Skip to main content
sharethis

จับตาสถานการณ์ตะวันออกกลาง หลัง 'ฮามาส' เปิดปฏิบัติการรบอิสราเอล 'เนทันยาฮู' ประกาศกร้าว เตรียมโต้กลับ อาจส่งทหารเข้าฉนวนกาซา พร้อมจับตาดูกลุ่ม 'เฮซบอลเลาะห์' พันธมิตรของ 'ฮามาส' อาจทำให้อิสราเอลรับศึก 2 ด้าน 

 

8 ต.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊กสื่อ "PPTV36" เผยแพร่รายการ "รอบโลก Daily" ประจำวันที่ 8 ต.ค. 2566 ซึ่งเป็นรายการข่าวต่างประเทศ โดยมี กรุณา บัวคำศรี ผู้สื่อข่าวอาวุโส เป็นผู้รายงานข่าว เมื่อเวลา 17.30 น. รายงานสถานการณ์เหตุความรุนแรงในประเทศอิสราเอล หลังจากเมื่อ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มองค์กรการเมือง "ฮามาส" ได้เปิดปฏิบัติยิงขีปนาวุธจากฉนวนกาซา จำนวนกว่า 5,000 ลูกเข้าไปในกรุงเทลอาวีฟ ก่อนส่งนักรบเข้าไปในทางตอนใต้ของประเทศอิสราเอล และยึดพื้นที่ชุมชน และหมู่บ้านอีกหลายแห่ง 

นอกจากนี้ นักรบฮามาสได้จับกุมตัวประกันจำนวนมาก ซึ่งทางการไทยระบุว่า มีแรงงานไทยจำนวน 11 ราย ถูกจับตัวไปด้วย 

กรุณา ระบุต่อว่า มีเรื่องที่ต้องจับตามองหลังจากนี้ 2 ประเด็นคือ 1. อิสราเอลจะเตรียมส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปช่วยตัวประกันหรือไม่ เนื่องจากการโจมตีทางอากาศอย่างเดียวจะทำให้พวกเขาเข้าไม่ถึงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวประกันได้ และ 2. ถ้าอิสราเอล มีการส่งกำลังเข้าไปในฉนวนกาซา บรรดาพันธมิตรอย่างเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งเป็นกองกำลังนักรบที่เข้มแข็งที่สุดในภูมิภาค จะทำอย่างไรต่อไป

หลังการโจมตีไม่กี่ชั่วโมง มูฮัมหมัด อัล-เดอิฟ ผู้บัญชาการปีกทหารของฮามาส ได้เผยแพร่เทปบันทึกเสียงระบุว่า ฮามาสอยู่เบื้องหลังการโจมตีดังกล่าว ซึ่งเรียกปฏิบัติการนี้ว่า "อัลอักซอสตอร์ม" (Al-Aqsa Storm) เพื่อเอาคืนที่ชาวปาเลสไตน์ถูกกดขี่โดยชาวยิวหลายทศวรรษ ไม่ว่าจะเป็นการยึดดินแดน การกดขี่ประชาชนในฉนวนกาซา และการบุกรุกดินแดนของมัสยิดอัลอักซอ ในนครเยรูซาเลม 

ขณะที่เบนจามิน เนธันยาฮู นายกรัฐมนตรีแห่งอิสราเอล ประกาศระดมพลสำรอง พร้อมตอบโต้กลุ่มฮามาส และประกาศให้อิสราเอลเข้าสู่ภาวะสงครามโดยทันที และเนทันยาฮู กล่าวในวันนี้ด้วยว่า อาจส่งกองกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซา เพื่อช่วยเหลือตัวประกัน และสู้กับฮามาส

เบนจามิน เนธันยาฮู (ที่มา: รัฐบาลรัสเซีย)

สำหรับการโจมตีครั้งนี้เป็นการโจมตีอิสราเอลที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปี และเป็นการโจมตีสายฟ้าแลบ นอกจากการใช้ชีปนาวุธโจมตีอิสราเอล ครั้งนี้ยังแตกต่างจากครั้งที่ผ่านๆ มาคือฮามาส ได้ส่งนักรบเข้ามาฝ่าแนวพรมแดนความมั่นคงเข้ามาด้วย และมีการพยายามบุกเข้าอิสราเอลทางน้ำพร้อมๆ กัน มีรายงานด้วยว่า ทหารของฮามาสบุกเมืองของอิสราเอล จำนวนอย่างน้อย 3 แห่ง ประกอบด้วย ซีเดฮอต (Sderot), เบเอรี (Be’eri) และเมืองโอฟาคิม นอกเหนือจากนั้นมีการบุกเข้าไปในฐานทหารของอิสราเอล อีกด้วย

ขณะที่โฆษกกลุ่มฮามาส ระบุว่ามีผู้ถูกจับตัวประกันจำนวนมากกว่าที่พูดกันไว้ และมีการกระจายตัวประกันไปตามพื้นที่ต่างๆ ของฉนวนกาซา 

สำหรับสื่อตะวันออกกลางอย่าง "อัลจาซีรา" รายงานว่า เมื่อ 8 ต.ค. 2566 การโจมตีของฮามาส คร่าชีวิตประชาชน จำนวนอย่างน้อย 250 ราย ซึ่งเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงที่สุดในรอบ 50 ปีของอิสราเอล และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่มีประชาชนปาเลสไตน์ จำนวน 300 คน เสียชีวิตจากการตอบโต้จากอิสราเอล ยิงจรวดเข้าไปในฉนวนกาซา นอกจากนี้ มีผู้บาดเจ็บอีกนับพันจากการโจมตีจากทั้ง 2 ฝ่าย 

จับตาความเคลื่อนไหว 'เฮซบอลเลาะห์'

รายการ 'รอบโลก Daily' รายงานว่า หลังจากเนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศตอบโต้ และเตรียมส่งกำลังภาคพื้นดินเข้าไปในฉนวนกาซาแล้ว สิ่งที่ต้องจับตาดูคือพันธมิตรคนสำคัญของ ‘ฮามาส’ คือกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ ซึ่งมีฐานบัญชาการอยู่ทางใต้ของเลบานอน และได้รับการสนับสนุนจากประเทศอิหร่าน ในการฝึกจรยุทธ์เสมอมา 

ขณะที่เว็บไซต์ อัลจาซีรา รายงานวันนี้ (8 ต.ค.) ว่า หลังจากการโจมตีของฮามาส วันนี้ (8 ต.ค.) เฮซบอลเลาะห์ ได้ออกแถลงการณ์สนับสนุนการโจมตีของฮามาส และมีการยิงปืนใหญ่ (Mortar) เข้าไปในฟาร์ม 3 แห่งในพื้นที่ทางเหนืออิสราเอล ซึ่งอิสราเอลได้ตอบโต้โดยการยิงขีปนาวุธกลับไปทางตอนใต้ของเลบานอน ทำให้หลังจากนี้มีการจับตาดูว่า ‘อิสราเอล’ จะต้องรับศึก 2 ด้านหรือไม่ ทั้งเหนือและใต้พร้อมกัน

(ซ้าย) ชีคฮัสซัน นัสรันเลาะห์ แกนนำ เฮซบอลเลาะห์ (ที่มา: Fars Media Corporation)

ย้อนรอยเหตุการณ์ข้อพิพาท

ข้อมูลจากกรุณา บัวคำศรี ระบุว่า สถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1947 (พ.ศ. 2490) หรือ 2 ปี หลังยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ลัทธิไซออนนิสต์ ได้ประกาศว่าจะกลับไปตั้งประเทศในดินแดนพันธะสัญญาหรือนครเยรูซาเลม และได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนของชาวอาหรับที่เรียกตนเองว่า "ปาเลสไตน์" 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 องค์การสหประชาชาติ หรือ UN ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และให้แบ่งดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็น 2 ส่วน โดยให้อิสราเอล 1 ส่วน และ 1 ส่วนให้ปาเลสไตน์ เพื่อให้อิสราเอลได้ตั้งรัฐเป็นของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจอย่างมาก เนื่องจากเขาอาศัยอยู่ในดินแดนแห่งนี้มาหลายทศวรรษแล้ว และมองว่าดินแดนเป็นของเขา

เมื่อปี 1947 อิสราเอล ได้ประกาศตั้งดินแดนโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านจากโลกอาหรับ และทำให้เกิดเป็นสงครามติดตามมาในปี 1948 หรือ พ.ศ. 2491 เพื่อปลดปล่อยดินแดนของปาเลสไตน์จากอิสราเอล อย่างไรก็ตาม โลกอาหรับเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และต้องเซ็นสัญญาสงบศึกกับอิสราเอลในภายหลัง 

ภาพแผนที่รัฐยิวและรัฐอาหรับตามแผนแบ่งปาเลสไตน์ 1947 ของ UN (ซ้าย) และหลังสงครามปี 1948 (ขวา) ซึ่งในปัจจุบัน รัฐยิว (อิสราเอล) ยึดครองพื้นที่เขตเวสต์แบงก์ และทรานส์จอร์แดน หลังชนะสงคราม (ภาพจาก PASSIA)

ผลจากสงครามดังกล่าวทำให้ปาเลสไตน์เสียพื้นที่บางส่วนที่ UN แบ่งให้ หนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวคือ "ฉนวนกาซา" ขนาด 360 ตร.กม. หรือถ้าเทียบกับสัดส่วนกับจังหวัดในไทยจะใกล้เคียงกับจังหวัดสมุทรปรากร

สำหรับพื้นที่ของฉนวนกาซา มีพรมแดนทางใต้ติดกับประเทศอียิปต์ และทางตะวันออกติดกับ อิสราเอล และด้านตะวันตกติดกับมหาสมุทรเมดิเตอเรเนียน

อีกหนึ่งจุดเปลี่ยนของการขยายดินแดนของอิสราเอล คือสงคราม 6 วัน เมื่อปี 1967 (พ.ศ. 2510) ซึ่งเหตุที่เรียกว่าสงคราม 6 วันเนื่องจากอิสราเอลสามารถเอาชนะหลายชาติในโลกอาหรับโดยใช้เวลาเพียง 6 วันเท่านั้น ผลจากสงครามทำให้อิสราเอล สามารถรุกคืบเอาฉนวนกาซา และเขตเวสต์แบงก์มาเป็นของตัวเอง หลังจากนั้น อิสราเอลได้ส่งคนเข้าไปตั้งถิ่นฐานในฉนวนกาซาเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปาเลสไตน์ไม่พอใจอย่างมาก 

ความไม่พอใจของปาเลสไตน์ นำมาสู่การตั้งองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ หรือ PLO โดยมีผู้นำคนสำคัญคือยัสเซอร์ อาราฟัต (เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2547) มีฐานปฏิบัติการอยู่ในฉนวนกาซา จุดมุ่งหมายสำคัญของกลุ่มการต่อสู้เพื่อแย่งชิงดินแดนปาเลสไตน์คืนจากอิสราเอล อย่างไรก็ตาม มีชาวปาเลสไตน์บางส่วนไม่พอใจท่าทีของกลุ่ม PLO ที่ประนีประนอมมากเกินไปและใช้วิธีการเจรจากับอิสราเอลมากขึ้นในช่วงหลัง

โดยเฉพาะเมื่อปี 1993 (พ.ศ. 2536) ผู้นำ PLO ทำสนธิสัญญาออสโล (Oslo) กับรัฐบาลอิสราเอล นำโดย ยิตซ์ฮัก ราบิน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐฯ และเมื่อปี 1995 (พ.ศ. 2538) มีการเซ็นสัญญาครั้งที่ 2 ที่เมืองทาบา ประเทศอียิปต์ จุดมุ่งหมายสำคัญคือเพื่อบรรลุสันติภาพระหว่างอิสราเอล และปาเลสไตน์ และส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาคืออิสราเอลจะอนุญาตให้ปาเลสไตน์สามารถปกครองตนเองอย่างจำกัดในเขตฉนวนกาซา 

เมื่อประชาชนชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจในท่าทีของ PLO จึงได้เกิดการแยกตัวออกมาสนับสนุนกลุ่มหนึ่งที่ชื่อว่า ฮามาส ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกับ PLO แต่ว่ามีท่าทีแข็งกร้าวมากกว่า ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน แต่ PLO และฮามาส ก็แย่งชิงอำนาจทางการเมืองกันมาโดยตลอด โดยเมื่อปี 2006 หรือปี พ.ศ. 2549 ฮามาส ชนะเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งในสภาจำนวน 74 ที่นั่ง จาก 132 ที่นั่ง ส่งผลให้ ฮามาส กลายเป็นผู้ปกครองฉนวนกาซา แทนที่ของฟาตาร์ (ชื่อใหม่ขององค์การ PLO)

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมากลุ่มฮามาส องค์การทางการเมือง ได้โจมตีอิสราเอลอย่างต่อเนื่องทั้งครั้งเล็ก และใหญ่ ส่วนข้อพิพาทล่าสุดคือเมื่อปี 2566 ช่วงที่อิสราเอล ให้ตำรวจทำการบุกมัสยิด "อัล-อักซอ" 

เหตุการณ์มัสยิด "อัล-อักซอ"

ข้อมูลจาก PPTV36HD ระบุว่า พื้นที่มัสยิดอัล-อักซอ ตั้งอยู่ในเขตกรุงเก่านครเยรูซาเลม และตั้งอยู่ในจุดเดียวกับโดมทองแห่งศิลา มัสยิดแห่งนี้มีความสำคัญกับ 3 ศาสนา ได้แก่ ศาสนาคริสต์ ศาสนายูดาห์ และศาสนาอิสลาม 

โดมทองแห่งศิลา (Dome of Rock) (ที่มา: wikicommon)

ศาสนาอิสลามเชื่อว่า มัสยิดอัล-อักซอ เป็นพื้นที่ที่ศาสดามูฮัมหมัด มาละหมาดก่อนขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ ศาสนายูดาห์ เชื่อว่า ก่อนจะมีโดมทองแห่งศิลาและมัสยิดอัลอักซอ ตรงจุดนี้คือ Temple Mount ซึ่งเป็นที่สถิตของแผ่นหินที่พระเจ้าของชาวยิวทรงสร้างโลกขึ้นมาเป็นจุดแรก เป็นสถานที่ตั้งของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ พระวิหารของชาวยิวถูกบาบิโลนทำลายไปก่อนคริสต์ศักราช  จากนั้นชาวยิวก็สร้างพระวิหารขึ้นมาใหม่ แต่ถูกทำลายโดยชาวโรมันในปี ค.ศ. 70 (พ.ศ. 603) จนกระทั่งในช่วงศตวรรษที่ 7 โดมทองแห่งศิลาก็ถูกสร้างขึ้นแทนที่ หลังชาวมุสลิมเข้ามาครอบครองเยรูซาเลม นอกจากนี้ สำหรับศาสนาคริสต์ บริเวณดังกล่าวยังเป็นสถานที่ประสูติของศาสดาของศาสนาคริสต์ "พระเยซูคริสต์เจ้า"

เหตุการณ์ข้อพิพาทล่าสุดเริ่มเมื่อปี 2564 เมื่อตำรวจอิสราเอล บุกเข้าไปไล่ประชาชนชาวปาเลสไตน์ที่กำลังทำพิธีทางศาสนาออกจากพื้นที่มัสยิดอัล-อักซอ ในเขตกรุงเก่าของเยรูซาเลม โดยใช้ระเบิดควัน ระเบิดแฟลช และแก๊สน้ำตา โดยตำรวจอ้างเรื่องควบคุมการแพร่ระบาดโคโรนาไวรัส 2019 

เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอใจแก่ฮามาส และทำการตอบโต้ด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าไปในอิสราเอล จำนวนกว่า 1,000 ลูก ขณะที่อิสราเอล ได้ตอบโต้ด้วยขีปนาวุธเช่นเดียวกันใส่เขตที่อยู่อาศัยของชาวปาเลสไตน์ ในย่านฉนวนกาซา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนประมาณ 200 คน จนสุดท้าย อียิปต์เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย และมีการเซ็นสัญญาตกลงหยุดยิง 

กระทั่งเมื่อ เม.ย. 2566 หรือเมื่อต้นปีนี้ ตำรวจอิสราเอลได้บุกเข้าไปในมัสยิดอัล-อักซอ อีกครั้ง โดยมีประชาชนเล่าเหตุการณ์ว่าตำรวจโยนระเบิดแฟลช และยิงกระสุนยางเข้าไปในด้านในมัสยิดขณะที่ชาวปาเลสไตน์กำลังละหมาด หลังจากนั้น ก็เกิดความวุ่นวายและการปะทะกัน มีคนได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน 

ตำรวจอิสราเอลได้ออกแถลงการณ์ว่าที่ต้องบุกเข้าไปเนื่องจากมีคนในมัสยิดพยายามก่อจลาจลด้วยการนำพลุไฟ กระบอง และก้อนหินเข้าไปในมัสยิด รวมถึงปาก้อนหินใส่เจ้าหน้าที่และจุดพลุไฟข้างในมัสยิด เพื่อทำลายความสงบเรียบร้อยและถือเป็นการดูหมิ่นศาสนสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ 

หลังเกิดเหตุการณ์ กลุ่มฮามาส ในฉนวนกาซายิงจรวด 9 ลูกเข้าใส่ฝั่งอิสราเอล เป้าหมายอยู่ที่โรงงานผลิตอาวุธ ขณะที่ฝั่งอิสราเอล ได้ตอบโต้โดยการยิงจรวดไปยังค่ายฝึกทหารและโรงงานผลิตอาวุธของกลุ่มฮามาส เช่นกัน

หลังจากแลกขีปนาวุธ ทางตำรวจอิสราเอลได้กลับเข้าไปบุกในมัสยิดอีกครั้ง โดยให้เหตุผลว่าเพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อย และจับกุมผู้ก่อเหตุจลาจลในมัสยิด

สำหรับเหตุการณ์ล่าสุดก็คือกลุ่มฮามาส ประเคนจรวดเข้าไปในอิสราเอลจำนวน 5,000 พันกว่าลูก และส่งนักรบข้ามเขตความมั่นคงของอิสราเอลเข้าไป ตามที่รายงานข้างต้น หลังจากนี้ต้องจับตาดูว่าการสู้รบจะดำเนินอย่างไรต่อไป และกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ จะเคลื่อนไหวอย่างไร 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net