มีประชาชนแสดงความประสงค์ขอกลับประเทศไทย จำนวน 3,862 ราย และผู้ประสงค์จะยังไม่กลับ จำนวน 52 คน มีกรณีที่ทางการอิสราเอล เคลื่อนย้ายประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัย ไปในพื้นที่ที่ปลอดภัย ซึ่งรวมถึงชาวไทย และก็ได้มีการทำงานกับนายจ้างใหม่ เพื่อให้มีรายได้ระหว่างที่ยังอยู่ที่อิสราเอล 

สำหรับมาตรการการอพยพ ชาวไทยจำนวน 15 คน จะเดินทางถึงประเทศไทยในวันที่ 12 ต.ค. 2566 เวลา 10.35 น. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยสายการบินอิสราเอล แอร์ไลน์ LY083 โดยจะมีผู้แทนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปรับที่ท่าอากาศยาน เมื่อต้อนรับแล้วจะมีการตรวจสุขภาพ และอนามัย พาไปตรวจสุขภาพในพื้นที่โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงานเตรียมเยียวยาแรงงาน สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทุนของกรมจัดหางาน ก็ยังมีส่วนที่กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์สามารถช่วยเหลือได้

กาญจนา เผยเตรียมส่งเครื่องบินกองทัพอากาศ "แอร์บัส 340" เดินทางถึงกรุงเทลอาวีฟ ในวันที่ 15 ต.ค. 2566 จำนวนที่รับได้ 140 คน หลังจากนี้ จะมีการดำเนินการในเรื่องไฟล์ทแพลน (flight plan) และขออนุญาตบินข้ามน่านฟ้าประเทศต่างๆ ซึ่งทางการไทยคาดหวังว่าจะเดินทางถึงที่หมายตามกำหนดการ นอกจากนั้น มีเที่ยวบินพาณิชย์ ที่จะรับคนไทยกลับมาในวันที่ 18 ต.ค. 2566 จำนวน 80 คน

สำหรับในการดำเนินการให้คนไทยอพยพ กต. วางแผนว่าจะอพยพคนไทยในพื้นที่เสี่ยงก่อน และเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก โดยเฉพาะที่ กต.ระบุว่าเป็นพื้นที่ Red Zone รองลงมาเป็น พื้นที่สีส้ม และสีเหลือง ตามลำดับ 

ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศ มีการเชิญทูตประเทศต่างๆ มาหารือ และมีการประสานงานไปยังองค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ช่วยดำเนินงานในพื้นที่ และยืนยีนว่าจะพยายามทุกๆ ด้านในการช่วยเหลือและสนับสนุนประชาชนไทยในพื้นที่อิสราเอล 

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือตามจังหวัดต่างๆ และมีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 1694 ขณะนี้ทางกระทรวงแรงงานแจ้งว่ายังมีผู้โทรศัพท์เข้ามาไม่เยอะเท่าไร

กาญจนา กล่าวว่าขอความร่วมมือสื่ออย่าเพิ่งเผยแพร่ข่าวที่ยังไม่ได้รับการยืนยันจากทางการ เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนอยู่ในความตระหนกตกใจ

ช่วงการตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีใช้การเดินทางเส้นทางทางน้ำ อพยพคนนั้น โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวต่อว่า จริงๆ ได้หารือเรื่องใช้เรืออพยพคน ซึ่งจะขนคนได้เยอะ แต่ปัญหาคือว่าจุดที่ท่าเรืออยู่เป็นพื้นที่อันตราย ตอนนี้เราจะมุ่งไปที่อากาศยานก่อน

สำหรับข้อจำกัด หรืออุปสรรค ในการเคลื่อนย้ายชาวไทยออกจากอิสราเอล คือการพาคนเข้าไปที่กรุงเทลอาวีฟ โดยปลอดภัย แต่อย่างที่ได้เน้นย้ำไป จะมีการอพยพคนที่อาศัยในเขตที่ไม่ปลอดภัยก่อน เพราะฉะนั้น ทางสถานทูตได้แบ่งเขตเป็นสีต่างๆ ตามระดับความไม่ปลอดภัย เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง และสีอื่นๆ 

ส่วนการพาคนเข้ามาในเทลอาวีฟนั้น จะไม่มีการรวมคนตามจุดต่างๆ ในกรุงเทลอาวีฟ หรือที่อื่นๆ แต่จะมีการจัดรถจากสถานทูต หรือรถของนายจ้าง พาเข้ามา หรือแรงงานอาจโดยสารรถจากที่อื่นๆ เข้ามาก็ได้ในวันเดินทาง และสถานทูตจะจัดเตรียมอาหาร-น้ำดื่มไว้ให้

ประเมินเป้าหมายสังหารตัวประกันยังไม่ใช่ชาวต่างชาติ 

ส่วนกรณีของตัวประกันนั้น กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ตัวเลขตัวประกันทั้งหมดได้ยินว่ามีจำนวน 100 กว่าคน โดยตัวเลขคนไทยคือ 11 คน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ในภาวะสงครามเป็นข้อมูลที่ยืนยันยาก และอาจเพิ่มขึ้นอีก 

กาญจนา ระบุต่อว่า ตามที่มีรายงานข่าวว่าหากอิสราเอล บุก ฮามาสจะสังหารตัวประกันทีละ 1 คน จากการสอบถามหลายฝ่าย คาดว่าเป้าหมายไม่น่าจะเป็นคนต่างชาติ และประเมินว่าฮามาส ยังไม่อยากเปิดหน้าความขัดแย้งกับประเทศอื่นๆ 

โฆษก กต. กล่าวว่า สถานการณ์ของอิสราเอลยังอยู่ในภาวะสงคราม ถึงแม้ว่าความขัดแย้งจะกระจุกตัวในฉนวนกาซาทางใต้ แต่ก็มีการโจมตีจุดอื่นๆ ด้วย และทาง กต. ระบุว่า อยากสื่อสารไปยังชาวไทยที่อาศัยในอิสราเอลทั้งที่ไปทำงาน หรือไปเที่ยว ให้ปฏิบัติตามมาตรการของอิสราเอล หรือในการลงหลุมหลบภัยอย่างเคร่งครัด 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net