Skip to main content
sharethis

ศาลพิพากษาจำคุก 'เบนจา อะปัญ' นักกิจกรรมและนักศึกษา มธ. ผิด ม.112 - พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64 แต่ให้การเป็นประโยชน์ ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และยังอยู่ระหว่างเรียน ป.ตรี อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้ รอลงอาญา ไว้ 2 ปี

 

30 ต.ค.2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานผ่าน เอ็กหรือทวิตเตอร์ @TLHR2014 ว่า วันนี้ (30 ต.ค.)  เวลา 10.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก ข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับ เบนจา อะปัญ นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 64

โดยศาลชี้ว่าจำเลยปราศรัยกล่าวถึง รัชกาลที่ 10 โดยตรง ชัดว่าเป็นการหมิ่นประมาทล่วงเกิน การเบิกความของจำเลยไม่ได้ทำให้เห็นว่ามีเจตนากล่าววิพากษ์วิจารณ์ถึงรัฐบาลอย่างไร

พิพากษาผิด ม.112 จำคุก 3 ปี ส่วนข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 1 ปี และปรับ 12,000 บาท แต่ให้ลดโทษหนึ่งในสาม เพราะจำเลยให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุกรวมทั้งสิ้น 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท ศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และยังอยู่ระหว่างเรียน ปริญญาตรี ขณะกระทำผิดมีอายุเพียง 21 ปีเศษ ถือเป็นการกระทำผิดโดยขาดวุฒิภาวะ อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้ รอลงอาญา ไว้ 2 ปี

อนึ่งคดีนี้ มี จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว, มะลิวัลย์ หวาดน้อย และ ปิยกุล วงษ์สิงห์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 โดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัย และเนื้อหาในแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 เรื่อง ประกาศเป้าหมาย “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” และการเมืองหลังระบบประยุทธ์

วันที่ 7 ต.ค. 2564 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.ทองหล่อ ได้ทราบว่าเบนจาจะเดินทางเข้าไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอื่นที่ สน.ลุมพินี จึงได้รอสังเกตการณ์และติดตามแสดงตัวเข้าจับกุมเธอตามหมายจับที่บริเวณหน้า สน.ลุมพินี โดยไม่เคยมีหมายเรียกมาก่อน  ก่อนถูกพนักงานสอบสวน สน.ทองหล่อ นำตัวขอฝากขังกับศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังจนครบผัดฟ้อง และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเบนจาเรื่อยมาเป็นระยะเวลากว่า 99 วัน ก่อนให้ประกันตัวในภายหลังเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565

คดีนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีใจความสำคัญระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 จำเลยกับพวกอีก 6 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบที่บริเวณหน้าอาคาร ซิโน – ไทย ทาวเวอร์ โดยเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 5 คน และเป็นกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19

โจทก์ได้กล่าวหาว่า จำเลยได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ประกาศเป้าหมาย ‘นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา’ และการเมืองหลังระบบประยุทธ์” โดยได้ยกข้อความในสองส่วนขึ้นมา อันเกี่ยวกับความตกต่ำในรัฐบาลระบอบทรราช เนื่องจากการแสวงผลประโยชน์ในองคาพยพโดย “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” และการตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน มิใช่ชนชั้นศักดินา พร้อมระบุว่าเป็นความเท็จ และเป็นการให้ร้ายจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

อ่านรายละเอียดภาพรวมการสืบพยาน ได้ที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/60958

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net